xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกซึมเงินเฟ้อเร่ง ค่าระวางดิ่ง-ฉุดกำไร บจ.เดินเรือทรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทเดินเรือ รับผลค่าระวางดิ่ง ฉุดตัวเลขกำไรไตรมาสแรกปีนี้วูบ เทียบไตรมาสแรกปี 65 ที่ค่าระวางพุ่งสูงดันผลงานทะยานถ้วนหน้าเมื่อปีก่อน ส่งผลให้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เหตุค่าระวางค่อยๆ ปรับลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญจาก 773 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ในไตรมาสแรกปี 65 สู่ 394 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ไตรมาสแรก ปี 66 ขณะกำไร PSL และ RCL ทรุดหนัก ขณะ WICE เน้นบริหานต้นทุนหนุนมาร์จิ้นโต ด้าน TTA แผ่วเพราะรับผลขาดทุนจากบริษัทร่วม ส่วน AMA ตัวเลข Gross Profit พุ่ง หนุนกำไรฟื้น และ PRM ขยายกองเรือ ดันผลงานโตต่อเนื่อง

ปลายปี 2565 อัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกจากประเทศไทยไปเส้นทางตะวันตกลดลงอย่างมากในไตรมาส 3 โดยอัตราค่าระวางไปยุโรปลดลง 12% จากปีก่อน และ 40% YTD ขณะที่อัตรา ค่าระวางไปสหรัฐลดลง 31-43% และ 48-62% YTD ซึ่งอุปสงค์การนำเข้าจากยุโรปและสหรัฐลด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาความแออัดที่ท่าเรือคลี่คลายลง ขณะเดียวกัน อัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกไปยังเส้นทางในเอเชียส่วนใหญ่ยังทรงตัว ยกเว้นเส้นทางไปเกาหลีใต้ที่ต่ำลง

ขณะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดูแย่กว่าที่คาดไว้เพราะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น มีการใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น โดย IMF ปรับลดประมาณการ GDP โลกลง 90bps ในปี 2565F และ 2566F เหลือ 4.1% และ 3.2% ตามลำดับ เพราะแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ EU และจีน แผ่ว ความเสี่ยงค่อนไปทาง downside มากกว่า เพราะถูกกดดันจากทั้งเงินเฟ้อที่สูง, ตลาดแรงงานที่ตึงตัว, ภาวะทางการเงินที่ตึงตัว ความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกลง 40bps เหลือ 3.2% ในปี 2565F และ 70bps เหลือ 2.9% ในปี 2566F

จากงานวิจัยของ Hapag-Lloyd คาดว่าอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566F โดยจะมีเรือขนตู้คอนเทนเนอร์ใหม่จำนวนมากที่สั่งต่อเมื่อปี 2564 และปี 2565 เพิ่มเข้ามาในตลาดในปี 2566-2568 ซึ่งอัตรา orderbook to fleet ratio ปัจจุบันเพิ่มเป็น 28% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หมายความว่าจะมีอุปทานและจำนวนมากเพิ่มเข้ามาในตลาดอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะคาดว่าอุปสงค์จะเพิ่มเพียง 3% ในปี 2566F เพราะช่องว่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานที่กว้างขึ้นปี 2567 น่าจะส่งผลให้อัตราค่าระวางลดลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

ขณะบริษัทจดทะเบียนได้แจ้งผลงานไตรมาสแรกปี 2566 ออกมาพบว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบริษัทเดินเรือที่แจ้งออกมาพบว่าส่วนใหญ่กำไรลด เพราะค่าระวางปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้ต่อลำเรือต่ำ และบางแห่งต้องรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัทร่วม

PSL กำไรทรุด รายได้เฉลี่ยต่อลำเรือตก

นายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL แจ้งผลงานงวดนี้มีกำไรสุทธิ 78.69 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,293.92 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากการเดินเรือสุทธิ(รายได้จากการเดินเรือสุทธิจากรายจ่ายท่าเรือและน้ำมันเชื้อเพลิง) สำหรับไตรมาสแรกปี2566 ต่ำกว่ารายได้จากการเดินเรือสุทธิ 51% จากไตรมาสแรกปี 2565 เนื่องมาจากรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือลดลงจาก 21,995 ดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกปี 2565 เป็น 10,022 ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรกปี 2566กองเรือของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มี 38 ลำ

