(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Ukraine’s spring offensive a likely death trap for US, NATO
By STEPHEN BRYEN
12/04/2023
เอกสารเพนตานอนที่เพิ่งหลุดรั่วออกสู่โลกภายนอก บ่งชี้ให้เห็นว่ายูเครนนั้นขาดแคลนทั้งยานเกราะและการป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการประสบความสำเร็จในการรุกตอบโต้ช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิตามที่วางแผนการกันไว้
ภายใต้การชี้นำของสหรัฐฯ ยูเครนกำลังวางแผนการรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ [1] ซึ่งน่าจะเกิดข้นในเวลาต่อไปของฤดูใบไม้ผลินี้ เมื่อท้องทุ่งต่างๆ และถนนหนทางสายรองที่ไม่ได้ราดยางมะตอยซึ่งเคยเฉอะแฉะเป็นโคลนตมจากหิมะละลายและฝนตก กลับแห้งสนิทขึ้นมาใหม่ สำหรับในเวลานี้ ยานยนต์ทหารส่วนใหญ่เลยไม่สามารถออกไปปฏิบัติการในทุ่งโล่งได้ อีกทั้งประสบความยากลำบากจริงๆ เมื่ออยู่บนถนนสายรองซึ่งยังไม่ผ่านการซ่อมแซมปรับเสริม
ตามเอกสารต่างๆ ของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ที่กล่าวอ้างกันว่าหลุดรั่วไหลออกมา [2] ระบุว่ายูเครนได้ชุมนุมกำลังทหารเอาไว้จำนวน 12 กองพลน้อย สำหรับการบุกตามที่วางแผนกันเอาไว้นี้
ในจำนวน 12 กองพลน้อยดังกล่าว มี 9 กองพลน้อยที่ประกอบอาวุธด้วยยานเกราะและปืนใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนอีก 3 กองพลน้อยติดตั้งประจำการพวกยุทโธปกรณ์ที่แต่เดิมมาจากรัสเซีย ซึ่งเป็นอาวุธรุ่นเก่ากว่า โดยที่มีบางส่วนผ่านการดัดแปลงให้ทันสมัยมากขึ้นแล้วจากยูเครน
ตามที่ระบุเอาไว้ในพวกเอกสารรั่วไหลออกมาเหล่านี้ มีการประเมินกันว่ายูเครนสามารถคาดหวังจะได้รับผลดีอย่างใหญ่โตทีเดียวจากการรุกของตน แต่ความเป็นจริงนั้นดูเหมือนว่าจะผิดแผกออกไปเยอะ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล [3] ซึ่งคอยทำตัวเป็นกองเชียร์หนุนส่งยูเครนเรื่อยมา คราวนี้ยังแสดงความสงสัยข้องใจหลายๆ ประการ
อันที่จริง เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าเอกสารพวกนี้เองก็มีการบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ซึ่งนี่ช่วยอธิบายว่าทำไมคณะบริหารไบเดนจึงได้เร่งรีบอย่างเป็นบ้าเป็นหลังในการพยายามหยุดยั้งไม่ให้เอกสารหลุดรั่วเหล่านี้แพร่กระจายกว้างออกไป
การรุกใหญ่ปลายฤดูใบไม้ผลิของฝ่ายยูเครนตามที่วางแผนกันเอาไว้นี้ สามารถที่จะกลับกลายเป็นกักดักเล่นงานจนถึงตาย ทั้งสำหรับสหรัฐฯ นาโต้ และแม้กระทั่งพวกพันธมิตรในเอเชียของอเมริกาทีเดียว
หน่วยทหาร 1 กองพลน้อยนั้น ปกติแล้วจะมีกำลังทหารระหว่าง 3,000 ถึง 5,000 นาย ถ้าหากใช้ตัวเลขขั้นสูง นี่ก็หมายความว่ายูเครนกำลังวางแผนการที่จะใช้กำลังทหารรวม 60,000 นายในการรุกตอบโต้คราวนี้ โดยโฟกัสที่ความพยายามในการทำลายอำนาจของรัสเซียในการควบคุมเหนือเมืองท่าแห่งต่างๆ ในทะเลดำ นอกเหนือจากเมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol)
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากที่ยูเครนจะเปิดฉากดำเนินการโจมตีบางอย่างบางชนิดพร้อมกันไปด้วยในคราวนี้ เพื่อเล่นงานแหลมไครเมียและเมืองเซวาสโตโปล ถ้าหากพวกเขาสามารถกระทำได้
การรุกคราวนี้โดยส่วนใหญ่แล้วต้องถือเป็นผลงานขบคิดวางแผนขึ้นมาของ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการเมือง (US Under Secretary of State for Political Affairs) เธอผู้นี้คือหัวเรือใหญ่ในคณะบริหารไบเดน [4] เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับยูเครน
นูแลนด์ ไม่ได้พยายามปกปิดเป็นความลับเลยเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของเธอที่ต้องการให้ยูเครนช่วงชิงแหลมไครเมียกลับคืน [5] เธอผู้นี้ซึ่งเป็นผู้ที่ต่อต้านรัสเซียและต่อต้านปูตินอย่างหัวชนฝา ยังแสดงความปรารถนาที่จะเห็นรัฐบาลปูตินพังทลายไป โดยที่ในทัศนะของเธอนั้น การที่จะบรรลุสิ่งนี้ได้จำเป็นที่ยูเครนจะต้องได้ชัยชนะเหนือรัสเซียอย่างเด็ดขาด ซึ่งหมายความว่ายูเครนจะต้องช่วงชิงดินแดนทุกๆ ตารางเมตรที่สูญเสียไปกลับคืนมา โดยที่ความคิดเห็นเช่นนี้ ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ก็เห็นดีเห็นงามด้วย [6]
