Ukraine: Stalemate in an attritional war?
BY M. K. BHADRAKUMAR
20/04/2023
สงครามในยูเครนเวลานี้อาจจะดูเหมือนกับ “ชะงักงันกินกันไม่ลง” ทว่าปัจจัยเบื้องลึกที่เป็นตัวตัดสิน จะอยู่ตรงที่ว่าฝ่ายไหนกำลังทำให้ฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บล้มตายได้มากกว่า ในความเป็นจริง ยูเครนกำลังอยู่ในอาการเลือดไหลออกไม่หยุด มันเป็นธรรมชาติของพวก “สงครามพร่ากำลัง” อยู่แล้ว ที่ว่าเมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่ง ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะพังครืน และทันทีหลังจากนั้น จุดจบก็จะมาถึงอย่างรวดเร็วมาก
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางไปยัง “ดินแดนใหม่” ของประเทศ ซึ่งได้แก่ แคว้นลูกันสก์ (Lugansk) และแคว้นเคียร์ซอน (Kherson)/ซาโปรอซเย (Zaporozhye) เมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ทางทหาร
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/70944)
(ลูกันสก์ เป็นคำเรียกในภาษารัสเซีย ขณะที่ภาษายูเครนเรียกว่า ลูฮันสก์ Luhansk ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Luhansk_Oblast เช่นเดียวกับ ซาโปรอซเย ในภาษายูเครนเรียกว่า ซาโปริซเซีย Zaporizhzhia ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Zaporizhzhia -ผู้แปล)
การนับถอยหลังสำหรับ “การรุกตอบโต้กลับ” ของฝ่ายยูเครน ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ระบบขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) ซึ่งถูกส่งมาถึงยูเครนแล้ว คือประจักษ์พยานยืนยันขนาดขอบเขตของการระดมสรรพกำลังของฝ่ายตะวันตกด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้เกิดขึ้นแก่รัสเซีย นอกจากนั้น เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) ก็ได้เดินทางไปกรุงเคียฟในวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) แบบไม่มีการแจ้งกำหนดการมาก่อน ถือเป็นการเยือนเมืองหลวงยูเครนครั้งแรกของเขานับแต่ที่สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นมา
(เรื่อง “แพทริออต” ถูกจัดส่งมาถึงยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/news/2023/04/19/patriot-missiles-arrive-in-ukraine-00092768)
ในเอกสารลับของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ที่หลุดรั่วออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายชิ้นที่แสดงความสงสัยไม่มั่นใจว่าการรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนนี้จะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี มอสโกก็มีการประเมินของตนเอง ทั้งนี้จุดใหญ่ใจความก็คือ พวกนีโอคอน (neo-condervative พวกอนุรักษนิยมใหม่) ไม่ได้กำลังจะตัดหางปล่อยวัดระบอบปกครอง (ของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์) เซเลนสกี แต่อย่างใด เนื่องจากหากทำเช่นนี้ย่อมเหมือนกับการเปิดกล่องของแพนโดรา (Pandora’s box) ที่อุดมไปด้วยสรรพอาถรรพ์ความชั่วร้ายตามที่เล่าขานไว้ในเทพปกรณัมกรีก ในจังหวะเวลาที่ประธานาธิบดีไบเดนกำลังจะประกาศลงแข่งขันชิงตำแหน่งประมุขอเมริกันเป็นสมัยที่สอง และไม่สามารถที่จะยอมรับได้ว่ายูเครนกำลังเป็นผู้ปราชัยในสงคราม
