xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์และอีก 4 ชาติถูกระบุเป็น ‘ศูนย์ฟอกล้าง’ ทำให้ ‘น้ำมันรัสเซีย’ เล็ดลอดการแซงก์ชันของสหรัฐฯ และอียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไนล์ โบวี่ ***


ควันก๊าซและไอน้ำพุ่งขึ้นมาจากปล่องไฟต่างๆ ของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในช่วงดวงอาทิตย์ตกดินของวันที่มีหมอกลงจัด ณ เมืองออมสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตไซบีเรียของรัสเซีย ในภาพจากแฟ้มที่ถ่ายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันของแดนหมีขาวไม่ได้เงียบเหงาซบเซาลงเลย แม้ว่าฝ่ายตะวันตกพยายามใช้มาตรการแซงก์ชันต่างๆ เพื่อกดดันบีบคั้น
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The dirty five laundering Russia’s oil
By NILE BOWIE
11/05/2023

สิงคโปร์ จีน อินเดีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถูกประทับตราว่าเป็นประเทศที่คอยช่วยเหลือรัสเซียในการหลบเลี่ยงจากมาตรการแซงก์ชันด้านน้ำมันของฝ่ายตะวันตก

สิงคโปร์ - เหล่าชาติตะวันตกมีการใช้ก้าวเดินสำคัญๆ เพื่อตัดขาดความผูกพันด้านพลังงานที่มีอยู่กับรัสเซีย ทั้งด้วยการยุติการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรัสเซียซึ่งลำเลียงมาทางทะเล พร้อมกันนั้น ก็บังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานให้ขายน้ำมันดิบรัสเซียแก่พวกประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกในราคาไม่เกินบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ถือเป็นความพยายามเพื่อกีดขวางความสามารถของเครมลินในการหาเงินมาใช้ทำสงครามในยูเครน

แต่ในเวลาเดียวกัน ชาติต่างๆ ซึ่งใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย มีการเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปอย่างมากมายน่าตื่นตาตื่นใจ จากบรรดาประเทศที่ได้กลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียรายใหญ่ที่สุดนับแต่ที่มอสโกรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตามรายงานที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์กลางเพื่อการวิจัยว่าด้วยพลังงานและอากาศสะอาด (Center for Research on Energy and Clean Air หรือ CREA) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฟินแลนด์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://energyandcleanair.org/publication/the-laundromat-how-the-price-cap-coalition-whitewashes-russian-oil-in-third-countries/#:~:text=56%25%20of%20Russian%20crude%20oil,of%20Russia's%20invasion%20of%20Ukraine.)

องค์การแห่งนี้ติดป้ายระบุประเทศที่มิได้เข้าร่วมการแซงก์ชันรัสเซียจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และสิงคโปร์ ว่า เป็น “ผู้ฟอกล้าง” (launderers) “ความสกปรก” ให้แก่น้ำมันรัสเซีย ด้วยการนำเอามาผสมกับน้ำมันดิบที่ไม่ได้เป็นน้ำมันรัสเซียมาตั้งแต่เริ่มแรก แล้วจากนั้นส่งออกอีกครั้งไปยังทั่วโลก รวมทั้งไปที่พวกประเทศซึ่งกำลังบังคับใช้มาตรการเพดานราคาและการห้ามนำเข้า สภาพเช่นนี้เองที่รายงานของ CREA บรรยายว่าเป็น “ช่องโหว่รูเบ้อเริ่ม” ของระบบแซงก์ชัน

ไอแซค เลวี (Isaac Levi) นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน ซึ่งทำงานอยู่ที่ CREA และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้คนหนึ่ง บอกกับเอเชียไทมส์ว่า จากการที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าและกำหนดเพดานราคา โดยประกาศบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปี 2022 และเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ตามลำดับนั้น มีการประมาณการว่าจะทำให้มอสโกต้องสูญเสียรายรับไป 160 ล้านยูโร (175.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวัน แต่เวลาเดียวกัน มีการวางแผนขบคิดอย่างระมัดระวังเพื่อเปิดทางให้น้ำมันรัสเซียยังคงไหลเข้าสู่ตลาดโลก จะได้ช่วยฉุดระดับราคาให้ต่ำลง และหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหาซัปพลายน้ำมันเกิดการสะดุดติดขัด

