การตลาด – “ไมเนอร์” กางโรดแมป เปิดแผนลงทุนขยายโรงแรมเพิ่มอีกกว่า 65 แห่ง รวมกว่า 13,000 ห้อง ในช่วง 3 ปีนี้ รับตลาดท่องเที่ยวฟื้่นตัวกลับมาแรง ขยายทุกแบรนด์ในต่างประเทศเพียบ มั่นใจภาพรวมสถานการณ์ที่ดีขึ้น ชูกลยุทธ์ “Asset Right” ปูพรมตลาด
นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทลส์ กล่าวว่า กลุ่มไมเนอร์ฯวางแผนการลงทุนระยะ 3 ปี (พ.ศ.2566-2568) จะขยายเครือข่ายโรงแรมทั่วโลกทั้งหมดทุกแบรนด์ที่มีอยู่มีกำหนดเปิดบริการภายในปี 2568 รวมอีก 65แห่ง มากกว่า 13,000 ห้อง โดยแบ่งเป็น โรงแรมที่ลงทุนเป็นเจ้าของเอง จำนวน 7 แห่ง และอีก 58 แห่งรูปแบบรับบริหาร ซึ่งในจำนวนนี้มีตลาดใหม่ 3 ประเทศ ที่ไมเนอร์ฯขยายตลาดเข้าไปใหม่ในแง่การรับบริหารคือ อียิปต์ เปรู และบาห์เรน
อย่างไรก็ตาม นอกจากแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ในระหว่างทางของแผนงาน ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีแบรนด์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอด้วย หากมีความเหมาะสม และมีความเป็นได้ ซึ่งแนวทางอาจจะมีทั้งการพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเอง และเป็นแบรนด์ที่บริษัทฯเข้าไปซื้อกิจการเพื่อมาดำเนินการต่อหากเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพเหมือนเช่่นที่ผ่านมา มีการซื้อแบรนด์มาพัฒนาต่อเนื่อง
กลยุทธ์หลักในการขยายตลาดก็คือ การนำแบรนด์ที่แข็งแกร่งในไทยอย่าง อนันตรา หรือ อวานี่ ที่ีมีชื่อเสียงในไทย ไปปักหมุดในตลาดในยุโรปมากขึ้น และในทางกลับกันคือการนำแบรนด์ที่แข็งแรงในยุโรปมาขยายตลาดในเอเซียเช่น เอ็นเอช หรือที่ บอสใหญ่ไมเนอร์โฮเทลส์ เรียกว่า กลยุทธ์ “Asset Right” เป็นการรักษาความสมดุลของการเพิ่มรายได้และกำไร จากธุรกิจโรงแรมที่ลงทุนเอง (Asset Heavy) กับรายได้จากการรับบริหารโรงแรม (Asset Light) และการพยายามผลักดันสร้างราคาห้องพักเดิมที่มีอยู่มาปรับราคาให้สูงขึ้นได้จากสถานการณ์ที่ดีขึ้นได้ด้วย
ทั้งนี้ตามแผนงานของไมเนอร์ฯที่มีความชัดเจนแล้วคือ จะมีเครือข่ายโรงแรมเกิดขึ้นอีก โดยแยกเป็นแบรนด์ต่างๆได้ดังนี้ แบรนด์อนันตรา ( Anantara) เพิ่มที่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ปอร์ตุเกส ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , แบรนด์อวานี (AVANI) จะเปิดที่ บาห์เรน จีน โคลอมเบีย เยอรมัน อิตาลี มัลดีฟส์ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์, แบรนด์ โอ๊คส์ (OAKS) จะเปิดที่ประเทศ จีน อียิปต์, แบรนด์เอ็นเอชโฮเทลส์ (NH Hotels) จะเปิดที่ประเทศ จีน เม็กซิโก ปอร์ตุเกส สวิตเซอร์แลนด์, แบรนด์ เอ็นเอชคอลเคชั่น (NH COLLECTION) จะเปิดที่ประเทศจีน เยอรมัน อิตาลี ปอร์ตุเกส กาตาร์ ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, แบรนด์ นาว (NHOW) จะเปิดที่ประเทศ ชิลี อิตาลี เปรู และแบรนด์ ทิโวลี (TIVOLI) จะเปิดที่ประเทศ บาห์เรน ปอร์ตุเกส สเปน
ทั้งหมดนี้จะมีในไทย 2 แห่ง คือที่อนันตรา เกาะยาวใหญ่ และ เอ็นเอชเชียงใหม่ ส่วนที่ร่วมลงทุนเช่น อนันทราที่อินโดนีเซีย ไมเนอร์ฯลงทุน 60% เอ็นเฮชมัลดีฟส์ไมเนอร์ฯ ลงทุน 60% เป็นต้น ส่วนที่รับบริหารเช่น อนันตราที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อะวานีที่กวางเจา จีน เอ็นเอชที่่เฉินตูจีน เป็นต้น
จากปัจจุบันเมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีธุรกิจโรงแรม เซอร์วิส สวีท ทั้่งในรูปแบบที่เป็นเจ้าของเอง ผู้รับบริหาร และผู้ร่วมลงทุน จำนวน 530 แห่ง ใน 56 ประทศ จำนวนห้องพักมากกว่า 76,000 ห้อง จากทั้งหมด 8 แบรนด์ข้างต้น และแบรนด์อื่นๆได้แก่ แมริออท โฟร์ซีซั่นส์ เซ็นต์รีจิส เรดิสันบลู และโรงแรมภายใต้ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ยุโรป อเมริกาใต้ และ อเมริกาเหนือ
