xs
xsm
sm
md
lg

เคียฟไม่สนใจเส้นตายรัสเซียให้ซีวีโรโดเนตสก์ยอมแพ้ ขณะรัฐมนตรีกลาโหมตะวันตกถกแผนส่งอาวุธให้ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารยูเครนยิงปืนใหญ่อัตตาจร “ซีซาร์” ขนาด 155 ม.ม. ที่ได้รับจากฝรั่งเศส ไปยังที่มั่นของฝ่ายรัสเซีย จากพื้นที่แนวหน้าในภูมิภาคดอนบาส ในวันพุธ (15 มิ.ย.)
เคียฟไม่สนเส้นตายรัสเซียที่ประกาศให้ทหารยูเครนซึ่งซ่อนตัวอยู่ในโรงงานเคมีเมืองซีวีโรโดเนตสก์ ยอมจำนนภายในเช้าวันพุธ (15 มิ.ย.) ขณะที่พวกรัฐมนตรีกลาโหมขององค์การนาโตนัดพบกันที่บรัสเซลส์ เพื่อหารือเรื่องการส่งอาวุธหนักให้ยูเครนเพิ่ม

เมื่อวันอังคาร (14) รัสเซียยื่นคำขาดให้ทหารยูเครนที่กบดานอยู่ในโรงงานเคมี “อาซอต” ในเมืองซีวีโรโดเนตสก์ ยุติ “การต่อต้านอย่างไร้สติและวางอาวุธ” ตั้งแต่เช้าวันพุธ นอกจากนั้นฝ่ายมอสโกยังระบุจะเปิดเส้นทาง หรือที่เรียกว่า “ระเบียงเพื่อมนุษยธรรม” เพื่อลำเลียงพวกพลเรือนซึ่งยังอยู่ในโรงงานอันใหญ่โตแห่งนี้ออกมา อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ได้สะดุดลง โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียกล่าวหาว่า เป็นเพราะยูเครนระดมโจมตีด้วยปืนใหญ่

ยูเครนระบุว่า มีพลเรือนกว่า 500 คนติดอยู่ภายในโรงงาน “อาซอต” โดยที่กองกำลังยูเครนได้ใช้โรงงานใหญ่แห่งนี้เป็นที่มั่นในการต้านทานการถล่มทิ้งระเบิดและโจมตีอย่างหนักหน่วงของฝ่ายรัสเซียมาหลายสัปดาห์แล้ว

ทว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียในแคว้นลูฮันสก์ อ้างว่า มีพลเรือนอยู่ในโรงงานดังกล่าว 1,200 คน ซึ่งหากเมื่อรวมนักรบยูเครนและนักรบต่างชาติตัวเลขจะเพิ่มเป็น 2,000 คน ทั้งนี้ซีวีโรโดเนตสก์ เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นลูฮันสก์

ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า “กลุ่มติดอาวุธ” ยูเครนจงใจปล่อยให้พลเรือนเข้าไปในโรงงานอาซอตเพื่อใช้เป็นโล่มนุษย์

ทางด้าน โอเลคซานดร์ สตริอุก นายกเทศมนตรีเมืองซีวีโรโดเนตสก์ของฝ่ายกรุงเคียฟ กล่าวภายหลังเลยกำหนดเส้นตายของมอสโกว่า กองกำลังรัสเซียพยายามจู่โจมเข้าเมืองจากหลายทิศทาง แต่กองกำลังยูเครนยังคงป้องกันเมืองอย่างเหนียวแน่น และเมืองนี้ยังไม่ถูกตัดขาดการติดต่อกับโลกภายนอก

เขายังบอกว่า นักรบและพลเรือนในโรงงานอาซอตมีน้ำจากบ่อ เครื่องปั่นไฟ และเสบียงอาหารที่จัดเตรียมไว้

ด้านเซอร์ฮีย์ ไกได ผู้ว่าการแคว้นลูฮันสก์ของฝ่ายเคียฟเช่นกัน โพสต์ก่อนถึงเส้นตายของรัสเซียว่า กองทัพยูเครนยังคงปกป้องเมืองซีวีโรโดเนตสก์ แต่ยอมรับว่า กองทัพรัสเซียเคลื่อนใกล้เข้ามา และประชาชนกำลังลำบากมาก ขณะที่บ้านเรือนถูกทำลาย

เวลาเดียวกันหน่วยข่าวกรองของอังกฤษอ้างว่า นักรบในโรงงานอาซอตสามารถอยู่รอดได้ในชั้นใต้ดิน และกองทัพรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยังคงระดมโจมตีโรงงานแห่งนี้ต่อไป

การระดมทิ้งระเบิดโรงงานอาซอตตอกย้ำเหตุการณ์โจมตีโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลในเมืองมาริอูโปลที่มีนักรบและพลเรือนยูเครนหลบภัยอยู่นับร้อย แต่ที่สุดแล้วนักรบเหล่านั้นยอมจำนนเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาและถูกรัสเซียควบคุมตัวไว้

การโจมตีเมืองซีวีโรโดเนตสก์ที่เคยมีประชากรกว่า 100,000 คนก่อนสงคราม กำลังเป็นเป้าหมายหลักในเวลานี้ของรัสเซียในการสู้รบในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของยูเครน ทั้งนี้ดอนบาสประกอบด้วย 2 แคว้น คือ ลูฮันสก์ และโดเนตสก์

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เคียฟแถลงว่า กำลังสูญเสียทหารวันละ 100-200 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน จากการต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดนับจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ยูเครนประกาศเมื่อวันอังคาร (14) ว่า ยังคงพยายามอพยพพลเรือนออกจากซีวีโรโดเนตสก์ หลังจากรัสเซียทำลายสะพานแห่งสุดท้ายที่เชื่อมต่อเมืองนี้กับลิซีชานสก์ เมืองแฝดซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำกับซีวีโรโดเนตสก์

ขณะเดียวกันเคียฟยังเฝ้าเร่งเร้าให้พวกชาติพันธมิตรตะวันตกจัดส่งอาวุธหนักให้ โดยที่ประเทศเหล่านี้ให้สัญญาจัดส่งอาวุธมาตรฐานขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งรวมถึงจรวดหลายลำกล้องแบบล้ำสมัยของอเมริกา ทว่า การฝึกใช้อาวุธเหล่านี้ รวมทั้งการขนส่งและนำเข้ามาติดตั้งประจำการในกองทัพยูเครน ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา นอกจากนั้นยูเครนยังต้องรับการสนับสนุนจากตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ในการเปลี่ยนจากระบบอาวุธและกระสุนยุคโซเวียตที่ใกล้หมดสต็อกเป็นระบบอาวุธของตะวันตก

ในวันพุธ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เป็นผู้นำการประชุมนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นวาระคู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรีนาโตที่บรัสเซลส์ โดยที่ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมนานาชาติครั้งที่ 3 แล้วและตัวแทนจากเกือบ 50 ประเทศมาหารือและร่วมกันให้ความช่วยเหลือยูเครน

อีกด้านหนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ ก็มีการจัดการประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย ซึ่งรายงานระบุว่า ไม่มีตัวแทนระดับสูงจากตะวันตกเข้าร่วมด้วยเลย กระนั้น คาดว่า ทั่วโลกจะเฝ้ารอการปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในวันศุกร์ (17) ขณะที่สงครามยูเครนส่งผลให้ราคาธัญพืชแพงขึ้น และมาตรการแซงก์ชันรัสเซียดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสุดขีด

(ที่มา: รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น