รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ เปิดโปงกลวิธี ทัพเรือซื้อเป้าบิน 49 ล.พิรุธเพียบเอื้อเอกชน
กองทัพเรือตกเป็นข่าวฉาวอีกครั้งหนึ่ง หลังสาเหตุการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย ยังไม่เป็นที่กระจ่าง
ก็มีความไม่ชอบมาพากลในโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่เรียกกันว่า “เป้าบิน” ตั้งแต่ปี 2563 ที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะมีกลวิธีต่างๆที่ทำให้ทางราชการเสียหาย
ทั้งนี้กองทัพเรือโดยกรมสรรพาวุธทหารเรือจัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติตามสัญญาเลขที่ 46/งป.2563 มูลค่าโครงการ 49.8 ล้าน ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการทดสอบการใช้งาน แต่กลับมีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง
จนมีการจ่ายเงินให้บริษัทผู้ขายไปแล้วถึง 47.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของราคาทั้งหมด
หากขุดคุ้ยไปดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะพบว่า โครงการนี้มีเงื่อนงำมาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือโดยปกติแล้วเป้าบินแบบไอพ่นอัตโนมัติซึ่งใช้สำหรับการฝึกยิงอาวุธต่อสู้อากาศยานจะต้องถูกปล่อยจากรางภาคพื้นดินหรือที่เรียกว่า ลอนเชอร์ (Launcher) เช่นเดียวกับจรวดที่ต้องมีรางปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า
แต่กรมสรรพาวุธทหารเรือเสนอของบประมาณจัดซื้อเฉพาะเป้าบินโดยไม่ซื้อรางปล่อย อุปมาดั่งซื้อรถยนต์ที่ไม่มีล้อ โดยอ้างว่า บริษัทผู้ขายสามารถปรับปรุงรางเก่าที่มีอยู่เดิมแม้จะเป็นคนละยี่ห้อให้สามารถใช้งานกับเป้าบินของใหม่ได้ และยังพยายามชี้ให้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการประหยัดงบประมาณ ทำให้สามารถจัดซื้อได้ในราคา 49.8 ล้านบาท
แต่เบื้องหลังที่แท้จริงกลับพบว่า การตั้งงบประมาณจัดซื้อเป้าบินโดยตัดรางปล่อยออกจากรายการ จนราคาเหลือเพียง 49.8 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วงเงินอยู่ในอำนาจของผู้อนุมัติคือไม่เกิน 50 ล้านบาท เพราะหากมูลค่าโครงการเกิน 50 ล้านบาท กรมสรรพาวุธจะไม่สามารถลงนามอนุมัติได้เอง แต่ต้องเสนอขอความเห็นชอบขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึง ผบ.ทร. ซึ่งมีอำนาจอนุมัติในวงเงินสูงถึง 100 ล้านบาท
ผู้ที่อยู่ขบวนการคงจะเล็งเห็นแล้วว่า หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้โครงการจัดซื้อเป้าบินถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดยากที่ผู้มีอำนาจในกรมสรรพาวุธจะมีข้อตกลงลับใด ๆ กับบริษัทได้
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าบริษัทที่มาเสนอราคาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรง ทั้งที่ตามระเบียบแล้วกองทัพจะซื้อยุทโธปกรณ์จากตัวแทนของผู้ผลิตโดยตรงเท่านั้น
จึงเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่มองกันว่าทำให้กองทัพเรือเสียประโยชน์จากการใช้จ่ายเงินอย่างไม่คุ้มค่าคือ ซื้อเป้าบินแต่ไม่มีรางปล่อย
หลังการดำเนินการแบบมีเงื่อนงำในลำดับแรกผ่านพ้นไปเรียบร้อย โดยมีกำหนดส่งมอบภายใน 330 วัน หลังลงนาม คือต้องส่งมอบตั้งแต่ต้นปี 2564 เงื่อนงำที่สองก็ปรากฏขึ้นเมื่อมีการแก้ไขสัญญาการจัดซื้อเป้าบินหลายครั้ง โดยมีเนื้อหาเหมือนต้องการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทเอกชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินจากเดิมที่กำหนดไว้ใน TOR แบ่งการจ่ายเงินออกเป็น 2 งวด งวดแรก 15% ณ วันลงนามในสัญญา และงวดที่ 2 จ่ายส่วนที่เหลือ 85% หลังผ่านการทดสอบการใช้งานว่า “บินได้จริง” โดยใช้รางปล่อยของเก่าที่มีอยู่เดิมและผ่านการปรับปรุงแล้วอันถือว่าสิ้นสุดกระบวนการตรวจรับ
เพียง 8 เดือนหลังลงนามในสัญญาเริ่มมีข่าวหลุดออกมาว่า บริษัทผู้ขายสามารถร้องขอกับผู้มีอำนาจได้สำเร็จจนมีการแก้ไขสัญญาโครงการเป้าบินหลายครั้ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง
