xs
xsm
sm
md
lg

“งูเห่า” เขย่าขวัญฝ่ายค้าน บิ๊กตู่-10 รมต.ปึ้ก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล - จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา

มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการกำหนดวันอภิปรายในญัตติ “ซักฟอก” หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะเกิดขึ้นในราววันที่ 18-21 กรกฎาคม หรือใช้เวลาไม่เกิน 4 วัน

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวหลังถูกถามเรื่องการกำหนดวันอภิปรายได้หรือยัง ว่า รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์อะไรไว้ เพราะสภายังไม่ส่งญัตติมาให้พิจารณา แต่ไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องนี้

“ถ้าพูดถึงเดือนกรกฎาคม มันอัตโนมัติอยู่แล้วว่า สัปดาห์แรกรัฐบาลว่าง ไม่ติดภารกิจ พอสัปดาห์ต่อไป 13-15 กรกฎาคม ติดช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ก็ไปอีกสัปดาห์หนึ่ง วันที่ 18-20 กรกฎาคม ก็มีความเป็นไปได้ไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้”

เมื่อถามย้ำว่า กรอบเวลาที่เหมาะสม คือ 18-22 ก.ค. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ทั้งนั้น ไม่มีปัญหา ทำมาทุกปีอยู่แล้ว

สอดคล้องกับคำพูดของ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของญัตติ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง เพราะปกติในการลงนาม ส.ส. ต้องตรวจสอบดูก่อน ซึ่งตอนลงนามมีชื่อรัฐมนตรี 10 คน ที่ถูกอภิปราย ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นคำร้องไป อยู่ที่การตรวจสอบของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้ข้อยุติ โดยเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาหรือทำให้ญัตติถูกตีตกไป

ส่วนกรอบเวลาการอภิปราย เห็นว่า ช่วงวันที่ 18-20 กรกฎาคม และลงมติวันที่ 21 กรกฎาคมนั้นเหมาะสมแล้ว และเชื่อว่า ระยะเวลา 4 วัน น่าจะเพียงพอ เนื่องจากเห็นว่ารัฐมนตรีบางคนไม่มีประเด็นอะไรอภิปราย โดยเชื่อว่า หากฝ่ายค้านมีจริยธรรม ก็จะไม่นำเรื่องส่วนตัวมาอภิปรายในสภา

นายนิโรธ กล่าวด้วยว่า จากการดูญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เห็นว่า ไม่น่าจะใช่ครูบาอาจารย์เขียนญัตติ แต่การที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งทีมมาคุมการอภิปราย ขอชี้แจงว่า ไม่ได้ตั้งทีมมาเพื่อสกัดการอภิปรายของฝ่ายค้าน พร้อมทั้งปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวการโหวตของพรรคเศรษฐกิจไทย ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพรรคที่เป็นตัวแปรทางการเมืองในสภาขณะนี้ โดยเชื่อมั่นว่า พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเล็ก มีเสียงมั่นคงที่จะรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ได้ทุกคน จึงไม่ห่วงเรื่องเสียงโหวตในสภา เพราะญัตติเขียนมาว่าส่อทุจริต ซึ่งคำว่า “ส่อ” หมายถึงยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ไม่ขอตอบว่าจะมีเสียงฝ่ายค้านมาหนุน หรือขาดประชุม ไม่ร่วมโหวตหรือไม่

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ได้ตั้งทีม ส.ส.รับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ 11 คน ชื่อว่า “ทีมปราบมาร” เพื่อดำเนินการให้การอภิปรายเป็นไปตามญัตติ และข้อบังคับการประชุม

อย่างไรก็ดี ทบทวนรายชื่อรัฐมนตรีที่โดนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จำนวน 11 คน มีดังนี้

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข 4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง 10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และ 11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

การยื่นญัตติ “ซักฟอก” ของพรรคฝ่ายค้านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะครบวาระของสภา ขณะเดียวกัน เมื่อมีการยื่นญัตติเข้าสภาไปแล้ว ก็ถือว่า ในช่วงเวลานี้ไปจนถึงวันลงมติ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาได้ อาจมองได้ว่า เหมือนกับถูกจับ “ขึงพืด” อะไรประมาณนั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอาการของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงบรรดารัฐมนตรีทั้ง 10 คน ดูแล้วไม่มีอะไรทุกข์ร้อน เหมือนไม่ใช่อยู่ในภาวะวิกฤตแต่อย่างใด

แม้ว่ามีการประเมินว่า ด้วยเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาลอยู่ในภาวะ “ปริ่มน้ำ” เนื่องจากภาวะไม่แน่นอนจากบางพรรค เช่น พรรคเศรษฐกิจไทย ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีราวสิบกว่าเสียง รวมไปถึงพรรคเล็กบางพรรค ที่ยังมีท่าทีไม่ชัดเจน และกำลังอยู่ในช่วง “ต่อรอง” โดยอาจมีเรื่อง “กล้วย” เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมกำลังติดตาม แต่ถึงอย่างไรหากพิจารณากันตามหลักคณิตศาสตร์เท่าที่มีอยู่ หากตัดเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยออกไป และพรรคเล็กบางพรรคออกไปแล้ว ก็ยังถือว่าเสียงของฝ่ายรัฐบาลยังเหนือกว่าฝ่ายค้าน

และที่สำคัญ หากพิจารณาจากญัตติของฝ่ายค้านในครั้งนี้ ที่ยื่นญัตติเข้ามาแบบ “เหมาเข่ง” นั่นคือ กวาดเข้ามาทุกพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคหลัก ทำให้พรรคเหล่านี้ต้อง “จับมือแพ็กกันแน่น” เพื่อเอาตัวรอดไปด้วยกัน ขณะเดียวกัน ยังมีบรรดา “งูเห่า” ที่ฝากเลี้ยงอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน ที่มีอยู่นับสิบคน แทบทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว จากการลงมติสวนมติพรรคจากการอภิปรายร่างงบประมาณฯ ที่ผ่านมา

อีกทั้งเมื่อมองจากความเป็นจริงแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า การยื่นญัตติของฝ่ายค้านเป้าหมายหลักเพื่อหวัง “ดิสเครดิต” ฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งบางพรรคในสนามเลือกตั้ง ซึ่งนอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว ก็มีพรรคภูมิใจไทย เป็นหลัก ที่เริ่มเข้ามาคุกคามในพื้นที่ภาคอีสานมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกระทบต่อเป้าหมายเดิมที่วาดฝันเอาไว้ ว่าจะต้องชนะการเลือกตั้งให้มากที่สุด

การอภิปรายในครั้งนี้ มันจึงไม่ต่างจากการยื่นญัตติ “ตามฤดูกาล” ที่เมื่อถึงเวลาก็ต้องยื่นทุกครั้ง และที่ผ่านมา ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่เคยมีลำหักลำโค่น หรือมี “หมัดเด็ด” ไม่มีใบเสร็จที่สามารถน็อกฝ่ายรัฐบาลได้เลย อย่างมากก็เป็นเพียงแค่โวหาร ประดิดประดอยถ้อยคำมาด่าฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน หลายคนก็ปรามาสไว้ล่วงหน้าว่า น่าจะออกมาแบบเดิม ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากอาการของบรรดารัฐมนตรีแต่ละคน ยังไม่มีใครหวั่นไหว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่อารมณ์ดีตลอด จนมองข้ามช็อตอยู่ครบเทอม หรือยุบสภา หลังประชุมเอเปก เดือนพฤศจิกายนไปแล้ว ค่อนข้างชัวร์ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น