สมการการเมือง
.
จากกรณีฉาวโฉ่การจัดซื้อ “เป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติโดยไม่ซื้อรางปล่อย” สำหรับฝึกยิงต่อสู้อากาศยาน อุปมาดั่งการซื้อรถยนต์แต่ไม่ซื้อล้อ โดยอ้างว่าสามารถนำรางเก่ามาปรับปรุงเหมือนรถยนต์ใช้ล้อเก่า เพื่อประหยัดงบประมาณ และโฆษกกองทัพเรือ (ทร.) ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ว่าทุกอย่างถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
แต่หากเจาะลึกเข้าไปในโครงการนี้ จะพบว่า มีพิรุธที่ส่อไปในทางทุจริตหลายประการ
เริ่มจากผู้ยื่นเสนอราคา ซึ่งโฆษก ทร. ระบุชื่อว่า เป็นบริษัท ซีซีจี (CCG) เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงบริษัทนี้ขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดใน ว 521 เนื่องจากไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิต ไม่ได้เป็นหน่วยงานผู้ผลิต และไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ผลิต เพราะในขณะนั้น บริษัทเก่าแก่บริษัทหนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของ Air Affair Australia หรือ AAA ซึ่งเป็นผู้ผลิตเป้าบินอย่างถูกต้อง
แต่เพราะต้องการให้ บริษัท CCG ได้งาน กรมสรรพาวุธทหารเรือ (สพ.ทร.) จึงเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ผิดไปจาก ว 521 ด้วยข้อความที่ว่า... ต้องแสดงหลักฐานการแต่งตั้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอ “เป็นตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทผู้แทนจำหน่าย”
การเพิ่มถ้อยคำ “จากบริษัทผู้แทนจำหน่าย” จึงเป็นการเปิดช่องให้บริษัท CCG ไปทำสัญญาซื้อเป้าบินจากตัวแทนผู้ผลิตในประเทศไทย พร้อมขอใบแต่งตั้งตัวแทน ก่อนจะบวกราคาของเป้าบินเพิ่มเข้าไปอีก แล้วนำมาเสนอขายให้ สพ.ทร. อีกทอดหนึ่ง ทำให้ทางราชการต้องจ่ายเงินแพงขึ้น
จึงเป็นพิรุธว่า เหตุใด สพ.ทร. จึงไม่ซื้อเป้าบินจากตัวแทนโดยตรง เหมือนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อื่นๆ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า ใครเป็นตัวแทนของบริษัท AAA
การจัดซื้อผ่านผู้ขาย (แม่ค้า) คนกลาง ในลำดับชั้นที่ 3 ที่ไปซื้อเป้าบินมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง หรือในทางการค้าเรียกว่า “ซาปั๊ว” จนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนั้น เป็นเพราะมีใครบางคนต้องการ “บางสิ่ง” ที่แอบแฝงอยู่ในราคาที่สูงขึ้น ใช่หรือไม่ ?
สำหรับประเด็นที่อ้างว่า การจัดซื้อเฉพาะเป้าบิน โดยไม่ซื้อรางปล่อยก็เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบงบประมาณ หรือวงเงินที่มีอย่างจำกัดนั้น ในความเป็นจริงแล้ว สพ.ทร. เป็นผู้ตั้งเรื่องขออนุมัติงบประมาณจากกองทัพเรือ เป็นเงิน 49.8 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อระบบเป้าบินฯ จำนวน 1 ระบบ โดยตัดรางปล่อยออกจากการจัดซื้อ และจะใช้การปรับปรุงรางปล่อยของเก่าทดแทน
เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ขอ โดย รอง ผบ.ทร. ลงนามอนุมัติ เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563 จึงมีการจัดซื้อด้วยวิธีคัดเลือก หาใช่ว่ากองทัพเรือ มีงบประมาณอย่างจำกัด ทำให้ สพ.ทร.ต้องจัดซื้อเฉพาะเป้าบินอย่างเดียวแล้วนำรางเก่ามาปรับปรุง
ประเด็นต่อมาในเรื่องการแก้ไขสัญญา จนทำให้มีการจ่ายเงินจำนวนรวมมากถึง 95% ของมูลค่าโครงการ โดยที่ยังมิได้มีการตรวจรับ และ ไม่เคยมีการบินทดสอบแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งโฆษก ทร. แจ้งว่ากระทำไปเพื่อบริหารงบประมาณให้ทันตามกรอบเวลานั้น
ในความเป็นจริง สัญญาจัดซื้อ ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 กำหนดส่งมอบไม่เกินวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณของปี 2563 (ก่อนหน้าการแก้สัญญาให้มีผลย้อนหลัง)
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 หากการเบิกจ่ายงบเป้าบินยังไม่แล้วเสร็จ สพ.ทร. สามารถขอขยายเวลาหรือที่เรียกว่า “กันงบเหลื่อมปี” ได้เป็นเวลา 6 เดือน (ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาส่งมอบในวันที่ 3 ก.พ.64) และหากว่ายังคงไม่สามารถเบิกจ่ายได้แล้วเสร็จ ก็สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 43 พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อขอขยายเวลาออกไปได้อีก 6 เดือน คือ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ จนถึง 30 กันยายน 2564 กล่าวโดยสรุปคือ สามารถใช้สิทธิ์ขอกันงบประมาณได้เป็นเวลานานถึง 12 เดือน
