รัฐสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศในวันเสาร์ (20 พ.ค.) ระบุพวกเขามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของรัสเซีย ที่ใส่ชื่ออัยการของศาลรายหนึ่ง และผู้พิพากษาหลายคนในบัญชีบุคคลซึ่งเป็นที่ต้องการตัว
ทาสส์ นิวส์ สื่อมวลชนแห่งรัฐของรัสเซีย รายงานในวันศุกร์ (19 พ.ค.) โดยอ้างฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยรัสเซีย ระบุว่า คาริม ข่าน อัยการชาวสหราชอาณาจักรของศาลอาญาระหว่างประเทศ ถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของกระทรวงมหาดไทย
ประธานสมัชชารัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ องค์กรกำกับดูแลการบริหารจัดการของศาล ระบุในถ้อยแถลงว่า พวกเขารู้สึกเสียใจต่อพฤติกรรมข่มขู่นี้ และไม่อาจยอมรับได้กับความพยายามบ่อนทำลายอาณัติของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการสืบสวน คว่ำบาตรและป้องกันการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงต่างๆ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเฮก ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน โดยกล่าวหาเขาก่ออาชญากรรมสงคราม ฐานบังคับเนรเทศเด็กๆ ไปจากยูเครนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พวกเขาบอกว่ามีหลักฐานที่มีเหตุผล ที่เชื่อได้ว่าปูติน และมาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมการด้านสิทธิเด็กของรัสเซีย ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ก่อขึ้น
ในถ้อยแถลงอีกฉบับในวันเสาร์ (20 พ.ค.) ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุว่า "ศาลอาญาระหว่างประเทศทราบและมีความกังวลต่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการข่มขู่ที่ไม่มีเหตุผลและไม่ยุติธรรมกับบรรดาเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ"
"ศาลอาญาระหว่างประเทศ พบว่า มาตรการนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ศาลจะยังคงเดินหน้าโดยปราศจากอุปสรรคขัดขวางใดๆ ในการดำเนินการภายใต้อาณัติที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรับประกันความรับผิดชอบอาชญากรรมร้ายแรงที่ก่อความกังวลแก่ประชาคมนานาชาติทั้งมวล" ถ้อยแถลงระบุ
เมื่อเดือนมีนาคม คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียได้เปิดสืบสวนคดีอาญาต่อคาริม ข่าน รวมทั้งผู้พิพากษาอีกหลายคน โดยพิจารณาจากการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกหมายจับปูติน รวมถึงความพยายามในการดำเนินคดีทางอาญากับบุคคลที่ทราบดีว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และโจมตีตัวแทนของรัฐที่ได้รับการคุ้มครองระดับสากล
นอกจากปูตินแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังออกหมายจับมาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซียในข้อหาเดียวกันอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลมอสโกปฏิเสธความเคลื่อนไหวดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า การชี้มูลความผิดต่อผู้นำรัสเซียเป็นโมฆะ เพราะประเทศรัสเซียไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการฟ้องข้อกล่าวหาและดำเนินคดี
รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่าเด็กยูเครนมากกว่า 16,000 คน ถูกนำตัวไปยังรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์ พร้อมความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย
ยูเครนยินดีต่อความเคลื่อนไหวของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยกย่องว่าเป็น "การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์" เช่นเดียวกับพันธมิตรตะวันตกของยูเครนอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นยกย่องการกระทำของศาลอาญาระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการจับกุมด้วยตนเอง ดังนั้น การดำเนินการตามหมายจับจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศของบรรดารัฐสมาชิกภาคี
(ที่มา : รอยเตอร์)