การสู้รบในยูเครนทวีความร้อนระอุในช่วงครบรอบ 1 ปีของสงคราม หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากจู่โจมภาคตะวันออกยูเครนจนสามารถฝ่าแนวต้านของกองกำลังเคียฟได้ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ชาติตะวันตกเตรียมอัดฉีดอาวุธและเครื่องกระสุนช่วยเหลือยูเครนเพิ่มขึ้นอีก ท่ามกลางสัญญาณเตือนว่าปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ของรัสเซียจะเริ่มในไม่ช้า
กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงผ่าน Telegram เมื่อวันพุธ (15 ก.พ.) ว่า ทหารยูเครนในลูฮันสก์ ถูกกองกำลังรัสเซียรุกไล่หนักจนต้องเป็นฝ่ายถอยร่น แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ส่วนไหน
“ระหว่างปฏิบัติการจู่โจม ทหารยูเครนได้ถอยร่นกระจัดกระจายออกไปเป็นระยะทางถึง 3 กิโลเมตรจากแนวเส้นยึดครองเดิม แม้แต่แนวป้องกันชั้นที่ 2 ที่แข็งแกร่งกว่าก็ยังไม่สามารถต้านทานการบุกของทหารรัสเซียได้” กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุ พร้อมเผยว่า “กองกำลังฝ่ายใต้” (southern group) ที่มีปืนใหญ่สนับสนุนก็กำลังรุกคืบเข้าสู่ภูมิภาคโดเนตสก์เช่นกัน
ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนยืนยันว่า กองทัพยังสามารถต้านทานการบุกของรัสเซียในลูฮันสก์ได้บางจุด แต่สถานการณ์ก็ต้องถือว่า “ยากลำบาก” ขณะที่ เซอร์ฮีย์ ไฮได ผู้ว่าการแคว้นลูฮันสก์ เปิดเผยว่ารัสเซียได้ระดมทั้งอาวุธหนักและกำลังพลจำนวนมากเข้ามายังแคว้นแห่งนี้ และ “บุกเข้าโจมตีจากหลายทิศทางดุจระลอกคลื่น”
ทำเนียบเครมลินได้สั่งให้กองทัพยกระดับโจมตีพื้นที่ตอนใต้และตะวันออกของยูเครนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการระดมโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซียส่วนใหญ่แล้วมุ่งเน้นไปที่เมืองบัคมุต (Bakhmut) ในแคว้นโดเนตสก์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ขณะที่ทหารยูเครนในเมืองแห่งนี้ประจำการตามฐานที่มั่นต่างๆ ที่มีการเสริมแนวป้องกัน ท่ามกลางความคาดหมายว่าอาจมีการสู้รบบนท้องถนน
ทั้งนี้ การยึดครองบัคมุตจะเปิดทางให้รัสเซียสามารถรุกคืบเข้าหาอีก 2 เมืองที่ใหญ่กว่าในแคว้นโดเนตสก์ ซึ่งได้แก่ ครามาตอร์สก์ (Kramatorsk) และสโลเวียนสก์ (Sloviansk) และจะถือเป็นการเพิ่มแรงขับให้ฝ่ายรัสเซีย หลังจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาต้องประสบความปราชัยในหลายสมรภูมิ ตามหลังเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ.ปีก่อน
เซเลนสกี แถลงในวันอังคาร (14) ว่า รัสเซียเร่งรีบที่จะบุกทะลวงแนวต้านของยูเครนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่กองทัพยูเครนจะได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์เสริมจากชาติพันธมิตรจนแข็งแกร่งขึ้นมา
“ด้วยเหตุนี้ ความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ความรวดเร็วในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ การจัดส่งเสบียงอาวุธ หรือการฝึกฝน การทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วจะช่วยปกป้องชีวิตผู้คนไว้ได้” ผู้นำยูเครนกล่าว
- นาโตเร้าสมาชิกผลิตกระสุนเพิ่ม
เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมนาโตที่บรัสเซลส์ว่า กลุ่มพันธมิตรจะเพิ่มกำลังการผลิตกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อส่งไปช่วยเหลือยูเครน
สโตลเตนเบิร์ก เผยว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และนอร์เวย์ ได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยผลิตกระสุน ซึ่งจะช่วยให้รัฐสมาชิกนาโตสามารถเติมเต็มเครื่องกระสุนในคลังแสงของตนเอง และยังคงมีปริมาณกระสุนเหลือมากพอที่จะส่งไปช่วยยูเครนได้ด้วย
