รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนส่งอาวุธมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์แก่ไต้หวัน ผ่านการใช้อำนาจฉุกเฉินแบบเดียวกันที่ใช้จัดหาอาวุธแก่ยูเครนไปแล้วมากกว่า 35 รอบ จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดกับแผนการในวันศุกร์ (5 พ.ค.)
ส่วนหนึ่งในงบประมาณปี 2023 สภาคองเกรสอนุมัติความช่วยเหลือด้านอาวุธสูงสุด 1,000 ล้านดอลลาร์แก่ไต้หวัน ผ่านอำนาจของประธานาธิบดีตามกฎหมายส่งมอบสิ่งของและบริการยามฉุกเฉิน (Presidential Drawdown Authority) รูปแบบอำนาจที่ใช้เร่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเคยใช้ในการช่วยจัดหาอาวุธมอบแก่ยูเครน
ความช่วยเหลือตามกฎหมายนี้ ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีส่งมอบสิ่งของและบริการจากคลังของสหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินหนึ่ง จะเป็นก้อนแรกจากงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ 1,000 ล้านดอลลาร์
จีน มองไต้หวัน เกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และยกระดับกดดันทางทหารหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และพวกเขาไม่เคยตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว จีนทำการซ้อมรบรอบๆ ไต้หวัน หลังจากประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน พบปะกับเควิด แมคคาร์ที ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในลอสแองเจลิส
ในดือนกุมภาพันธ์ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิกาด้านอาวุธของวุฒิสภา ว่าเขามีความตั้งใจใช้ Presidential Drawdown Authority อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (5 พ.ค.) โฆษกเพนตากอนปฏิเสธแสดงความคิดเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าแพกเกจความช่วยเหลือ 500 ล้านดอลลาร์ ตามคำกล่าวอ้างของแหล่งข่าวหรือไม่
"แนวทางของเรายังคงสอดคล้องกับนโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ เราทำงานหนักในการทำตามพันธสัญญาของเราภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันและเรายังคงทำเช่นนั้น" โฆษกระบุ
นับตั้งแต่ปี 1979 ความสัมพันธ์สหรัฐฯ และไต้หวันได้รับการคุ้มครองผ่านกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งมอบพื้นฐานในกฎหมายสำหรับจัดหาหนทางต่างๆ ในการป้องกันตนเองแก่ไต้หวัน แต่ไม่ได้ให้อาณัติสหรัฐฯ เข้าช่วยไต้หวันหากถูกโจมตี
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ไต้หวันส่งเสียงคร่ำครวญเกี่ยวกับความล่าช้าในการส่งมอบอาวุธของสหรัฐฯ เช่น จรวดต่อต้านอากาศยาน "สตินเจอร์" เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตหันไปป้อนอุปทานสู่ยูเครน ซึ่งกำลังต่อสู้ต้านทานการรุกรานของรัสเซีย เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นความกังวลในหมู่บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ บางส่วน
รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันระบุในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) ว่าการส่งมอบเครื่องบิน F-16V ล้ำสมัย จำนวน 66 ลำของสหรัฐฯ มีปัญหาล่าช้า สืบเนื่องจากความวุ่นวายทางห่วงโซ่อุปทาน และบอกว่าทางกระทรวงกำลังหาทางลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดและเติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลน
(ที่มา : รอยเตอร์)