“ทีนี้เมื่อมาตรการห้ามเหล่านี้เข้าที่เข้าทาง ปรากฏว่ารายรับของรัสเซียกลับกำลังเริ่มฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น” เขากล่าว พร้อมกับบรรยายถึงช่องโหว่ที่เกิดขึ้นว่าได้กลายเป็น “หนทางอย่างถูกกฎหมาย” เพื่อให้พวกประเทศที่บังคับใช้การแซงก์ชันอยู่สามารถเข้าไปซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งเมื่อก่อนพวกเขาเคยซื้อหาโดยตรงจากรัสเซีย ทว่าตอนนี้ถูกนำออกมาขายโดยพวกประเทศที่สามในราคาพรีเมียม “กระบวนการเช่นนี้กลายเป็นการสร้างดีมานด์เพิ่มสูงขึ้นให้แก่น้ำมันรัสเซีย และทำให้รัสเซียส่งออกได้มากขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณ และระดับราคา”

ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) เคยประมาณการเอาไว้ว่า ผลผลิตน้ำมันรัสเซียจะลดลงมาราวๆ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2023 หลังจากที่อียูประกาศแบนไม่ให้มีการส่งออกน้ำมันดิบรัสเซียโดยการขนส่งทางทะเล ทว่าการที่มากกว่า 90% ของน้ำมันดิบรัสเซียเวลานี้กลับหันเหทิศทางวิ่งมาหาผู้ซื้อในเอเชีย การส่งออกจึงอยู่ที่ 3.76 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 22% ด้วยซ้ำจากระดับโดยเฉลี่ยในช่วงก่อนสงครามซึ่งอยู่ที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ตามข้อมูลของเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/market-insights/latest-news/oil/050323-russian-seaborne-crude-exports-hit-12-month-high-as-indian-imports-surge)

กราฟิก : เอเชียไทมส์
รายงานฉบับนี้ของ CREA แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียที่ลำเลียงขนส่งกันทางทะเลไปประเทศจีน อินเดีย ตุรกี ยูเออี และสิงคโปร์ ตั้งแต่ที่สงครามยูเครนปะทุขึ้นมา ได้เพิ่มขึ้นถึง 140% เมื่อวัดในแง่ปริมาณ และสูงขึ้นถึง 182% เมื่อวัดเป็นมูลค่า หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 1 ปีก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าของพวกเขาทั้งหมดอยู่ที่ระดับ 74,800 ล้านยูโร (82,000 ล้านดอลลาร์) ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยที่ 5 ประเทศนี้มีสัดส่วนมากถึง 70% ในการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียนับตั้งแต่ที่สงครามเริ่มต้นขึ้น

วิกตอร์ คาโตนา (Viktor Katona) หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านน้ำมันดิบ ที่บริษัทวิเคราะห์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ เค พเลอร์ (Kpler) ชี้ว่า รูปร่างหน้าตาของพวกเทรดเดอร์ที่ทำการซื้อขายน้ำมันรัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่ที่สงครามเริ่มต้นขึ้นมา “ตอนแรกทีเดียวก็เป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ ของโลกตะวันตกที่พากันบอกเลิกไม่ทำธุรกิจด้านนี้ (กับรัสเซีย) จากนั้นตามมาด้วยพวกบริษัทเทรดดิ้งระดับโลก ดังนั้น โดยพื้นฐานเลยในเวลานี้มันจึงมีการปรากฏตัวของตะวันตกน้อยเอามากๆ ในการซื้อขายน้ำมันรัสเซีย”

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ทั้งอียู กลุ่มจี7 และออสเตรเลียต่างนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเยอะจาก 5 ประเทศ (ที่ต้องสงสัย) โดยจากจีนนั้นเพิ่มขึ้น 94% อินเดีย 2% ตุรกี 43% ยูเออี 23% และสิงคโปร์ 33% ขณะที่เมื่อดูตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันของ 5 ชาติดังกล่าวนี้ ซึ่งลำเลียงไปพวกประเทศที่มีการใช้มาตรการเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ปรากฏว่ายอดรวมได้เพิ่มสูงขึ้น 80% เมื่อวัดด้วยมูลค่า และ 26% เมื่อวัดด้วยปริมาณ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นมา รายงานฉบับนี้ระบุ ทว่าการส่งออกของ 5 ประเทศไปพวกประเทศที่มิได้มีการใช้เพดานราคา กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2% เมื่อวัดด้วยปริมาณ