ขณะ ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 15 % เมื่อเทียบกับตัวเลขไตรมาสแรกปีก่อน เพราะการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายพัสดุภัณฑ์ ค่าอะไหล่ เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในสกุลเงินเหรียญสหรัฐพบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือ (OPEX) (รวมค่าเสื่อม/ค่าใช้จ่ายตัดบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและสำรวจเรือ) เพิ่มขึ้นจาก 4,914 ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรกปี 2565 เป็น 5,231 ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรกปี 2566 จากการลดลงของค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนผันแปร ส่วนค่าใช้จ่ายทางการเงิน เพิ่ม 21.77ล้านบาท เมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสแรกปี2565 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย LIBOR/SOFR และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนไตรมาสนี้ อยู่ที่ 24.56 ล้านบาท

TTA รับผลขาดทุน บ.ร่วม ฉุดกำไร

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TTA แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้่่มีกำไรสุทธิ 214.96 ล้านบาท ขณะงวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 979.84 ล้านบาท ลดลง 765 ล้านบาท หรือ 78% แม้จะประสบกับภาวะอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าลดลงและรายได้จากการขายปุ๋ยของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรลดลง แต่ยังสามารถทำกำไรได้ ส่งผลให้งวดนี้มีรายได้ 4,765.8 ล้านบาท ลดลง 21% จากปีก่อน และ 33% จากไตรมาสก่อน เนื่องการลดลงของอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า และรายได้จากกการขายปุ๋ยลดลงจากกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรและมีกำไรขั้นต้น 1,093.9 ล้านบาท

" แม้ว่าค่าระวางเรือปรับตัวลงจากปัจจัยตามฤดูกาลในไตรมาสแรกปีนี้ แต่ โทรีเซน ชิปปิ้ง มีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ย 13,718 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 9,662 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ราว 42% และยังคงเชื่อว่าอุตสาหกรรมสินค้าแห้งเทกองจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 2"

โดย บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) ประสบปัญหายอดขายปุ๋ยในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและเป็นช่วงที่ราคาปุ๋ยปรับตัวลดลง และคาดว่าอุปสงค์ปุ๋ยที่เวียดนามจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่ง PMTA รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 38.8 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 26.6 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะที่ บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ มีผลขาดทุนสุทธิ 166.1 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA 96.1 ล้านบาท ไตรมาสแรกปีนี้ ปรับตัวดีขึ้น 37% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบที่แข็งแกร่ง 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส

RCL กำไรวูบ ค่าระวางถูก ปริมาณขนส่งต่ำ

นายทวินโชค ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL เผยว่างวดนี้กำไร 913 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 8,222.56 ล้านบาท หรือลดลง 7,309.56 ล้านบาท หรือ 88.89% และลดลงจากไตรมาส 4 ปี2565 ที่ทำไว้ 2,616 ล้านบาท หรือลดลง 65% ขณะที่ปริมาณการขนส่งลดลง 8% เนื่องจากจากเทศกาลวันหยุดยาวในจีนและเอเชียไตรมาสนี้รวมถึงภาวะตลาด ท้้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรลดลง 7,310 ล้านบาท เพราะอัตราค่าระวางที่ค่อยๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญจาก 773 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ในไตรมาสแรกปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราค่าระวางที่เกินปกติอันเกิดจากสถานการณ์การแออัดของท่าเรือเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ปริมาณเรือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผลักดันให้ค่าระวางสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะอัตราค่าระวางปรับตัวสู่ 472 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้และ 394 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในไตรมาส 4 ปี 2565 และไตรมาสแรก ปี 2566 ตามลำดับ เป็นผลมาจากสถานการณ์การแออัดของท่าเรือที่ผ่อนคลายลงหลังสถานการณ์โควิดประกอบกับความต้องการในการขนส่งสินค้าลดลง เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลออย่างไรก็ตาม อัตราค่าระวางในไตรมาสแรกปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่ปริมาณการขนส่งในไตรมาสนี้ลดลง 11 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับไตรมาสแรกปีนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ขณะมาตรการการควบคุมต้นทุน ทำให้บริษัทฯ มีต้นทุนการดำเนินการทั้งต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรลดลงอย่าง มีนัยสำคัญ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรักษาผลกำไรสุทธิดังกล่าวข้างต้นไว้ได้จากสภาวะอุตสาหกรรมการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลข้างต้น อัตราค่าระวางและปริมาณการขนส่งสินค้า มีการปรับเข้าสู่ระยะก่อนสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ตลาดการขนส่งทางทะเลมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ จึงปรับตัวเพื่อให้เข้ากับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาด โดยการขยายตลาดนอกเหนือจากการขนส่งสินค้าภายในเอเชีย เช่น แอฟริกา การเริ่มธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แบบห้องเย็น (Reefer Container)การปรับปรุงกองเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงข้ันตอนการดำเนินงานภายใน เช่น การพัฒนาบุคลากร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ (Digitalization) การบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ (Operation Excellence) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและบริหารต้นทุน

