คำประกาศจากสำนักพระราชวังบักกิ้งแฮมว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะไม่เสด็จเข้าร่วมประชุมนานาชาติเรื่องโลกร้อน (COP 27) ที่ประเทศอียิปต์ (ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้) ทำให้เกิดวิวาทะในกลุ่มปัญญาชน, กลุ่มนักประชาสังคม รวมทั้งนักการเมือง ที่มีอาการผิดหวังในคำประกาศนี้ เพราะ COP 27 จะเป็นการประชุมสำคัญยิ่งที่จะต้องมีการโหมรณรงค์ให้ทั่วโลกต้องรีบเร่ง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โลกของเราดิ่งเข้าสู่สภาวะที่กำลังจะเลยขีดที่เราจะอยู่กันอย่างปกติสุขไม่ได้อีกต่อไป
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งได้รับการถวายพระนามโดยกลุ่มปัญญาชน และผู้ตระหนักถึงอาการสาหัสของโลกร้อนขณะนี้ให้ท่านเป็น The Green King และจะทรงมีบทบาทสำคัญ รวมทั้งแรงบันดาลใจเพื่อกระตุ้นให้เหล่าผู้นำโลกได้รีบเร่งเพื่อมีส่วนร่วมอย่างจริงใจต่อการสกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้รวนไปกว่านี้
โดยมีบทความใน The Sunday Times ของอังกฤษ ที่เปิดเผยว่า พระเจ้าชาร์ลส์ถูกสั่งหรือขอร้องโดยนายกฯ ลิซ ทรัสส์ ไม่ให้พระองค์เสด็จเข้าร่วมประชุม
ทั้งๆ ที่เป็นการประชุมที่จัดโดยสหประชาชาติ และถือว่าเป็นองค์กรกลางของโลกที่ได้จัดประชุมมาแล้วถึง 26 ครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักให้โลกได้รู้ถึงอันตรายใหญ่หลวงของมนุษยชาติที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติหายนะในอนาคตอันใกล้นี้-และขณะนี้โลกก็ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนจากน้ำท่วมรุนแรง, พายุลูกยักษ์ที่มีความเร็วของลมสูงมากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ รวมทั้งฝนที่ตกด้วยปริมาณมากผิดปกติ เพราะมีระดับน้ำในมหาสมุทรได้เพิ่มขึ้น (จากการละลายของหิมะที่ขั้วโลก)...ซึ่งไม่ว่าจะที่ปากีสถาน, จีน, บังกลาเทศ และในแอฟริกา รวมทั้งเกาะแก่งสวยงาม ไม่ว่าจะมัลดีฟส์หรือเกาะในทะเลจีนใต้ ที่กำลังจะจมน้ำ...สึนามิที่กำลังกลืนกินชายฝั่งของญี่ปุ่น...ขณะเดียวกัน ก็เกิดความแห้งแล้งผิดปกติที่ฝนไม่ตกเลยสักเม็ดเดียวเป็นเวลาเกิน 1 ปี ทั้งในแอฟริกา และอีกหลายจุดที่เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ออสเตรเลีย และหลายจุดในยุโรปและจีน ทำให้ผลผลิตทางเกษตรเสียหาย ผู้คนและปศุสัตว์ต้องล้มตายมากขึ้นทุกที ในรายงานของ The Sunday Times ได้อ้างถึงผู้ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ที่บอกว่า นายกฯ ลิซ ทรัสส์ ได้ทูลคัดค้านการที่พระเจ้าชาร์ลส์จะมีพระประสงค์จะไปกล่าวสุนทรพจน์แก่ที่ประชุม COP 27 ครั้งนี้...และทำให้พระองค์ต้องทรงทำตามคำแนะนำของท่านนายกฯ อย่างที่ไม่ต้องพระประสงค์นัก
ทั้งนี้ จะเป็นการเสด็จออกต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ ซึ่งจะมีน้ำหนักมากในการรณรงค์ของยูเอ็น และโดยเฉพาะกับประเทศเจ้าภาพผู้จัดที่จะประสบผลสำเร็จในการจัดการประชุม...ยิ่งพระองค์ได้ทรงเดินทางไปประเทศอียิปต์ด้วยซ้ำเมื่อปลายปีที่แล้ว และได้พบกับท่านปธน.อัล-ซีซี เพื่อสนับสนุนให้อียิปต์ประสบผลสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัด COP 27 ในปีนี้
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ (ขณะเป็นมกุฎราชกุมาร) ก็ได้มีสุนทรพจน์สำคัญเปิดการประชุม COP 26 จัดที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ...โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธได้ทรงประทานสุนทรพจน์ด้วยในการเปิดงานผ่านวิดีโอลิงก์...เพื่อผลักดันให้ผู้นำโลกที่เข้าร่วม และรวมทั้งประชากรทั่วโลกได้ตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกันสู้กับโลกรวนก่อนที่จะสายเกินไป...