ในความเป็นจริงแล้ว ยูเครนกำลังอยู่ในอาการเลือดไหลออกไม่หยุด มันเป็นธรรมชาติของพวกสงครามพร่ากำลัง (attritional war) อยู่แล้ว ที่ว่าเมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่ง ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะพังครืน และทันทีหลังจากนั้น จุดจบก็จะมาถึงอย่างรวดเร็วมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย โดยในทันทีที่ศึกชิงอะเลปโป (Aleppo) ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลา 5 ปีตัดสินกันออกมาว่าฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะในเดือนธันวาคม 2016 กองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถบุกตีกวาดไปทั่วประเทศโดยได้รับชัยชนะทางทหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการรูดม่านปิดฉากการสู้รบขัดแย้งที่นั่นลงไป
สงครามพร่ากำลังในยูเครนเวลานี้อาจจะดูเหมือนกับ “ชะงักงันกินกันไม่ลง” ทว่าปัจจัยเบื้องลึกที่เป็นตัวตัดสิน จะอยู่ตรงที่ว่าฝ่ายไหนกำลังทำให้ฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บล้มตายได้มากกว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถึงแม้เคียฟได้รับความช่วยเหลืออย่างมหาศาลทั้งทางการทหาร, ข่าวกรอง, การเงิน, และเศรษฐกิจจากฝ่ายตะวันตก แต่กองกำลังรัสเซียก็สามารถตรึงฝ่ายยูเครนเอาไว้ตามเส้นแนวปะทะสู้รบทั้งหมด
เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักรพูดเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า อัตราส่วนของความสูญเสียในสงครามพร่ากำลังครั้งนี้คิดกันเป็นตัวเลขหยาบๆ ได้เท่ากับทหารยูเครน 7 คนต่อทหารรัสเซียทุก 1 คน และเพื่อให้สามารถพิจารณาภาพในมุมกว้างได้ดีขึ้น ขอให้พิจารณาพวกรายงานข่าวของสื่อตะวันตกที่พากันประมาณการว่ายูเครนจะใช้ทหารราวๆ 35,000 คนในการรุกตอบโต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตามเส้นแนวหน้าความยาวถึง 950 กิโลเมตร ขณะที่ ปูติน พูดเอาไว้ให้ปรากฏแก่สาธารณชนว่า กองกำลังสำรองของฝ่ายรัสเซียที่แนวหน้านี้ มีกำลังทหารจำนวน 160,000 คน!
ระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนนั้นกำลังอยู่ในอาการสาหัส ขณะที่ฝ่ายรัสเซียยังมีฐานะเหนือกว่าอย่างมโหฬารในเรื่องปืนใหญ่ และรัสเซียยังได้เสริมความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมหาศาลที่บริเวณแนวหน้าในระยะ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ในลักษณะสร้างเป็นแนวป้องกันหลายๆ ชั้น อย่างเช่น ทุ่นระเบิด, กำแพงดิน, และเสากีดขวาง เพื่อสกัดกั้นรถถังที่กำลังแล่นเข้ามา ฯลฯ
นี่จึงการเดินหมากแบบกระเสือกกระสนเต็มทีของยูเครนโดยแท้ เคียฟซึ่งต้องสูญเสียกำลังทหารที่มีประสบการณ์มากที่สุดของตนไปในสัดส่วนที่ใหญ่โตมาก (ประมาณการกันว่าบาดเจ็บล้มตายไป 120,000 คน) แล้วจะต้องพยายามเอาชนะฝ่ายรัสเซียซึ่งมีความเหนือกว่าในการครองน่านฟ้า และเหนือกว่าในด้านขีปนาวุธ, รวมทั้งมีความเหนือกว่าในด้านการป้องกันภัยทางอากาศ และเหนือกว่าในด้านปืนใหญ่, อีกทั้งมีความเหนือกว่าในด้านกำลังพลที่ผ่านการฝึก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงด้านอื่นๆ อีก
