xs
xsm
sm
md
lg

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ “Global Britain”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ช่วงเปิดฉากสัปดาห์นี้...ไปว่ากันถึงเรื่องอดีตอาณานิคมของพวกผู้ดีอังกฤษมานานนับ 2 ศตวรรษ อย่างคุณปู่อินตะระเดียที่สามารถผงาดขึ้นมาแซงซ้าย แซงขวา เบียดอดีตจ้าวอาณานิคมของตนเองชนิดตกคู ตกคลอง หล่นจากประเทศเศรษฐกิจอันดับ 5 ลงมาอยู่ที่อันดับ 6 กันเห็นๆ ด้วยเหตุนี้...ช่วงปิดท้ายสัปดาห์คงต้องขออนุญาตแวะไปดูประเทศของพวกผู้ดีเขาไว้สักหน่อย โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่วันมานี้ ยังต้องประสบ “ความสูญเสียครั้งใหญ่” อย่างที่พอทราบๆ กันไปแล้ว นั่นก็คือการเสด็จสวรรคตของประมุขประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่นำความโศกเศร้า เสียใจ มาสู่ผู้คนแทบทั้งโลก...

แม้แต่ผู้นำประเทศเสาหลักอียู อย่างฝรั่งเศส ที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “นางลิซ ทรัสส์” ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะถือเป็น “มิตร” หรือเป็น “ศัตรู” กันดี แต่สำหรับประธานาธิบดีฝรั่งเศส อย่าง “มาครง คนหนุ่ม” หรือ “เอ็มมานูเอล มาครง” แล้ว ในสาส์นแสดงความอำลา-อาลัยต่อควีนเอลิซาเบธนั้น ต้องเรียกว่า “กลั่น” ออกมาหัวจิต-หัวใจ แสดงออกถึงความจริงจัง-จริงใจต่อบทบาทของพระราชินีอังกฤษพระองค์นี้อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ไม่ว่าด้วยการถวายถ้อยคำสรรเสริญถึง “ความอบอุ่น-จริงใจ-และความเป็นหุ้นส่วนที่ซื่อสัตย์” อันเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศฝรั่งเศส เคยมีโอกาสได้รับรู้ สัมผัส จากบทบาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขณะพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ หรือแม้แต่ผู้นำประเทศที่ต้องกลายเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ ชนิดนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ คิดจะถล่มด้วยบ้องข้าวหลามยักษ์ ด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ถ้าหากมีความจำเป็น อย่างประธานาธิบดีรัสเซีย “นายวลาดิมีร์ ปูติน” ก็ยังอดไม่ได้ที่จะ “กรอง” ความรู้สึกอำลา-อาลัยถึงการจากไปของพระราชินีอังกฤษ ออกมาจากความรู้สึกของตัวเองว่า “ด้วยความ...เศร้า-เสียใจอย่างสุดแสนจะลึกซึ้ง” ไม่ได้คิดแสดงอาการเคืองแค้น ขุ่นใจใดๆเอาเลยแม้แต่นิด...

อาจเป็นเพราะด้วยบทบาทไปจนถึงบุคลิก ท่าที ของประมุขราชอาณาจักรอังกฤษพระองค์นี้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นไปดังที่ “นายGideon Rachman” หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ “The Financial Times” เขาสรุปไว้ในข้อเขียน บทความ ช่วงวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมานั่นแหละว่า... “Elizabeth 2 was Global Britain personified” หรือด้วยบทบาท-บุคลิกภาพของพระราชินีพระองค์นี้ ถือเป็นภาพสะท้อนความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “Global Britain” ได้เป็นอย่างดีและชัดเจนเสียยิ่งกว่าวาทะ โวหาร ที่บรรดานายกรัฐมนตรีอังกฤษแต่ละราย พยายามให้ “คำจำกัดความ” เอาไว้นับตั้งแต่ “นางเทเรซา เมย์” (Theresa May) ที่ได้หยิบยกถ้อยคำคำนี้ มาอธิบายถึงทางออก-ทางไปของประเทศอังกฤษหลังจากได้ตัดสินใจ “Brexit” หรือได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอียู ต่อบรรดาสมาชิกพรรครัฐบาลเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2016 นั่นเอง...