นั่นเป็นปีที่แล้ว ในรัฐบาลของนายกฯ บอริส จอห์นสัน...ก่อนเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน
ซึ่งในช่วงปี 2020-2021 นั้น โลกได้หยุดกิจการมากมายที่พ่นแต่ก๊าซคาร์บอน และก๊าซมีเทนออกมา เพราะเป็นช่วงล็อกดาวน์จากโรคโควิด...และโลกได้สัมผัสกับการลดลงอย่างมากของก๊าซโลกร้อนจนสร้างกำลังใจว่า ถ้าเราร่วมมือร่วมใจทุ่มเทกันอย่างจริงจัง เราก็ยังพอหยุดยั้งโลกรวนได้ระดับ/หนึ่ง
แต่หลังการพบวัคซีน (ปลาย 2020) และยารักษาโรค (ปลาย 2021) ก็เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ “เที่ยวแก้แค้น” ในการเดินทางทั้งบก, เรือ, อากาศ รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่กลับมาค้าขายอย่างรวดเร็ว จนปริมาณก๊าซคาร์บอนและมีเทนกลับมาล้อมโลกในระดับสูงเท่ากับก่อนโควิด และตามมาด้วยภัยพิบัติรุนแรงในหลายจุดของโลก รวมทั้งประเทศไทย
ฝ่ายโฆษกของรัฐบาลอังกฤษร้อนตัวต้องรีบออกมาแถลงว่า การที่พระองค์จะไม่เสด็จไปเปิดการประชุม COP 27 นี้ เป็นความเห็นที่ตรงกันระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์และทางรัฐบาล โดยรัฐบาลมิได้กดดันพระองค์; ตามมาด้วยคำอธิบายจากสำนักพระราชวังต่อคำถามของบีบีซีในเรื่องนี้ว่า ไม่มีกรณีที่พระองค์รู้สึก “uncomfortable” และพระองค์ทรงตระหนักอยู่เสมอในบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำถวายจากรัฐบาล “He was ever mindful of the Sovereign’s Role to act on the Government Advice”
ก็แปลกที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็มีการเปลี่ยนนโยบายหรือความหนักเบาต่อบทบาทพระมหากษัตริย์ด้วย...เพราะ Soft Power ของพระเจ้าชาร์ลส์ก็คือ ทรงรณรงค์จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ที่ทรงห่วงใยโลกที่กำลังรวนสุดขีด จากการกระทำของพวกเราชาวมนุษยโลกนั่นเอง และทรงต่อต้านอาหารจีเอ็มโออย่างแข็งขันด้วย...และสิ่งนี้น่าจะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออดีตจักรวรรดิอังกฤษที่มีภาพลักษณ์ดีห่วงใยโลกในปัจจุบัน
หรือจะเป็นที่รัฐบาลอังกฤษต้องการเล่นบทเด่นกว่าพระมหากษัตริย์ ในบทบาทที่รัฐบาลจะเป็นคนจัดการมากกว่าจะให้เครดิตตกไปที่พระมหากษัตริย์
แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังหน้ามืดจากวิกฤตพลังงานคาร์บอน, อาหารคน, อาหารสัตว์, อาหารพืช (ปุ๋ย) ที่ราคาสูงมากในตลาดโลก หลังรัสเซียบุกยูเครน และทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษได้มีการคว่ำบาตรสินค้าจากรัสเซียมากมาย...ทำให้รัฐบาลของลิซ ทรัสส์ ตกลงเปิดประตูให้มีการเดินหน้าสำรวจและขุดเจาะพลังงานฟอสซิลจาก Fracking Oil หลังจากมีกฎเข้มมาตลอด รวมทั้งหันกลับมาใช้ถ่านหินเพื่อสู้กับราคาน้ำมัน และแอลเอ็นจีที่แพงมากมาย
และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษจะไม่เล่นบทสำคัญต่อการสู้โลกร้อน เหมือนดังสัญญาที่แข่งกับประเทศมหาอำนาจในเรื่องการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
จึงไม่ควรให้พระเจ้าชาร์ลส์ไปเล่นบทสำคัญสู้โลกร้อนในปีนี้ด้วยนั่นเอง