นูแลนด์ มีประวัติการพัวพันยุ่งเกี่ยวกับยูเครนมาอย่างยาวนาน ในสมัยคณะบริหาร (ของประธานาธิบดีบารัค) โอบามา เธอ (ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แม้ยังไม่ใช่หมายเลข 3 ของกระทรวงเฉกเช่นปัจจุบัน -ผู้แปล) สนับสนุนผู้ประท้วงชาวยูเครนซึ่งไปชุมนุมกันที่จัตุรัสยูโรไมดาน ในกรุงเคียฟ และสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลยูเครนในเวลานั้นซึ่งผ่านการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายทว่าเป็นฝ่ายโปรรัสเซีย
เสียงสนทนาระหว่างเธอกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนในตอนนั้น [7] เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกว่าจะเอานักการเมืองยูเครนคนไหนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเข้าแทนที่ วิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของยูเครนอยู่ในขณะนั้น ได้ถูกแอบอัดเสียงไว้และถูกนำออกมาเผยแพร่เปิดโปงในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ยานูโควิช เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างถูกต้องในปี 2010 โดยที่ต้องลงแข่งขัน 2 รอบ และเป็นผู้มีชัยในการแข่งขันรอบตัดสินระหว่างตัวเขา กับนายกรัฐมนตรียูเลีย ทีโมเชนโก (Yulia Tymoshenko) ยานูโควิช นั้นแต่ดั้งเดิมมาจากแคว้นโดเนตสก์ เวลานี้เขาพำนักลี้ภัยอยู่ในรัสเซีย
นี่ก็คือ สหรัฐฯ หนุนหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจในยูเครน ถึงแม้มันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตามที นับแต่นั้นมาดินแดนของยูเครนส่วนซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของผู้พูดภาษารัสเซีย ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งของยูเครน รวมทั้งในคราวที่ เซเลนสกี ชนะได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2019 ด้วย
เวลานี้ หลังจากรัสเซียประกาศผนวกดินแดนหลายๆ แคว้นของยูเครนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตนแล้ว การเข้าร่วมก็เป็นอันถูกขัดขวาง โดยทั้งพวก “สาธารณรัฐ” ในภูมิภาคดอนบาส (Donbas region) ทางภาคตะวันออกของยูเครน (ซึ่งก็คือแคว้นโดเนตสก์ Donetsk กับแคว้นลูฮันสก์ Luhansk) และดินแดนทางภาคใต้ คือ แคว้นเคียร์ซอน (Kherson) [8], แคว้นซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) [9], ตลอดจนแหลมไครเมีย เวลานี้ในทัศนะของรัฐบาลรัสเซียแล้ว มันคือดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียไปเสียแล้ว [10]
การรุกตอบโต้ตามที่วางแผนกันไว้นี้ ถึงแม้ได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐฯ และนาโต้ ก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญบางประการ โดยที่สำคัญก็คือ ทั้ง 9 กองพลน้อยซึ่งประกอบอาวุธที่ได้จากสหรัฐฯ-นาโต้ เอาเข้าจริงก็มีกำลังด้านยานเกราะน้อยกว่าที่นาโต้ให้สัญญาเอาไว้ [11]
ข้างล่างนี้ คือสภาพการประกอบอาวุธของกองพลน้อยเหล่านี้ของยูเครน โดยอิงตามข้อมูลในเอกสารเพนตากอนที่หลุดรั่ว และตามที่อธิบายไว้โดย “ซิมพลิซิอุส” (Simplicius) ในบล็อกทางแพลตฟอร์ม ซับสแตค (Substack) ของเขา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://simplicius76.substack.com/p/major-nato-plans-for-ukraine-leaked): [12]
กองพลน้อยที่ 116:
-- 90 x BMP (ยานสู้รบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใช้กันตั้งแต่ยุคโซเวียต) (ได้มาจากโปแลนด์/เช็ก) ได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว
-- 13 x รถถัง T-64 (ของยูเครนเอง) อยู่ในมือแล้ว
