กรมควบคุมโรค เผยผลสอบสวนโรคเคสหนุ่มคนงานเมียนมาดับจากเชิ้อโควิด XBB.1.16.1 มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง เหตุไม่ได้รับวัคซีน เตือน 1-2 สัปดาห์ผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้น ย้ำรีบเข้ารับวัคซีนเพิ่มภูมิ
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีคนงานเมียนมา อายุ 34 ปี เสียชีวิตภายในห้องพัก เขตสาทร กทม. และตรวจ ATK พบเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2566 ว่า จากผลการสอบสวนพบว่า ผู้เสียชีวิตทำงานเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งใน กทม. ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 มาก่อน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้เสียชีวิตได้เล่นน้ำสงกรานต์กับเพื่อน และเริ่มเป็นไข้ มีอาการตาแดง ซื้อยากินเองอยู่แต่ในห้องพัก ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล จนมีผู้มาพบว่า นอนเสียชีวิตในห้องพัก ผลตรวจภาพ CT scan ของศพโดย ระ.จุฬาลงกรณ์ เข้าได้กับภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16.1 ขอย้ำให้ผู้ไม่เคยรับวัคซีน รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสู้กับโควิดสายพันธุ์ต่างๆ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรักษาใน รพ. 1,088 ราย เฉลี่ยวันละ 155 คนต่อวัน สูงขึ้น 2.5 เท่าเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า คาดว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ขอแนะนำประชาชนเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี สำหรับกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดพร้อมกันได้ หากป่วยอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK เลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก รีบไปพบแพทย์หากมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ถ้าเป็นกลุ่ม 608 ให้รีบพบแพทย์เมื่อทราบผล สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับ LAAB ได้ที่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ภาครัฐสังกัดอื่นทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2566 องค์การอนามัยโลกได้ปรับสถานะเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16 ให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (VOI) จากเดิมเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธี RT PCR และ ATK ยังพบการติดเชื้อโควิดได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ รวมถึงโอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 เพียงพอในระดับบุคคลและประชากร เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต โดยใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน ไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ฉีดพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่ต้นแขนคนละข้าง