เขตสวนหลังบ้านของสหรัฐฯ ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในด้านการเมือง, ความมั่นคง, การทหาร, เศรษฐกิจและสังคม
แต่ขณะนี้ กำลังมีสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ผู้นำรุ่นใหม่กำลังเบ่งบาน นำสู่การเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะถูกกำกับโดยสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นที่ประเทศโคลอมเบีย ดินแดนที่ทั่วโลกรู้จักว่ามีผู้หญิงสวยระดับนางงามของโลกที่โด่งดัง และมีมรกตส่งออกจำนวนมาก หรือไม่ก็ยาเสพติดที่เป็นดินแดนผลิตและส่งออกจำนวนมากเข้าสหรัฐฯ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนขั้วทางการเมืองในระดับประธานาธิบดี จากปีกฝ่ายขวาที่ครองอำนาจสืบต่อกันมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากประเทศสเปน ถึงขนาดเคยผ่านเผด็จการ (หนุนหลังทางทหารและจากสหรัฐฯ) จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นประเทศบริวาร (ลูกไล่) ของสหรัฐฯ ในทุกกระเบียดนิ้ว
และผ่านการต่อสู้จากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลลูกไล่ของสหรัฐฯ ยาวนานถึง 50 ปี
การเลือกตั้งปธน.โคลอมเบีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้สหรัฐฯ ต้องคิดหนักถึงกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น หลังบ้านตนเอง ขณะที่สหรัฐฯ กำลังทุ่มสรรพกำลังไปสกัดกั้นการเติบโตของประเทศปรปักษ์ใหญ่คือ จีนในอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งพยายามบ่อนทำลายทั้งเศรษฐกิจและพลังทางทหารของรัสเซีย ด้วยการจัดให้รัสเซียเข้ามาติดกับดักในสงครามยูเครน
เพราะโคลอมเบียจะแนบแน่นกับสหรัฐฯ มากที่สุดในเหล่าประเทศละตินอเมริกาทีเดียว
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เริ่มจากผู้นำคนปัจจุบันของเม็กซิโก ซึ่งฝ่าวงล้อมของรัฐบาลขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ มาตลอด เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2018 หลังจากถูกโกงการเลือกตั้ง; ต้องแพ้มาถึง 3 ครั้ง
สำหรับเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลกในรอบ 100 ปีคือ โควิด-19 ได้ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลังบ้านสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ เองก็ถูกกระทบอย่างแรงในปี 2020
ซึ่งในการเลือกตั้งปธน.ของ 3 ประเทศในละตินที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 ได้แก่ เปรู, ชิลี และโคลอมเบีย ที่ผู้นำประเทศเป็นฝ่ายที่ท้าทายหรือต่อต้านรัฐบาลก่อนๆ...แต่กลับได้รับความนิยมจากประชาชน เพื่อนำสิ่งใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน
สำหรับโคลอมเบีย ประชาชนหันมาเทคะแนนให้กับอดีตนักรบจรยุทธ์ ที่สู้กับรัฐบาลขวาของโคลอมเบียด้วยกองกำลังนักรบในป่า
เขาคือ กุสตาโว เปโตร ที่ชนะอย่างขาดลอยกับคู่แข่งมหาเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โรโดลโฟ เฮอร์นันเดซ-ซัวเรส
ประวัติโชกโชนของกุสตาโว เปโตร สมัยเป็นนับรบจรยุทธ์ มีตั้งแต่ดักจับคนมีชื่อเสียงมาเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ เพื่อเอาเงินมาเลี้ยงกลุ่มนักรบติดอาวุธ รวมทั้งการบุกปล้นธนาคารและการขนส่งยาเสพติด เพื่อหารายได้มาใช้รบกับรัฐบาล
ช่วง 1980 กลุ่มจรยุทธ์ของเขาได้บุกยึดสถานทูตประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ที่เมืองโบโกตา (เมืองหลวงของโคลอมเบีย) ได้ยึดตัวประกันถึง 52 คนเพื่อเรียกค่าไถ่...มีทูตอยู่ด้วยถึง 15 คน
ปี 1985 กลุ่มจรยุทธ์ของเขาบุกกระทรวงยุติธรรม (เป็นพระราชวังเดิม) จับผู้พิพากษาศาลสูงเป็นตัวประกัน เพื่อให้ศาลดำเนินคดีกับปธน.ขณะนั้น...ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกองทัพเข้าบดขยี้ ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาได้พูดผ่านโทรศัพท์ ไม่ให้กองกำลังรัฐบาลบุกเข้าชิงตัวประกัน...ครั้งนั้นยิงสู้กันจนเกิดการล้มตายกว่า 100 คน
ในช่วง 1990 รัฐบาลที่โบโกตาได้ทำสัญญาสันติภาพ, หยุดยิงกับฝ่ายกบฏของกุสตาโว เปโตร และเขาก็หันมาวางอาวุธ...เปลี่ยนวิธีการต่อสู้มาเป็นการลงสมัครเป็น ส.ว.
