xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน เส้นทางการจาริกแสวงบุญของพระภิกษุไปอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


พระภิกษุฝาเสียน (ภาพจาก https://buddhisttemple.ca)
ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

พระภิกษุจากจีนและอินเดียเริ่มเดินทางผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เชื่อมต่อระหว่างอ่าวเบงกอลและจีนในพุทธศตวรรษที่ 8 โดยแวะที่ศรีลังกาและชายฝั่งอุษาคเนย์ประมาณปี พ.ศ.963-1013 ชาวจีนเรียกมหาสมุทรอินเดียว่า 西海 (ซีไห่หรือทะเลตะวันตก) ก่อนที่พระภิกษุฝาเสียนเดินทางไปอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 9 พระภิกษุชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกทะเลจากเจียวจื้อ (ฮานอย) ไปออกแอวที่ฟูนันแล้วเปลี่ยนเรือไปอินเดียใต้ทำให้ปากแม่น้ำโขงกลายเป็นที่เปลี่ยนเรือ

พระภิกษุฝาเสียน (法显) (พ.ศ.880-965) เดินทางจากฉางอันทางบกผ่านทะเลทรายตักลามากันในซินเจียงเข้าสู่ภาคตะวันตกของอินเดียและจาริกแสวงบุญไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึง 4 สังเวชนียสถาน ขากลับไปลงเรือที่เมืองทัมรัลลิปติที่อ่าวเบงกอลเพื่อกลับไปจีนทางเรือ โดยแวะที่ศรีลังกา หมู่เกาะนิโคบาร์ ปาเล็มบัง (คันดิส) และกลับสู่เมืองท่าฉิงโจวแล้วเดินทางทางบกกลับฉางอัน เมื่อท่านเดินทางไปถึงศรีลังกาท่านได้บันทึกเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิในพุทธศาสนาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและสถานที่ๆจะเอาหนังสือคำสอนทางพุทธศาสนาและแนะนำให้พระภิกษุชาวจีนเดินทางไปยังศรีลังกา ในเอกสารจีน ซีหล่านหรือเสยหลันหมายถึงศรีลังกามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 มีที่มาจากคำว่า เซเรนดิป หรือเกาะเซเรน ในภาษาอาหรับหรือเปอร์เซีย แต่ชาวจีนมักเรียกว่าซีหล่านกั๋ว (เสยหลันก๊ก) หรือซีหล่านชาน (เสยหลันซาน) ที่หมายถึงเขาศรีบาทาที่มีพระพุทธบาท พระภิกษุซวนจ้าง (玄奘 พ.ศ.1143-1207) ไม่เคยเดินทางทางเรือแต่พูดถึงศรีลังกา ท่านกล่าวถึงมณิกปัฏนะหรือ เช-ลี่-ทา-โล ท่าเรือแรกที่พระภิกษุเดินทางไปถึงคือทัมรัลลิปติในสมัยอี้จิง ประมาณปีพ.ศ.1190-1200 พระภิกษุธรรมปาละ เจ้าอาวาสมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาหลังจากเกษียณแล้วก็จาริกมาศึกษาธรรมะที่ศรีวิชัยจนมรณภาพที่นั่น

พระภิกษุอี้จิง (พ.ศ.1178-1256) เดินทางทางทะเลอย่างเดียวเริ่มต้นจากฉางอันไปลงเรือที่เมืองท่าหยางโจวแล้วแวะที่กว่างโจว วิชัย (ปาเล็มบัง) เคดาห์ หมู่เกาะนิโคบาร์ (裸国 หลัว-กั๋ว) แล้วถึงเมืองท่าทัมรัลลิปติที่อ่าวเบงกอล บางครั้งแวะที่จัมบิ ทัมรัลลิปติเป็นเมืองท่าหลักสำหรับท่านอี้จิงในการเดินทางสู่อินเดีย ท่านไม่ได้เดินทางตามลำพังเพราะท่านเขียนหนังสือ 6 เล่มและแปลพระสูตรกว่า 60 พระสูตรจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนในระหว่างการจาริกแสวงบุญสู่อินเดียใน 6 เล่มนี้มีอยู่ 3 เล่มที่สำคัญคือ คือ ต้าถังซีหยู่ฉิวฝ่าเกาเซิ่งจ๋วน (大唐西域求法高僧传 หรืออัตชีวประวัติพระภิกษุราชวงศ์ถังที่เดินทางไปยังดินแดนตะวันตก) หนานไห่จี้กุ๊ยเน่ยฝ่าจ๋วน (南海寄归内法传หรือบันทึกการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาในทะเลใต้ที่ส่งกลับบ้าน) และแปลหนังสือมูละสารวัสติวะดา-เอกะศาตะการมันภาษาสันสฤตเป็นภาษาจีน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1238-1256

