xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นระบุในยุทธศาสตร์ความมั่นคงฯ ฉบับใหม่ ว่าจีน "ท้าทาย" ต่อ "กฎระเบียบระหว่างประเทศ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น (ซ้าย) และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จับมือกันก่อนที่จะมีการพูดคุยที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 17 พ.ย.2565 (ภาพเกียวโด)
เกียวโดนิวส์ รายงาน (8 ธ.ค.) ว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะอธิบายความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนว่าเป็น "ความท้าทาย" ต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่หลายประเทศมีความคิดเหมือนกัน

แหล่งข่าวกล่าวเมื่อวันพุธว่า ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่จะแก้ไขร่วมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอีก 2 ฉบับในสัปดาห์หน้า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะอธิบายความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนว่าเป็น "ความท้าทาย" ต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่จะแก้ไขอาจเป็นการกล่าวหาปักกิ่ง แต่การใช้ถ้อยคำนั้นนุ่มนวลกว่า คำว่า "การคุกคาม" ซึ่งเป็นคำที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (แอลดีพี) บางคนสนับสนุนให้ใช้ เพื่อแสดงการรับรู้ถึงอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติซึ่งเป็นเอกสารรองของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ อาจอ้างถึงการยิงขีปนาวุธของจีนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น (EEZ) ในเดือนสิงหาคมว่าเป็น "ภัยคุกคาม" อย่างชัดเจน ตามแหล่งข่าว

เห็นได้ชัดว่าแผนดังกล่าวสะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการรักษาแรงผลักดันของการเจรจากับจีน หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้ว ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมประชุมสุดยอดกันครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี

สำหรับวิธีการแสดงออกของจีน ซึ่งได้เพิ่มกิจกรรมทางทหารในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างเข้มข้นนั้น พรรคแอลดีพี ได้เสนอเมื่อเดือนเมษายนว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ควรเรียกจีนว่าเป็น "ภัยคุกคาม" ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ

แต่โคเมอิโตะ พันธมิตรของพรรคแอลดีพี แสดงท่าทีไม่เต็มใจ เนื่องจากอาจมีผลกระทบด้านลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-จีน

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกในปี 2551 โตเกียวและปักกิ่งยืนยันว่าพวกเขาเป็น "หุ้นส่วนที่ร่วมมือกันและไม่เป็นภัยคุกคามต่อกัน" ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลคิชิดะ ไม่ใช้คำว่า "ภัยคุกคาม" แหล่งข่าวกล่าว

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นฉบับแรกถูกนำมาใช้ในปี 2556 โดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในขณะนั้น อธิบายว่าจีนเป็น "ปัญหาที่ประชาคมโลกกังวล"

สหรัฐอเมริกากล่าวในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมว่า จีนแสดง "ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุด"

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคาดว่าจะให้คำมั่นที่จะครอบครองความสามารถในการโจมตีฐานของข้าศึก หรือ "ความสามารถในการโจมตีตอบโต้" และอำนวยความสะดวกในการส่งออกยุทโธปกรณ์ป้องกันเมื่อญี่ปุ่นแก้ไข ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับล่าสุด และโครงการป้องกันระยะกลาง ตามแหล่งข่าว

เมื่อทั้งสองพบกันนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่กรุงเทพฯ คิชิดะ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเห็นพ้องกันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ "สร้างสรรค์และมั่นคง" ระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง

ในการประชุม คิชิดะแสดง "ความกังวลอย่างจริงจัง" เกี่ยวกับการที่จีนยิงขีปนาวุธใส่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นระหว่างการฝึกซ้อมทางทหารขนาดใหญ่ใกล้กับไต้หวันในเดือนสิงหาคม ตอบโต้การเดินทางเยือนไต้หวัน เกาะประชาธิปไตยที่ปกครองตนเอง โดยแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา

ทังนี้ จีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป และจีนจะทำทุกอย่างเพื่อรวมเป็นหนึ่งกับแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง รวมทั้งการใช้กำลังทหารหากจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น