บรรดาชาติตะวันตกไม่ได้หยุดซื้อพลังงานรัสเซีย แม้สหรัฐฯ และอียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเล่นงานมอสโก จากการเปิดเผยของนิโคไล ชูลกินอฟ รัฐมนตรีพลังงาน พร้อมเผยประเทศเหล่านี้เพียงแค่เปลี่ยนสู่การนำเข้าจากรัสเซียแบบอ้อมๆ ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้ใช้วิธีซื้อดีเซลจากมอสโกหลายล้านบาร์เรล แล้วส่งออกอุปทานของตนเองไปให้แก่เหล่าชาติยุโรป เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
เมื่อถูกถามกรณีที่มีข่าวว่าบรรดาชาติตะวันตกยังคงซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรัสเซีย แต่ผ่านหนทางอื่น ชูลกินอฟ ตอบว่าข้อมูลนี้ "ถูกต้อง" อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนทางเฉพาะเจาะจงที่ใช้ในการส่งมอบพลังงานรัสเซียสู่เหล่าผู้บริโภคในตะวันตก
ในเดือนธันวาคม 2022 อียู กลุ่มจี7 และบรรดาพันธมิตรของพวกเขาได้กำหนดมาตรการร่วมกันในการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียที่ส่งมอบทางทะเล เช่นเดียวกับกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมีการแบนนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันเกือบทุกประเภทของรัสเซีย เช่นเดียวกับบังคับใช้เพดานราคาดีเซลและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา
แม้ก๊าซธรรมชาติของรัสเซียที่ลำเลียงผ่านท่อ ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว แต่การส่งออกก๊าซของมอสโกไปยังอียูลดลงอย่างมาก ตามหลังเหตุการณ์ลอบก่อวินาศกรรมท่อลำเลียงใต้ทะเล นอร์ดสตรีม 1 และ 2 ในเดือนกันยายน 2022 ซึ่งทำให้มันใช้งานไม่ได้ ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวโพลิติโกของสหรัฐฯ ระบุว่า จนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อียูยังไม่บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าก๊าซธรรมชาติรัสเซียที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงจะถูกบรรจุเข้าไปในมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บางประเทศในอียูยังคงกระตือรือร้นซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากรัสเซีย โดยที่สเปนเป็นชาติที่จัดซื้อมากที่สุดในช่วงต้นปี 2023 ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ความขัดแย้งในยูเครนเริ่มต้นขึ้น สเปนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 84%
ฝรั่งเศสก็โผล่ขึ้นมาในฐานะผู้นำเข้ารายใหญ่ก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัสเซียเช่นกัน โดยมีการจัดซื้อเชื้อเพลิงนี้ 1.9 ล้านเมตริกตันในปี 2022 ตามด้วยสเปน ที่จัดซื้อ 533,800 เมตริกตัน และเบลเยียม ที่จัดซื้อทั้งสิ้น 310,000 เมตริกตันในช่วงเวลาเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น สเปนยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 9 มีนาคมที่ผ่านมา จากรายงานของบลูมเบิร์ก ตามมาด้วยเบลเยียม และบัลแกเรีย
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ยุโรปบ่งชี้ว่ากำลังห้ามเรือต่างๆ ที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับน้ำมันรัสเซียแล่นเข้าสู่ท่าเรือทั้งหลายของอียูและน่านน้ำต่างๆ ส่วนหนึ่งในแพกเกจมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ต่อมา โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู เรียกร้องให้ทางกลุ่มแบนเชื้อเพลิงจากอินเดีย เนื่องจากมันเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากน้ำมันรัสเซีย
ตัวของอินเดียเองนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม จากการเปิดเผยของแบงก์ออฟบาโรดา ธนาคารแห่งรัฐรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ ทั้งนี้ ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก รัสเซียได้เบี่ยงเส้นทางการส่งออกน้ำมันไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและละตินอเมริกา
ส่วนหนึ่งในความพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้จัดซื้อน้ำมันดีเซลของรัสเซียหลายล้านบาร์เรล เพื่อชดเชยอุปทานของตนเองที่ขายแก่บรรดาประเทศยุโรป เนื่องจากยุโรปแบนนำเข้าเชื้อเพลิงของรัสเซีย
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ริยาดนำเข้าน้ำมันดีเซลและเบนซินจากรัสเซียเฉลี่ยแล้ว 174,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน และในเดือนนี้ยอดการนำเข้าได้ข้ามผ่านตัวเลขดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมโดย Kpler บริษัทวิเคราะห์ด้านพลังงาน ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียก้าวเข้ามาแทนที่รัสเซียในฐานะผู้จัดหาพลังงานรายใหญ่ที่สุดของยุโรป มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่ยุโรปกำหนดมาตรการแบนเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นอื่นๆ ของรัสเซีย ในบทลงโทษกรณีรุกรานยูเครน
ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม สหภาพยุโรป จี7 และออสเตรเลียยังกำหนดเพดานน้ำมันดิบรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อสกัดรายได้จากพลังงานฟอสซิลของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กรายงานว่าจากน้ำมันดีเซลและเบนซินที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกทั้งหมดในเดือนเมษายน มีถึงราวๆ 35% ที่ส่งออกยังประเทศต่างๆ ในอียูและสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง น้ำมันที่มีต้นทางจากรัสเซียก็เดินทางเข้าสู่ท่าเรือต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย
ไอมาน นาสเซรี กรรมการผู้จัดการภูมิภาคตะวันออกกลาง ของบริษัทที่ปรึกษา FGE คาดหมายว่าตัวเลขการนำเข้าดีเซลของซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 31,500 บาร์เรลต่อวันในปี 2022 เป็น 150,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2023
(ที่มา : บลูมเบิร์ก/อาร์ทีนิวส์)