xs
xsm
sm
md
lg

อสัญกรรมแล้ว! ‘เจียง เจ๋อหมิน’ อดีตประธานาธิบดีผู้นำพาจีนก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ภายหลัง‘เหตุปราบปรามเทียนอันเหมิน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำพาประเทศจีนให้หลุดพ้นจากการถูกฝ่ายตะวันตกโดดเดี่ยวภายหลังทหารเข้าปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ซึ่งนำไปสู่ทศวรรษแห่งการเติบโตขยายตัวอย่างระเบิดเถิดเทิง ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวันพุธ (30 พ.ย.) สิริอายุ 96 ปี

เจียง เสียชีวิตด้วยโรคลิวคีเมีย (มะเร็งในเลือด) และอวัยวะหลายๆ อย่างล้มเหลวไม่ทำงาน ขณะพำนักอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของที่นั่น สถานีโทรทัศน์ของรัฐและสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงาน

เจียง ซึ่งได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เวลานั้นแตกแยกกันมากภายหลังความปั่นป่วนผันผวนในปี 1989 ได้นำพาจีนผ่านการเปลี่ยนแปลงชนิดสร้างประวัติศาสตร์หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่า การรื้อฟื้นรักษาการปฏิรูปต่างๆ ในแนวทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงอยู่กับตลาด, การรับมอบฮ่องกงคืนมาจากการปกครองของอังกฤษในปี 1997, และการที่ปักกิ่งได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001

แต่ถึงแม้ จีน เปิดกว้างต่อโลกภายนอก รัฐบาลของเจียงก็ดำเนินการปราบปรามพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการอย่างดุเดือด โดยได้จำคุกพวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน, นักเรียกร้องสิทธิแรงงาน, และพวกสนับสนุนประชาธิปไตย, รวมทั้งสั่งแบนขบวนการฝ่าหลุนกง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางลัทธิศาสนาซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการกุมอำนาจของตน

เจียง ออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการตำแหน่งสุดท้ายของเขาในปี 2004 แต่ก็ยังคงเป็นพลังหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังฉากในการโต้แย้งถกเถียง ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การก้าวผงาดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คนปัจจุบัน ผู้เข้ากุมอำนาจเป็นผู้นำสูงสุดตั้งแต่ปี 2012

ทั้งนี้ ฝ่ายตะวันตกมองกันว่า สี เข้าควบคุมด้านการเมืองอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น, บดขยี้พวกผู้ไม่เห็นด้วยกับทางการที่แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว, และผลักดันให้อุตสาหกรรมภาครัฐกลับมามีฐานะครอบงำอย่างมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง

มีข่าวลือว่า เจียง น่าจะมีสุขภาพที่ย่ำแย่ แพร่สะพัดออกมาหลังจากที่เขาหายหน้าหายตาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยที่ในวาระดังกล่าว สี ซึ่งกลายเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจมากที่สุดในแดนมังกรอย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ได้แหวกประเพณีโดยยังคงนั่งในตำแหน่งผู้นำพรรคต่อไปอีก 5 ปีเป็นวาระที่ 3

เจียง นั้นเมื่อปี 1989 ทำท่าว่าจะเกษียณอายุเพียงแค่ในตำแหน่งผู้นำพรรคของเซี่ยงไฮ้ เท่านั้น ตอนที่ได้รับได้เลือกจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น ให้ทำหน้าที่ดำเนินการสมัครสมานพรรคและประเทศชาติ เขารับตำแหน่งต่อจาก เจ้า จื่อหยาง ผู้ซึ่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยฝีมือของ เติ้ง สืบเนื่องจากการที่เขาแสดงความเห็นอกเห็นใจพวกผู้ประท้วงที่นำโดยนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอันเหมินตอนนั้น โดยที่ เจ้า ถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ในบ้านพักนับแต่นั้น จวบจนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2005

ในเวลา 13 ปีที่นั่งตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งทรงอำนาจที่สุดของจีน เจียงนำพาประเทศให้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการต้อนรับพวกนายทุนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค และชักชวนนำเอาการลงทุนต่างประเทศเข้ามาภายหลังจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO จากนั้นมาจีนก็ก้าวแซงเยอรมนี และต่อมาก็ ญี่ปุ่น อีก จนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯเท่านั้น

เจียง ได้หน้าได้ตาในทางการเมืองระดับอินเตอร์เป็นอย่างมาก เมื่อ ปักกิ่ง ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 หลังประสบความล้มเหลวในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพก่อนหน้านั้น

โดยภูมิหลังทางการศึกษา เจียงจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยที่ในปัจจุบันคือ เซี่ยงไฮ้ เจียวทง หนึ่งในสถาบันการศึกษาชื่อดังของจีนเวลานี้ ตั้งแต่ก่อนหน้าการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ขณะยังเล่าเรียนอยู่ ซึ่งก็หมายถึงในตอนที่พรรคยังเคลื่อนไหวแบบใต้ดิน เขายังเคยอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานสบู่แห่หนึ่งด้วย

เจียง ปิดท้ายอาชีพทางการเมืองของเขา ด้วยการสืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นระเบียบครั้งแรกในยุคคอมมิวนิสต์ครองเมือง ด้วยการส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคของเขาให้แก่ หู จิ่นเทา ในปี 2002
แล้วหลังจากนั้น หู ก็ได้เป็นประธานาธิบดีสืบแทนเขาอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาจีน เปิดการประชุมใหญ่ในปีรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี เจียง พยายามยื้อเพื่อให้ตนเองมีอำนาจอิทธิพลต่อไป โดยยังคงนั่งในเก้าอี้ประธานคณะกรรมการทหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมฝ่ายหทารของพรรค นั่นก็คือ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่มีกำลังพล 2 ล้านคน เขายอมออกจากตำแหน่งนี้ไปในปี 2004 ภายหลังมีเสียงร้องเรียนกระหึ่มว่าเขาอาจสร้างความแตกแยกขึ้นในคณะรัฐบาล

กระทั่งหลังเขาออกจากตำแหน่งไปแล้ว เจียงก็ยังมีอิทธิพลเหนือการเลือกเลื่อนตำแหน่งต่างๆ โดยผ่านเครือข่ายของพวกที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเขา

เป็นที่กล่าวขานกันว่า เขารู้สึกหงุดหงิดผิดหวังที่ เติ้ง ได้เลือก หู ให้เป็นผู้นำคนถัดไป ซึ่งเป็นการสกัดไม่ให้เจียง สามารถแต่งแต่งทายาทของตนเอง
 
กระนั้น เจียง ก็ถูกมองว่าประสบความสำเร็จในการเลื่อนพวกพันธมิตรของเขาให้เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคซึ่งมีกันทั้งสิ้น 7 คน ตอนที่ สี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในปี 2012
(ที่มา: เอพี, เอเจนซีส์)

(ที่มา: เอพี, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น