CREA บอกว่า ตนไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่ามีผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปซึ่งจริงๆ แล้วมีแหล่งกำเนิดมาจากน้ำมันดิบรัสเซียเป็นปริมาณเท่าใดกันแน่ ที่ส่งผ่านจากพวก 5 ประเทศ ซึ่งทำตัวเป็น “ร้านฟอกล้าง” ความสกปรกเหล่านี้ไปพวกชาติซึ่งต้องถูกผูกมัดด้วยมาตรการเพดานราคา ถึงแม้รายงานฉบับนี้ได้หยิบยกแนวโน้มด้านข้อมูลหลายๆ แนวโน้มมาใช้เป็น “หลักฐานซึ่งยืนยันว่าพวกประเทศร้านฟอกล้างเหล่านี้กำลังกลายเป็นผู้จัดหาจัดส่งเงินทุนให้แก่เครมลิน จากการที่พวกเขาจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้นสำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า”

การค้าที่ไหลเวียนในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกันกับที่มีการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชัน จึงนำไปสู่ “การอนุมานว่าการแซงก์ชันเหล่านี้กำลังถูกหลบเลี่ยงด้วยวิธีการส่งออกน้ำมันดิบรัสเซียไปพวกประเทศร้านฟอกล้าง ณ ที่นั้น น้ำมันดิบเหล่านี้จะถูกกลั่นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ซึ่งจากนั้นถูกนำไปขายในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ได้มีถิ่นกำเนิดจากรัสเซีย” เป็นคำกล่าวของ แลร์รี ก็องตู (Larry Cantú) ที่ปรึกษากฎหมายด้านน้ำมันและก๊าซระหว่างประเทศ ของบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง บอลล์ พีแอลแอลซี (Ball PLLC)

นอกเหนือจากที่มี “การฟอกล้าง” น้ำมันดิบรัสเซียในประเทศที่สามหลายๆ รายแล้ว ก็องตู กล่าวด้วยว่า เรื่องการจัดทำเอกสารที่ไม่สมบูรณ์หรือกระทั่งการปลอมแปลงเอกสาร เกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันดิบ และการจัดแต่งแก้ไขระบบระบุอัตลักษณ์อัตโนมัติ (Automatic Identification Systems หรือ AIS) เพื่อปกปิดไม่ให้ทราบว่าเรือบรรทุกลำใดบ้างได้เข้าจอดที่ท่าเรือของรัสเซีย ก็อยู่ในจำพวกพฤติการณ์ต้องสงสัยว่าได้มีการนำมาใช้เพื่อหลบหลีกมาตรการแซงก์ชัน

ไม่เพียงเท่านั้น ทางด้าน อีรินา ซูเคอร์มาน (Irina Tsukerman) นักกฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และทำงานเป็นรองประธานโครงการให้แก่คณะกรรมการน้ำมันและก๊าซ ของเนติบัณฑิตยสภาอเมริกัน (American Bar Association) บอกกับเอเชียไทมส์ว่า เชื่อกันว่ารัสเซียนั้นยังกำลังนำเอากลอุบายหลบหลีกต่างๆ ของพวกชาติผู้ส่งออกน้ำมันที่ถูกแซงก์ชันรายอื่นๆ เป็นต้นว่า อิหร่าน และเวเนซุเอลา มาประยุกต์ใช้เช่นกัน อย่างเช่นวิธีปฏิบัติที่พวกเรือบรรทุกน้ำมันจะดำเนินการขนถ่ายน้ำมันจากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่งขณะอยู่กลางทะเลหลวงในบริเวณที่เป็นน่านน้ำสากล