เมื่อแยกย่อยแต่ละแบรนด์ให้ชัดเจนที่มีอยู่และเปิดบริการแล้ว ดังนี้
1. อนันตรา ( Anantara) เปิดแล้ว 48 แห่ง ใน 23 ประเทศ แบ่งเป็นในไทย 11 แห่ง และต่างประเทศ 37 แห่ง
2. อวานี (AVANI) เปิดแล้ว 38 แห่ง ใน 20 ประเทศ แบ่งเป็น ไทย 11 แห่ง และในต่างโอ๊คส์ ประเทศ 27 แห่ง
3. เอเลวาน่า (Elewana) เปิดแล้ว 16 แห่ง ในต่างประเทศทั้งหมด 2 ประเทศ ในไทยยังไม่มี
4. โอ๊คส์ (OAKS) เปิดแล้ว 63 แห่ง ใน5 ประเทศ แบ่งเป็น ต่างประเทศ 57 แห่ง
5. เอ็นเอช โฮเทลส์ (NH HOTELS) เปิดแล้ว 232 แห่ง24 ประเทศ แบ่งเป็น ไทย 1 แห่ง และในต่างประเทศ 231 แห่ง
6. เอ็นเอช คอลเลคชั่นส์ (NH Collection) เปิดแล้ว 91 แห่ง ใน 18 ประเทศ
7. นาว (nhow) เปิดแล้ว 8 แห่ง ใน 6 ประเทศ เป็นต่างประเทศทั้งหมด
8. ทิโวลี (TIVOLI) เปิดแล้ว 14 แห่ง ใน 5 ประเทศ อยู่ในต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้คือเครือข่ายของไมเนอร์ โฮเทลส์ ที่ส่งผลให้ นิตยสารโฮเทสล์ดอทคอมจัดอันดับให้ไมเนอร์ฯ ติดอันดับ TOP22 ของโลกในแง่จำนวนห้องพักที่มากที่สุดในโลก
นายดิลลิป กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมจากนี้ไป โดยเฉพาะไตรมาสที่3และ4 น่าจะดีขึ้นตามลำดับกว่าที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาสมบูรณ์แบบก็ตามในประเทศไทย แต่ก็ยังมีตลาดอื่นเข้ามาทดแทนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งตลาดยุโรปอีกหลายประเทศที่มีการเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น หลังจากไม่ได้มีการเดินทางกันมานานในช่วงโควิด-19ระบาดอย่างหนักทั่วโลก ล้วนแต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพไม่แพ้จีนเช่นกัน
“ ตอนนี้ตลาดจีนยังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้เต็มที่ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราเองหรือแม้แต่ผู้ประกอบการทั้งโรงแรมที่พักทั้งหลาย ก็คงไม่สามารถที่จะรอจีนเท่านั้ัน ต้องมองหาตลาดอื่นมาทดแทน ซึ่งเมื่อในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเต็มรูปแบบก็ถือว่าเป็นเอ็กซ์ตร้าที่เกิดขึ้นมา” นายดิลลิป กล่าว
อีกทั้งการเข้าร่วมกับ GHA DISCOVERY ซึ่งเป็นโปรแกรมรีวอร์ดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพันธมิตรโรงแรมที่แข็งแกร่งเข้าร่วมทำตลาดด้วยกันมากกว่า 40 แบรนด์ กระจายอยู่ใน 100 ประเทศ มากกว่า 800 แห่ง ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตลาดแข็งแกร่งและกว้างขวางมากขึ้นด้วย
ขณะที่ในมุมของปัจจัยลบนั้น บอสใหญ่ไมเนอร์ โฮเทลส์ มองว่า ก็ยังมีอยู่เช่นกันโดยเฉพาะปัญหาเรื่องแรงงานที่มีทักษะในธุรกิจโรงแรม หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได่อย่างเช่น สงคราม หรือโรคระบาด เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ
แต่การขยายตัวก็ต้องเดินหน้าต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดโลก
เมื่อเดือนที่แล้ว ไมเนอร์โฮเทลส์ เพิ่งลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) ร่วมกับ กองทุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว (Tourism Development Fund - TDF) ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนาโครงการโรงแรมและไลฟ์สไตล์ชั้นนำ เน้นโครงการรีสอร์ทบนภูเขา รีสอร์ทเพื่อสุขภาพ รวมถึงโรงแรมในเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คาดว่าเปิดตัวโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือนี้ช่วงครึ่งหลังปี 2566 นี้