ท่านไม่ได้เดินทางคนเดียวเพราะเขียนอัตชีวประวัติของพระภิกษุถึง 56 รูปที่ท่านได้พบปะในระหว่างการจาริกแสวงบุญในบันทึกต้าถัง พระภิกษุเหล่านี้มาจากหลายเมืองในจีน มีพระชาวเกาหลีมาจากโกคูรยอและซิลลา และพระจากเอเชียกลาง พระภิกษุเหล่านี้ใช้เส้นทางต่างกันไปอินเดีย บางรูปเดินทางทางบก บางรูปเดินทางทางทะเลแต่แวะท่าเรือที่ต่างกัน บางรูปเดินทางลงเรือที่กว่างตง (กวางตุ้ง) ผ่านจามปา พนม (ฟูนัน) ศรีวิชัย (ปาเล็มบัง) มลายู (จัมบิ) เคดาห์และหมู่เกาะนิโคบาร์ก่อนเทียบท่าที่ทัมรัลลิปติที่อ่าวเบงกอล ท่านบันทึกวัตรปฏิบัติและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในทะเลใต้ในหนังสือหนานไห่หลังจากเดินทางกลับจากอินเดียมาอยู่ที่ศรีวิชัยในปีพ.ศ.1230 ท่านเดินทางกับสหธรรมิกและลูกศิษย์ พระภิกษุเหล่านี้หลายท่านเดินทางไปศรีลังกา มีสหธรรมิกและลูกศิษย์ของท่านอาศัยอยู่ที่อินเดียและศรีวิชัยซึ่งบางรูปก็เสียชีวิตในการเดินทาง พระภิกษุบางรูปก็สึกและไม่ได้กลับบ้าน ท่านกล่าวถึงจามปา ฟูนัน ทวาราวดีหรือ ตา-ลา-ปวด-ตี้ (陀羅缽地 = ถัว-หลัว-ป๋อ-ตี้) ศรีวิชัยและศรีลังกาเพราะพระบางรูปจะลงเรือที่เจี้ยวจื้อ (ฮานอย) แวะจามปา ออกแอว (ฟูนัน) ไปลังกาสุกะ ชางหมิ่น ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านเดินทางไปมลายู (จัมบิ) และกา-ลิง (เหอ-ลิง) ในเกาะชวา บางท่านเดินทางไปถึง ปู-เหริน (บันจามาซิน) ในเกาะบอร์เนียว

กลิงคะปัตนัม ในอ่าวเบงกอลก็เป็นเมืองท่าศูนย์กลางสำหรับพระภิกษุใช้เดินทางไปศรีลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยก่อนหน้านี้ในพุทธศตวรรษที่ 9 และ 10 อลากันกูลัมเป็นเมืองท่าสำคัญที่อยู่ตรงข้ามกับศรีลังกา จากอัตชีวประวัติหลู่เซียนของพระวัชรพุทธิและอโมกฆวัชระที่เป็นพระลูกศิษย์ชาวอินเดียของท่านในปีพ.ศ.๑๒๘๓ พระภิกษุเหล่านี้เดินทางไปถึงศรีลังกาเมื่อปีพ.ศ.๑๒๖๓ โดยใช้เรือออสโตรเนเซียนหรือศรีวิชัยที่เรียกว่าคุนหลุนโป่ (崑崙舶) ดังนั้นศรีลังกาจึงอยู่ในเส้นทางๆทะเลนี้

เอกสารอ้างอิง
Acri, Andrea. 2019. "Navigating the "Southern Seas" Miraculously: Avoidance of Shipwreck in Buddhist Narratives of Maritime Crossing." In Moving Space: Creolization and Mobility in Africa, the Atlantic and Indian Ocean, by M. Berthet, F. Ross and S. Viljoen, 50-77. Leiden: E. J. Brill.

Chakravarti, R. 2019. A subcontinent in enduring ties with an enclosed ocean (c.1000-1500CE) Journal of Medieval World, 1(2): 27-56

Dayalan Duraiswamy (2019). Ancient seaports on the Eastern coast of India. Acta via Serica, 4(1): 25-69

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Sen, Tansen. 2006. The travel records of Chinese pilgrims Faxian, Xuanzang and Yijing Education about Asia, 11 (3). หน้า ๒๕

Sen, Tansen. 2014a. "Buddhism and the Maritime Crossing." In China and Beyond the Mediaval Period: Cultural Crossing and Inter-regional Connections, by D. C. Wong and G. Heldt, 39-62. Amherstand Delhi: Cambria Press and Manoha.

Sen, Tansen. 2014b. "Maritime Southeast Asia between South Asia and China to the Sixteenth Centuries." TRaNS -Regional and -National Studies of Southeast Asia 2: 31-59.

Sen, Tansen. 2018. "Serendipitious Connections: The Chinese Engagements with Sri Lanka." Chap. 15 in Connectivity in Motion, Palgrave Series in Indian Ocean World Studies, by B. Schnepel and E. A. Alpers, 369-395. London: Palgrave.
Wolters, Oliver Williams. 1967. Early Indonesian Commerce: A Study of the Origins of Srivijaya. Ithaca, NY: Cornell University Press.

Yijing 义净. 1966 (1896). A Record of the Buddhist Religion as Practised in India and the Malay Archipelago (AD671-695) Entitled Nanhai jigui neifazhuan 南海寄归内法传. Translated by Takakusu Junjiro 高楠顺次郎. Delhi: Munshiram Manoharlal.

Yijing 义净. 1995 (1986). Chinese Monks in India: Biography of Eminent Monks Who Went to the Western World in Search of the Law during the Great Tang Dynasty Entitled Datang xiyu qiufa gaosengzhuan 大唐西域求法高僧传. Translated by Latika Lahiri. Delhi: Motilal Banasidass.



กำลังโหลดความคิดเห็น