“หนึ่งในวิธีการต่างๆ ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถที่จะสร้างตลาดที่มีความกำกวมไม่โปร่งใสขึ้นมาได้ คือด้วยการส่งเรือบรรทุกน้ำมันออกไปโดยไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอนชัดเจน นี่คือวิธีที่ในที่สุดแล้วเรือบรรทุกน้ำมันเหล่านี้จะเข้าไปสู่การขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลหลวงไปเรือลำอื่นๆ” เป็นคำบอกเล่าของ ซูเคอร์แมน ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และธุรกิจ และมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของสคาแร็บ ไรซิ่ง อิงค์ (Scarab Rising, Inc) บริษัทที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีความชำนาญพิเศษในเรื่องความมั่นคงและการวิจัยตลาด

“น้ำมัน ‘อำพราง’ เหล่านี้บางส่วน กระทั่งกำลังมุ่งหน้าเข้ามาในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป สืบเนื่องจากความสำเร็จของมาตรการหลบเลี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ... (รัสเซีย) ยังกำลังมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในกลอุบายต่างๆ ซึ่งมุ่งหมายที่จะปกปิดราคาแท้จริงที่พวกเขาเรียกเก็บจากพวกลูกค้า ด้วยการใส่ราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเอาไว้ในเอกสาร เพื่อให้เห็นไปว่ายังคงสอดคล้องอยู่ใต้ระดับเพดานราคา อย่างเช่นในการส่งออกไปอินเดีย ทว่าความเป็นจริงแล้วกำลังคิดราคาที่สูงกว่าเพดานเพื่อที่จะทำกำไร” เธอกล่าวต่อ

ขณะที่ ก็องตู ชี้ว่า การค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งจริงๆ แล้วมาจากน้ำมันดิบรัสเซีย เวลานี้กำลังกลายเป็นการค้าที่สามารถ “ทำกำไรได้อย่างสุดๆ” เนื่องจากการแกะรอยไล่ติดตามหาแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปย่อมเป็นเรื่องยากลำบากกว่ากันมากเมื่อเปรียบเทียบกับการหาทางระบุแหล่งที่มาของน้ำมันดิบ

“ผลที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันเล่นงานน้ำมันรัสเซีย ราคาของน้ำมันดิบรัสเซียก็หล่นฮวบลงอย่างแรง แต่ราคาของพวกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ทำมาจากน้ำมันดิบรัสเซียไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปด้วย”

ซูเคอร์แมน ยังได้ระบุอย่างเจาะจงถึง สิงคโปร์ ว่า กลายเป็น “หนึ่งในฮับการค้าชั้นนำที่กำลังทำกำไรจากพวกกลอุบายในการหลบหลีกเอาชนะมาตรการแซงก์ชันรัสเซีย” โดยที่มีรายงานว่า ฮับการค้าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ คือ “หนึ่งในสถานที่ซึ่งน้ำมัน (ดิบรัสเซีย) ถูกนำมาผสมเข้ากับน้ำมันดิบจากที่อื่นๆ นี่ว่ากันตั้งแต่เริ่มต้นเลย การนำเอาน้ำมันเกรดรัสเซียมาผสมเข้ากับน้ำมันเกรดที่อื่นๆ กำลังทำให้พวกเทรดเดอร์ได้กำไรกันในอัตราราวๆ 20% ทีเดียว”

อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันของสิงคโปร์นั้นถือเป็นอุตสาหกรรมแขนงนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกอยู่แล้ว โดยมีศักยภาพในการกลั่นรวมกันแล้วสูงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งแสดงบทบาทสำคัญไม่ใช่น้อยๆ ในตลาดน้ำมันโลก ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นฮับทางธุรกิจและการเงิน สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางชั้นนำสำหรับการเก็บน้ำมันและการซื้อขายน้ำมันอีกด้วย โดยมีตลาดสิงคโปร์ เอ็กซ์เชนจ์ (Singapore Exchange หรือ SGX) คอยเสนอตราสารทางการเงินเกี่ยวกับน้ำมันหลายหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นฟิวเจอร์ส และออปชันเกี่ยวกับน้ำมันดิบ ตราสารอนุพันธ์ทางด้านน้ำมันเตา และผลิตภัณฑ์พลังงานอื่นๆ