คือในช่วงที่ “นางเทเรซา เมย์” ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ คำว่า “Global Britain” ที่ว่านี้แม้จะฟังดูหะรูหะราเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นแค่วาทะ โวหาร เพื่อให้ดูดี ดูไม่น่าเกลียด น่ากลัว ไปตามเรื่อง ตามราว และผู้ที่ทำให้ถ้อยคำที่ว่านี้ชัดขึ้น แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้นไปจากอดีต “นายกฯ หัวกระเซิง” ของอังกฤษ คือ “นายบอริส จอห์นสัน” นั่นเอง ที่ไม่เพียงแต่นำเอาถ้อยคำที่ว่านี้ไปบอกเล่า เก้าสิบ ในเวทีประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศที่เยอรมนี หรือ “The Munich Security Conference” ว่าด้วยการถอนตัวออกจากอียูแล้วหันไปวางเข็มมุ่งสู่ความเป็น “Global Britain” นั้น ทำให้ประเทศอังกฤษสามารถฟื้นฟู ควบคุมอำนาจอธิปไตย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ โดยปราศจาก “ข้อจำกัด” เหมือนครั้งเมื่ออยู่ในฐานะหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรปอีกต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะนำไปสู่จุดไหนต่อจุดไหน อดีตทูตอังกฤษประจำอเมริกาและอดีตทูตถาวรอังกฤษประจำสหประชาชาติ อย่าง “นางคาเรน เพียร์ซ” (Dame Karen Pierce) ก็ได้เคยอธิบายความเอาไว้แล้วโดยชัดเจน นั่นก็คือ... “หมายถึงการสร้างความร่วมมืออย่างไม่มีขีดจำกัดระหว่างอังกฤษกับอเมริกา อย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดในโลกนี้เคยทำมาก่อน เพื่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยแบบสังคมเปิด และความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แข็งแกร่งที่สุด อันจะทำให้โลกทั้งโลกปลอดภัยเพราะความร่วมมือของเราทั้งสอง” หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ...การหันไปซบอก ซบตีน การยินยอม พร้อมใจ รับบทเป็น “สุนัขพูเดิล” ของ “ประมุขโลก” อย่างคุณพ่ออเมริกานั่นเอง!!! ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้...

ส่วนนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่อย่าง “นางลิซ ทรัสส์” ที่คงไม่ได้ต่างอะไรไปจาก “เด็กในคาถา” ของนายกฯ หัวกระเซิงมาตั้งแต่แรก หรือเคยถูกจับมาวางเอาไว้ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในคณะรัฐบาล “นายบอริส จอห์นสัน” ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เธอต้องเพียรพยายามไต่เต้ามาตั้งแต่งานด้านเด็ก ด้านการศึกษา ด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ได้เชี่ยวชำนาญไม่ได้มีประสบการณ์ในด้านการต่างประเทศเอาเลยแม้แต่น้อย ถึงกับเคย “พืดผิด-พืดถืก” ขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าวคือหยิบเอาเรื่องการหาทางสนับสนุนกลุ่มประเทศ “บอลติก” ผ่านทาง “ทะเลดำ” จนโฆษกสาวกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย “นางมาเรีย ซาคาโรวา” (Maria Zakharova) อดรนทนไม่ไหว ต้องหันมาติววิชาภูมิศาสตร์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวประมาณว่าบรรดาประเทศบอลติกนั้นอยู่ติดกับทะเลบอลติก ซึ่งอยู่ห่างไปจากทะเลดำถึง 700 ไมล์โน่นเลย หรือออกไปทางคนละเรื่อง คนละม้วน คนละเรื่องเดียวกันอย่างเห็นได้โดยชัดเจน...

