ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
นอกจากนี้ ทบวงโฆษณาการยังร่วมกับทบวงจัดตั้งองค์กรฯ ในการดูแลการทำงานของสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหญินหมินญื่อเป้า) กระทรวงที่ดูแลสถานีวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ สำนักข่าว ซินหัว เป็นต้น
ที่สำคัญ ทบวงโฆษณาการฯ ยังมีอำนาจในการแสดงความเห็นต่อการแต่งตั้งโยกย้ายกรรมการพรรคในระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง และเขตปกครองที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีบทบาทในการเสนอความคิดอันเป็นเข็มมุ่งในการเผยแพร่ และความเจริญเติบโตในทางวัฒนธรรม
คือมีบทบาทชี้นำการกำหนดนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรม เป็นผู้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ที่เผยแพร่วัฒนธรรม ให้เป็นไปตามหลักนโยบายของศูนย์กลางพรรค เพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์กลางพรรคสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
จากภารกิจหรือบทบาทหน้าที่ของทบวงโฆษณาการฯ ดังกล่าว ทำให้เห็นว่า การเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติหากกระทบต่อความคิดของชาวจีนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะให้ความใส่ใจอย่างมาก เพราะอาจทำให้ความคิดของชาวจีนเบี่ยงเบนออกไปจนต่างจากความคิดที่พรรคต้องการให้เป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการปกครองของพรรค
ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่า บ่อยครั้งที่ภาพยนตร์ต่างชาติ (โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก) มักจะถูกห้ามเผยแพร่ในจีน เป็นต้น
8.ทบวงปฏิบัติการแนวร่วมแห่งศูนย์กลางพรรค
ดังได้กล่าวไปแล้วว่า แนวร่วมเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น พรรคการเมืองนี้จึงให้ความสำคัญกับการทำงานแนวร่วมอย่างมาก องค์กรนี้จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งพรรค
เวลานั้นมีชื่อว่า “ทบวงปฏิบัติการในเขตเมือง” (จงก้งจงยางเฉิงซื่อกงจั้วปู้) ที่ใช้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะในระยะที่ว่านี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้ยุทธศาสตร์ “ยึดเมืองเป็นศูนย์กลาง” คือเน้นการใช้กำลังของกรรมกรที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง
ชื่อนี้ยังคงถูกใช้เรื่อยมาแม้เมื่อพรรคการเมืองนี้ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็น “ชนบทล้อมเมือง” แล้วก็ตาม
แต่ครั้นถึงเดือนกันยายน 1948 อันเป็นช่วงที่ทำสงครามกลางเมืองกับกว๋อหมินต่างอยู่นั้น องค์กรนี้จึงถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นดังที่เห็นในทุกวันนี้ นั่นคือ ทบวงปฏิบัติการแนวร่วมแห่งศูนย์กลางพรรค (จงก้งจงยางถ่งอีจ้านเสี้ยนกงจั้วปู้, 中共中央统一战线工作部)
คำว่า “แนวร่วม” (united front, จ้านเสี้ยน, 战线) นับเป็นคำที่ชาวคอมมิวนิสต์นิยมใช้และรู้จักกันดี
เป็นที่ยอมรับกันว่า การเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมสังคมนิยมนั้น แม้ชาวคอมมิวนิสต์จะเชื่อว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่เป็นไปเพื่อชนส่วนใหญ่ และเพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่ดีที่สุด และก้าวหน้าที่สุดก็ตาม แต่ในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายที่ว่านั้น ใช่ว่าชนส่วนใหญ่จะเข้าใจหรือเห็นด้วยกับสิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์คิดและทำไปทั้งหมด
จากความจริงที่ว่านี้ หากชาวคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหว หรือปฏิบัติการไปอย่างเถรตรง ด้วยการชูความคิดสังคมนิยมอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อชาวคอมมิวนิสต์ เพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่เข้าใจสิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์คิดหรือทำไม่ร่วมมือด้วย ซ้ำร้ายอาจต่อต้านชาวคอมมิวนิสต์ไปด้วยก็ได้