ในทางเปิดเผยต่อสาธารณชน สิงคโปร์แสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครน รวมทั้งบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันที่มุ่งเล่นงานเป้าหมายอันกำหนดไว้ชัดเจน ตลอดจนมีมาตรการจำกัดการส่งออกไปรัสเซีย โดยครอบคลุมการควบคุมการส่งออกสินค้าทางทหารและสินค้าที่สามารถใช้ได้ทั้งทางทหารและทางพลเรือน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีมาตรการที่ห้ามพวกสถาบันการเงินติดต่อทำดีลกับพวกแบงก์รัสเซียที่ถูกขึ้นบัญชีดำ อย่างไรก็ตาม ประเทศเกาะแห่งนี้ไม่ได้สั่งแบนการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรัสเซีย

นอกเหนือจากกลั่นน้ำมันดิบรัสเซียแล้ว สิงคโปร์ยังเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียอย่างพรวดพราดในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ โดยที่ในเดือนเมษายน มีปริมาณสูงที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2019 เป็นต้นมาทีเดียว เลวี แห่ง CREA บอก “การไหลเข้ามาที่พุ่งสูงเช่นนี้ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นในด้านส่งออกเลย ดังนั้น พิจารณาจากตัวเลขแล้ว พวกโรงกลั่นสิงคโปร์จึงสมควรที่จะกำลังถูกบีบคั้นหนักจากการไหลเข้าของพวกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากรัสเซีย” เขาแจกแจง

กราฟิก : เอเชียไทมส์
อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว “พวกโรงกลั่นในสิงคโปร์อาจจะกำลังทำกำไรจากการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียราคาถูก และนำเอามากลั่น จากนั้นถ้าไม่ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ได้ออกมานี้ภายในประเทศ ก็ส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันเหล่านี้” เลวี กล่าว พร้อมกับบ่นว่า “พวกเทรดเดอร์และโรงกลั่นสิงคโปร์ไม่เพียงทำให้ตนเองต้องแปดเปื้อนเสื่อมเสียในทางศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังกำลังแบกรับความเสี่ยงทางการพาณิชย์ด้วยการทำธุรกิจกับพวกผู้ผลิตน้ำมันซึ่งมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเครมลินและอาชญากรรมสงครามของพวกเขา”

แต่นอกเหนือจากเรื่องอันตรายทางศีลธรรมและความเสี่ยงทางการพาณิชย์ดังที่ว่านี้แล้ว พวกธุรกิจสิงคโปร์เหล่านี้ต่างยังคงปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และดูจะไม่ได้กระทำการละเมิดกฎหมายอื่นใดๆ จากการทำการค้านี้ ขณะพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในสิงคโปร์เองแถลงว่า บริษัทท้องถิ่นทั้งหลายจะต้องพิจารณาและบริหารจัดการกับผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับกิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจ การทำธุรกรรม และความสัมพันธ์กับลูกค้าของพวกเขาในเวลาติดต่อทำดีลเรื่องน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปรัสเซีย

รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านการค้าและอุตสาหกรรม (Minister of State for Trade and Industry) โลว เยน หลิง (Low Yen Ling) แถลงต่อรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ขณะที่สิงคโปร์ไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมมาตรการแบนของอียู แต่บรรดาบริษัทและสถาบันการเงินในสิงคโปร์ได้รับแจ้งข่าวเรื่องการแบนทั้งที่ประกาศบังคับใช้โดยอียู และโดยประเทศอื่นๆ ผ่านทางหนังสือเวียนที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้อง

โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2023 ทั้งนี้ สิงคโปร์ซึ่งมีอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถูกระบุว่า กำลังกลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศทำตัวเป็น “ร้านฟอกขาว” โดยนำเอาน้ำมันดิบรัสเซียมาผสมกับน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นๆ แล้วกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมต่างๆ ซึ่งยากแก่การติดตามตรวจสอบหาแหล่งกำเนิดดั้งเดิม จึงสามารถ “อำพราง” เพื่อหลบหลีกมาตรการแซงก์ชันน้ำมันรัสเซียที่ฝ่ายตะวันตกประกาศบังคับใช้
ในเรื่องที่สิงคโปร์นำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียเพิ่มขึ้นนี้ ไม่เพียงยอดนำเข้าน้ำมันดีเซลรัสเซียกำลังแตะระดับปริมาณสูงสุดในรอบระยะเวลากว่า 1 ปีเท่านั้น ข้อมูลตัวเลขของทางการแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ยังนำเข้าแนฟทา (naphtha) รัสเซียสูงขึ้นเกือบเป็น 3 เท่าตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 นั่นคืออยู่ที่ 741,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากราวๆ 261,000 ตันในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ทั้งนี้ แนฟทานั้นใช้ในการผสมเพื่อทำน้ำมันเบนซิน มิหนำซ้ำยังเป็นส่วนผสมสำคัญตัวหนึ่งในพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/business/energy/singapore-imports-russian-naphtha-surge-eu-ban-shifts-flows-2023-04-06/)