-- 17 x รถถังไม่ระบุสเปก TBD (ย่อมาจาก to be determined จะมีการกำหนดกันในภายหลัง)
-- 12 x AS-90 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ 155 มม. ของอังกฤษ) ส่งมอบเดือนเมษายน (ปืนใหญ่แบบนี้เป็นปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ 155 มม มีคุณค่าเท่าเทียมกับปืนใหญ่ Krab, M109, PhZ2000)
กองพลน้อยที่ 47:
-- 99 x M2 Bradley (ยานสู้รบทหารราบจากสหรัฐฯ) ส่งมอบปลายเดือนมีนาคม
--28 X รถถัง T-55S (จากสโลวะเกีย) อยู่ในมือแล้ว
--12 x ปืนใหญ่ M109 (ปืนใหญ่อัตตาจร 155 มม. ของอเมริกัน) อยู่ในมือแล้ว
--12 x D-30 (ปืนใหญ่ลากจูงรุ่นเก่าตั้งแต่สมัยโซเวียต) อยู่ในมือแล้ว
กองพลน้อยที่ 33:
--90 x MaxxPro (ยานต่อสู้ทุ่นระเบิดป้องกันการซุ่มตี Mine Resistant Ambush Protected vehicles หรือ MRAP ของอเมริกัน) 20 คันอยู่ในมือแล้ว ที่เหลือส่งมอบภายในปลายเดือนมีนาคม
--14 x รถถังหลัก Leopard 2A6 (จากเยอรมนี) ส่งมอบประมาณเดือนเมษายน
--4 x รถถังหลัก Leopard 2A4 (จากแคนาดา) ส่งมอบเดือนเมษายน
--14 x รถถังหลัก Leopard 2A4 (จากโปแลนด์) ส่งมอบเดือนมีนาคม
--12 x M119 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์เบา 105 มม.รุ่นเก่าของสหรัฐฯ) อยู่ในมือแล้ว
กองพลน้อยที่ 21:
--20 x CVRT (รถถังสกอร์เปียน Scorpion รุ่นเก่า ของอังกฤษ ที่ติดตั้งด้วยปืนขนาด 76 มม.) ส่งมอบเดือนเมษายน
--30 x Senator (ยานพาหนะเคลื่อนที่ทหารราบ IMV ของแคนาดา เทียบเท่ากับรถ Humvee ติดตั้งเพียงปืนกลเบา) อยู่ในมือแล้ว
--20 x Bulldog, 21 x Husky (รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ หรือ APC ขนาดเบาจากอังกฤษ คล้ายๆ กับ M113), 10 x M113 อยู่ในมือแล้ว
--30 x รถถัง T-64 (ของยูเครนเอง) อยู่ในมือแล้ว
--10 x FH70 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์แบบลากจูงขนาด 155 มม. รุ่นเก่าตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 จากอิตาลี) อยู่ในมือแล้ว
กองพลน้อยที่ 32:
--90 x MaxxPro (ยานต่อสู้ทุ่นระเบิดป้องกันการซุ่มตี Mine Resistant Ambush Protected vehicles หรือ MRAP ของอเมริกัน) อยู่ในมือแล้ว
--10 x รถถังT-72 (จากเนเธอร์แลนด์) ส่งมอบภายในเดือนเมษายน
--20 x รถถังไม่ระบุสเปก TBD
--12 x D-30 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์รุ่นเก่ายุคโซเวียต) อยู่ในมือแล้ว
กองพลน้อยที่ 37:
--30 x Mastiff/Husky (ยานต่อสู้ทุ่นระเบิดป้องกันการซุ่มตี Mine Resistant Ambush Protected vehicles หรือ MRAP ของอังกฤษ ที่ติดตั้งอาวุธเบา) ส่งมอบเดือนเมษายน
--30 x Mastiff/Wolf (สองชื่อนี้คือยานแบบเดียวกัน) เป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการส่งมอบ
--30 x Senator (ยานพาหนะเคลื่อนที่ทหารราบ IMV ของแคนาดา เทียบเท่ากับรถ Humvee) การส่งมอบ TBD
--14 x AMX-10 (“รถถัง”แบบล้อยางของฝรั่งเศส ติดตั้งปืนใหญ่ขนาดเล็ก 105 มม.) ส่งมอบในเดือนมีนาคม
--16 x รถถังไม่ระบุสเปก (ฝันเพื่องเอาเอง) TBD
--12 x D-30 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ยุคโซเวียตอีกแล้ว) การส่งมอบ TBD
กองพลน้อยที่ 118:
--90 x M113 ((รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ หรือ APC จากยุคสงครามเวียดนามของอเมริกัน ที่ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับเป็นกระป๋องดีบุก) อยู่ในมือแล้ว
--28 x รถถัง T-72 (จากโปแลนด์) ภายในเดือนเมษายน
--6 x M109 (ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มม. ของอเมริกัน) ส่งมอบในเดือนมีนาคม
--8 x FH70 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์แบบลากจูงรุ่นเก่าจากอิตาลี) คาดหมายกันว่าในเดือนเมษายนนี้
xxxx – อะไรบางอย่างที่อ่านไม่ออก แต่ดูเป็นไปได้ว่าจะเป็น Senator ยานพาหนะเคลื่อนที่ทหารราบ IMV อีกหลายคัน
กองพลน้อยที่ 117:
--28 x Viking (รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ APC ขนาดเล็กจากเนเธอร์แลนด์) อยู่ในมือแล้ว
--10/20 x XA185 (รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ APC จากฟินแลนด์ ที่เทียบเท่ากับ BTR-82a) ประมาณการว่าภายในเดือนเมษายน
--10 x Senator (รถเทียบเท่าฮัมวีจากแคนาดา) การส่งมอบ TBD
--31 x PT-91 (รถถัง T-72 ที่ปรับปรุงอัปเกรดแล้วจากโปแลนด์) ส่งมอบในเดือนเมษายน
--12 x D-30 (ปืนใหญ่ยุคโซเวียต) อยู่ในมือแล้ว
(xxxx – ข้อความไม่ชัดเจนพอที่จะอ่านได้)
กองพลน้อยที่ 82:[13]
--90 x Strykers (ยานสู้รบทหารราบของอเมริกัน) คาดหมายว่าส่งมอบเดือนมีนาคม
--40 x Marders (ยานสู้รบทหารราบของเยอรมนี) คาดหมายว่าส่งมอบเดือนเมษายน
--14 x Challenger-2 (รถถังหลัก MBT ของอังกฤษ) คาดหมายว่าส่งมอบเดือนเมษายน
--24 x M119 (ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์แบบลากจูงขนาดเบา 105 มม. ของสหรัฐฯ) อยู่ในมือแล้ว
อย่างที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า การบำรุงรักษาพวกกองพะเนินยุทโธปกรณ์ซึ่งมีรายละเอียดไม่เหมือนกันเหล่านี้ย่อมไม่ใช่งานง่ายๆ และการดำเนินการซ่อมแซมในภาคสนามก็แทบเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้จะกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับฝ่ายยูเครน ซึ่งยังต้องอยู่ในสภาพไม่มียุทโธปกรณ์สำรองใดๆ เหลืออยู่อีกแล้วสำหรับนำมาเปลี่ยนทดแทนตัวที่อาจสูญเสียไปในสมรภูมิ
(สหรัฐฯ และพวกชาติยุโรปเพิ่งก่อตั้งสถานีซ่อมแซมขึ้นมาจำนวนหนึ่งในโปแลนด์และโรมาเนีย แต่สถานีเหล่านี้ยังคงอยู่ห่างไกลจากพื้นที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกัน)
เอกสารเพนตากอนที่หลุดรั่วออกมา ยังบอกให้เราทราบว่า การป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนอยู่ในสภาพร่อยหรอเต็มทีแล้ว [14] ไม่ว่าเนื่องจากถูกฝ่ายรัสเซียทำลาย หรือเพราะขาดแคลนเครื่องกระสุน แม้กระทั่งลูกจรวดสกัดกั้นสำหรับใช้กับระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพทริออต” (Patriot) ของสหรัฐฯ ที่ส่งไปให้ยูเครน [15] ในเวลานี้ก็หามาใช้ทดแทนตัวที่ยิงไปแล้วไม่ได้ ยกเว้นแต่จะดึงเอาออกมาจากพวกหน่วยปฏิบัติการของสหรัฐฯ และของยุโรปเท่านั้น
เรื่องนี้หมายความว่าฝ่ายรัสเซียมีความได้เปรียบในเรื่องการครองน่านฟ้า ซึ่งในการรุกใดๆ ก็ตาม ความเหนือกว่าเช่นนี้จะถูกใช้มาเล่นงานกองกำลังฝ่ายยูเครน การขาดแคลนเครื่องกระสุนนี้ยังกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรื่องการสนับสนุนการรุกตามที่ได้ให้สัญญากันไว้ หรือแม้กระทั่งการประคับประคองให้ตัวสงครามเองเดินหน้าต่อไปได้ด้วยซ้ำ
ลองนำเอาเรื่องเครื่องกระสุนสำหรับพวกอาวุธพิสัยทำการไกลอย่างเช่น พวกปืนใหญ่และระบบจรวดหลายลำกล้อง มาพิจารณาเป็นตัวอย่างก็ได้ สหรัฐฯ เป็นผู้จัดหาจัดส่งกระสุนสำหรับปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ขนาด 155 มม. ส่วนมากเป็นลูกปืนใหญ่ชนิดระเบิดแรงสูง ปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ M-777 ของสหรัฐฯ นั้นมีพิสัยทำการประมาณ 21 กิโลเมตร นับถึงตอนนี้ ยูเครนได้ยิงลูกปืนใหญ่ 155 มม.ไปแล้วเกือบๆ 1 ล้านนัด ถือเป็นจำนวนมหาศาล
ตามรายงานในเอกสารเพนตากอน เวลานี้ไม่มีลูกปืนใหญ่แบบนี้เหลืออยู่ในสายส่งกำลังบำรุงแล้ว ทว่าถึงแม้อาจจะพบเพิ่มเติมขึ้นมาได้สักหลายพันลูก แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราการใช้อย่างมหึมาเหลือเกินของกองทัพยูเครน มันก็ลำบากที่จะมองเห็นได้ว่า เจ้า 155 มม.นี้จะช่วยอะไรได้มากมายนักหนาในการรุกใหญ่ตามที่วางแผนกันเอาไว้ (ทั้งนี้โดยต้องตั้งสมมติฐานว่าปืนใหญ่และลูกปืนใหญ่พวกนี้สามารถรอดพ้นการโจมตีทางอากาศของฝ่ายรัสเซียได้ ซึ่งเป็นการตั้งสมมติฐานแบบเอาใจช่วยกันเหลือเกิน)
