xs
xsm
sm
md
lg

เป็นตายยังไง ‘ตะวันตก’ ก็ยังคงเร่งผลักดัน ‘เซเลนสกี’ ให้รุกตอบโต้ ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


ทหารยูเครนออกมาเฝ้าสังเกตการณ์ที่คูสนามเพลาะ บริเวณใกล้ๆ แนวหน้าในเมืองบัคมุต ของแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2023 ทั้งนี้ สถานการณ์การสู้รบที่บัคมุตปะทุรุนแรงขึ้นมาในระยะนี้ ขณะพวกผู้นำยูเครนชะลอเวลาใน “การรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ” ตามที่มีการออกข่าวกันมานาน
Ukraine war: The short view
BY M. K. BHADRAKUMAR
12/05/2023

เงื่อนไขต่างๆ ทางด้านสภาพอากาศเวลานี้ไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเอาชนะได้อีกต่อไปแล้ว และพวกผู้อุปถัมภ์ชาวตะวันตกของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ก็ต้องการให้เขาเดินหน้าเปิดการรุกขึ้นมา –ยิ่งเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาคาดคำนวณกันไว้ก็คือว่า การรุกนี้มีช่องทางโอกาสอันสมเหตุสมผลที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญทีเดียวในการปลอบประโลมประชามติภายในโลกตะวันตกให้สบายใจขึ้นมาบ้างว่า การให้ความสนับสนุนที่มีราคาแพงลิบลิ่วขนาดนี้แก่ยูเครน ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่การเดินหน้าลงไปสู่หลุมลึกที่มองไม่เห็นก้น

ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้ผ่อนคลายลดระดับความลุ้นระทึกลงมาบ้าง จากการที่เขาบอกกับสื่อมวลชนตะวันตกเมื่อวันพฤหัสบดี (11 พ.ค.) ที่ผ่านมาว่า กองทัพของเขาจำเป็นที่จะต้องรอคอย และยังจำเป็นที่จะต้อง “ขอเวลาเพิ่มขึ้นอีกนิด” สำหรับเปิดฉากการโจมตีตอบโต้เล่นงานกองกำลังฝ่ายรัสเซียตามที่ได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้มากมาย

เขาพูดรับรองว่าพวกกองพลน้อยสู้รบของยูเครนนั้น “พร้อมแล้ว” แต่ให้เหตุผลว่ากองทัพของเขายังมีความต้องการ “บางสิ่งบางอย่าง” เพิ่มเติม ซึ่งก็รวมไปถึงพวกยานเกราะที่ “กำลังมาถึงเป็นล็อตๆ” จากประดาประเทศนาโต

เซเลนสกี เสนอคำอธิบายเอาไว้ว่า “เราสามารถที่จะเดินหน้าไปได้ และผมคิดว่าเราจะประสบความสำเร็จด้วย แต่จะต้องสูญเสียผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ผมคิดวานั่นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรอคอย เรายังจำเป็นต้องขอเวลาเพิ่มขึ้นอีกนิด”

อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวอ้างของ เซเลนสกี ที่ว่า ฝ่ายทหารของยูเครนยังมีความจำเป็นต้องได้อาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างนั้น คือการพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปจากคำแถลงยืนยันมั่นคงของพวกเจ้าหน้าที่ตะวันตก โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยนอกจากนายใหญ่ขององค์การนาโต เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) ซึ่งพูดเอาไว้เมื่อครึ่งเดือนที่แล้ว หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ภายหลังกลับจากไปเยือนเคียฟซึ่งเขาได้หารือกับ เซเลนสกี และพวกผู้ช่วยระดับท็อปของเขา ที่ว่าการจัดส่งยานสู้รบต่างๆ ของนาโตไปให้แก่ยูเครนตามที่ได้สัญญาเอาไว้นั้นเสร็จสิ้นไปมากกว่า 98% แล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2023/4/27/ukraine-has-received-98-of-promised-combat-vehicles-nato-chief)

สโตลเตนเบิร์ก กล่าวอีกว่า “โดยรวมแล้ว เราได้ฝึกอบรมและประกอบอาวุธให้แก่กองพลน้อยยานเกราะใหม่ของยูเครนมากกว่า 9 กองพลน้อย นี่จะทำให้ยูเครนอยู่ในฐานะที่เข้มแข็งในการดำเนินการเพื่อช่วงชิงเอาดินแดนที่ถูกยึดครองไปกลับคืนมา”

เมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) ที่ผ่านมา ระหว่างที่เขาแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เจมส์ เคลเวอร์ลี (James Cleverly) ผู้ไปเยือน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ก็ได้กล่าวในลักษณะให้การยืนยันรับรองอย่างกว้างๆ ในสิ่งที่ สโตลเตนเบิร์ก พูดเอาไว้นี้ แม้ว่าขณะเดียวกันก็ใช้ความระมัดระวังที่จะเพิ่มคำเตือนเข้าไปด้วย ดังนี้:

“พวกเขา (ฝ่ายทหารของยูเครน) มีพรักพร้อมแล้ว ... สิ่งที่พวกเขาต้องการสำหรับการไปต่อ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการชิงคืนดินแดนซึ่งถูกแย่งยึดเอาไปด้วยกำลังจากรัสเซีย ... มันไม่ได้มีเพียงแค่อาวุธ มันยังมีการฝึกอบรม มันทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่าทางยูเครนสามารถที่จะประคับประคองระบบต่างๆ ที่เราจัดหาให้แก่พวกเขา และแน่นอนทีเดียว ขอย้ำอีกครั้งว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาต้องมีแผนการที่ถูกต้องจึงจะประสบความสำเร็จ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://kyivindependent.com/blinken-ukraine-has-everything-it/)

เคลเวอร์ลี แสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่ บลิงเคน พูด (แบบมุ่งป้องกันตัวเอง -ผู้แปล) เช่นนี้ แต่ก็ได้ให้ทัศนะมุมมองในทางการเมือง (แก่การเตรียมข้อแก้ต่างเอาไว้ก่อนเช่นนี้) ด้วย นี่เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับกันได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว เนื่องจากสงครามคราวนี้คือสงครามซึ่งมีลักษณะทางการเมืองมากกว่าทางการทหาร

เคลเวอร์ลี บอกว่าผู้คนทั้งหลายไม่ควรคาดหวังว่าจะได้เห็นการรุกตอบโต้จากทางฝ่ายเคียฟ ที่เหมือนกับในภาพยนตร์ เขาเตือนว่า “โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ปรากฏออกมาในลักษณะแบบนั้นหรอก ผมนะคาดหวังและคาดหมายว่าพวกเขาจะทำได้ดีมากๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผมมองดูฝ่ายยูเครน พวกเขาก็ทำได้ดีกว่าที่มีความคาดหมายกันเรื่อยมา ... (แต่เรา) จำเป็นต้องมองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง นี่คือโลกจริงๆ นี่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด”

เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สโตลเตนเบิร์กนั้นก็ได้แสดงความระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องเส้นทางคู่ขนานเช่นนี้อยู่เหมือนกัน โดยเขาบอกว่า “เราจะต้องไม่ประเมินรัสเซียให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอันขาด” เขาอ้างว่ารัสเซียกำลังระดมกำลังภาคพื้นดินเพิ่มมากขึ้น และ “มีความตั้งใจที่จะส่งทหารเป็นหมื่นเป็นแสนเข้ามา โดยที่คาดว่าจะเจอกับอัตราการบาดเจ็บล้มตายที่สูงลิ่ว”

บางทีจุดเด่นที่สุดของสิ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ 3 คนนี้กำลังพูดพร่ำเพ้อออกมาก็คือการส่งข้อความว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จากการรุกของฝ่ายยูเครนตามที่วางแผนเอาไว้นี้จะออกมาอย่างไร พวกประเทศนาโตก็ “ต้องอยู่ในเส้นทางกันต่อไป และยังจัดหาจัดส่งสิ่งที่ยูเครนต้องการเพื่อชัยชนะกันต่อไป” ในขณะที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่มองเห็นกันได้ว่าจะเป็นการสู้รบขัดแย้งอันยืดเยื้อ อันที่จริงแล้ว ทั้ง บลิงเคน และ เคลเวอรร์ลี ต่างพูดจาสอดคล้องอยู่ในรอยเดียวกันกับคำกล่าวของ สโตลเตนเบิร์ก นั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว กระทั่งแม้แต่ตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศ 2 คนนี้พูดจาเช่นนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมอีก 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยมุ่งเพิ่มพูนยกระดับการป้องกันภัยทางอากาศ และการจัดหาจัดส่งพวกเครื่องกระสุนไปให้อย่างเพียงพอต่อเนื่อง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2023/05/08/politics/ukraine-aid-package-counteroffensive/index.html)

