พรรคแอฟริกัน เนชันแนล คองเกรส (ANC) พรรครัฐบาลแอฟริกาใต้ ประกาศว่าพร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทุกเมื่อหากเขาเดินทางมาเยือนประเทศแห่งนี้ จากการเปิดเผยของ ฟิคิเล เอ็มบาลูลา เลขาธิการพรรคเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ แม้ผู้นำรัสเซียอยู่ภายใต้หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ก็ตาม
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค ANC รายนี้ แสดงความคิดเห็นดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ HARDtalk ของสำนักข่าวบีบีซี โดยพิธีกร สตีเฟ่น แซคคูร์ ซึ่งสอบถาม เอ็มบาลูล ว่า เขาเชื่อหรือไม่ว่า รัฐบาลของประเทศจะปฏิบัติตามหมายจับปูติน ที่ออกโดยศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
"ถ้าเป็นเรื่องของพรรค ANC เราต้องการให้ประธานาธิบดีปูติน มาที่นี่ แม้กระทั่งวันพรุ่งนี้เลยก็ได้ เราอยากให้เขามาประเทศของเรา" เอ็มบาลูลาเน้นย้ำ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า "เรารู้ว่าเราถูกจำกัดโดยไอซีซีในแง่ของการทำเช่นนั้น"
ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค ANC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามโดยตรง บ่งชี้ว่าคงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะดำเนินการจับกุมผู้นำของประเทศหนึ่งประเทศใด "ปูตินเป็นประมุขแห่งรัฐ คุณคิดว่าประมุขแห่งรัฐหนึ่งสามารถถูกจับกุมที่ไหนก็ได้งั้นหรือ?" เอ็มบาลูลา กล่าว พร้อมบอกต่อว่าแท้จริงแล้ว ประธานาธิบดีรัสเซียกำลังทำงานเพื่อสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
นอกจากนี้ เอ็มบาลูลา ยังได้โยนคำถามกลับไปยังผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประวัติของสหราชอาณาจักรและพันธมิตรตะวันตกเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับคำกล่าวอ้าง "อาวุธทำลายล้าง" ที่ใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานอิรัก ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังหาไม่พบ
ความเห็นดังกล่าวกระตุ้นให้ แซคคูร์ จบการพูดคุยในประเด็นนี้ พร้อมกับเบี่ยงประเด็นไปสอบถามเกี่ยวกับกิจการภายในของแอฟริกาใต้แทน
ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับปูตินและมาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซีย ในช่วงกลางเดือนมีนาคม กล่าวหาพวกเขาบังคับเนรเทศขนย้ายประชากรเด็กจากพื้นที่ยึดครองทั้งหลายในยูเครนไปสหพันธรัฐรัสเซีย
รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่าเด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์ พร้อมความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม มอสโกไม่ได้ให้การรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ในรัสเซีย
กระนั้นก็ตาม ความเคลื่อนไหวของไอซีซี กลายเป็นเงาปกคลุมที่ประชุมซัมมิต BRICS ที่กำลังมาถึง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในแอฟริกาใต้ ในเดือนสิงหาคม โดยเจ้าหน้าที่ของประเทศส่งสัญญาณที่ผสมผสานเกี่ยวกับแนวโน้มของการปฏิบัติตามหมายจับ ในช่วงกลางเดือนเมษายน ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา ถึงขั้นประกาศว่าจะถอนตัวจากไอซีซี แต่เขากลับลำไม่นานหลังจากนั้น ในขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีชี้แจงว่าความเห็นของเขาทำให้เกิดการตีความผิด
หมายจับเรียกเสียงประณามอย่างกว้างขวางในรัสเซีย และกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการสอบสวนแห่งรัสเซียแจ้งข้อหาลับหลังจำเลย เอาผิดกับอัยการคนหนึ่ง และผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศรายหนึ่ง ฐานกล่าวหาเท็จเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองในระดับนานาชาติ เพื่อก่อความยุ่งยากซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)