xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน การอพยพทางทะเลของชาวออสโตรเนเซียนและเส้นทางสายไหมทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

จากการสืบลำดับพันธุกรรมทำให้เราทราบว่าชาวออสโตรเนเซียนทั้งหมดสืบเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในเกาะไต้หวัน การอพยพครั้งใหญ่ออกจากเกาะไต้หวันเกิดขึ้นประมาณ 4,200 กว่าปีมาแล้วเนื่องจากการขยายตัวของประชากร ชาวออสโตรเนเซียนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะลูซอนทางตอนเหนือในหมู่เกาะฟิลิปปินส์และผสมกับพวกเนกริโตผิวดำที่อพยพเข้ามาถึงที่นั่นประมาณ 20,000 ปีก่อนหน้านั้น จากนั้นจึงอพยพต่อไปยังเกาะที่เหลือในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทะเลเซลีเบส เกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะอินโดนีเซียในช่วงพันปีถัดมา การค้นพบจอกสำริดของจีนในสมัยราชวงศ์โจวหรือชางในแม่น้ำสายหนึ่งที่บรูไนยืนยันว่ามีการติดต่อระหว่างบรูไนกับจีนมากว่า 2,000 ปีแล้วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอพยพนี้ชาวออสโตรเนเซียนอพยพต่อทางตะวันตกไปยังชายฝั่งอุษาคเนย์ ชายฝั่งเวียดนามและแหลมมลายู

เรือที่ใช้ในสมาพันธรัฐศรีวิชัยและเกาะชวา ในภาพแกะสลักหินนูนต่ำที่บรมพุทโธ (แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Srivijaya#/media/File:Borobudur_Ship.jpg)

ชนพื้นเมืองในเกาะไต้หวันที่เป็นต้นกำเนิดของชาวออสโตรเนเซียน  (แหล่งที่มา en.wikipedia.org/wiki/Austronesian_people#/media/File:Taiwanese_aborigines.JPG)

การอพยพทางทะเลของชาวออสโตรเนเซียน แหล่งที่มา (commons.wikimedia.org/wiki/File: Austronesia_with_hypothetical_greatest_expansion_extent_(Blench._2009)_01.png)
จากนั้นจึงอพยพจากฟิลิปปินส์ไปเกาะทาลนุคและเกาะซุลาเวสีเมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน อพยพไปถึงเกาะมาเรียน่าเหนือ โมลุกกะและติมอร์ประมาณ 2,000 ปีก่อน อพยพไปถึงเกาะบิสมารค์ ประมาณ 1,900-2,500 ปีก่อน อพยพไปถึงหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อน อพยพไปถึงหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อประมาณ 1,300 ปีก่อนและไปถึงหมู่เกาะโพลีเนเซียนประมาณ 1,000-1,500 ปีก่อน การค้นพบมันเทศในหมู่เกาะโพลีเนเซียนแสดงถึงการติดต่อระหว่างชาวออสโตรเนเซียนและชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ พวกเขากลายเป็นชาวเมารีในนิวซีแลนด์ ชาวฮาวายในสหรัฐ และข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเกาะมาดากัสการ์

การอพยพนี้สร้างเครือข่ายทางทะเลขนาดใหญ่เมือประมาณ 2,500 ปีก่อนเมื่อชาวออสโตรเนเซียนอพยพมาถึงอุษาคเนย์ เกาะบอร์เนียว ชวา สุมาตราและแหลมมลายูจนกลายเป็นชาวมาเลย์ จาม ชวาและฟิลิปปินส์ เส้นทางการค้าเส้นแรกในมหาสมุทรอินเดียเกิดขึ้นเมื่อชาวออสโตรเนเซียนสร้างเรือเดินทะเลเดินทางไปศรีลังกาและอินเดียใต้ประมาณ 3,500 ปีมาแล้วเครือข่ายการค้านี้กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งอาณาจักรริมชายฝั่งทะเลในอุษาคเนย์ที่รับเอาอารยธรรมอินเดียเข้ามาโดยมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางวัตถุ เช่น เรือใบคะตะมารัน เรือที่มีกรอบโครงไม้ประคองโดยใช้รูเย็บกับเดือยผูกกับกระดูกงูและตอกไม้กระดานเข้าด้วยกัน หมากพลู และพืชเพาะปลูกเช่นมะพร้าว จันทน์หอม กล้วย อ้อย เป็นการเชื่อมต่อวัฒนธรรมทางวัตถุระหว่างอินเดียกับจีน เครือข่ายนี้ขยายตัวไปถึงแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับเมื่อชาวออสโตรเนเซียนจากศรีวิชัยอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะมาดากัสการ์เมื่อประมาณปีพ.ศ.1383 จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม

การอพยพของชาวออสโตรเนเซียนสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลเชื่อมระหว่างจีนและอุษาคเนย์นำไปสู่การพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและศาสนา ชาวออสโตรเนเซียนขยายเครือข่ายทางการค้าหลังจากอพยพออกจากเกาะไต้หวันมายังอุษาคเนย์ กลายเป็นเครือข่ายที่มีชื่อว่า ”เส้นทางค้าหยก” เชื่อมต่อระหว่างไต้หวัน หมู่เกาะฟิลิปปินส์และชายฝั่งประเทศเวียดนาม โดยมีอารยธรรมซาฮุนห์และอาณาจักรอื่นๆในอุษาคเนย์เกิดขึ้น เครื่องปั้นดินเผาซาฮุนห์-กลาเนย์เป็นหลักฐานเชื่อมโยงแรกๆระหว่างชายฝั่งเวียดนามกับฟิลิปปินส์ เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลเส้นแรกในทะเลจีนใต้ที่มีหยกเป็นสินค้าหลัก ประมาณปีพ.ศ.1043 เครือข่ายการค้านี้ซบเซาลงไปเนื่องจากการเติบโตของฟูนัน จามปาและอาณาจักออสโตรเนเซียนอื่นๆบนเกาะบอร์เนียว สุมาตราและชวา และแหลมมลายูและสิ้นสุดลงเมื่อสมาพันธรัฐศรีวิชัยโจมตีชายฝั่งเวียดนามและจามปาหลายครั้งจนการค้าเส้นทางนี้ไม่ปลอดภัย

หลังจากนั้นเส้นทางสายไหมทางทะเลได้ขยายตัวจากจีนครอบคลุมทะเลใต้ทั้งหมดคือทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียที่เชื่อมระหว่างจีน อุษาคเนย์ อินเดีย อาหรับ แอฟริกาตะวันออกและยุโรปคู่ขนานไปกับเส้นทางสายไหมทางบกที่ผ่านเอเชียกลาง

เส้นทางสายไหมทางทะเล
บทความนี้เน้นการค้าทางทะเลในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียซึ่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยใช้เป็นเครือข่ายทางการค้าระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-19 เส้นทางสายไหมในบริเวณนี้ก่อตั้งและค้าขายโดยนักเดินเรือชาวออสโตรเนเซียนจากอุษาคเนย์ พ่อค้าชาวทมิฬจากอินเดียใต้ พ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียจากตะวันออกกลาง เครือข่ายนี้นำไปสู่การก่อตั้งรัฐริมชายฝั่งทะเลในอุษาคเนย์ที่รับเอาศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธในยุคแรกๆ มีสถานีการค้าเกิดขึ้นมากมาย แต่การก่อตั้งรัฐเหล่านี้เต็มไปด้วยสงคราม

เอกสารอ้างอิง
Bellwood, Peter. 2017. First Islanders: Pre-history and Human Migration in Southeast Asia. Hoboken: Wiley.

Bellwood, Peter, and E. Dizon. 2008. "Austronesian Cultural Origin: Out of Taiwan, via the Batanes Islands and Onwards to Western Polynesia." In Past Human Migration in East Asia: Matching Archeology, Linguistic and Genetics, by A. Sanchez-Mazas, R. Blench, M. D. Ross, I. Pieros and M. Lim, 23-39. London: Routledge.
Bruneiresources.blogspot.com/2015/03/extending-brunei-china-relationship.html

Handwerk, Brian. July 8th 2020. "Native Americans and Polynasia Met around 1200AD." Smithsonian Magazine. www.smithsoniammag.com.

Keay, John. 2006. The Spice Route: A History. Berkley, CA: University of California Press.

Sen, Tansen. 2014a. "Buddhism and the Maritime Crossing." In China and Beyond the Mediaval Period: Cultural Crossing and Inter-regional Connections, by D. C. Wong and G. Heldt, 39-62. Amherstand Delhi: Cambria Press and Manoha.

Sen, Tansen. 2014b. "Maritime Southeast Asia between South Asia and China to the Sixteenth Centuries." TRaNS -Regional and -National Studies of Southeast Asia 2: 31-59.

Manguin, Pierre-Yves. 2009b. "The Southeast Asian Ships: A Historical Approach." Journal of Southeast Asian Studies 11 (2): 266-276.

Stark, Miriam T. 2012. "Sa Huyhn Culture." In Oxford companion to Archaeology, by N. A. Silberman, 71-72. Oxford: Oxford University Press.

Zakharov, Anton O. 2019. "State Formation in First Millenium Southeast Asia: A Reappraisal." Social Evolution & History 18 (1): 217-240.



กำลังโหลดความคิดเห็น