จากความจริงดังกล่าว และเพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมของตนบรรลุผลสำเร็จ ชาวคอมมิวนิสต์จึงได้แบ่งกลุ่มคนออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์คิดหรือทำ และอาจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับชาวคอมมิวนิสต์ก็ได้ แต่ที่ค่อนข้างแน่นอนคือ คนกลุ่มนี้จะไม่เป็นอุปสรรคแก่ตน คนกลุ่มนี้ชาวคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า
กลุ่มต่อมา เป็นกลุ่มคนที่อาจเห็นด้วยหรือเข้าใจในสิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์คิดหรือทำในบางแง่มุม และไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้าใจในอีกบางแง่มุม คนกลุ่มนี้ในด้านหนึ่งจึงมีลักษณะที่ไปด้วยกันได้กับชาวคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่ง และไปด้วยกันไม่ได้อีกส่วนหนึ่ง กลุ่มนี้ชาวคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นกลาง
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับชาวคอมมิวนิสต์ในแทบทุกกรณี และอาจทำตัวเป็นศัตรูกับชาวคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยด้วยก็ได้ กลุ่มนี้ชาวคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นกลุ่มที่ล้าหลังทางความคิด
คนในกลุ่มที่หนึ่งและสองข้างต้น ชาวคอมมิวนิสต์ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะถ้าหากได้คนกลุ่มนี้มาเข้าร่วมมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมของตนสำเร็จเร็วขึ้น
ด้วยความสำคัญที่ว่านี้เอง ชาวคอมมิวนิสต์จึงใช้วิธีเข้าหาแล้วผูกมิตรกับคนกลุ่มที่หนึ่งและสองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่สอง โดยดึงเอาลักษณะร่วมที่คนกลุ่มนี้คิดตรงกับตนมาสร้างความสัมพันธ์ และละเว้นที่จะไม่ดึงลักษณะต่างมาทำให้ความสัมพันธ์ต้องเสียหายโดยใช่เหตุ ปฏิบัติการเช่นนี้จึงพึงกระทำด้วยความจริงจังและจริงใจ
ชาวคอมมิวนิสต์มักเรียกวิธีเช่นนี้ว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
เมื่อชาวคอมมิวนิสต์ทำเช่นที่ว่าไประยะหนึ่งก็จะผูกมิตรกับคนกลุ่มที่ว่าได้ โดยมิตรกลุ่มนี้อาจเข้าร่วมกับตนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมบางส่วนบางครั้ง หรือไม่ก็อาจเข้าร่วมตลอดไปเลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะกับคนในกลุ่มแรก
แต่ไม่ว่าจะร่วมมากหรือน้อย ร่วมบ้างหรือร่วมตลอดก็ตาม ล้วนย่อมถือเป็นข้อดี คือดีกว่าให้คนกลุ่มนี้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง และก่อนที่จะได้คนกลุ่มนี้มาเป็นมิตรนี้เอง คนกลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า “แนวร่วม”
จนเมื่อ “แนวร่วม” เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติไปแล้ว ฐานะแนวร่วมก็อาจเปลี่ยนไปเป็นผู้ปฏิบัติงานหรือสมาชิกพรรคก็ย่อมได้
กรณีตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น อาจดูได้จากเมื่อครั้งเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น (1937-1945) ขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีจุดยืนและนโยบายที่ชัดเจนในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงวางงานปฏิวัติให้เป็นงานรองลงชั่วคราว แล้วหันมาทำงานต่อต้านญี่ปุ่นแทน ช่วงนี้เองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แนวร่วมมาเข้าร่วมทำสงครามกับญี่ปุ่นไม่น้อย เพราะชาวจีนเวลานั้นเกือบจะทั้งประเทศต่างก็ต่อต้านญี่ปุ่น ฉะนั้น ไม่ว่าชาวจีนคนใดจะชอบหรือไม่ชอบลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่หากเห็นด้วยกับการต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ถือว่าเป็นมิตรของตนทั้งสิ้น
และ “มิตร” เหล่านี้ก็คือ “แนวร่วม”