กุสตาโวเล่าว่า เมื่อเขายังอายุน้อยๆ อยู่ เขาเริ่มสนใจปัญหาบ้านเมือง เมื่อพ่อของเขาซึ่งเป็นครูได้ร้องไห้น้ำตาไหล เมื่อทราบข่าวการถูกสังหารของคุณหมอ “เช” เกวารา หมอหนุ่มแห่งอาร์เจนตินา ที่อยู่เคียงข้างฟิเดล คาสโตร ในการปลดแอกคิวบาจากอาณานิคมของสหรัฐฯ...และต่อมาประกาศตนเป็นนักปฏิวัติอาชีพเพื่อช่วยปลดปล่อยคนยากจนในอเมริกาใต้ จนไปสร้างหน่วยจรยุทธ์เพื่อปลดแอกโบลิเวีย และถูกกองกำลังของซีไอเอปลิดชีวิตที่ป่าในโบลิเวียนั่นเอง
อีกครั้งที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกแนวทางจับอาวุธเพื่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ และปลดปล่อยผู้ยากไร้ก็คือ การทำรัฐประหารเลือดที่ประเทศชิลี เมื่อรมต.กลาโหมและ ผบ.ทบ.นายพลปิโนเชต์ล้อมทำเนียบของประธานาธิบดีชิลีที่มาจากการเลือกตั้งคือ คุณหมอซัลวาดอร์ อาเยนเด และปิโนเชต์ใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มทำเนียบ และส่งมือปืนโดดร่มจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสังหารปธน.อาเยนเด
หลังการทำสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลที่โบโกตาเขาได้เข้าสู่แนวทางการเลือกตั้ง จนเป็นสมาชิกวุฒิสภา และต่อมาได้รับเลือกตั้งล้นหลามให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา
แน่นอนที่เขาเคยถูกจับก่อนการทำสัญญาสันติภาพ และถูกทรมานในคุกอยู่หลายปี ก่อนที่จะออกมาสู้ด้วยการเลือกตั้ง
ชัยชนะในตำแหน่งปธน.ของกุสตาโว เปโตร ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ที่เขาลงสมัครและพ่ายแพ้มาถึง 2 ครั้ง แต่เขายังยืนหยัดสู้กับการโกงการเลือกตั้ง (เช่นเดียวกับ AMLO...ปธน.ของเม็กซิโกคนปัจจุบัน)
ขณะนี้กุสตาโว เปโตร มีอายุ 62 ปี และได้ชูประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ...เขาชูประเด็นราคาข้าวของแพงมหาโหดขณะนี้ และจะทำให้ทุกคนเรียนฟรีเพื่อพัฒนาตนเองและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งขึ้นภาษีคนรวย
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญอันหนึ่งคือ น้ำมันดิบที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง แล้วยังมีถ่านหิน, ทองคำ, กาแฟ, กล้วยหอม แต่เพราะประชาชนถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลแทบทุกสมัยที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนโคลอมเบียยากจนมากประเทศหนึ่ง
เขาจะกลับไปเปิดสัมพันธ์กับประเทศคิวบา, เวเนซุเอลา, โบลิเวีย ซึ่งน่าจะเปลี่ยนรูปโฉมความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยจะมีการเจรจาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
ยิ่งผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแนวทางต่อรองกับสหรัฐฯ มากขึ้น ไม่ว่าจะที่ชิลี, เปรู...และที่บราซิล (ซึ่งคะแนนนิยมของอดีตเด็กขัดรองเท้า Lula กำลังจะกลับมานำประเทศอีกครั้ง)
ภาพภูมิรัฐศาสตร์ของสวนหลังบ้านสหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนไป