xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๒ : เจ้าพระยานิกรบดินทร์ กัลยาณมิตรผู้ค้าสำเภาให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การค้าขายของคนจีนนั้น กิจการใหญ่โตย่อมต้องมีหลงจู๊ช่วยดูแลกิจการแทนเจ้าของกิจการตัวจริง ตำแหน่งหลงจู๊ในการค้าขายแบบจีนนั้นเริ่มต้นจากการเป็นกรรมการแบกหามในกิจการเสียเป็นส่วนใหญ่ กินอยู่ในบ้านของเจ้าของกิจการ และเรียนรู้กิจการค้าขายจากเถ้าแก่หรือเจ้าสัวในลักษณะของการเรียนรู้จากการทำงานจริงที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า on-the-job training หรือหากเป็นงานฝีมือสั่งสมทักษะก็จะเรียกกันในสมัยนี้ว่า apprenticeship

ความสัมพันธ์ระหว่างเถ้าแก่กับหลงจู๊นั้น เริ่มจากการเป็นนายกับลูกจ้าง และขยับมาเป็นหลงจู๊ ที่เริ่มกลายเป็นเพื่อนและเป็นหุ้นส่วน ดังที่ผู้เขียนเคยได้ทราบและได้เห็นจาก เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งสืบทอดกิจการจากบิดาที่นอนป่วยหนักเป็นอัมพาตโดยกระทันหัน เจ้าตัวยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ แต่กิจการก็ดำเนินไปได้ด้วยหลงจู๊ผู้ซื่อสัตย์สี่คน ที่ทำงานอยู่กินในบ้านเถ้าแก่และนอนที่โกดังมากกว่าสี่สิบปี ล้วนมีอายุมากกว่าหกสิบปี แต่ดูแลกิจการแทนเถ้าแก่ได้ทั้งหมด ปีนั้นกิจการทำกำไรได้ราว สี่สิบล้านบาท หลังหักภาษีแล้ว

เพื่อนผู้เขียนเดินเข้าไปถามบิดาที่นอนป่วยว่าจะให้แต๊ะเอียหรืออั่งเปาในวันตรุษจีนกับหลงจู๊สี่คน คนละเท่าไหร่ บิดาของเพื่อนผู้เขียนยกมือสามนิ้ว อันแปลว่าสามล้าน หรือรวมกันสี่คน แบ่งปันกำไรให้หลงจู๊ไป สิบสอง ล้านบาทจาก สี่สิบล้านบาท เพื่อนผู้เขียนก็ฟังบิดาที่นอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่และทำตามนั้น เพราะรู้ว่าตนเองก็ไม่มีความสามารถจะทำได้ดีเท่าหลงจู๊ที่ทำมา สี่สิบปีอย่างซื่อสัตย์ และกล่าวว่าเตี่ยจ่ายแต๊ะเอีย/อั่งเปาหนัก ๆ แบบนี้ให้หลงจู๊แบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว จากความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกค้า กลายเป็นนายจ้าง-เจ้าของร่วมกิจการ-ญาติมิตร-เพื่อนของครอบครัว และรักษาผลประโยชน์ให้เถ้าแก่มากยิ่งกว่าสิ่งใด ขยันทำงาน และซื่อสัตย์จงรักภักดี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค้าสำเภามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงกำกับกรมท่า ทรงทำหน้าที่ดูแลการค้าขายโดยตรง ทรงมีข้าหลวงเดิมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นชาวจีนแคะ และเป็นบุตรของหลวงพิชัยวารี (มัน แซ่อี้ง) รับราชการในกรมท่าและต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้เลือกขึ้นพระพิชัยวารี บุตรชายของพระพิชัยวารีนี้มีชื่อว่า โต อี้งเต๋า ซึ่งได้เรียนวิชาค้าขายและการเป็นหลงจู๊ในการค้าสำเภามาจากบิดา จนได้รับชื่อสมญานามว่า เจ้าสัวโต เมื่อมาเป็นข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถวายการรับใช้ในการค้าสำเภาอย่างซื่อสัตย์ จงรักภักดี มาโดยตลอดและได้รับพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ เลื่อนเป็นพระยาพิชัยวารี ผู้ช่วยราชการกรมท่า รับราชการในกรมท่าต่อมาอีกหกปี แล้วต่อมาได้เป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง (กรมสัสดี/กำลังพล ทหาร ในปัจจุบัน) อีกสิบเจ็ดปี และโปรดฯ ให้เป็นว่าที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ [1]