เวลาเดียวกัน ความต้องการแท็งก์เก็บน้ำมันในสิงคโปร์ก็มีรายงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพวกนักวิเคราะห์มองว่าเรื่องนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่าเชื้อเพลิงรัสเซียกำลังถูกนำมาผสมและถูกส่งออกอีกต่อหนึ่งไปทั่วโลก และการกระทำเช่นนี้เป็นการเปิดทางสะดวกให้แก่เรื่องการทำประกันภัยเรือที่ขนส่งน้ำมัน ตลอดจนเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งถ้ายังอยู่ในรูปของน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรัสเซียแล้ว ย่อมจะถูกแบนตามมาตรการแซงก์ชันของอียูและฝ่ายตะวันตกอื่นๆ “เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยรวมไม่ได้ถูกระบุว่ามีถิ่นกำเนิดจากรัสเซียอีกต่อไปแล้ว บริษัทน้ำมันบางแห่งจึงยอมรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้” ซูเคอร์แมน บอก

นักกฎหมายและนักวิเคราะห์ประสบการณ์สูงผู้นี้กล่าวต่อไปว่า “ความต้องการแท็งก์เก็บน้ำมันในสิงคโปร์ ทั้งพวกแท็งก์ที่ตั้งอยู่บนบก และพวกคลังเก็บลอยน้ำนอกชายฝั่ง ต่างก็เพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่า 6 เดือนสำหรับคลังเก็บน้ำมันเตาหรือน้ำมันดิบในสิงคโปร์พุ่งขึ้นเยอะราวๆ 17-20% ทีเดียวตลอดช่วงปีที่ผ่านมา” เธอย้ำว่า “เรื่องนี้ชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมันของรัสเซีย –ตลอดจนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมผสมซึ่งตั้งใจทำเพื่อปกปิดถิ่นกำเนิดของมัน น่าที่จะกำลังท่วมท้นตลาดต่างๆ ในเวลานี้”

พวกที่สงสัยข้องใจและไม่เห็นดีเห็นงามเกี่ยวกับความพยายามของฝ่ายตะวันตกที่จะปฏิเสธไม่ให้เครมลินได้รับผลกำไรงามๆ จากการส่งออกพลังงาน อาจจะตีความช่องโหว่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในเวลานี้ รวมทั้งหลักฐานที่ว่าฝ่ายตะวันตกยังคงมีความต้องการน้ำมันรัสเซีย ว่าคือเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่า แท้ที่จริงแล้วรัสเซียใหญ่เกินไปกว่าที่จะทำการแซงก์ชันอย่างได้ผล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานอย่างเช่น CREA ยังคงเรียกร้องให้พวกประเทศกำหนดเพดานราคาทั้งหลายปรับปรุงยกระดับการบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อมุ่งส่งผลให้มีการปฏิบัติตามในเรื่องราคาเพดานอย่างเข้มงวด รวมทั้งอุดช่องโหว่ต่างๆ ที่กำลังถูกฉวยใช้ประโยชน์อยู่ในเวลานี้

ตามระบบเพดานราคาซึ่งอียูพยายามผลักดันนำมาใช้นั้น บริษัทต่างๆ ที่กำลังใช้เรือขนส่งน้ำมันรัสเซียในอาณาบริเวณนอกยุโรป สามารถที่จะเข้าถึงพวกบริการประกันภัยทางทะเล ตลอดจนบริการด้านโบรกเกอร์ต่างๆ ของอียูได้ ต่อเมื่อพวกเขาขายน้ำมันดังกล่าวในราคาบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์หรือต่ำกว่าเท่านั้น ตามรายงานฉบับนี้ของ CREA ในช่วงเดือนธันวาคม 2022 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 น้ำมันดิบรัสเซียที่ลำเลียงไปยังพวกประเทศ “ร้านฟอกล้าง” ทั้ง 5 มีราวๆ 56% ขนส่งโดยใช้เรือที่พวกชาติกำหนดเพดานราคา เป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้รับประกันภัย

