xs
xsm
sm
md
lg

MINT งวดนี้ขาดทุนลดเหลือ 647 ล. Q2-3 โตเด่นโรงแรมฟื้น-ร้านอาหารคึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล"ปีนี้สดใส ผลงาน Q 2-3 จะโดดเด่นเหนือกลุ่ม แม้ Q1ขาดทุน 976 ล้านบาท เพราะตัวเลขขาดทุนจากสัญญา Derivatives 300 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนปกติ 647 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาสแรกปี65 ที่ขาดทุน 3,600 ล้านบาท อานิสงส์ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ดีตามคาด ขณะธุรกิจอาหารเติบโต 11% หลังจีนเปิดประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่ High Season ของกลุ่มโรงแรมในยุโรป ด้านผู้บริหารเผย MINT ปีนี้โตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมี EBITDA จากการดำเนินงานโตกว่า 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเดินทางที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะ โบรกฯ ประเมิน MINT จะกลับมาโดดเด่น เพราะเข้าสู่ช่วง Highseason ที่ยุโรป คาดกำไรปีนี้เฉียด 6 พันล้านบาท ประสานเสียงให้ “ซื้อ” เป้าหมายราคา 37-42บาท

ธุรกิจโรงแรมเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากทุกประเทศยกเลิกมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนกล้าที่จะเดินทางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการลงทุนธุรกิจหรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยว โบรกเกอร์สำนักต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสนใจกับหุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเดินทางและท่องเที่ยว และหลักๆ จึงไม่พ้นธุรกิจโรงแรม เพราะหลังการเปิดเมืองเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวคึก ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมหวนกลับคืนมาสู่ปกติอีกครั้ง ซึ่งธุรกิจโรงแรมคือหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลพวงดังกล่าว

ดังนั้น ปีนี้จึงมองกันว่าเป็นปีแห่งการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของหุ้นกลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว ซึ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นโรงแรมใหญ่อย่าง อย่าง ERW หรือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), CENTEL หรือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน), MINT หรือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), SHR หรือ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 65 ที่แจ้งออกมานั้นพบว่าดีขึ้นกว่าปีก่อนและแม้ว่าตัวเลขยังขาดทุน แต่เป็นการขาดทุนที่ลดลง

สำหรับไตรมาสแรกปี 66 เริ่มเข้าสู่เทศกาลประกาศงบการเงินไตรมาสแรก และโรงแรมใหญ่อย่าง MINT หรือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งโบรกเกอร์ต่างประสานเสียงให้ "ซื้อ " ขณะที่ ราคาหุ้น MINT ยังคงเทรดในระดับ 30 บาท ต้น ๆ ล่าสุด เมื่อ 9 พฤษภาคม ปิดที่ 33.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,189.54 ล้านบาท

โบรกฯประสานเสียง “ซื้อ” ราคา 37-42 บาท 

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ "ซื้อ"หุ้น MINT ราคาเป้าหมาย 40.50 บาท/หุ้น จากการแจ้งผลประกอบการปี66 โดยที่รายได้และกำไรฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี65 ในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งMINT แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนสูงกว่าคาดที่ 976 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าที่ บล.ทรีนีตี้ และตลาดคาด และพลิกจากกำไรสุทธิ 1.9 พันล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 65 แต่ฟื้นตัวได้ดีจากขาดทุนสุทธิ 3.8 พันล้านบาทในไตรมาสแรกปี 65 โดยเป็นการฟื้นตัวของทุกกลุ่มธุรกิจเมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งงวดนี้ขาดทุนจากการดำเนินงานปกติ 674 ล้านบาท

สำหรับ EDITMA Margin งวดนี้อยู่ที่ 18% อ่อนตัวลงจาก 27% ไตรมาส 4 ปี 65 แต่สูงขึ้นจากระดับ 8.7% ในไตรมาสแรกปี 65 โดยที่ไตรมาสแรกปี66 ยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟในยุโรปที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่ง MINT แจ้งรายได้รวมที่ 3.12 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.3% จากไตรมาสก่อน แต่ฟื้นตัว 58.8%เมื่อเทียบปีก่อน โดยไตรมาส 1 เป็นช่วง Low Season ของกลุ่มโรงแรมในยุโรป แต่โรงแรมในไทยและ Maldives ยังคงเป็นช่วง High Season

