อาทิตย์นี้ จะครบรอบ 1 ปีที่กองทัพของรัสเซียบุกโจมตียูเครน ภายใต้ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร เพื่อปกป้องประชาชนรัสเซียที่อยู่ในแคว้นลูฮันสก์ และดอนบาส ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติประเภทแร่ธาตุสำคัญๆ ที่ใช้ด้านอุตสาหกรรม
เหตุผลที่ปธน.ปูตินทำปฏิบัติการพิเศษทางทหารนี้ เขากล่าวหารัฐบาลที่เมืองหลวงเคียฟว่า ได้ส่งกองทัพของยูเครนนำโดยหน่วยรบที่เป็นพวกนาซี เพื่อเข้าปราบปรามประชาชนเชื้อสายรัสเซียที่อาศัยอยู่ใน 2 แคว้นทางตะวันออกสุด ซึ่งติดกับชายแดนรัสเซีย
ซึ่งตั้งแต่คาบสมุทรไครเมียได้ทำการลงประชามติที่รัฐสภาของไครเมียเมื่อปี ค.ศ. 2014 (9 ปีที่แล้ว) เพื่อขอผนวกมาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยจะไม่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครนอีกต่อไป
หลังการผนวกไครเมียเข้าเป็นดินแดนของรัสเซีย ปูตินอ้างว่า ประชาชนเชื้อสายรัสเซียใน 2 แคว้นถูกปราบปรามเข่นฆ่าจนตายไปถึง 14,000 คน และถูกบังคับไม่ให้พูดภาษารัสเซียอีกต่อไป
และได้เกิดกองกำลังแบ่งแยกดินแดนใน 2 แคว้นนี้ เพื่อปลดแอกแยกตัวออกจากยูเครน และจะเป็นรัฐอิสระหรือผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เช่นเดียวกับคาบสมุทรไครเมีย
กองกำลังแบ่งแยกดินแดนใน 2 แคว้นนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากมอสโก และได้เป็นหนามยอกอกยูเครนมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โดยมอสโกถึงกับส่งทหารรัสเซียบางส่วนร่วมปฏิบัติการแยกดินแดนกับกลุ่มกบฏ โดยทหารรัสเซียจะมีทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทางเครมลินให้การสนับสนุนอย่างไม่เปิดเผย และทหารรัสเซียจะไม่มีเครื่องแบบของรัสเซียปรากฏ
ที่ยูเครนต้องเผชิญหน้ากับการสู้รบ ทั้งในและนอกเครื่องแบบจากรัสเซีย ก็เพราะการปฏิวัติไมดาน (Maidan Revolution หรือ Revolution of Dignity) เมื่อปี 2014 ซึ่งประชาชนยูเครนได้บุกเข้ายึดอาคารรัฐบาลที่จัตุรัสไมดานกลางกรุงเคียฟ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่สนับสนุนโดยรัสเซียด้วยข้อกล่าวหาว่าได้บริหารราชการอย่างไม่โปร่งใส และอยู่ภายใต้การควบคุมของมอสโก
ผู้นำยูเครนขณะนั้น ต้องหนีจากเคียฟไปอยู่มอสโกจนถึงปัจจุบัน และได้เกิดการลงประชามติที่สภาไครเมียเพื่อขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ขณะที่เกิดการชุมนุมของประชาชนที่จัตุรัสไมดาน ฝ่ายสหรัฐฯ นำโดย รมช.กระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นคือ นางวิคตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ได้ให้การสนับสนุนชาวเคียฟ ทั้งด้านเงินสนับสนุนและอาจมีอาวุธบางส่วนเพื่อให้โค่นรัฐบาลที่โน้มเอียงทางมอสโกได้สำเร็จ