องค์กรวิจัยที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงเฮลซิงกิแห่งนี้ เสนอแนะให้พวกประเทศกำหนดเพดานราคา ใช้อิทธิพลบารมีของพวกตนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมประกันภัยและอุตสาหกรรมเดินเรือทะเล ดำเนินการแบนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งมาจากพวกโรงกลั่นที่กำลังรับน้ำมันดิบรัสเซีย รวมทั้งแบนพวกเรือที่ถูกใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการกำหนดเพดานราคา ชนิดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถให้บริการการขนส่งทางทะเลได้อีกตลอดชีพ

“บทลงโทษสำหรับการละเมิดนโยบายกำหนดเพดานราคาในเวลานี้ คือ ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงพวกบริการประกันภัยและบริการทางการเงินต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน นี่คือบทลงโทษที่เบาโหวงเหวง เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสนอในตอนต้น ซึ่งมุ่งทำให้พวกเขาเข้าถึงไม่ได้เลยไปตลอดชีพ มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าควรที่จะมีการกำหนดบทลงโทษให้หนักแน่นจริงจังยิ่งขึ้น” เป็นความเห็นของ เลวี แห่ง CREA ผู้ซึ่งบอกด้วยว่า เท่าที่เขาทราบมานั้นยังไม่มีบริษัทไหนเลยที่ถูกจับในการติดตามไล่ล่าผู้ละเมิดมาตรการแซงก์ชัน

เรือบรรทุกน้ำมันจอดทอดสมออยู่ใกล้สถานีขนถ่ายน้ำมันคอซมิโน ในอ่าวนาฮ็อดคา ใกล้ๆ กับเมืองนาฮ็อดคา ในดินแดนภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยอยู่ห่างจากเมืองวลาดิวอลสต็อกราวๆ 85 กิโลเมตร (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2022) ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันโดยเฉลี่ยต่อวันของรัสเซียเวลานี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับเฉลี่ยก่อนหน้าสงครามยูเครนด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนความล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตก
ทางด้าน ไมค์ ซอลต์เฮาส์ (Mike Salthouse) หัวหน้าด้านกิจการภายนอกของบริษัทประกันภัยทางทะเล นอร์ทสแตนดาร์ด พีแอน์ไอ คลับ (NorthStandard P&I Club) บอกกับเอเชียไทมส์ว่า เรือต่างๆ ที่บริษัทรับประกันภัยให้ “ต่างตระหนักรับรู้ถึงข้อกำหนดที่ว่าพวกเขาจะต้องได้รับเอกสารรับรอง (ว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการเพดานราคา) จากทางฝ่ายคู่สัญญาของพวกเขาเสียก่อนจึงจะมีการขนสินค้าลงเรือ ขณะที่มันเป็นเรื่องลำบากที่จะรู้สึกมั่นอกมั่นใจกันอย่างเต็มที่ แต่ระบบการให้ออกหนังสือรับรองดูจะยังคงใช้ได้ผลดี”

เขากล่าวต่อไปว่า ทางฝ่ายรัสเซียเองซึ่งก็แก้เผ็ดด้วยการสั่งห้ามทำข้อตกลงกับผู้ที่จะปฏิบัติตามกลไกกำหนดเพดานราคา ในเวลานี้บรรดาหุ้นส่วนที่ดีลกับรัสเซียจึง “กำลังลงทุนในพวกเรือ ซึ่งมีการติดธง จัดชั้น และทำประกันภัยในเขตอำนาจศาลซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของอียู และจี7 ... เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเรื่องเพดานราคา” ทั้งนี้ เขากล่าวว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือว่า ระบบความปลอดภัยและการตรวจสอบน่าที่จะเข้มงวดน้อยกว่า และการประกันภัยก็มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าระบบที่พวกเราคุ้นเคยใช้กันอยู่”


กำลังโหลดความคิดเห็น