สหรัฐฯ ยังเป็นผู้จัดหาจัดส่งปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ M-177 แบบลากจูงจำนวน 142 กระบอก [16] และสหรัฐฯ กับยุโรปได้จัดหาจัดส่งระบบปืนใหญ่ 155 มม. ทั้งแบบลากจูง และแบบอัตตาจร รวมราวๆ 300 กระบอกไปให้แก่ยูเครน
ยูเครนเองยังมีปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ D-30 122mm ที่ดั้งเดิมผลิตจากรัสเซีย ถึงแม้อาวุธชนิดนี้กำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ จากเครื่องบิน โดรน จรวด และปืนใหญ่ของฝ่ายรัสเซียก็ตามที ขณะที่รัสเซียมีปืนใหญ่และระบบจรวดรวมราวๆ 6,000 กระบอกและชุดในยูเครน
เรื่องอย่างเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในกรณีของระบบจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่ได้คล่องตัว M-142 HIMARS เช่นกัน [17] เครื่องกระสุนที่จำเป็นยิ่งยวดสำหรับใช้กับ HIMARS ในยูเครน มีชื่อเรียกว่า จรวด Guided Multiple Launch Rocket หรือ GMLRS ) ซึ่งมีพิสัยทำการระหว่าง 15 ถึง 70 กิโลเมตร
ยูเครนได้ยิงจรวดชนิดนี้ไปแล้ว 9,612 ลูก จรวดพวกนี้แต่ละลูกมีราคาราวๆ 160,000 ดอลลาร์ (ราคารวมของจรวดเหล่านี้ โดยยังไม่นับค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายด้านการสนับสนุน อยู่ที่ 1,538 ล้านดอลลาร์) ตามเอกสารเพนตากอนที่หลุดรั่ว เวลานี้ไม่มีจรวดเช่นนี้เหลืออยู่อีกแล้วในสายซัปพลายไลน์
ทำนองเดียวกับพวกปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ 155 มม. จรวดสำหรับระบบ HIMARS จะต้องเจียดเอาออกมาจากบรรดาหน่วยทหารประจำการของกองทัพบกและเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ เพื่อนำมาจัดส่งต่อให้ยูเครน เวลาเดียวกันนี้ ฝ่ายรัสเซียอ้างว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ [18] ในการสอยจรวด HIMARS ที่เหินฟ้าอยู่ให้ร่วงลงมา
พวกกองพลน้อยของยูเครนที่ระบุเอาไว้ข้างต้น ยังอาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพแข็งแกร่งเต็มที่ โดยจำนวนของพวกทหารสวมปลอกแขนสีเหลือง หรือทหารระดับแถวหน้าและมีประสบการณ์ บางทีอาจจะเหลืออยู่ในจำนวนน้อย พวกที่จะถูกโยนเข้าสู่การสู้รบจำนวนมากเลยคงต้องเป็นทหารใหม่ ซึ่งมีปลอกแขนเขียวเป็นเครื่องสังเกต
กระนั้นก็ดี จวบจนถึงเวลานี้ยูเครนได้แสดงให้เห็นว่ามีความหยุ่นตัวอย่างมหาศาล และสามารถใช้ยุทธวิธีต่างๆ ได้อย่างดีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีพวกทหารยานเกราะของยูเครนที่กำลังรับการฝึกจากประเทศสมาชิกนาโต้
อย่างไรก็ตาม กองทหารยูเครนจำนวนมากซึ่งถูกตรึงเอาไว้ในเมืองบัคมุต (ราว 10,000 – 15,000 คน) และที่อื่นๆ (เช่น อัฟดิอิฟกา Avdiivka, วูห์เลอดาร์ Vuhledar) กลายเป็นการสร้างปัญหาที่มี 2 ส่วนซึ่งสำคัญพอๆ กันให้แก่ยูเครน กล่าวคือ ควรถอนกองกำลังเหล่านี้ออกมาก่อนที่พวกเขาจะถูกทำลาย หรือปล่อยเอาไว้เช่นนี้จนกระทั่งถึงปลายฤดูใบไม้ผลิเมื่อมีการรุกเกิดขึ้น โดยระหว่างนี้ก็ให้กองกำลังที่ยังมีอยู่พยายามยึดที่มั่นของพวกเขาเอาไว้ก่อน ทั้งนี้รัสเซียนั้นกำลังรุกคืบหน้าได้อย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะช้าๆ ทั้งในสมรภูมิที่บัคมุต และอัฟดิอิกา ทว่าไม่ใช่ในวูห์เลอดาร์
ถ้าหากฝ่ายรัสเซียสามารถบุกทะลุทะลวงผ่านสนามรบเหล่านี้ตามเส้นแนวปะทะในดอนบาส และผลักดันต่อไปทางตะวันตกแล้ว มันก็ไม่เหลืออะไรนักหรอกที่จะหยุดยั้งพวกเขาเอาไว้ สถานการณ์เช่นนี้จะบังคับยูเครนถ้าหากไม่แบ่งกำลังกองพลน้อยเพื่อการรุกโต้ตอบซึ่งรวบรวมเอาไว้ในปัจจุบัน ก็ต้องเปลี่ยนมาเผชิญหน้ากับกองทหารรัสเซียเหล่านี้อย่างเต็มที่ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้บุกมาถึงแม่น้ำดนิเปอร์ และกลายเป็นภัยคุกคามกรุงเคียฟ
รัสเซียยังสามารถที่จะนำเอาการเคลื่อนทัพในสไตล์ของแผนชลีเฟน (Schlieffen) [19] มาใช้ และเล่นงานพวกกองทหารยูเครนซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการรุกปลายฤดูใบไม้ผลิ โดยบุกเข้าไปในบริเวณด้านหลังของพวกขา ตลอดจนทางปีกด้านตะวันออกของพวกเขา