มีหลักฐานว่า เธอได้แอบเดินเข้าออกอาคารที่ประชาชนยึดจากรัฐบาล ซึ่งสร้างความประหลาดใจไม่น้อยแก่ผู้ติดตามสถานการณ์ที่ยูเครน...และหลังจากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เคียฟมาเป็นรัฐบาลใหม่ เป็นราชาช็อกโกแลต (นักธุรกิจด้านขนมหวานที่ส่งขายทั้งในรัสเซียและทั่วยุโรป)...ลูกชายของรองปธน.ไบเดนคือ นายฮันเตอร์ ไบเดน ก็ได้ตำแหน่งกรรมการของรัฐวิสาหกิจพลังงานใหญ่ของยูเครน (ชื่อบริษัท Burisma)
โดยขณะนั้น รองปธน.ไบเดน (สมัยโอบามาเป็นปธน.) มีทีมปรึกษาใกล้ชิดด้านต่างประเทศและความมั่นคงคือ นายแอนโทนี บลิงเคน นางวิคตอเรีย นูแลนด์ และนายเจค ซัลลิแวน...ซึ่งต่อมาเมื่อไบเดนได้เข้ามาเป็นปธน. กลุ่มที่ปรึกษาเหล่านี้ก็ได้เขยิบฐานะขึ้นมาเป็นใหญ่ในครม.ของเขา
นางวิคตอเรีย นูแลนด์ ก็ได้เข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้านกิจกรรมทางการเมืองของสหรัฐฯ ขณะนี้
โดยเธอมีฉายาว่าเป็น “ผู้ทำคลอด” รัฐบาลของยูเครนที่ฝักใฝ่นาโต และตะวันตก...ก็ด้วยบทบาทสำคัญช่วงปฏิวัติไมดานนั่นเอง
ในวาระครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียบุกยูเครน เธอได้ให้สัมภาษณ์กับ Carnegie Endowment หรือนิตยสารของกองทุนคาร์เนกี ซึ่งสะท้อนความเป็นสายเหยี่ยวของเธออย่างเต็มที่ และสะท้อนถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจจะซ่อนเร้นเอาไว้พอสมควร
เธอพูดถึงสถานการณ์ในยูเครนว่า ถ้าจะทำให้ยูเครนปลอดภัยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ยูเครนจะต้องได้ไครเมียกลับมาทุกตารางนิ้ว และให้กองทัพรัสเซีย (ที่มีฐานทัพใหญ่อยู่ที่ไครเมีย) ออกไปโดยสิ้นเชิง
ซึ่งตรงกับที่ปธน.เซเลนสกี้พูดเสมอว่า ยูเครนจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่นิ้วเดียว
แต่แนวคิดนี้กลับไม่ตรงกับข้อเสนอของดร.คิสซินเจอร์ ที่ว่า ยูเครนอาจจะต้องเจรจากับรัสเซียโดยไม่ต้องไปทวงไครเมียกลับคืนมา (คงยากมากเพราะปูตินภาคภูมิใจมากที่ได้ไครเมียไปอยู่กับรัสเซีย และทำให้คะแนนนิยมของเขาพุ่งขึ้นแตะ 90% เมื่อ 9 ปีที่แล้ว!) และปูตินได้ทำการก่อสร้างสะพานยาว (ที่มีทั้งถนนสำหรับรถยนต์ และทางรถไฟควบคู่กันไป) เชื่อมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย
วิคตอเรีย นูแลนด์ เน้นว่า อย่างต่ำๆ ก็ต้องให้ไครเมียเป็นเขตปลอดอาวุธ ปลอดทหาร เพื่อให้ยูเครนปลอดภัย
เธอยังมองด้วยว่า ตราบที่ปูตินยังคุมอำนาจที่รัสเซีย ยูเครนจะไม่เป็นสุขได้ รวมทั้งยุโรปทั้งหมด เพราะฉะนั้น จะดีที่สุดถ้าจะมีการทำรัฐประหารโค่นล้มปูติน (หรือคนแบบเผด็จการปูติน) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณคล้ายๆ กับที่เธอเคยทำคลอดโค่นรัฐบาลฝักใฝ่มอสโกที่จัตุรัสไมดานเมื่อ 9 ปีที่แล้วนั่นเอง