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความรู้สึกกังวลกันเป็นอย่างมากว่า การรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนนั้นมีการตระเตรียมที่จะลงมือปฏิบัติการกันจริงๆ หรือเปล่า คำตอบที่ได้รับมาอย่างเด็ดขาดชัดเจน คือ “เอาแน่” ทว่าเมื่อมาถึงเรื่องกำหนดเวลา มันก็ดูเหมือนอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่

เงื่อนไขต่างๆ ทางด้านสภาพอากาศ เวลานี้ไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเอาชนะได้อีกต่อไปแล้ว และพวกผู้อุปถัมภ์ชาวตะวันตกของ เซเลนสกี ก็ต้องการให้เขาเดินหน้าเปิดการรุกขึ้นมา –ยิ่งเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาคาดคำนวณกันไว้ก็คือว่า การรุกนี้มีช่องทางโอกาสอันสมเหตุสมผลที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญทีเดียวในการปลอบประโลมประชามติภายในโลกตะวันตกให้สบายใจขึ้นมาบ้างว่า การให้ความสนับสนุนที่มีราคาแพงลิบลิ่วขนาดนี้แก่ยูเครน ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่การเดินหน้าลงไปสู่หลุมลึกที่มองไม่เห็นก้น

ประการที่สอง การรุกเช่นนี้มีประโยชน์ทางการเมืองในแง่ของการช่วยส่งเสริมสนับสนุนมติในสหภาพยุโรป ในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission องค์กรบริหารของสหภาพยุโรป) ที่นำโดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานผู้มีแนวความคิดแบบ “พวกแอตแลนติกนิยม” (Atlanticist พวกที่เชื่อว่ายุโรปจะต้องจับมือไปด้วยกันกับสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก -ผู้แปล) อย่างเหนียวแน่น เพิ่งยืนยันว่า อียูกำลังเตรียมตัวเริ่มนำเอาวิธีการแซงก์ชันของสหรัฐฯ มาประยุกต์ใช้ โดยที่จะมีการประกาศบังคับมาตรการลงโทษอย่างชนิดใช้สิทธิเกินเลยไปจากอาณาเขตแท้จริงของตน เพื่อเล่นงานวิสาหกิจต่างๆ ของพวกประเทศที่สาม โดยรวมถึงพวกที่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเป็นไปได้ว่าจะครอบคลุมถึงพวกที่อยู่ในตุรกีด้วย

ดูเหมือนว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่ อียู มุ่งโฟกัสเล่นงานพฤติกรรมการนำเอาสินค้าอียูซึ่งอยู่ในบัญชีถูกแซงก์ชันห้ามขายให้รัสเซีย มาขายต่อให้แดนหมีขาว ในอนาคตข้างหน้า วิสาหกิจทั้งหลายจะยังคงถูกอียูเล่นงานลงโทษ ถึงแม้พวกเขาไม่ได้ตั้งฐานอยู่ภายในอียู และดังนั้นจึงไม่ได้ขึ้นต่ออียู หรือต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานอียู

แท้ที่จริงแล้ว การนำเอาระบบแห่งบรรทัดฐานของตนเองมาบังคับใช้นอกอาณาเขตของตนดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ –โดยที่อียูเองก็ใช้จุดยืนอย่างเป็นทางการเช่นนี้เหมือนกันจวบจนกระทั่งในระยะหลังๆ มานี้เอง— ทว่า ฟอน แดร์ ไลเอิน กำลังผลักดันให้มีการยอมรับ “ระเบียบที่ยึดโยงอยู่กับกฎระเบียบ” เวอร์ชันแก้ไขปรับปรุงนี้ โดยบอกว่าเพื่อเป็นการเพิ่มความแหลมคมใหม่ๆ ให้แก่ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกในการทำให้รัสเซียอ่อนแอลง

ข้อสมมติฐานที่อยู่เบื้องลึกลงไปของแนวความคิดนี้ก็คือ การแซงก์ชันจะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอลง และก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาในสังคม มันจึงมีแต่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าการรุกตอบโต้ของเซเลนสกี จะประสบชะตากรรมอย่างไร ก็จะไม่มีการผ่อนคลายละลดในสงครามตัวแทนเพื่อต่อต้านรัสเซียคราวนี้อย่างแน่นอน ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะไม่มีใครสามารถประณามประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่นกัน ถ้ายูเครนจะประสบความพ่ายแพ้