เงื่อนงำการแก้ไขสัญญา ที่เป็นประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในครั้งที่ 2 แก้ไขสัญญาเลขที่ 1/งป.2564 ลงวันที่ 3 พ.ค.64 สาระคือเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินส่วนที่เหลือหลังการลงนามในสัญญาจำนวน 42,245,000 บาท (สี่สองล้านสองแสนสี่หมื่นห้าพันบาท) หรือคิดเป็น 85% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งแต่เดิมระบุว่าจะจ่ายเงินจำนวนนี้เมื่อทำการทดสอบและส่งมอบเป้าบินเรียบร้อย
แต่ในการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 กลับเปลี่ยนแปลงเป็นแบ่งจ่าย 4 งวด โดยงวดแรกจำนวน 17,395,000 บาท (สิบเจ็ดล้านสามแสนเก้าหมื่นห้าพันบาท) หรือ 35% ของมูลค่าโครงการ กองทัพเรือจะชำระเมื่อมีการทดสอบเป้าบิน ณ โรงงานในต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วการทดสอบในระดับโรงงานผู้ผลิต จะต้องมีคณะกรรมการตรวจรับซึ่งเป็นผู้แทนของคู่สัญญาบินไป ตรวจสอบด้วยตนเอง อันถือเป็น ข้อกำหนดในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด
แต่กรมสรรพาวุธและบริษัทกลับอ้างว่ามีการแพร่ระบาดของโควิทในช่วงเวลานั้นทำให้กรรมการไม่สามารถบินไปต่างประเทศได้ จึงมอบอำนาจให้ผู้ช่วยทูตทหารเรือทำการแทนคณะกรรมการซึ่งพอรับฟังได้บ้าง แต่ที่รับไม่ได้ก็คือ ไม่เคยมีโครงการไหนที่กองทัพเรือต้องจ่ายเงินให้บริษัทเมื่อทำการทดสอบเสร็จเรียบร้อย
พฤติกรรมในข้อนี้จึงชัดเจนว่า “แก็งค์ ทร.” ต้องการประเคนเงินให้บริษัทในดวงใจอีก 35% หลังการทดสอบ ทั้งที่ไม่เคยมีบริษัทใดได้รับเงินในลักษณะนี้มาก่อน
กรณีนี้จึงน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งกำลังจะมีการยื่นเรื่องให้ ปปช. ไต่สวน
ส่วนการชำระเงินงวดที่ 2 หลังแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 ระบุว่า กองทัพเรือต้องจ่ายเงินให้บริษัทอีก 19,880,000 บาท (สิบเก้าล้านแปดแสนแปดหมื่นบาท) หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าโครงการเมื่อบริษัทนำของมาส่งมอบที่อาคารของกรมสรรพาวุธ
การแก้ไขสัญญาในข้อนี้ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อครหาถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อเป้าบินแบบไอพ่นเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเพียงแค่เอาของที่อยู่ในหีบห่อมาส่งโดยยังไม่ตรวจสอบใด ๆ กลับเบิกเงินได้ถึง 40%
และเมื่อพิจารณาการแก้ไขสัญญาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการชำระเงินงวดที่ 3 จะพบว่ากองทัพเรือต้องจ่ายเงินให้บริษัทอีก 2,485,000 บาท (สองล้านสี่แสนแปดหมื่นห้าพันบาท) หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าโครงการ เมื่อมีการฝึกอบรมผ่านระบบ VDO CONFERENCE ซึ่งก็ต้องถามอีกว่าในประเด็นนี้ทำไมจะต้องฝึกอบรมด้วยวิธีนี้ เหตุใดจึงไม่ฝึกอบรมการใช้งานด้วย “ของจริง” ในเมื่อของก็มีอยู่ในคลัง
คำตอบอยู่ในการชำระเงินที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย คือกองทัพเรือต้องจ่ายเงินให้บริษัทอีก 2,485,000 บาท (สองล้านสี่แสนแปดหมื่นห้าพันบาท) หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าโครงการ เมื่อมีเจ้าหน้าที่เทคนิคจากประเทศผู้ผลิตเดินทางมาติดตั้งระบบหรือ Setting to Work จนสามารถทำการทดสอบการทำงานของเป้าบินเพื่อส่งมอบให้แก่กองทัพเรือ
ทั้งนี้หากย้อนไปดูการชำระเงินงวดที่ 3 ข้อมูลวงในพบว่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เป็นการฝึกอบรมโดยบริษัทต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัท “ผู้ผลิต” เป้าบินที่กองทัพเรือสั่งซื้อ
อุปมาดั่งการซื้อรถยนต์ออสเตรเลีย แต่ให้บริษัทที่ขายรถญี่ปุ่นมาฝึกอบรม ซึ่งหากบริษัทนี้ไม่ใช่ “บริษัทในดวงใจ” ผู้มีอำนาจไฉนเลยจะทำได้
โดยในขณะนี้โครงการดำเนินมาจนถึงขั้นสุดท้ายคือ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งสิ้นสุดการขยายระยะเวลาส่งมอบตามสัญญาแรกอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิท หากบริษัทยังไม่สามารถทดสอบเป้าบินเพื่อส่งมอบได้
ชะตากรรมของโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ? กองทัพเรือจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ หรือจะหาทางยื้อไว้จนถึงที่สุดอันเนื่องมาจากบริษัทนี้เป็น “บริษัทในดวงใจ” ของผู้มีอำนาจ ?
-------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1