xs
xsm
sm
md
lg

ขานรับกระแสโลก Net Zero ปตท.พร้อมเดินหน้าร่วมพลังสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ เวลานี้มีผู้คนกล่าวถึงคำว่า Net Zero ไปทั่วโลก และนับวันคำคำนี้มีแต่จะดังและเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการขานรับของประเทศต่างๆ ซึ่งต้องการเห็นโลกที่เราอาศัยอยู่ได้รับการดูแลให้ดีกว่าเดิมก่อนจะสายเกินไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคน ว่าแต่ว่า Net Zero มันคืออะไรกันนะ เราไปทำความรู้จักกันเลยดีกว่า

ภาพจาก Pixabay.com
ต้องยอมรับว่าผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งผลกระทบทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เปิดเผยข้อมูลรายงาน IPCC Climate Change 2021: The Physical Science Basis พบว่าในช่วงระหว่างปี 2011-2020 อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นกว่า 1.09 องศาเซลเซียส เทียบจากช่วงระหว่างปี 1850-1900 และในปี 2019 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น การละลายของแผ่นน้ำแข็งทั่วโลก และการขยายตัวของมหาสมุทรจากพลังความร้อนที่สะสม โดย IPCC คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 2 เมตรในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150

จากผลกระทบที่เริ่มส่งผลให้เห็นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ประชาคมโลกจึงเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น ขณะที่หลายๆ ประเทศก็เริ่มขานรับแนวทางรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คำว่า Net Zero กลายเป็นหมุดหมายร่วมกันของมนุษยชาติทั่วโลก

Net Zero หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emissions หมายถึง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับคืนมา หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งความสมดุลนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า เทคโนโลยีดักจับ/กักเก็บคาร์บอน เป็นต้น โดยในสภาวะสมดุลนี้จะไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และถ้าทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Greenhouse Gas Emissions ได้ ก็หมายความว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ลดภาวะโลกร้อนนั่นเอง

ภาพจาก Pixabay.com
ขณะที่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) หมายถึง ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา ผ่านการปลูกป่า หรือซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่ง Net Zero กับความเป็นกลางทางคาร์บอนอาจจะฟังดูคล้ายๆ กัน แต่ทว่า Net Zero จะมีมิติที่กว้างกว่าแค่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คือ ครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และมักใช้เป็นเป้าหมายในระดับองค์กรและระดับประเทศ

ดังนั้นแล้ว เราจึงได้เห็นหลายๆ ประเทศทั่วโลกซึ่งตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโลก ได้มีการตั้งเป้าที่จะไปให้ถึง Net Zero ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษที่แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยมีแผนที่จะยุติการผลิต-จำหน่าย และนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะเริ่มต้นจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30-40% ภายในปี 2030

ภาพจาก Pixabay.com
มาดูฝั่งเอเชีย ประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก โดยจะเริ่มลดการใช้ถ่านหินในปี 2026 ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ร่วมประกาศจุดยืนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานจากถ่านหินลง แล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

แน่นอนว่า ในส่วนของประเทศไทยเราเอง รัฐบาลก็พร้อมร่วมมือกับประชาคมโลกในการรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2065

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอีกมากมายของไทยที่พร้อมขานรับและให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศและองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยหนึ่งในองค์กรที่แสดงจุดยืนและกลยุทธ์ที่ชัดเจนก็คือ กลุ่มบริษัท ปตท. ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านพลังงานระดับแถวหน้าของเมืองไทย


โดยกลุ่ม ปตท.ได้มีการปรับแผนธุรกิจและวิสัยทัศน์ รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ตามที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจอย่าง “Net Zero 3P” ประกอบด้วย

1. Pursuit of Lower Emissions

เป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนของ ปตท.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมาย “Clean Growth” ขององค์กร โดยกลุ่ม ปตท.มีหลายโครงการที่พร้อมจะขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น โครงการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารที่มีประโยชน์ เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต เมทานอล หรือนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต, การใช้พลังงานทดแทน, การใช้พลังงานไฮโดรเจน, โครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน, และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต

2. Portfolio Transformation

คีย์เวิร์ดสำคัญของกลยุทธ์ที่ 2 นี้ อยู่ที่วิสัยทัศน์ของกลุ่ม ปตท.ที่ว่า “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต” ซึ่งให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจที่เป็น Future Energy ซึ่งไปไกลกว่าธุรกิจพลังงานรูปแบบเดิมๆ เช่น เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ระบบกักเก็บพลังงาน, แบตเตอรี่, EV Value Chain, ไฮโดรเจน ฯลฯ ซึ่ง Future Energy เหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ก้าวไปสู่ Net Zero ได้เร็วขึ้น


นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังมีการปรับแผนธุรกิจอีกหลายอย่าง เช่น ในปี 2030-2050 ตั้งเป้าจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 3 ประเภท คือ “ถ่านหิน” (ล่าสุดได้มีการขายออกไปแล้ว) น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็พร้อมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 12 กิกะวัตต์ภายในปี 2030

3. Partnership with Natural and Society

การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ด้วยการปลูกและบำรุงรักษาป่าร่วมกับภาครัฐและชุมชน โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้ปลูกป่าไปแล้ว 1 ล้านไร่ และกลุ่ม ปตท.มีแผนปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ โดยคาดว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี

สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่านี่คือแนวทางที่สอดประสานอย่างกลมกลืนกับเสียงของโลกที่ตื่นตัวเรื่อง Net Zero และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่ง ปตท.พร้อมร่วมเป็นพลังเคียงบ่าเคียงไหล่เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น