ด้วยความที่ไม่ได้รู้เรื่อง รู้ราว รู้หมู่-รู้จ่า แต่พร้อมจะหนักไปทาง “ลิเบอร่าน” หรือพร้อมออกอาการ “เสรีนิยมสุดขั้ว” มาตั้งแต่แรก เรียกว่า...นับตั้งแต่เธอยังเป็นนักศึกษาออกซฟอร์ด ก็เคยประกาศ “ล้มเจ้า” หนักซะยิ่งกว่าพวกแดง พวกส้ม บ้านเราเอาเลยก็ว่าได้ ภายใต้การไต่เต้า เคล้าแข้ง-เคล้าขาใครต่อใครมาเป็นขั้นๆ ชนิดถึงกับทำให้อดีตที่ปรึกษาการเมืองของเธอต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกเมียฟ้องหย่าหาว่ามีอะไรต่อมิอะไรกับเธอเอาเลยถึงขั้นนั้น ดังนั้น...เธอคงหนีไม่พ้นต้องเดินตามแนวทาง แนวนโยบาย หรือตามแนวคิดยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า “Global Britain” อย่างมิคิดหลีกเลี่ยงไปเป็นอื่น...

แต่แน่ล่ะว่า...ย่อมต้องเป็น “Global Britain” ที่มีนิยามความหมายผิดแผก แตกต่างไปจาก “Global Britain” ของ “นายGideon Rachman” แบบคนละเรื่อง คนละม้วน เพราะ “Global Britain” ตามคำจำกัดความของหัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศ “The Financial Times” ซึ่งถูกนำมาอรรถาธิบายถึงบุคลิกภาพพระราชินีอังกฤษ อย่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 นั้น หมายถึงความ “เข้าถึง-เข้าใจ” อย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจนต่อ “กระแสความเปลี่ยนแปลง” ของโลก หลังจากที่ประเทศอังกฤษได้หมดสภาพความเป็นจักรวรรดินิยม หรือจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินอย่างมิอาจหวนกลับคืนได้อีก เพราะด้วยการแสดงออกถึงการประนีประนอมโดยไม่คิดแก้แค้น-เอาคืน (reconciliation not revanchism) ของพระราชินีพระองค์นี้ นับแต่จักรวรรดิอังกฤษหมดสภาพลงไป จนกระทั่งถึงยุคโลกาภิวัตน์ จึงทำให้ประเทศอังกฤษยังคงดำรงรักษา ความเป็น “กลุ่มประเทศเครือจักรภพ” ที่อยู่ใต้ร่มเงาพระบารมีพระราชินีร่วมกับอีก 56 ประเทศมาโดยตลอด ภาพของควีนเอลิซาเบธ ที่ทรงเต้นรำกับอดีตประธานาธิบดีกานา “นายKwame Nkrumah” ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “นักต่อต้านอาณานิคม” ตัวฉกาจ ขณะเดินทางไปเยือนประเทศนั้นเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1961 ก็คือภาพสะท้อนความหมายของคำว่า “Global Britain” ในลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือความพร้อมที่จะประนีประนอม พร้อมอยู่ร่วมกับโลกโดยสันติ ไม่ใช่การคิดจะครองโลก หรือยอมทอดตัวรับใช้ประมุขโลก แบบที่ “นายบอริส จอห์นสัน” หรือ “นางลิซ ทรัสส์” พยายามเดินไปในแนวนั้น...

เพราะอย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย “นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ” ได้เอ่ยถึงบุคลิก ท่าที ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่เอาไว้อย่างชัดเจนว่า... “เธอไม่มีความประนีประนอมในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเธอเอง ไม่เคยคำนึงถึงจุดยืนของอีกฝ่ายเพื่อแสวงหาวิธีในการอยู่ร่วมกันโดยสันติ” ดังนั้น...ประเทศอังกฤษภายใต้การนำของ “นางลิซ ทรัสส์” ที่ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นเอง จึงอาจเข้ารก-เข้าพง เข้าป่า-เข้าถ้ำ เพราะความไม่เข้าถึง-เข้าใจ ต่อความหมายที่แท้จริง หรือที่ควรจะเป็น ของคำว่า “Global Britain” ดังที่ควีนเอลิซาเบธได้แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างไว้แล้วก่อนหน้านี้...


กำลังโหลดความคิดเห็น