มูลค่าการค้ารวมทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียกับบรรดาชาติสมาชิกลุ่ม BRICS ทะลุ 160,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ส่งผลให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นคู่ค้าจากตะวันออกกลางรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม BRICS จากการเปิดเผยของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันศุกร์ (2 มิ.ย.)
ระหว่างกล่าวกับที่ประชุมระดับคณะรัฐมนตรีกลุ่มเพื่อนของ BRICS (Friends of BRICS) ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เจ้าชายไซฟาล ยังบอกด้วยว่าซาอุดีอาระเบีย กำลังมีแผนยกระดับความร่วมมือเพิ่มเติมกับกลุ่ม BRICS เพื่อบรรลุเป้าหมายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
"ประเทศของเรายังเป็นคู่หูการค้าใหญ่ที่สุดของกลุ่ม BRICS ในตะวันออกกลาง" พระองค์ตรัส "มูลค่าโดยรวมของการค้าทวิภาคีกับสมาชิกกลุ่ม BRICS เพิ่มขึ้นจาก 81,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 เป็น 128,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และพุ่งเกิน 160,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022"
รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้ตรัสต่อว่า ซาอุดีอาระเบียมีค่านิยมพื้นฐานร่วมกับบรรดาชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ควรอยู่บนหลักการของการเคารพอธิปไตย ไม่แทรกแซงและยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ
กลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และมีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก โดยการประชุมหาล่าสุดนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจากรัฐสมาชิก BRICS และจาก 12 ชาติขั้วโลกใต้ ที่แสดงความปรารถนาเข้าร่วมกลุ่ม
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เผยว่ามีประเทศต่างๆ หลายสิบชาติที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
มีรายงานว่า แอลจีเรีย อาร์เจนตินา และอิหร่าน ได้ยื่นความจำนงเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เรียบร้อยแล้ว ส่วนบังกลาเทศ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย ต่างเป็นสมาชิก ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ของกลุ่ม BRICS ทั้งนี้อ้างอิงจากแหล่งข่าวหลายคน ระบุว่าความเป็นไปได้ที่อาร์เจนตินาจะเข้าร่วมด้วยได้รับการสนับสนุนจากจีน
นอกจากนี้ บาห์เรน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อียิปต์ เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ซูดาน ซีเรีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซุเอลา และซิมบับเว ต่างแสดงความสนใจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เช่นกัน
เวลานี้กลุ่ม BRICS กำลังหาทางพัฒนาสกุลเงินใหม่ เพื่อเลิกพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐในด้านการค้า ปัจจุบันเริ่มมีการใช้สกุลเงินของแต่ละชาติชำระหนี้การค้าระหว่างประเทศกันไปบ้างแล้ว ในขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเคยรายงานก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่า BRICS เตรียมจะแซงจี7 กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อปีที่แล้วเป็นหนึ่งในหลายชาติกำลังพัฒนาและเศรษฐิจเกิดใหม่ ที่ร่วมประชุมแยกกับกับกลุ่มประเทศ BRICS โดยที่เหลือมีอาร์เจนตินา ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/mgronline)