พวกพื้นที่ซึ่ง ปูติน เลือกไปเยือนในคราวนี้ อันได้แก่ เคียร์ซอน/ซาโปรอซเย และ ลูกันสก์ เป็นบริเวณซึ่งได้รับการคาดหมายกันมากที่สุดว่าจะเป็นจุดที่ยูเครนจะทำการรุกตอบโต้ ปูตินได้รับฟังคำบรรยายสรุปสถานการณ์จากพวกผู้บังคับบัญชาทหาร และแน่นอนทีเดียว เรื่องที่แน่นอนที่สุดก็คือจะมีอินพุตใหม่ๆ สำหรับให้เขาตัดสินใจในเรื่องยุทธศาสตร์เพื่อการตอบโต้ของฝ่ายรัสเซีย ทั้งในการตั้งรับและในการรุก
ถึงแม้มีเอกสารลับเพนตากอนหลุดรั่ว และความวุ่นวายอลหม่านตลอดจนความสับสนที่ติดตามมาทั้งในกรุงวอชิงตันและตามเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรป (และที่เคียฟด้วย) แต่การรุกตอบโต้ของยูเครนก็ยังจะเดินหน้าต่อไปเพื่อหวังช่วงชิงดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมาอย่างน้อยก็บางส่วน มันคือการกระเสือกกระสนทอดลูกเต๋าเสี่ยงดวงอย่างสิ้นหวังเต็มที
กระนั้นก็ตาม ความคิดที่สะท้อนถึงอาการหลงผิดจิตหลอนยังคงปรากฏให้เห็นกันอยู่ในวอชิงตัน เรื่องนี้ดูเหมือนมาจากบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ในวารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์” (Foreign Affairs) ที่ร่วมกันเขียนโดย 2 มือเก่าชาญศึกของชนชั้นปกครองสหรัฐฯ ได้แก่ ริชาร์ด ฮาสส์ (Richard Haass) อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน และ ชาร์ลส์ คุปชาน (Charles Kupchan) นักวิจัยอาวุโสขององค์กรคลังสมองทรงอิทธิพลด้านการต่างประเทศอย่าง สภาว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) บทความชิ้นนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า “The West Needs a New Strategy in Ukraine: A Plan for Getting From the Battlefield to the Negotiating Table” (ฝ่ายตะวันตกจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ในยูเครน: แผนการสำหรับการก้าวจากสนามรบสู่โต๊ะเจรจา)
(ดูเพิ่มเติมบทความนี้ได้ที่ https://www.foreignaffairs.com/ukraine/russia-richard-haass-west-battlefield-negotiations)
บทความนี้โดยส่วนใหญ่แล้วยึดติดอยู่กับภาพมายาต่างๆ ที่พวกนีโอคอนเที่ยวหว่านโปรยไปทั่วมาระยะหนึ่งแล้ว –เป็นต้นว่า การประโคมว่า การปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียประสบความล้มเหลวแล้ว และสงครามได้ “เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นสำหรับยูเครนอย่างมหาศาลยิ่งกว่าที่คนส่วนใหญ่ที่สุดทำนายกันเอาไว้” – แต่กระนั้นก็ยังมีแวบของการคำนึงถึงความเป็นจริงปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ บทความนี้เขียนขึ้นแบบมุ่งต่อยอดจากสิ่งที่เวลานี้ในวอชิงตันชอบหยิบยกขึ้นมาพูดกันเป็นแฟชั่น ที่ว่า “ผลลัพธ์ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดจากการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ ไม่ใช่ชัยชนะอย่างสมบูรณ์แบบของฝ่ายยูเครน แต่จะเป็นภาวะชะงักงันอันนองไปด้วยเลือด”
ฮาสส์ กับ คุปชาน เขียนเอาไว้ว่า “เมื่อถึงเวลาที่การรุกของยูเครนตามที่คาดการณ์กันไว้ยุติลงแล้ว เคียฟก็อาจจะมีความยินดีมากขึ้นที่จะต้อนรับแนวความคิดในเรื่องการตกลงรอมชอมกันโดยผ่านการเจรจา หลังจากที่ได้ทำการสู้รบอย่างดีที่สุดของตนในสมรภูมิไปแล้ว และต้องเผชิญความจำกัดติดขัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากกำลังพลของพวกเขาเอง และทั้งเรื่องความช่วยเหลือจากต่างประเทศ”