สำหรับรายได้กลุ่มร้านอาหารเติบโต 5% เทียบไตรมาสก่อน และ 19% จากปีก่อน โดยที่มี TSS ไตรมาสแรกปี 66 เติบโต 20% และ SSS โต 11% เทียบปีก่อน จากการเติบโตของทุกประเทศ โดยเฉพาะ Australia ที่มีฐานต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมช่วงไตรมาสแรกปี 65 ขณะที่ไทยและจีนปรับตัวสูงขึ้น 5.8% และ 15% เทียบปีก่อนตามลำดับ

ดังนั้น ยังคงคาดการณ์กำไร ปี66 ที่ 5.58 พันล้านบาท โดยไตรมาส 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น และคาดว่าจะมีกำไรเติบโตได้เมื่อเทียบปีก่อน หลังจากที่จีนเปิดประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่ High Season ของกลุ่มโรงแรมในยุโรป ขณะที่ต้นทุนค่า ไฟคาดว่าเริ่มมีเสถียรภาพและผ่านจุด Peak มาแล้ว ทั้งนี้MINT ได้ Lock ราคาต้นทุนไปบางส่วน เพื่อลดความผันผวนและควบคุมค่าใช้จ่ายได้


บล.ดาโอ แนะนำ "ซื้อ" หุ้น MINT ราคาเป้าหมาย 37 บาท/หุ้น อิง DCF (WACC ที่ 7%,terminal growth ที่ 2.5%) โดย MINT ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ พลิกเป็นขาดทุนปกติอยู่ที่ 647 ล้านบาท ฟื้นตัวได้จาก ไตรมาสแรกปี 65 ที่ขาดทุนปกติที่ 3.6 พันล้านบาท แต่ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 65 ที่มีกำไรปกติที่ 2.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 266 ล้านบาท และ บล.ดาโอ คาดที่ 389 ล้านบาท เพราะต้นทุนฝั่งโรงแรมมากกว่าคาด เพราะต้นทุนฝั่งโรงแรมมากกว่าคาด โดยมี GPM ของโรงแรมลดลงอยู่ที่ 32% จาก ไตรมาส 4 ปี 65 ที่ 40% เพราะเป็นช่วง Low season ที่ยุโรป ขณะขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 976 ล้านบาท เพราะมีขาดทุนจากสัญญา Derivatives ราว 300 ล้านบาท

โดยธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ดีตามคาด มี RevPar เพิ่มขึ้นถึง 87% เทียบปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 12% ส่วน ธุรกิจอาหารมีSSSG โดยรวมเติบโตได้ที่ 11% เทียบปีก่อน จากไตรมาส 4 ปี 65 ที่เพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน จากการเติบโตในทุกประเทศ ด้าน SG&A to sale อยู่ที่ 38%(ตามคาด) เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 4 ปี65 ที่ 33% เพราะมีต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น

บล.ดาโอ ยังคงประมาณการได้กำไรปกติในปี 66 อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 137% เทียบปีก่อน จากการฟื้นตัวในทุกประเทศ โดยเฉพาะที่ไทยและยุโรป ขณะคาดกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ จะกลับมาเติบโตโดดเด่นเหนือกลุ่ม ทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเข้าสู่ช่วง Highseason ที่ยุโรป และ MINT ประกาศซื้อหุ้น NH เพิ่มเติม (ปัจจุบันถือ 94%) ที่ราคาไม่เกิน 4.50 ยูโร (ราคาเมื่อ 8 พ.ค.ที่ 3.625 ยูโร) โดยหากซื้อครบ 100% จะต้องใช้เงินลงทุนราว 4.4 พันล้านบาท ซึ่ง MINT ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าจะช่วยทำให้ MINT บริหาร NH ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ บล.ดาโอ มองว่าราคาหุ้นที่จะปรับตัวลงจากงบไตรมาสแรกปี 66 ที่ผิดคาดเป็นจังหวะเข้าซื้อสะสม เพราะ ไตรมาส 2 ปีนี้จะพลิกกลับมาเป็นกำไรโดดเด่นเหนือกลุ่ม