ครั้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร ที่สมุหนายก
ในหนังสือเรื่องลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงโปรดฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (โต) เป็นที่เจ้าพระยานิกรบดินทร ที่สมุหนายก ดังนี้

###############

พระยาราชสุภาวดี ศรีสัจเทพนรายณ์ สมุหมาตยาธิบดี ศรีสุเรนทราเมศวร พระสุรัสวดีกลาง ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน แต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งทรงพระนามตามที่ได้ประกาศด้วยพระนามแห่งพระมโหทิศปฏิมาว่า สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ครั้นมาเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้านั้นเล่า ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นผู้ใหญ่ว่าที่สมุหนายก สำเร็จราชการในกรมมหาดไทยมาช้านาน มีอาการเรียบร้อยเป็นอันดี มีอัธยาศัยรอบคอบ ประกอบราชกิจมิให้ผิดธรรมเนียมราชประเพณี อนึ่งเป็นสัปบุรุษประกอบด้วยกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นดิน ทำราชการโดยซื่อสัตย์สุจริต คิดจะทำนุบำรุงแผ่นดินและอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขสมควรจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดี ศรีสัจเทพนรายณ์ สมุหมาตยาธิบดี ศรีสุเราทราเมศวร พระสุรัสวดีกลาง เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร มหิทรมหากัลยาณมิตร อเนกบุญฤทธิประสิทธิสาธุคุณ วิบุลศุภผลนิพัทธกุศลกิริยาภิรัต ธัญธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ์ อดุลเมตยาชวาธยาศัย ศรีรัตนตรัยสรณารักษ์ อุดมศักดิพิเศษ นาครามาตยเชษฐมหาสมุหนายก สยามโลกดิลกบรมราชมหิศร์ อัครมหาดทยวริศวรเสนาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ที่สมุหนายก สำเร็จราชการทั้งปวงในกรมมหาดไทย ให้เจริญชนมายุศมวรรณสุขพละสิริสวัสดิ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่สิ้นกาลนาน เทอญฯ [2]

###############


เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต อี้งเต๋า) เป็นต้นสกุลกัลยาณมิตร อันแปลว่ามิตรที่ดี แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวท่านเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้คำว่ากัลยาณมิตรเป็นชื่อวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทรได้อุทิศที่บ้านของตนกับซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดถวายเป็นพระอารามหลวงและได้รับพระราชทานนามว่าวัดกัลยาณมิตร [3] ซึ่งภายหลังในรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานราชทินนามของเจ้าพระยานิกรบดินทรให้มีคำว่ากัลยาณมิตรด้วย

เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต อึ้งเต๋า) รับราชการถวายมาจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ ๗๙ ปี ๒ เดือน ในรัชกาลที่ ๔

----------------

หมายเหตุ :
[1] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์. (2545). เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพ: กรมศิลปากร.
[2] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เล่มที่ ๑
[3] มีข้อถกเถียงว่าชื่อวัดกัลยาณมิตรอาจจะเป็นกัลยานิมิตร ประเด็นนี้ได้ทำให้เกิดการวิจารณ์และมีข้อยุติดังปรากฎใน พระครูกัลยาณานุกูล (๒๕๑๖). ประวัติวัดกัลยาณมิตร. กรุงเทพ: โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงปากเกร็ด กรมประชาสงเคราะห์.




วัดกัลยาณมิตร ถ่ายจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพโดย กสิณธร ราชโอรส https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=62125243

พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต ซำปอกง ในพระวิหารวัดกัลยาณมิตร) ภาพโดย Supanut Arunoprayote https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=63567946


กำลังโหลดความคิดเห็น