ดังนั้น ภาพการรุกของยูครนคราวนี้จึงไม่ได้ดูให้ความหวังสร้างความน่าประทับใจอะไร บางที ยูเครนอาจจะสามารถหาหนทางและรอคอยไปก่อนจนกระทั่งสหรัฐฯ และนาโต้จัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนักตลอดจนเครื่องกระสุนที่พวกเขาต้องการใช้มาให้ทั้งหมดแล้ว ทว่านั่นบางทีคงจะต้องรอกันไปอีก 2-3 ปีทีเดียว และอย่างไรเสียฝ่ายรัสเซียก็น่าจะไม่ยินยอมปล่อยให้ฉากทัศน์เช่นนี้บังเกิดขึ้นมา
จุดยืนของคณะบริหารไบเดนคือคัดค้านการเจรจาต่อรองที่มุ่งหาหนทางแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง [20] อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับเวลานี้ มีข่าวลือว่าคณะบริหารไบเดนได้ขอร้องให้ยูเครนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องนี้ [21] ทว่าข่าวลือเหล่านี้ไม่ได้รับการยืนยัน ขณะที่ นูแลนด์ และคนอื่นๆ ในคณะบริหารพากันต่อต้านคัดค้านการทำดีลใดๆ กับฝ่ายรัสเซีย ถึงแม้พลังและปัจจัยอื่นๆ ก็เดินหน้าทำหน้าที่ของพวกมันอยู่เช่นกัน
อย่างแรกเลยคือ อุตสาหกรรมของรัสเซียเวลานี้กำลังสามารถผลิตเครื่องกระสุนและอาวุธใหม่ๆ [22] ออกมาได้อย่างเต็มสตีมสำหรับช่วงเวลาสงครามกันแล้ว (ไม่เหมือนกับของสหรัฐฯ และนาโต้) ขณะที่กำลังพลของรัสเซียได้รับการเสริมกำลังใหม่เป็นส่วนใหญ่แล้ว หรืออย่างน้อยก็อยู่ในกระบวนการได้รับการเสริมกำลังกันอยู่ [23] และกองทหารรัสเซียโดยทั่วไปกำลังสู้รบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าช่วงก่อนๆ ความเสี่ยงจึงมีอยู่ว่าถ้าหากฝ่ายรัสเซียได้ชัยชนะ ยูเครนในฐานะที่เป็นองคาพยพทางการเมือ งก็อาจจะล่มสลายไป
ปัจจัยประการที่สอง คือแรงกดดันต่อนาโต้จากสงครามในยูเครน นาโต้เวลานี้ใกล้อยู่ในภาวะไม่เหลือหลอเครื่องกระสุนและยุทธสัมภาระต่างๆ [24] และกระทั่งพวกนักการเมืองยุโรปที่โปรยูเครนก็กำลังเริ่มหวั่นไหวเกี่ยวกับสงคราม นอกจากนั้น ยังมีผลสะท้อนกลับในด้านลบจากกรณีการทำลายสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม [25] ซึ่งเป็นเรื่องที่บ่อนทำลายสร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเยอรมนี
สำหรับปัจจัยข้อที่สาม ได้แก่ เรื่องความสามารถในการปกป้องคุ้มครองบรรดารัฐสมาชิกของนาโต้ ถ้าหากเกิดการสู้รบใหญ่ล้ำเลยไปจากชายแดนของยูเครน ในเมื่อเวลานี้พรมแดนขององค์การแห่งนี้ที่ประชิดติดต่อกับรัสเซียกำลังยาวเหยียดขึ้นกว่าเดิม สืบเนื่องจากการรับฟินแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกรายล่าสุด
มีเพลเยอร์นาโต้บางรายคิดว่าพวกเขามีความเข้มแข็งเพียงพอ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือโปแลนด์ ทว่าสำหรับชาติสมาชิกรายอื่นๆ แล้ว พวกเขาอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ในทางการทหาร เยอรมนี [26] และอังกฤษ สองบิ๊กมหาอำนาจยุโรป มีเพียงกองทัพขนาดเล็กๆ ซึ่งมีจุดอ่อนร้ายแรงทางด้านยุทโธปกรณ์
เมื่อบวกเรื่องนี้เข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯได้นำเอาทรัพยากรทางด้าน ELINT (ย่อมาจาก electronic intelligence ข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ -ผู้แปล) . COMINT (ย่อมาจาก communications intelligence ข่าวกรองทางการสื่อสาร -ผู้แปล) และข่าวกรองด้านภาพ (Imaging) แทบทั้งหมดของตนเข้ามาสนับสนุนยูเครน นี่ย่อมหมายความว่า ความเสี่ยงซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากขึ้นมาได้นั้น สามารถเกิดขึ้นจากที่ไหนก็ได้ในยุโรป หรือจากที่ไหนก็ได้ในแปซิฟิก