กองทัพยูเครนใช้กระสุนหมดเปลืองเร็วกว่าที่ชาติตะวันตกจะผลิตป้อนให้ได้ทัน โดยอยู่ที่ประมาณ 10,000 ลูกต่อวัน แถม เซเลนสกี ยังเรียกร้องขออาวุธที่มีศักยภาพสูงขึ้นอีก เช่น เครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธพิสัยไกล เพื่อนำไปใช้ต่อต้านการบุกของรัสเซีย และชิงดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา
ขณะเดียวกัน แผนการจัดตั้งกองพันรถถัง Leopard 2 จำนวน 2 กองพันเพื่อส่งมอบให้ยูเครนก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว โดย บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนี ยืนยันว่าขณะนี้ชาติตะวันตกได้ให้สัญญามอบรถถัง Leopard 2 แก่เคียฟรวมทั้งสิ้น 48 คัน ในนั้นรวมถึงรถถังรุ่น Leopard 2 A4 ที่เป็นรุ่นเก่ากว่าจำนวน 31 คัน โดยจะมีโปแลนด์ทำหน้าที่ประสานงานในการส่งมอบ
รัฐบาลเบอร์ลินยังจะมอบรถถัง Leopard 2 A6 ซึ่งเป็นรุ่นที่ทันสมัยกว่าให้ยูเครนอีก 14 คัน ในขณะที่โปรตุเกสจะมอบให้ 3 คัน
โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้ทุกชาติร่วมมือกับเยอรมนีจัดส่งรถถังไปยังยูเครน “ให้มากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” หลังมีกระแสข่าวออกมาว่าเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ยังคงปฏิเสธที่จะมอบรถถัง Leopard 2 ให้แก่เคียฟ
“คงจะเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก ถ้าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราต่างชี้นิ้วตำหนิเยอรมนีว่าไม่ยอมทำอะไรเลย แต่สุดท้ายประเทศเหล่านี้กลับนิ่งเฉยเสียเอง” บอร์เรล ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมืองเบียร์
ด้านอังกฤษเปิดเผยว่า ลอนดอนและรัฐบาลยุโรปอื่นๆ เตรียมส่งยุทโธปกรณ์จำพวกอะไหล่รถถังและกระสุนปืนใหญ่ให้แก่ยูเครนผ่านทางกองทุนระหว่างประเทศ โดยแพกเกจช่วยเหลือในเบื้องต้นจะมีมูลค่าสูงกว่า 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พันธมิตรนาโตยังได้หารือเกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยรายจ่ายด้านการทหาร 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ว่าจะ “เพียงพอหรือไม่” ในช่วงเวลาที่เพื่อนบ้านอย่างยูเครนกำลังเกิดสงครามเต็มขั้น
“ผมว่าเราไม่ควรมองตัวเลข 2% ของ GDP ว่าเป็นเพดานสูงสุดอีกต่อไป แต่ควรถือว่าเป็นขั้นต่ำสุดที่ต้องทำ” สโตลเตนเบิร์ก กล่าว พร้อมย้ำว่าสมาชิกนาโตจำเป็นต้องใช้จ่ายงบในด้านการทหารให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ด้าน พิสโตริอุส ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งงบรายจ่ายทางทหารไม่ต่ำกว่า 2% ของ GDP นั้น “ยังไม่พอ” เสียด้วยซ้ำ และจะต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำนาโตจะตัดสินใจประเด็นดังกล่าวระหว่างการประชุมซัมมิตที่ลิทัวเนียในเดือน ก.ค.
ในการประชุมซัมมิตนาโตที่เวลส์เมื่อปี 2014 ผู้นำนาโตได้ลงมติเห็นพ้องให้สมาชิกทุกประเทศต้องใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมไม่ต่ำกว่า 2% ของ GDP ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ความมั่นคงในยุโรปที่น่ากังวลหลังจากรัสเซียใช้กำลังช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครน
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้หลายประเทศในยุโรป แม้กระทั่งเยอรมนี ก็ยังทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจากการประเมินของนาโตเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของเบอร์ลินจะยังคงต่ำกว่า 1.5% ของ GDP ในปี 2022 ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของนาโตใช้งบด้านการทหารเกือบ 3.5% ของ GDP