xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ พร้อมรับมือเมื่อ ‘สหรัฐฯ’ ยังหวังพลิกเกมแม้ประสบความเพลี่ยงพล้ำใหญ่ในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


รายงานข่าวในสื่ออเมริกันซึ่งอ้างอิงการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระดับอาวุโสหลายราย ระบุว่า กำลังมีแผนการที่จะแปรเปลี่ยนสงครามยูเครนให้กลายเป็น “การสู้รบขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้” ในลักษณะเทียบเคียงได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี หรือที่เกิดขึ้นในดินแดนแคชเมียร์ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับท็อปด้านข่าวกรองของยูเครน คิริล บูดานอฟ เสนอให้จัดตั้งเขตปลอดทหารความยาว 100 กิโลเมตร ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
US hopes to snatch victory from jaws of defeat in Ukraine
BY M. K. BHADRAKUMAR

แน่ใจได้เลยว่า การที่สหรัฐฯ เวลานี้แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซียในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รังแต่ทำให้มอสโกมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ถ้าหากกลุ่มพันธมิตรแองโกล-แซกซอน ยังคงพยายามไต่บันไดทำให้ความเป็นปรปักษ์กันบานปลายขยายตัวออกไปแล้ว ยุทธการของฝ่ายรัสเซียอาจจะขยับขยายออกไปเป็นการปฏิบัติการในทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งอยู่ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ ฝ่ายรัสเซียเข้าสู่สงครามนี้เพื่อมุ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องครั้งใหญ่กันในระยะยาว และเวลานี้ถึงคราวที่ฝ่ายอเมริกันจะตัดสินใจว่าต้องการเล่นเกมยาวหรือเกมสั้นแบบไหนอย่างไรกันต่อไป

บรรดาผู้นำของกลุ่มจี7 ออกคำแถลงว่าด้วยยูเครนที่มีความยาว 2,700 คำ จากเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการประชุมซัมมิตของพวกเขาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงคำถามซึ่งฮิตฮอตกันอยู่ในเวลานี้ -- นั่นคือ สิ่งที่เรียกกันว่า การรุกตอบโต้เพื่อเล่นงานกองกำลังของรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.consilium.europa.eu/sv/press/press-releases/2023/05/19/g7-leaders-statement-on-ukraine/)

มันเป็นความเงียบซึ่งแท้ที่จริงเต็มไปด้วยเสียงอึกทึก เนื่องจากข่าวลือกำลังแพร่สะพัดไปทั่ว เกี่ยวกับการหายหน้าหายตาไปของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพยูเครน (พล อ.วาเลรี ซาลุซนี Gen.Valerii Zaluzhny -ผู้แปล) แล้วที่สำคัญตัวประธานาธิบดีวลาดีมีร์ เซเลนสกี เองก็กำลังทำตัวเหมือนกับหวาดกลัวที่จะอยู่ในกรุงเคียฟ จึงออกทัวร์เมืองหลวงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่หยุดไม่หย่อน --ตั้งแต่เฮลซิงกิ เฮก โรม วาติกัน เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน แล้วยังเจดดาห์ และฮิโรชิมา มันจึงดูเหมือนกับมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในยูเครนอย่างงั้นแหละ

ขณะที่ซัมมิตกลุ่มจี7 รูดม่านปิดฉากลงนั้นเอง หัวหน้าของบริษัททหารภาคเอกชน วากเนอร์ พีเอ็มซี (Wagner PMC) เยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin) ก็ได้ออกมาประกาศเมื่อวันเสาร์ (20 พ.ค.) ว่า การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียเพื่อเข้ายึดเมืองบัคมุต ศูนย์คมนาคมทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass region) ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งกินเวลายาวนาน 224 วัน ได้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยสามารถเอาชนะการต้านทานของกองทหารยูเครนจำนวนมากกว่า 80,000 คน

มันคือชั่วขณะแห่งความเจ็บปวดครั้งหนึ่งทีเดียวสำหรับ เซเลนสกี ผู้ซึ่งเคยคุยโวเอาไว้ต่อหน้าพวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ตอนที่เขาเดินทางไปกล่าวปราศรัย ณ อาคารแคปิตัล ฮิลล์ (Capitol Hill) กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่า “ก็เหมือนกับศึกชิงเมืองซาราโตกา (Battle of Saratoga ในปี 1777 ระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกัน) การสู้รบเพื่อช่วงชิงเมืองบัคมุต จะเปลี่ยนแปลงวิถีโคจรของสงครามเพื่อเอกราชของเราและสงครามเพื่อเสรีภาพของเรา”

เวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจให้ออกจากความสูญเสียที่สำคัญนี้ เวลานี้มีการพูดจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นนัยๆ ในนโยบายสหรัฐฯ ว่าด้วยการจัดหาจัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ไปให้แก่ยูเครนในอนาคตข้างหน้าที่ยังไม่มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าเมื่อใด ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถบอกได้หรอกว่า รัฐยูเครนที่ยังคงเหลืออยู่จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรเมื่อตอนที่เครื่องบินไอพ่นเหล่านี้ส่งมาถึง ไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพรส์อะไรเลย การที่คณะบริหารไบเดนยังคงดูเหมือนอยู่ในอาการสองจิตสองใจ เนื่องจากว่า F-16 ถือเป็นสินค้าฮิตฮอตสำหรับการส่งออกตัวหนึ่ง มันจะเป็นยังไงถ้าหากว่าฝ่ายรัสเซียสอยเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ร่วงลงจากฟากฟ้าด้วยอาวุธไฮเทคของพวกเขาและทำให้เศษซากของมันไฟลุกท่วม?
(ดูเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่ https://militarywatchmagazine.com/article/us-reluctant-f16s-ukraine-euro-pressure)

ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนมีข้อสรุปกันแล้วว่า มีแต่ต้องได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จสิ้นเชิงเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ฝ่ายอเมริกันและฝ่ายสหราชอาณาจักรยอมเข้าอกเข้าใจว่า มอสโกนั้นเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังในเรื่องวัตถุประสงค์ 3 ประการที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของตนคราวนี้ โดยวัตถุประสงค์เหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะมาเจรจาต่อรองกันได้ ซึ่งได้แก่ การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้แก่ชุมชนคนเชื้อสายรัสเซีย ตลอดจนสิทธิของพวกเขาที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสันติภาพและอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีในดินแดนใหม่เหล่านี้ การยุบเลิกความเป็นรัฐทหาร (demilitarisation) ของยูเครนและการกำจัดกระบวนการไปสู่ความเป็นนักลัทธินาซี (de-Nazification) ของยูเครน และยูเครนที่เป็นกลาง มีอธิปไตย มีเอกราช โดยเป็นเสรีจากการถูกสหรัฐฯ คว้ายึดเอาไว้ อีกทั้งไม่แสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อเพื่อนบ้านอีกต่อไป

แน่ใจได้เลยว่า การที่สหรัฐฯ แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซียในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รังแต่ทำให้มอสโกมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ถ้าหากกลุ่มพันธมิตรแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon alliance กลุ่มพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักรเป็นแกน -ผู้แปล) ยังคงพยายามไต่บันไดทำให้ความเป็นปรปักษ์กันบานปลายขยายตัวออกไปแล้ว ยุทธการของฝ่ายรัสเซียอาจจะขยับขยายออกไปเป็นการปฏิบัติการในทั่วทั้งภูมิภาคซึ่งอยู่ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper River) ฝ่ายรัสเซียเข้าสู่สงครามนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องครั้งใหญ่กันในระยะยาว และเวลานี้ถึงคราวที่ฝ่ายอเมริกันจะตัดสินใจว่าต้องการเล่นเกมยาวหรือเกมสั้นแบบไหนอย่างไรกันต่อไป

สิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดเลยก็คือ คำปราศรัยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้วของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะกล่าวต่อสภาดูมา (Duma สภาล่างของรัสเซีย) เขาพูดเอาไว้ว่า “เวลานี้เราได้ยินพวกเขาพูดว่า พวกเขาต้องการที่จะทำให้เราประสบความพ่ายแพ้ในสนามรบ ครับ แล้วจะให้ผมพูดตอบว่ายังไงล่ะ? ก็เอาสิ ลองดูเลย เรานั้นได้ยินได้ฟังกันมาเยอะแยะอยู่แล้วเกี่ยวกับที่ฝ่ายตะวันตกต้องการที่จะสู้รบกับเรา “จนกระทั่งถึงชาวยูเครนคนสุดท้าย” นี่คือโศกนาฏกรรมสำหรับประชาชนชาวยูเครน ทว่ามันดูเหมือนกับว่านี่เป็นสิ่งที่กำลังจะดำเนินไป อย่างไรก็ดี ทุกๆ คนควรต้องทราบเอาไว้ว่า เมื่อวัดกันโดยหลักเกณฑ์ทั่วไปแล้ว ต้องถือว่าเรานั้นยังไม่ทันเริ่มต้นทำอะไรอย่างเอาจริงเอาจังเต็มที่เลยนะ”

ครับ มาถึงตอนนี้ การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียได้เริ่มต้น “เอาจริงเอาจังอย่างเต็มที่” ในท้ายที่สุดแล้ว ความคิดที่อยู่เบื้องหลังการชะลอไม่ลงมืออะไรเสียทีของฝ่ายรัสเซียนั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเข้าใจหรือตีความให้ผิดพลาดไป ปูติน เน้นย้ำในคำปราศรัยของเขาว่า ฝ่ายตะวันตกควรทราบว่ายิ่งการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียยืดเยื้อยาวนานออกไปเท่าใด “มันก็จะยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปเท่านั้นสำหรับการที่พวกเขาจะมาเจรจาต่อรองกับเรา”

ด้วยเหตุนี้ คำถามข้อสงสัยข้อใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย หากแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรุกโต้ตอบของฝ่ายยูเครนต่างหาก กองกำลังฝ่ายรัสเซียเวลานี้ครองฐานะเหนือชั้นกว่าอย่างท่วมท้นในทุกๆ ด้านในทางการทหาร แม้กระทั่งพวกฮาร์ดคอร์ของกองกำลังฝ่ายยูเครน ผู้ซึ่งผ่านการฝึกอบรมในโลกตะวันตกมาแล้ว และเวลานี้ประกอบด้วยกำลังทหารราวๆ 30,000-35,000 นาย มีความพยายามที่จะทำให้เกิด “การทะลุทะลวง” อะไรขึ้นมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราวในตลอดแนวหน้าซึ่งมีความยาว 950 กิโลเมตร แต่หลังจากนั้นแล้วมันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างล่ะ?

อย่าได้หลงผิดไปเป็นอันขาด ในเมื่อฝ่ายยูเครนรุกตอบโต้ได้ ฝ่ายรัสเซียก็จะเปิดการโจมตีตอบโต้กลับอย่างใหญ่โตมโหฬารติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และทหารยูเครนอาจจะต้องจบสิ้นลงด้วยการติดกับอยู่ภายในกองเพลิงและประสบความสูญเสียอย่างมหึมาในระดับเป็นหมื่นๆ คน ขณะที่แกนพันธมิตรแองโกล-แซงซอน จะสามารถประสบความสำเร็จ ไขว่คว้าดอกผลอะไรขึ้นมาได้ล่ะ?

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยูเครนยังจะต้องตกอยู่ในสภาพที่ตนเองอ่อนเปลี้ยหมดกำลังลงไปอย่างทั่วถ้วน จนกระทั่งจะไม่มีอะไรเหลือเสียแล้วเพื่อเอามาหยุดยั้งกองกำลังฝ่ายรัสเซียจากการรุกคืบหน้ามุ่งไปสู่เมืองคาร์คอฟ และเมืองโอเดสซา ตรงนี้แหละจะปรากฏความย้อนแย้งขึ้นมา เนื่องจากเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ฝ่ายรัสเซียอาจจะไม่มีใครเอาไว้เจรจาต่อรองด้วย
(เมืองคาร์คอฟ Kharkov เป็นชื่อในภาษารัสเซีย ในภาษายูเครนเรียกว่า Kharkiv คาร์คิฟ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน และเมืองใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Kharkiv -ผู้แปล)
(เมืองโอเดสซา Odessa หรือบางทีก็เขียนว่า Odesa เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของยูเครน และเป็นเมืองท่าติดทะเลที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของยูเครน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ริมฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Odesa -ผู้แปล)

ถ้าหากพิจารณาจากพฤติกรรมในอดีตของพวกอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตามที –เวียดนาม อัฟกานิสถาน หรืออิรัก และซีเรีย เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่วอชิงตันจะกระทำก็คือ การไม่ทำอะไรเลย นักคิดทางยุทธศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ พันเอก (เกษียณอายุแล้ว) เดวิด แมคเกร็กเกอร์ (Col. (Retd.) David MacGreggor) สรุปออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเขาพูดในสัปดาห์ที่แล้ว เอาไว้ดังนี้:

“ผมสามารถบอกคุณได้เลยว่า วอชิงตันจะไม่ทำอะไรทั้งนั้น และผมก็คอยเฝ้าเตือนเช่นนี้เรื่อยมา ... เรา (สหรัฐฯ) ไม่ได้เป็นมหาอำนาจภาคพื้นทวีป (continental power) ไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางบกที่ไหนแห่งหนใดเลยนอกจากในเขตซีกโลกของพวกเราเองเท่านั้น โดยอันดับแรกแล้วเราเป็นมหาอำนาจทางอากาศ และเป็นมหาอำนาจทางทะเล มีส่วนคล้ายคลึงอย่างมากกับบริเตนใหญ่ (Great Britain ชื่อหนึ่งที่เคยใช้โดยประเทศสหราชอาณาจักร -ผู้แปล) แล้วเรื่องนี้หมายความว่ายังไง? มันหมายความว่าเมื่อสิ่งต่างๆ เป็นไปในทางเลวร้ายมากสำหรับเรา เราก็จะแล่นเรือหลบหนีออกมา เราก็จะบินจากมา เราก็จะเดินทางกลับบ้าน ... นี่คือสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ในที่สุดแล้วเราก็เพียงแต่ผละจากไปเท่านั้นเอง และผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่อยู่ในวาระในเวลานี้”

การที่คำแถลงของกลุ่มจี7 อยู่ในอาการเงียบขรึมไม่แสดงความรู้สึกเกี่ยวกับการรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ ทั้งนี้ คำแถลงของจี7 นี้จำเป็นต้องนำเอามาวางเคียงข้างเปรียบเทียบกับรายงานข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งปรากฏออกมาทาง “โพลิติโค” (Politico) สื่อออนไลน์ด้านข่าวในสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าซัมมิตที่ฮิโรชิมา โดยในรายงานชิ้นนี้ซึ่งอ้างอิงการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระดับอาวุโสหลายรายที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการสุดห้าวที่จะแปรเปลี่ยนสงครามยูเครนให้กลายเป็น “การสู้รบขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้” (frozen conflict) ในลักษณะเทียบเคียงได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี หรือที่เกิดขึ้นในดินแดนแคชเมียร์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/news/2023/05/18/ukraine-russia-south-korea-00097563)

เจ้าหน้าที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ผู้หนึ่ง บอกกับสื่อออนไลน์ด้านข่าวรายนี้ว่า แพกเกจความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ยูเครนในช่วงหลังๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการที่คณะบริหารไบเดน “มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุทธศาสตร์แบบคำนึงถึงระยะยาวไกลมากขึ้น” มีรายงานด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ  กำลังพูดจากับเคียฟแล้ว เกี่ยวกับลักษณะขอบเขตความสัมพันธ์ของพวกเขาที่จะมีขึ้นในอนาคตข้างหน้า

พูดกันแบบเข้าถึงสาระสำคัญเลยก็คือว่า ถ้าหากการที่ยูเครนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตต้องมีอันสะดุดหยุดชะงัก ฝ่ายตะวันตกจะทดแทนด้วยการค้ำประกันความมั่นคงให้ โดยอาจจะอยู่ในลักษณะต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า อาจจะอยู่ในรูปที่ฝ่ายตะวันตกกับยูเครนทำข้อตกลงร่วมป้องกันซึ่งมีเนื้อหาในสไตล์ของมาตรา 5 แห่งสนธิสัญญานาโต หรือไม่ก็อยู่ในลักษณะข้อตกลงด้านอาวุธในสไตล์ที่สหรัฐฯ ทำกับอิสราเอล ทั้งนี้ ก็เพื่อที่ “การสู้รบขัดแย้งนี้จะได้ปิดฉากลงที่ไหนสักแห่ง ระหว่างความเป็นสงครามที่ยังระอุพุ่งพล่านอยู่ กับสภาวการณ์เผชิญหน้ากันที่เย็นตัวลงแล้ว”
(มาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโตนั้น ระบุเอาไว้ว่า หากมีรัฐสมาชิกหนึ่งใดถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธ รัฐสมาชิกอื่นๆ แต่ละรายจะถือว่าเป็นการโจมตีด้วยกำลังอาวุธต่อพวกเขาทั้งหมด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/North_Atlantic_Treaty)

แท้ที่จริงแล้ว คำแถลงของกลุ่มจี7 คราวนี้ ก็ได้เริ่มต้นกำหนดแนวความคิดในการทำให้ยูเครนเข้าสู่ “กระบวนการเพื่อแปรเปลี่ยนกลายเป็นยุโรป” (Europeanisation) แล้ว ทั้งด้วยการเรียกร้องเคียฟให้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ การมีเศรษฐกิจแบบตลาดที่ขับดันโดยภาคเอกชน และพวกสถาบันทางการเงินของฝ่ายตะวันตก ตลอดจนการเพิ่มพูนสมรรถนะในการป้องปรามของเคียฟในการต่อกรกับรัสเซียในทางการทหาร

มันช่างเป็นเรื่องอะเมซซิ่งจริงๆ ขณะที่เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดเรื่องเดิม –การอ้างว่ารัสเซียประสบความพ่ายแพ้ทางการทหารในยูเครน และปูตินถูกโค่นล้ม— ยังไม่ทันที่จะปรากฏให้เห็นเป็นความจริงขึ้นมาเลย พวกเขาก็กำลังแต่งเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งซ้อนขึ้นมาแล้ว โดยมีข้อสรุปที่วางอยู่บนความคิดอย่างง่ายๆ และอย่างดื้อๆ ว่า รัสเซียจะเพียงแต่ยอมม้วนเสื่อกลับบ้าน และเฝ้ามองอย่างนิ่งติงไม่เคลื่อนไหวอะไร ขณะที่สหรัฐ ดำเนินการบูรณาการยูเครนเข้าสู่ระบบกลุ่มพันธมิตรตะวันตก เพื่อสร้างบาดแผลเปิดที่จะคอยกลัดหนองเน่าเปื่อยอยู่ตรงชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้รัสเซียต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ไขรับมือในตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า รวมทั้งสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่สายสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับพวกเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ต่อการประชุมซัมมิตจี7 คราวนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่ามอสโกจะไม่ยอมตกเข้าไปอยู่ในกับดักของ “การสู้รบขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้” นี้หรอก ลาฟรอฟ บอกว่า “คุณยังไม่อ่านดูหรือ เจ้าพวกมติพวกการตัดสินใจเหล่านี้ซึ่งกำลังมีการอภิปรายและยอมรับกันในที่ประชุมซัมมิตกลุ่มจี7 ในฮิโรชิมา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทั้งปิดล้อมรัสเซียและปิดล้อมสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลาเดียวกัน?

“วัตถุประสงค์ข้อนี้ถูกประกาศออกมาอย่างดังๆ และอย่างตรงๆ โต้งๆ นั่นคือจะทำให้รัสเซียประสบความพ่ายแพ้ในสนามรบ และโดยที่จะไม่มีการหาทางหยุดยั้งเรื่องนี้ด้วย เพื่อที่จะได้กำจัดรัสเซียทิ้งเสียเลยในเวลาต่อไป ในฐานะที่เป็นศัตรูทางภูมิรัฐศาสตร์รายหนึ่ง ดังนั้น มันจึงกำลังกลายเป็นการพูดออกมาชัดๆ ทีเดียวว่า รัสเซียก็เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ประเทศไหนก็ตามทีที่กล้าประกาศอ้างสิทธิขอที่ทางอันมีเอกราชมีอิสระในโลก พวกเขาจะต้องถูกกำราบปราบปรามโดยถูกถือว่าทำตัวเป็นปรปักษ์”

ลาฟรอฟยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ประชาคมผู้เชี่ยวชาญของพวกประเทศตะวันตกเวลานี้ กำลังอภิปรายถกเถียงกันอย่างโจ่งแจ้งเกี่ยวกับลำดับวิธีเพื่อก่อให้เกิดฉากทัศน์ต่างๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการทำให้รัสเซียต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ และ “พวกเขาไม่ได้ปิดบังเลยว่าการดำรงคงอยู่ของรัสเซียในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งเอกราชและความเป็นอิสระศูนย์กลางหนึ่ง เป็นสิ่งที่เข้าไม่ได้กับเป้าหมายของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งจะครอบงำโลก” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียยังกล่าวต่อไปว่า “เราต้องแสดงการตอบโต้อย่างหนักแน่นและมั่นคงสม่ำเสมอต่อสงครามที่ประกาศใส่เราแล้วเช่นนี้”

กระนั้น ใช่ว่าอเมริกันไม่มีความสามารถที่จะมองสงครามคราวนี้โดยผ่านสายตาของรัสเซียได้เลย ขอเชิญอ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้มีจิตใจที่มั่นคงเป็นปกติขึ้นมาบ้างในวอชิงตัน จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นโดยกลุ่มอดีตนักการทูตและเจ้าหน้าที่ทางทหารที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับเครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Media Network) อย่างไรก็ดี พวกเขาต้องจ่ายค่าโฆษณาจึงสามารถนำข้อเขียนนี้ไปปรากฏในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ขณะที่สื่ออื่นๆ ที่เหลือของชนชั้นปกครองอเมริกายังคงเลือกที่จะทำเพิกเฉยละเลยต่อไป
(อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ได้ที่ https://eisenhowermedianetwork.org/russia-ukraine-war-peace/)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/us-hopes-to-snatch-victory-from-jaws-of-defeat-in-ukraine/
กำลังโหลดความคิดเห็น