อย่างไรก็ดี มีเรื่องหนึ่งที่ควรต้องจับตาให้ความสนใจ นั่นคือ ตัวเซเลนสกี ก็มีการจัดลำดับความสำคัญสำหรับตัวเขาเองอยู่เหมือนกัน โดยที่อันดับแรกและนำหน้าที่สุด ได้แก่ การอยู่รอดทางการเมืองของตัวเขา เซเลนสกี ทราบดีว่าเรื่องเล่าของเขาที่ว่ารัสเซียกำลังจะพ่ายแพ้อยู่รอมร่อแล้ว ตลอดจนอะไรอื่นๆ ทำนองนี้ กำลังจะถูกเปิดโปงออกมา และเขาอาจจะต้องกลายเป็นตัวล้มเหลวในเกมประณามไล่เรียงหาตัวคนผิดใดๆ ก็ตามซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังความปราชัยอย่างยับเยินในช่วงหลายๆ สัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนที่สำคัญอย่างยิ่งยวดข้างหน้านี้

จริงๆ แล้ว “มหาศึกชิงบัลลังก์” (Game of Thrones) ในเคียฟกำลังใกล้ถึงช่วงระยะความเป็นความตาย ด้วยความรู้สึกถึงอันตราย เซเลนสกี จึงกำลังอยู่ในอาการลังเล เขากำลังซื้อเวลา (กระทั่ง พล.อ.วาเลรี เฟโดโรวิช ซาลูชนี Valerii Fedorovych Zaluzhnyi ผู้บัญชาการของกองทัพยูเครน ยังบอกลาไม่เข้าร่วมการประชุมของนาโตเลย! ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/zaluzhnyi-skips-nato-meeting-due-104700213.html) แต่ว่า เซเลนสกี สามารถที่จะผลักไสแรงกดดันซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของสหรัฐฯ และของนาโตที่ต้องการให้เปิดการรุกเสียทีไปได้อีกนานแค่ไหน? ยุทธศาสตร์การถอยออกจากสถานการณ์ของเขาสมควรที่จะต้องมีเรื่องการเปิดเส้นทางต่อสายกับมอสโกเอาไว้ด้วย ทว่าทางเลือกดังกล่าวเวลานี้ไม่ดำรงคงอยู่อีกแล้ว

ในส่วนของรัสเซียนั้น พวกเขากำลังทำได้อย่างหลักแหลมทีเดียวในการเก็บงำไพ่เด็ดของตนเองอย่างมิดชิดไม่ให้ใครอ่านไต๋ออก รัสเซียมีสมรรถนะที่จะเปิดการรุก “ธนูดอกใหญ่” (“big arrow” offensive) เพื่อมุ่งไปสู่แม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper) แต่เครมลินยังคงชมชอบที่จะเดินหน้าบดบี้ฝ่ายทหารของยูเครนต่อไปอีก –โดยที่เรื่องนี้กลายเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพคุ้มค่าทั้งในด้านกำลังมนุษย์ และในแง่กำลังวัสดุต่างๆ รวมทั้งก่อให้เกิดผลที่ต้องการ และมีความยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงมีทางเลือกที่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีเปิดการโจมตีอย่างใหญ่โตมโหฬาร หรือยังคงใช้วิธีบดบี้ข้าศึกให้ค่อยๆ แหลกละเอียดต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเส้นทางโคจรแห่งการบุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครน ในปัจจุบัน การรณรงค์ถล่มทิ้งระเบิดอย่างหนักของรัสเซียมีความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดอาการตื่นตกใจขวัญผวาขึ้นในเคียฟ และความรู้สึกสิ้นหวังหมดกำลังใจขึ้นในเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรป รวมทั้งเพื่อลดระดับความสามารถในการระดมเกณฑ์กำลังพลของฝ่ายยูเครนไปด้วย ฝ่ายตะวันตกนั้นจำเป็นต้องคอยคาดเดาต่อไปเรื่อยๆ ว่าฝ่ายรัสเซียมีเจตนาอย่างไรแน่ๆ

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/ukraine-war-the-short-view/
กำลังโหลดความคิดเห็น