โดย ไมเนอร์ โฮเทลส์ จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้บริหารและหุ้นส่วน ซึ่งการพัฒนาโครงการโรงแรมและรีสอร์ทภายใต้แบรนด์หลักของ ไมเนอร์ โฮเทลส์ อันได้แก่ อนันตรา อวานี ทิโวลี และ โอ๊คส์ ในหลายเมืองตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย แผนการพัฒนาโครงการเหล่านี้ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว (National Tourism Strategy - NTS) และวิสัยทัศน์ชาติ 2030 (Saudi Vision 2030) ของซาอุดีอาระเบีย โดยที่ตั้งของโครงการต่าง ๆ จะอยู่ในเมืองที่เป็นเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการประกาศเร็ว ๆ นี้
กองทุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวประเทศซาอุดีอาระเบีย (TDF) เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในราชอาณาจักร และช่วยเชื่อมโยงนักลงทุนภาคเอกชนกับโอกาสในการรับการสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ โดย TDF ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2563 เพื่อสรรหาโอกาสและการพัฒนากองทุนเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ
โครงการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้จะมีอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่อยู่ภายใต้แบรนด์หรูอย่างอนันตรา โดยอนันตราถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านการมอบประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความหมายและการบริการด้วยใจที่เป็นเอกลักษณ์ในหลากหลายเมืองทั่วโลก โรงแรมและรีสอร์ทภายใต้แบรนด์อนันตราซึ่งมีรากฐานของความเป็นไทยยังเป็นที่รู้จักกันดีในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีโรงแรมอนันตรามากกว่า 10 แห่ง ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และ กาตาร์
แบรนด์โรงแรมและรีสอร์ทที่มีความร่วมสมัยอย่าง อวานี จะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่จะเปิดตัวในประเทศซาอุดีอาระเบียภายใต้ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทในเครืออวานีที่เปิดให้บริการแล้วในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ โอมาน รวมทั้งมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในประเทศบาห์เรน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2567
ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงการพัฒนาโครงการโรงแรมแบรนด์อื่น ๆ ของเครือไมเนอร์ ไม่ว่าจะเป็น ทิโวลี และ โอ๊คส์ โดย โอ๊คส์ โฮเทลส์ รีสอร์ทส์ แอนด์ สวีท ปัจจุบันมีโรงแรมภายใต้แบรนด์โอ๊คส์เปิดให้บริการทั้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ รวมทั้งจะมีการเปิดในประเทศอียิปต์เร็ว ๆ นี้ ในขณะที่โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ ทิโวลี มีโรงแรมภายใต้แบรนด์ทิโลวีในภูมิภาคตะวันออกกลางถึง 3 แห่ง และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศบาห์เรนและโอมานอีกด้วย
“การลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับกองทุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวประเทศซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับไมเนอร์ โฮเทลส์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรในการนำเสนอแบรนด์โรงแรมที่พักที่หลากหลาย ที่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ที่จะกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญให้กับการท่องเที่ยวของประเทศซาอุดีอาระเบีย” มร. ดิลิป กล่าว
