จอช ฮอว์ลีย์ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน เรียกร้องกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา เร่งจัดส่งอาวุธไปยังไต้หวันแทนยูเครน อ้างว่าเกาะแห่งนี้มีความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากกว่า หลังจากก่อนหน้านี้เขาเคยแนะนำว่าจะเป็นการดีกว่า หากเอาเงินที่วอชิงตันส่งไปช่วยเหลือเคียฟ นำไปใช้จ่ายเพื่อประชาชนในประเทศ
ในหนังสือที่ส่งถึง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.) ฮอว์ลีย์ อ้างว่าการที่อเมริกาปล่อยให้คลังอาวุธของตนเองร่อยหรอเพื่อเสริมศักยภาพด้านการทหารแก่กองทัพยูเครน เป็นการละเลย "ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่สำคัญของเราในเอเชีย"
วุฒิสมาชิกจากมิสซูรีรายนี้โต้แย้งว่า กระแสอาวุธเหล่านี้ควรบ่ายหน้าสู่ไทเปในทันที เนื่องจากการจัดหาอาวุธป้อนแก่ไต้หวันจะทำได้ยากลำบากอย่างมาก หากว่าจีนเปิดฉากโจมตีทางทหารเล่นงานเกาะแห่งนี้ "โดยไม่คำนึงถึงแหล่งอาวุธ ทั้งไต้หวันและยูเครนต่างต้องการมัน แต่อาวุธควรถูกส่งไปให้ไต้หวันก่อน" ฮอว์ลีย์เขียน พร้อมแนะนำให้ "เยอรมนีและพันธมิตรอื่นๆ ในนาโต้หันมามุ่งเน้นจัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครนแทน"
ไต้หวันปกครองตนเองมาตั้งแต่กองกำลังชาตินิยมที่นำโดย เจียง ไคเช็ก หลบหนีไปยังเกาะแห่งนี้ในปี 1949 หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองต่อคอมมิวนิสต์ จุดยืนอย่างเป็นทางการของปักกิ่งคือมุ่งมั่นที่จะรวมชาติเกาะแห่งนี้เข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสันติ แต่ขณะเดียวกันก็สงวนไว้ซึ่งการใช้กำลังทหารหากมีความจำเป็น
สหรัฐฯ ยอมรับ แต่ไม่รับรองอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน แม้ยึดมั่นต่อนนโยบายจีนเดียวมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ขณะเดียวกัน วอชิงตันยังคงเดินหน้าขายอาวุธแก่ไทเป และประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดในหลายวาระหลายโอกาส ว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนเกาะแห่งนี้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับจีน
ในเดือนตุลาคม เจดี แวนซ์ ว่าที่วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน อ้างว่าไต้หวันมีความสำคัญกับสหรัฐฯ มากกว่ายูเครน โดยพาดพิงถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทเป ซึ่งเป็นตัวแทนของกำลังผลิตโลกถึง 2 ใน 3
ไม่นานหลังมีเสียงเรียกร้องจาก ฮอว์ลีย์ ทางสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.) ผ่านร่างกฎหมายใช้จ่ายด้านกลาโหมฉบับหนึ่ง ในนั้นรวมถึงเงินข่วยเหลือด้านการทหารแบบให้เปล่าสูงสุด 10,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับไต้หวัน และหาทางเร่งขายอาวุธให้แก่เกาะแห่งนี้ ก้าวย่างที่แน่นอนว่าจะก่อความขุ่นเคืองแก่ปักกิ่ง
ร่างกฎหมายงบประมาณด้านกลาโหมแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ซึ่งยังจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและลงนามโดยประธานาธิบดีไบเดน เพื่อเปลี่ยนเป็นกฎหมาย จะให้อำนาจมอบเงินช่วยเหลือแก่ไต้หวันแบบให้เปล่าสูงสุด 2,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตั้งแต่ปี 2023 ไปจนถึงปี 2027
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจไบเดน สำหรับมอบยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมจากคลังแสงของสหรัฐฯ แก่ไต้หวัน สูงสุด 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรืองานบริการอื่นๆ เช่น การฝึกฝนทางทหาร ขณะเดียวกัน มันยังบังคับรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหม "ให้ความสำคัญลำดับแรกและเร่งกระบวนการคำร้องขอต่างๆ จากไต้หวัน ภายใต้โครงการขายอาวุธให้ประเทศพันธมิตร (Foreign Military Sales program)
รัฐบาลไบเดนสัญญาว่าจะมอบเงินช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่ยูเครนไปแล้วราว 68,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และเมื่อช่วงต้นเดือน ได้ร้องขอสภาคองเกรสเห็นชอบเงินช่วยเหลืออีก 37,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนเดือนมกราคม
สำหรับ ฮอว์ลีย์ เป็น 1 ใน ส.ว.รีพับลิกัน ที่โหวตคัดค้านแพกเกจช่วยเหลือเคียฟ มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยโต้แย้งว่ามันเป็นการเพิกเฉยต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ในประเทศ ในนั้นรวมถึงความมั่นคงทางชายแดน "เปิดทางให้ยุโรปเป็นฝ่ายเอาเปรียบและปราศจากการตอบสอบใดๆ"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เอเอฟพี)