บล. บัวหลวง มองว่า เห็นสัญญาณผลกำไรในไตรมาสที่ 2 ของ MINT ที่แข็งแกร่งเพราะจะได้อานิสงส์จากฤดูการท่องเที่ยวไฮซีซันในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีโรงแรม ส่วนใหญ่ของMINT ตั้งอยู่ภายใต้แบรนด์โรงแรม NH และเป็นกลุ่มโรงแรมที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท จึงแนะนำให้ลงทุนใน MINT ก่อนที่จะเข้าช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวของยุโรปในไตรมาส 2 ปี 66 คาดกำไรไตรมาส 2 ปีนี้จะขยายตัวมาจากทุกธุรกิจ ขณะต้นทุนพลังงานในทวีปยุโรปนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป อีกทั้ง MINT ยังคงได้รับอานิสงส์จากความต้องการจากนักเดินทางทั่วโลก ทั้งเพื่อการพักผ่อนและการจัดประชุมต่างๆ (MICE) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ส่งผลให้แนวโน้มการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจโรงแรมมีความแข็งแกร่ง คงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 39 บาท

บล. พาย แนะนำ "ซื้อ" หุ้น MINT ให้ราคาเป้าหมาย 42 บาท/หุ้น หลัง MINT แจ้งงบไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 976 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุนในไตรมาสแรกปี 65 ที่ 3.9 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.9 พันล้านบาทในไตรมาส ถ้าไม่รวมราบการพิเศษ ขาดทุนปกติจะอยู่ที่ 647 ล้านบาท (ขาดทุน 3.6 พันล้านบาทในไตรมาสแรกปี 65 และกำไรปกติ 2.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 65)นับเป็นผลประกอบการที่ต่ำกว่าที่ บล.พาย คาด และต่ำกว่าที่ตลาดคาด 60%

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาสแรกที่ชะลอลง เป็นผลจากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่ลดลง แตะจุดต่ำรอบ 4 ไตรมาส ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท เพราะธุรกิจภายใต้NHH นั้นเผชิญกับช่วง low season ด้วย RevPar ที่ลดลง 17 % เทียบไตรมาสก่อน แต่ยังสูงว่าไตรมาสแรกปี 62 อยู่ 12% ด้านอัตราค่าเฉลี่ยต่อคืนสูงกว่าช่วงโควิดอยู่ 24% ส่วน RevPar โรงแรมไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากไตรมาสแรกปี 65 และสูงกว่าปี 62 อยู่ 5% หนุนจากอุปสงค์การท่องเที่ยวในกลุ่มต่างชาติ และการฟื้นของกลุ่ม MICE ทั้งนี้ผลงานที่ดีเยี่ยมในไทย โอเชเนีย มัลดีฟส์ และตะวันออกกลาง(21% ของรายได้ธุรกิจโรงแรมในปี 64) ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากธุรกิจในยุโรปได้ EBITDA Margin สำหรับธุรกิจโรงแรมไตรมาสแรกปีนี้ลดลง 21.1% จาก 32% แต่ดีขึ้นจาก 10.6% .ในไตรมาสแรกปี 65

โดยรายได้ธุรกิจโรงแรมทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.3 พันล้านบาทตามคาด หรือโตขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนและ 22% จากปีก่อน ด้วยการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม(SSSG) ที่ 11.4% หนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังเปิดเมืองเต็มรูปแบบ บวกกับอานิสงส์จากการปรับปรุงแบรนด์อาหาร EBITDA margin สำหรับอาหารฟื้นตัวจากปีก่อน 21.8% จาก 18.2 %ในไตรมาสแรกปี 65 เพราะผลกระทบที่บางเบาลงจากต้นทุนวัตถุดิบสำคัญเริ่มลดลง และส่วนแบ่งรายได้สำหรับการทานอาหารในอาคารที่สูงขึ้น บวกกับกิจการในจีนที่ฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ แต่ margin ในเชิงเทียบไตรมาสลดลง จาก 22.4% ในไตรมาส 4 ปี 65 เพราะค่าแรงและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น


ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าตอบแทนพนักงาน และสาธารณูปโภคยังอยู่ในระดับสูง ช่วงlow season ของกลุ่มโรงแรมยุโรปที่อยู่ภายใต้ NH Hotel Group (NHH) ที่มีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืน(RevPar) ลดลง และคาดว่าจะฟื้นตัวดีในไตรมาส 2 -3 จากอุปสงค์กลุ่มนักท่องเที่ยว คาดว่าธุรกิจอาหารในไทยจะฟื้นตัวไตรมาส 2 ปี66 หรือช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบและบิลค่าไฟฟ้าปรับลดลงเพราะค่าไฟฟ้าต่อหน่วยลดลง 11% จาก 4 เดือนแรกของปี 66

บิ๊กบอส MINT เผยเร่งบริหารต้นทุนหนุน EBITDA พุ่ง

นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม MINT กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้การดำเนินงานของ MINT อาจสูงเกินความคาดหมายเพราะ โรงแรมของ MINT ทั่วโลกมีความพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากความพยายามในการขายข้ามแบรนด์และข้ามภูมิภาค รวมทั้งความสำเร็จจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการเติบโต

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีน จากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศทุกภูมิภาค ประกอบกับกลยุทธ์ในการขายเฉพาะของแต่ละแบรนด์ เพื่อรับมือกับสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ส่วน ไมเนอร์ ฟู้ด ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของแบรนด์ ขณะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในจีนได้เปิดตัวเมนูใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ คาดจะช่วยผลักดันยอดขายอย่างแข็งแกร่ง โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการบริโภคภายในประเทศ”

โดย MINT ไตรมาส 1 ปีนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมี EBITDA จากการดำเนินงานโตกว่า 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท จาก 2.7 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 65 หรือเพิ่มขึ้น 150 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการเดินทางที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและจำนวนลูกค้าร้านอาหารเพิ่ม ประกอบกับ  การดำเนินกลยุทธ์การกำหนดราคาค่าห้องพักเชิงรุกและการเพิ่มจำนวนโรงแรมและร้านอาหารใหม่ ๆ ในเครือของบริษัท รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและความสามารถการทำกำไรเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ ส่งผลให้อัตราการกำไร EBITDA ก็โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 13.2 % ในไตรมาสแรกปี 65 เป็น 21.1 % ในไตรมาสแรกปีนี้ และท่ามกลางสภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง MINT มุ่งบริหารจัดการฐานะทางการเงิน โดยลดอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลงมาอยู่ที่ 0.94 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 66 จาก 1.17 เท่า ณ สิ้นปี 65 ซึ่งเป็นความสำเร็จในการการชำระคืนเงินกู้เดิม รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน 10.5 พันล้านบาทในไตรมาสแรก ส่งผลให้ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น และภาระดอกเบี้ยที่ลดลง จะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตเชิงกลยุทธ์อย่างแข็งแกร่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน


แม้ว่า MINT รายงานผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 647 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 66 ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเป็นช่วงนอกฤดูการเดินทางในทวีปยุโรปตามที่ทางบริษัทได้คาดการณ์และประมาณการไว้ล่วงหน้า แต่ผลขาดทุนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลขาดทุน 3.6 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 65

ทั้งนี้ ผลงาน MINT ไตรมาส 4 ปี 65 พลิกมีกำไรสุทธิ 4.2 พันล้านบาท โต 133% จากปีก่อนหน้าขาดทุน 1.31 หมื่นล้านบาท จากปี 65 และมีรายได้รวม 1.24 แสนล้านบาท เติบโต 64% จากปีก่อนหน้ามีรายได้รวม 7.6 หมื่นล้านบาท ส่วน EBITDA แตะที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือโต 217% จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มรายได้ บริหารจัดการต้นทุน และเสริมสร้างประสิทธิภาพทางการดำเนินงาน โดยการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศทั่วโลกอีกครั้งและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น จึง คาดว่าผลการดำเนินงานจะยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 66 พร้อมกับมุ่งเน้นมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อเร่งการเติบโต และเพิ่มความสามารถการทำกำไร


กำลังโหลดความคิดเห็น