มร. คุไซย์ อาล ฟาค์หริ (Qusai al Fakhri) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงการทำข้อตกลงในครั้งนี้ว่า “บันทึกข้อตกลงและการประกาศความร่วมมือกับไมเนอร์ โฮเทลส์ ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในระดับโลก เรามีความภูมิใจที่จะได้เปิดตัวโครงการต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ระดับสากลของเครือไมเนอร์ โฮเทลส์ ในราชอาณาจักรของเรา ซึ่งจะนำมาทั้งชื่อเสียงและความน่าสนใจให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศซาอุดีอาระเบีย”
ส่วนในตลาดประเทศจีนนั้น เป็นตลาดใหญ่ที่่มีศัภยภาพที่ไมเนอร์ฯสนใจอย่างมาก เมื่อไม่นานนี็ก็ได้มีการร่วมทุนกับทางกลุ่ม “ฟันยาร์ด” เพื่อเป็นประตูการลงทุนขยายอาณาจักรในจีน ด้วยเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีจากนี้ จะต้องมีโรงแรมบริการในจีนให้ได้ 100 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้เปิดบริการแล้วประมาณ 8-9 แห่ง และยังอยู่ระหว่างการพัฒนาในแผนอีก 30 แห่ง
ก่อนหน้านี้ ทางเครือไมเนอร์ฯ ก็ได้ร่วมทุนกับ “ADFD” (Abu Dhabi Fund For Development) เพื่อขยายโรงแรมหลายแห่งเช่นกัน
ทั้งนี้จากผลประกอบการของไมเนอร์ โฮเทลส์ ช่วงไตรมาสแรกปี2566นี้ พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ โดยมีอัตราการเข้าพัก 59% มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มี 39%
โดยผลประกอบการไตรมาสแรกปี2566นี้ มีรายได้รวม 24,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ทำได้ 13,760 ล้านบาท โดยรายได้ในไทยเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 213% ในยุโรปเพิ่มขึ้น 77% ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 22% ในมัลดีฟส์และตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 3% ในอเมริกา เพิ่มขึ้น 30% สำหรับสัดส่วนรายได้ไตรมาสแรกปีนี้มาจาก ประเทศไทย 16% ต่างประเทศ 84% ขณะที่ปี 2564 ทั้งปี สัดส่วนรายได้มาจากไทย 9% และสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 91%
ขณะที่สัดส่วนรายได้แบ่งเป็นรูปแบบลงทุนเป็นเจ้าของเองกับเช่า สัดส่วน 82% รูปแบบรับบริหาร สัดส่วน2% รูปแบบ มิกซ์ยูส 8% และ รูปแบบเอ็มแอลอาร์ 8%
รายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ตลาดนักท่องเที่ยวมามากขึ้น และการปรับอัตราค่าห้องที่สูงขึ้นได้ โดยไตรมาสแรกปีนี้ มีอัตราการเข้าพักห้องเฉลี่ยที่ 59% มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีจำนวน 39% แต่ยังน้อยกว่าช่วงที่มีการเกิดโควิดใหม่ๆไตรมาสแรกปี 2562 ที่มีอัตรา 65%
ไตรมาสแรกปี2566นี้พบว่า มีอัตราการเข้าพักของห้องอยู่ที่ 71% และมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) อยู่ที่ 8,353 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดประมาณ 14% ขณะที่รายได้ของห้องพักเฉลี่ยที่เปิดขายทั้งหมด (RevPAR) อยู่ที่ 5,903 บาท ซึ่งต่ำกว่าไตรมาส 1/2562 เพียง 1% เท่านั้นเอง
ตัวเลขเฉพาะเดือนเมษายนปีนี้ รายได้ของห้องพักเฉลี่ยที่เปิดขายทั้งหมด (RevPAR) อยู่ที่ 5,180 บาท เพิ่มจากเมษายนปีที่แล้วที่ทำได้เพียง 2,525 บาท และยังมากกว่าช่วงโควิดระบาดใหม่ๆเมษายนปี 2562ที่ทำได้ 4,783 บาท
นาย ดิลลิป ยังกล่าวให้ความเห็นด้วยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงโรงแรมด้วยนั้น ถือว่าเป็นอตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย
“ผมหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจากนี้ จะมองเห็นและให้ความสำคัญก้บอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่น”