Gross Profit พุ่ง หนุน AMA ฟื้นกำไร

นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด(มหาชน) หรือ AMA แจ้งไตรมาสแรกบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 80.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.64 ล้านบาทหรือ 16,964.71 % จากปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 10.63% เทียบกับอัตราขาดทุนสุทธิต่อรายได้ไตรมาสแรกปีก่อนที่ติดลบ 0.08 % สอดคล้องกับกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

โดย AMA มีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้า 754.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.67 ล้านบาท หรือ 25.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือของบริษัท และการให้บริการขนส่งสินค้าทางรถของบริษัทย่อย คิดเป็น 56.21 % และ 43.79% ตามลำดับ ซึ่งรายได้จากการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้น 141.72 ล้านบาทหรือ 50.21% จากปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากอัตราค่าขนส่งเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 37.57% และปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น 9.15 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึงอัตราการใช้กองเรือเฉลี่ย (Utilization Rate) ที่ดีขึ้น 98.72%

ขณะธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถ มีรายได้ 330.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.95 ล้านบาทหรือ 3.75 % จากปีก่อนหน้า ส่วนรายได้ของธุรกิจการขนส่งสินค้าเหลว เพิ่มขึ้น 23.42 ล้านบาท หรือ 10.81% โดยมีปริมาณการขนส่งน้ำมันรวม 609.78 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 21.89 ล้านลิตรหรือ 3.72 % จากปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

สำหรับ กำไรขั้นต้น( Gross Profit ) งวดนี้มี 142.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.68 ล้านบาท หรือ 196.60 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.94 % สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อนที่มี 8.02 % โดย ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 94.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.68 ล้านบาท หรือ 905.52% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 22.17% เมื่อเทียบกับอัตราขาดทุนขั้นต้นในไตรมาสแรกปีก่อนที่ติดลบ 4.13 % ซึ่งกำไรขั้นต้นและอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มสูงขึ้นปีนี้เกิดจากอัตราค่าระวาง ซึ่งปรับสูงขึ้นถึง 37.57% จากไตรมาสแรกปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยปรับตัวลดลง 16.15% นอกจากนี้ยังมีการควบคุมความเร็วของเรือให้อยู่ที่ความเร็วรอบประหยัด (Economic Speed) เพื่อพยายามลดต้นทุน

PRM ขยายกองเรือ ดันโตต่อเนื่อง

นายพร้อมพงษ์ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด(มหาชน) หรือ PRM แจ้งงบไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 577.12 ล้านบาท ขณะงวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 273.80 ล้านบาท ผลจากการลงทุนขยายธุรกิจเรือ VLCC และธุรกิจเรือสนับสนุนการสํารวจและผลิตนํ้ามันกลางทะเล โดยเป็นสัญญาการให้บริการระยะยาว 5- 10 ปี ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่แน่นอนสมํ่าเสมอตลอดอายุสัญญา และยังบริหารจัดการ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายบริหาร และค่าใช้จ่ายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในไตรมาสแรกปีนี้บริษัทฯ มีกําไรสุทธิ 613.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 310.9 ล้านบาท หรือ 102.9 %

ขณะที่มีรายได้ 2,100.9 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 1,474.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 626.5 ล้านบาท หรือ 42.25 % และมีกำไรขั้นต้น 804.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 436.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 368.1 ล้านบาท คิดเป็น 84.3% ส่งผลให้มี EBITDA 1,073.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 612.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 461.5 ล้านบาท หรือ 75.4%

WICE เน้นบริหารต้นทุนหนุนมาร์จิ้นพุ่ง

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE แจ้งกำไรงวดนี้ 55 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 158 ล้านบาท ลดลง 102.39 ล้านบาท หรือ 64.91% ซึ่งเป็นไปตามรายได้ที่ลดลง ขณะบริษัทฯ เน้นบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เพิ่มอัตรากำขั้นต้นได้ถึง 21% สูงช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 16%

โดยไตรมาสนี้ WICE มีรายได้รวม 1,035 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,166 ล้านบาท นับเป็นช่วงอ่อนตัวตามฤดูกาลของธุรกิจที่เข้าสู่ Low Season ประกอบกับได้รับผลกระทบจากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว หรือลดลงกว่า 80%

"แม้ไตรมาสแรกผลงานไม่โดดเด่น เพราะอยู่ในช่วง Low Season ประกอบกับภาคการส่งออกของประเทศไทยไตรมาสแรกที่คาดว่าจะหดตัวราว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2565 ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทยก่อนหน้านี้มีการเติบโตค่อนข้างสูง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ดังนั้นหากสามารถบริหารปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนได้ คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนผลงาน WICE ให้เป็นไปตามเป้าหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น