(ทั้ง ELINT หรือข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ และ COMINT ข่าวกรองทางการสื่อสาร ต่างถือเป็นส่วนหนึ่งของข่าวกรองทางสัญญาณการสื่อสาร SIGINT หรือ Signals intelligence นั่นคือข่าวกรองที่รวบรวมจากการดักจับสัญญาณ โดยที่ข่าวกรองทางการสื่อสาร ได้มาจากการสื่อสารระหว่างบุคคล และ/หรือกลุ่ม เป็นต้นว่า sms เสียงสนทนาทางโทรศัพท์ การติดต่อทางวิทยุ และการปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ ขณะที่ข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ มาจากสัญญาณที่ไม่ได้ถูกใช้ในการสื่อสารโดยตรง เป็นต้นว่า การส่งและการหยุดของคลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเรดาร์ ขีปนาวุธ ระบบนำทาง และเครื่องบิน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Signals_intelligence และ https://www.trentonsystems.com/blog/sigint-vs-comint-vs-elint -ผู้แปล)
นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า เพลเยอร์นาโต้บางราย ตัวอย่างเช่นฮังการี ไม่ได้สนับสนุนสหรัฐฯ และนาโต้ในยูเครน และก็มีเพลเยอร์นาโต้ที่สำคัญอย่างน้อย 1 ราย นั่นคือ ตุรกี อาจจะไม่สนับสนุนนหรือเห็นชอบกับการประกาศใช้ระบบป้องกันร่วมของนาโต้ ซึ่งก็คือ มาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโต้ โดยที่การใช้ระบบป้องกันร่วมที่กล่าวถึงนี้ กำหนดว่าต้องได้เสียงรับรองจากรัฐสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์ แล้วเนื่องจากการหลุดรั่วออกไปของเอกสารเพนตากอนคราวนี้ยังทำให้เกิดความสงสัยข้องใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความสามารถของยูเครน [27] ที่จะยืนหยัดในการสู้รบครั้งนี้อีกด้วย
เรื่องเฉพาะหน้ายิ่งกว่านั้นก็คือ สหรัฐฯ แทบไม่มีอะไรเหลืออยู่ในคลังเก็บที่จะจัดหาจัดส่งไปให้ไต้หวัน [28], ญี่ปุ่น, หรือเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกรณีของไต้หวัน [29] ต้องถือว่าชวนให้หงุดหงิดกังวลใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ไทเปเพิ่งสอบถามสหรัฐฯ เรื่องอาวุธที่สั่งซื้อไปแต่ยังคงไม่ได้รับสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน
เรื่องนี้รวมไปถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ซึ่งไต้หวันสั่งซื้อไปแล้วทว่าถูกเลื่อนการส่งออกไป หรืออย่างปืนใหญ่อัตตาจร 155 มม. (M-198) ที่ยังไม่ได้มาเพราะเรื่องของยูเครน [30] กระทั่งพวกเครื่องบินเอฟ-16 ใหม่ๆ ที่วอชิงตันสัญญาไว้กับไต้หวัน ก็ไม่มีการจัดส่งให้ตามตารางเวลา ทั้งนี้ ถ้าหากเกิดเป็นอะไรแบบเดียวกับการจัดส่งให้แก่ บัลแกเรีย แล้ว [31] หมายความว่าการชะลอนี้จะกินเวลาอย่างน้อย 2 ปีทีเดียว พวกพันธมิตรในเอเชียของอเมริกา ซึ่งย่อมต้องได้อ่านเอกสารรั่วออกมาจากเพนตากอนเหล่านี้เหมือนกันย่อมต้องรู้สึกกังวลใจ
ด้วยเหตุนี้ การที่สหรัฐฯ คัดค้านไม่เอาด้วยกับการเจรจาทำข้อตกลงกับรัสเซีย จึงเหมือนกับเป็นการทุ่มเดิมพันแบกรับความเสี่ยงใหญ่ทางด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ไปเสียแล้ว โดยที่แทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกระเตื้องดีขึ้นมาเลย แม้กระทั่งถ้าหากว่า ด้วยปัจจัยอะไรบางอย่าง ยูเครนเกิดสามารถที่จะได้ความสำเร็จติดไม้ติดมือมาบ้างในการรุกช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของตนคราวนี้
เส้นทางสำหรับการปฏิบัติการที่มีความสุขุมรอบคอบมากกว่า จึงย่อมต้องเป็นการผลักดันเพื่อให้เกิดการเจรจากับฝ่ายรัสเซีย แต่นั่นก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะบางทีฝ่ายรัสเซียอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตรึงกำลังอยู่กับที่ หรือการหยุดยิง และบางทีอาจจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ และอียูต้องยอมแลกเปลี่ยนด้วยการยกเลิกมาตรการแซงก์ชัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง ถ้าหากคณะบริหารไบเดนไม่เปลี่ยนแปลงเส้นทางแล้ว พวกเขาก็จะตกอยู่ในสภาพการฝืนเล่นเกมรูเลตต์รัสเซียต่อไป โดยที่ปืนลูกโม่ซึ่งผู้เล่นแต่ละฝ่ายผลัดกันหยิบขึ้นมาจ่อขมับตนเองและลั่นไกนั้น เวลานี้มันบรรจุกระสุนเอาไว้รังเพลิงทุกๆ ช่องแล้ว