แต่ สพ.ทร.หาได้ทำเช่นนั้น เพราะมีการเสนอแก้ไขสัญญา เลขที่ 1/งป. 2564 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ซึ่งส่อว่าเป็นการแก้สัญญาให้มีผลย้อนหลังเพื่อประโยชน์บริษัท เพราะแบ่งงวดการชำระเงินใหม่ เพื่อให้มีการจ่ายเงินเร็วขึ้น จำนวนรวมมากถึง 95% ของมูลค่าโครงการ แทนการใช้สิทธิ์ตาม ม 43 เพื่อขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือมากกว่านั้น ซึ่งถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมและตามที่กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอนุญาตไว้
และต้องไม่ลืมว่า การแก้สัญญาหากจะมีการแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือแก้สัญญาเพื่อไม่ให้ทางราชการเสียประโยชน์เท่านั้น
ดังนั้น จึงต้องถามว่า ทร. ได้ประโยชน์ตรงไหนกับการแก้สัญญาประเคนเงินให้บริษัทในขั้นตอนการ FAT ในต่างประเทศเป็นเงิน 17,395,000 บาท หรือ 35% ของมูลค่าโครงการ (แม้แต่การ FAT ปืน 30 มม.ที่ประเทศอังกฤษที่ผ่านมาล่าสุด ทร. ก็มิได้จ่ายเงินให้บริษัท MSI แต่อย่างใด) นอกจากนี้ ยังจ่ายให้อีก 19,880,000 บาท หรือ 40% เมื่อบริษัทนำตัวเป้าบินและอุปกรณ์ชุดปรับปรุงแท่นปล่อย มาส่งไว้ในคลังของ สพ.ทร. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563
ที่สำคัญคือ โฆษก ทร. แจ้งว่าจะมีการทดสอบเป้าบินในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการนี้ ซึ่งเหลือเงินที่จะจ่ายอีก 5%
มันพิรุธหรือไม่ ? ในเมื่อทำสัญญาจัดซื้อ “ระบบเป้าบิน” แต่ยังไม่ทดสอบระบบสักครั้งเดียว กลับจ่ายเงินให้บริษัทไปแล้ว จนถึงปัจจุบัน 95 % แปลว่า “ระบบ” มีค่าเพียง 5% เท่านั้นหรือ ?
มีหลักฐานว่า สพ.ทร. อนุมัติให้ขยายเวลาส่งมอบมอบเป้าบินครั้งที่ 1 ตามบันทึกที่ กห.0527/2558 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า... สาเหตุที่ส่งมอบล่าช้าเกินจากสัญญา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดจากรัฐบาลออสเตรเลียประกาศปิดประเทศ จนถึงกลางปี 2565 จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้ทีมวิศวกรไม่สามารถเดินทางมาทำการทดสอบได้ ทางราชการจึงผ่อนปรน การบอกเลิกสัญญาให้กับผู้ขายออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ฯลฯ
แต่หลังจากนั้นสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ (Royal Thai Consulate-General, Sydney) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 สรุปได้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อีกทั้งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงย้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ว่า รัฐบาลไทยจะเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เช่นกัน
แต่ สพ.ทร. กลับไม่ขอสงวนสิทธิ์การขยายระยะเวลาส่งมอบเป้าบิน ตามที่เคยผ่อนปรนให้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ทั้ง ๆ ที่การเดินทางเข้าออกระหว่างทั้งสองประเทศสามารถกระทำได้ตามปกติแล้ว นี่จึงเป็นพิรุธอีกข้อหนึ่งเช่นกัน
ส่วนกรณีที่โฆษก ทร. แถลงว่า บริษัท AAA ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Qinetic ของอังกฤษ และบริษัท Qinetic กำลังจะแต่งตั้งให้บริษัท CCG เป็นตัวแทนในประเทศไทย ประเด็นนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของบริษัท CCG ในขั้นตอนเริ่มต้น เพราะขณะเสนอราคาเมื่อปี 2563 บริษัท CCG ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตแต่อย่างใด
โครงการนี้ จึงมีเงื่อนงำอย่างยิ่ง แม้กระทั่งกรรมการตรวจรับคนหนึ่งเห็นว่า บางกรณีเป็นความผิดสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว จึงพยายามทักท้วง ทวงถาม เร่งรัดบริษัท และเสนอให้ยกเลิกสัญญา แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไร้ผล
ดังนั้น กองทัพเรือ จึงควรสอบสวนข้อเท็จจริง และ ปรับย้ายผู้เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งชั่วคราว อันเป็นวิธีมาตรฐานที่ทุกหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมถือปฏิบัติเป็นสากล เพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำให้พยานบุคคลหวั่นเกรง เพื่อให้ผลการสอบสวนโปร่งใสมากที่สุด
แต่หากกองทัพเรือเลือกที่จะนิ่งเงียบต่อไป สังคมจะเคลือบแคลงใจเหมือนกรณีเรือสุโขทัยอับปางซึ่งจนวันนี้ผลการสอบสวนยังคลุมเครือเหมือนกับกำลังจะเงียบหายไปตามสายลม และคลื่นทะเล
ในกรณีของ “เป้าบิน” หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เมื่อใด ก็เชื่อได้เลยว่า ป.เป้าบิน จะกลายเป็น ป.ไซยาไนด์ สำหรับกรมสรรพาวุธทหารเรืออย่างแน่นอน