แอฟริกาใต้มีแผนแก้กฎหมาย ที่จะทำให้กฎหมายของประเทศอยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่าของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีช่วยรายหนึ่ง ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากไอซีซีอกหมายจับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
โอเบด บาเพลา รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประจำทำเนียบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี เมื่อวันพุธ (31 พ.ค.) ว่า กฎหมายดังกล่าวจะเปิดทางให้แอฟริกาใต้ "มอบข้อยกเว้นแก่ตนเองว่าใครที่ต้องจับกุมและใครที่ไม่ต้องจับกุม"
ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับ ปูติน และมาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนเด็กแห่งรัสเซีย โดยกล่าวหาทั้ง 2 คน "บังคับขนย้ายพลเรือน" อ้างถึงความพยายามของมอสโก ในการอพยพเด็กๆ ออกจากเขตสงคราม ท่ามกลางความขัดแย้งติดอาวุธกับยูเครน
รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่าเด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และบ้านอุปถัมภ์ พร้อมความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม มอสโกตอบโต้ว่าไอซีซีไม่มีอำนาจหรือความชอบธรรมในการออกหมายจับ เพราะว่ารัสเซียไม่เคยให้การรับรองธรรมนูญกรุงโรมปี 1998 ที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ในรัสเซีย
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน แอฟริกาใต้มีหน้าที่ต้องจับกุมประธานาธิบดีรัสเซีย หากเขาเดินทางเข้าประเทศ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะที่ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เมืองโยฮันเนสเบิร์กมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตกลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ท่ามกลางความคาดหมายว่า ปูติน อาจเข้าร่วมด้วย
เอ็มเซโบ ฟรีดอม ดีลามินี นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการขบวนการแพนแอฟริกา ระบุว่า "ศาลอาญาระหว่างประเทศมีความลำเอียง เปิดทางให้ตนเองถูกใช้เป็นเกมลูกบอลทางการเมือง รัสเซียเป็นเพื่อนของเรา ตอนที่ยังล้าสมัยไม่เห็นมีประเทศยุโรปชาติไหนที่ต้องการคบหากับเรา" เขากล่าว
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/บีบีซี)