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และที่สถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute)
เชิงอรรถ
[1]https://www.washingtonpost.com/national-security/2023/04/10/leaked-documents-ukraine-counteroffensive/
[2]https://www.cnn.com/2023/04/10/politics/classified-documents-leak-explainer/index.html
[3] https://www.wsj.com/articles/ukraine-offensive-takes-shape-with-big-unknowns-2f75f5ae
[4]https://carnegieendowment.org/2023/02/16/carnegie-connects-inside-biden-s-ukraine-strategy-with-ambassador-victoria-nuland-event-8033
[5]https://finance.yahoo.com/news/nuland-us-supports-ukraine-striking-114151691.html
[6]https://www.hindustantimes.com/world-news/our-objective-is-ukraine-s-zelensky-on-crimea-101674112481746.html
[7] https://www.bbc.com/news/world-europe-26079957
[8]https://simple.wikipedia.org/wiki/Kherson_Oblast
[9]https://simple.wikipedia.org/wiki/Zaporizhzhia_Oblast
[10]https://www.reuters.com/world/europe/russias-federation-council-ratifies-annexation-four-ukrainian-regions-2022-10-04/
[11]https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-02-15/ukraine-to-receive-fewer-battle-tanks-from-allies-than-promised#xj4y7vzkg
[12]https://simplicius76.substack.com/p/major-nato-plans-for-ukraine-leaked
[13]https://substack.com/redirect/266f6fca-a950-483c-96bc-a863539667f0?j=eyJ1IjoiMmZlNGYifQ.ntTNh-jyFK9adkik7Gce4D7lMGOzFFDJfxSoDxtLgk8
[14]https://www.wsj.com/articles/ukraine-may-run-out-of-air-defenses-by-may-leaked-pentagon-documents-warn-b96b0655
[15] https://www.csis.org/analysis/patriot-ukraine-what-does-it-mean
[16]https://www.csis.org/analysis/expanding-equipment-options-ukraine-case-artillery
[17] https://asc.army.mil/web/portfolio-item/ms-himars-m142/
[18] https://www.youtube.com/watch?v=wr81j1vT4hw
[19]https://www.foreignaffairs.com/reviews/capsule-review/1959-07-01/schlieffen-plan?utm_source=google&utm_medium=cpc&utm_campaign=gap_ds&gclid=EAIaIQobChMIisLXzaSi_gIV9O3jBx0ldgZMEAAYAyAAEgLXS_D_BwE
[20]https://tass.com/world/1589993?utm_source=startpage.com&utm_medium=referral&utm_campaign=startpage.com&utm_referrer=startpage.com
[21]https://www.washingtonpost.com/national-security/2022/11/05/ukraine-russia-peace-negotiations/
[22]https://www.themoscowtimes.com/2023/01/27/russia-says-ramping-up-ammunition-production-for-ukraine-war-a80061
[23]https://www.yahoo.com/lifestyle/russian-army-replenished-400-000-032206330.html
[24] https://www.newsweek.com/nato-allies-would-run-out-ammunition-within-days-war-russia-report-says-1780851
[25]https://www.nytimes.com/2023/04/07/world/europe/nord-stream-pipeline-sabotage-theories.html
[26]https://www.ft.com/content/a00579a1-2738-44bb-8bdf-af53c53f7224
[27] https://www.msn.com/en-us/news/world/here-s-why-us-officials-feel-sick-over-defense-leaks-secrets-about-allies-alliances-with-russia-and-doubts-about-ukraine-s-strength/ar-AA19JlhL
[28]https://www.stripes.com/theaters/asia_pacific/2022-12-01/taiwan-arms-deliveries-ukraine-war-8257865.html
[29]https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Indo-Pacific/Taiwan-faces-delays-in-U.S.-arms-deliveries-due-to-Ukraine-war
[30]https://www.thedefensepost.com/2022/05/03/taiwan-weapons-us-howitzer/
[31]https://www.thedefensepost.com/2022/11/24/bulgaria-french-swedish-fighters-us-f-16-delay/