ผู้เขียนทั้งสองชี้เอาไว้แค่ผ่านๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทางคณะผู้นำของรัสเซียก็มีทางเลือกต่างๆ และการคาดคำนวณต่างๆ ของตนเองเช่นเดียวกัน ในขณะที่มาตรการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตกประสบความล้มเหลวในการทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเป็นอัมพาต, ความสนับสนุนของประชาชนชาวรัสเซียต่อสงครามคราวนี้ยังคงสูงลิ่ว (เกินกว่า 70%), อีกทั้งมอสโกมีความตระหนักสำนึกว่าเวลานั้นอยู่ข้างพวกเขา ขณะที่พลังในการยืดหยัดของยูเครนและพวกผู้สนับสนุนชาวตะวันตกของพวกเขาตลอดจนความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของพวกเขากำลังจางคลายลงไป และรัสเซียควรที่จะสามารถขยับขยายผลประโยชน์ทางดินแดนของตนให้กว้างขวางออกไปได้อีกมาก
กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว ฮาสส์ และ คุปชาน เหมือนมาจากโลกอีกโลกหนึ่ง พวกเขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่า รัสเซียจะไม่มีทางยอมรับฉากทัศน์ชนิดที่การสู้รบขัดแย้งคราวนี้ยุติลงด้วยการหยุดยิงกัน แต่นาโต้ยังคงสร้างเสริมสมรรถนะต่างๆ ทางการทหารของยูเครนอย่างต่อเนื่องต่อไป และบูรณาการ เคียฟ เข้าไว้ในกลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกแห่งนี้ต่อไปอย่างสม่ำเสมอ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nato.int/cps/en/natohq/news_214037.htm?selectedLocale=en)
ทำไมไม่คิดกันบ้างว่า รัสเซียไม่ต้องการเล่นเกมเก้าอี้ดนตรีต่อไปอีกเกมหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายตะวันตกใช้เวลาดังกล่าวในการจัดแจงทำให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้อย่างเป็นทางการขึ้นมา –นี่ก็คือการยินยอมทำให้ช่วงเวลาสงบศึก ที่คั่นอยู่ระหว่าง ข้อตกลงกรุงมินสก์ปี 2015 (ซึ่งยูเครนและฝ่ายตะวันตกยอมรับว่าเป็นเพียงกลเม็ดในการถ่วงเวลาโดยไม่ได้ต้องการปฏิบัติตามสัญญาเหล่านี้อย่างจริงจัง) กับการปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียในต้นปี 2022 หวนกลับซ้ำรอยขึ้นมาอีกรอบหนึ่งเท่านั้นเองไม่ใช่หรือ?
การที่ ปูติน เดินทางเยือนดินแดนใหม่ๆ ของรัสเซียเหล่านี้ ณ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดขณะที่สงครามพร่ากำลังคราวนี้กำลังจะถึงจุดเกิดการคลายตัวหลุดออกไปจากภาวะชะงักงัน จึงเป็นการส่งสัญญาณอย่างทรงพลังว่า รัสเซียเองก็มีแผนการรุกของตนเช่นเดียวกัน และมันไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ ไบเดน เลยที่จะเป็นผู้เป่านกหวีดเพื่อส่งสัญญาณให้ยุติสงครามตัวแทนของตนคราวนี้ได้ตามใจชอบ (ไม่ว่าเนื่องจากความเหนื่อยล้าอย่างมหาศาลจากสงครามครั้งนี้เอง หรือเพราะต้องเผชิญเรื่องหันเหความสนใจที่มีน้ำหนักแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก, หรือว่าสืบเนื่องจากความแตกร้าวในความสามัคคีของฝ่ายตะวันตก, หรือว่าเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ ก็ตามที)
ในทำนองเดียวกัน มันไม่น่าเป็นไปได้เลยที่รัสเซียจะสามารถกลับมารอมชอมกับระบอบปกครองเซเลนสกี ซึ่งมอสโกมองว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของคณะบริหารเบเดน ทว่าไบเดนจะทำอย่างไรล่ะจึงจะสามารถโยนเซเลนสกีลงถังขยะหรือทำให้เขาหายลับไปจากสายตาไปได้ ขณะที่โครงกระดูกในตู้ของครอบครัวไบเดนเองกำลังส่งเสียงร้องดังระรัว?
(หมายถึง ฮันเตอร์ บุตรชายของ ไบเดน ซึ่งกำลังถูกพวกรีพับลิกันที่ครองสภาล่างสหรัฐฯได้ ไล่ล่ากดดันสอบสวนเรื่องที่เขามีผลประโยชน์อยู่ในยูเครนและอาจกระทำการที่ไม่ชอบมาพากล ในช่วงที่ตัวไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในคณะบริหารบารัค โอบามา -ผู้แปล)
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มติมหาชนในรัสเซียนั้นคาดหมายเอาไว้ว่า ปูติน จะกระทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้ขณะออกคำสั่งเปิดการปฏิบัติการพิเศษทางทหารครั้งนี้ ผลลัพธ์ซึ่งได้น้อยกว่านั้นย่อมจะหมายความว่าชาวรัสเซียจำนวนเป็นหมื่นๆ คนต้องสูญเสียชีวิตไปอย่างเปล่าประโยชน์
เนื้อในแห่งบุคลิกภาพทางการเมืองของ ปูตินนั้น ไม่ได้มีลักษณะที่จะเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ชาวรัสเซีย –หรือมองข้ามจิตวิญญาณแห่งชาติซึ่งถูกกรีดเฉือนเป็นแผลบาดลึก อย่างการได้เห็นภาพทางการยูเครนใช้กำลังขับไล่ไสส่งพระสงฆ์คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์จำนวนหลายร้อยคน ให้อพยพออกไปจากอารามเปเชอร์สก์ ลาฟรา (Pechersk Lavra) ที่เป็นหมู่อารามถ้ำในนิกายออร์ทอดอกซ์ในบริเวณใจกลางกรุงเคียฟซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 11 โดยที่ยูเครนประทับตราพระสงฆ์เหล่านี้ว่าเป็นสปายสายลับของรัสเซีย การกระทำด้วยเจตนาหยามหยันคราวนี้ คือความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านการคิดคำนวณมาแล้วของเซเลนสกี ด้วยการส่งเสริมเป็นนัยๆ จากฝ่ายตะวันตก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1598097 , https://tass.com/russia/1588747, และ https://tass.com/society/1606519)
สิ่งที่พวกนีโอคอนในสหรัฐฯยังไม่ได้ตระหนักซาบซึ้งแก่ใจก็คือว่า พวกเขาประสบความล้มเหลวในการกำราบปราบปรามรัสเซีย ถึงแม้กระทำทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นการหยามหมิ่นสร้างความอัปยศให้แก่เกียรติศักดิ์ศรีแห่งชาติ, ประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจ และวัฒนธรรมที่สมบูรณ์มั่งคั่งสมควรแก่การอิจฉาของรัสเซีย ทำไมรัสเซียจะต้องฟื้นความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับพวกรัฐทั้งหลายซึ่งเข้ายึดครองกองทุนทรัพย์สินความมั่งคั่งแห่งชาติของชาวรัสเซีย และบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นสุดโหดขนาดนี้ด้วยความประสงค์ที่จะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียต้องบาดเจ็บเสียหายและอ่อนแอง่อยเปลี้ย ?
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเนต เยลเลน (Janet Yellen) กล่าวยอมรับในการสัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า การแซงก์ชั่นเช่นนี้ในท้ายที่สุดอาจสร้างความเสี่ยงให้แก่ฐานะความเป็นเจ้าเหนือสกุลเงินตราใดๆ ของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าคำพูดความคิดเห็นของเธอยังคงไปไม่ไกลเพียงพอ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.channelnewsasia.com/business/yellen-says-sanctions-may-risk-hegemony-us-dollar-3421826)
เวลาเดียวกัน ความเป็นหุ้นส่วนในทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-จีนก็มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณที่ส่งออกมาในสัปดาห์นี้ก็คือว่ามอสโกมีความยินดีที่จะร่วมมือประสานงานกับปักกิ่งในการตอบโต้ความท้าทายทางการทหารในภาคตะวันออกไกล
(ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง China, Russia circle wagons in Asia-Pacific ในบล็อกของผู้เขียน https://www.indianpunchline.com/china-russia-circle-wagons-in-asia-pacific/)
รัสเซียนั้นห่างไกลนักจากภาวะของการถูกโดดเดี่ยว และสามารถพึ่งพาอาศัยความลึกล้ำทางยุทธศาสตร์ในประชาคมระหว่างประเทศของตน ขณะที่ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ความเสื่อมทรุดอย่างเป็นระบบของฝ่ายตะวันตก และอิทธิพลที่กำลังจางคลายไปในทั่วโลกของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่มีทางยับยั้งทัดทานได้เสียแล้ว
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/ukraine-stalemate-in-an-attritional-war/