xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินถุงแดงให้เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกประสูติเป็นหม่อมเจ้าชายทับ พระโอรสองค์โตสุดในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กับหม่อมเรียม (เจ้าจอมมารดาเรียมหรือตนกูเรียม หรือสมเด็จพระศรีสุราลัยในภายหลัง)

สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงเป็นธิดาของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) เจ้าเมืองนนทบุรีและ คุณหญิงเพ็ง นนทบุรีศรีมหาอุทยาน ทรงมีนิวาสสถานเดิมบริเวณที่ตั้งวัดเฉลิมพระเกียรติ ตำบลบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้าหรือมหาอุปราช) หม่อมเจ้าชายทับจึงเลื่อนพระราชอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ

และเมื่อพระราชบิดาเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วนั้นจึงได้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ

และต่อมาโปรดเกล้าให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นกำลังหลักของราชการแผ่นดิน ทรงกำกับราชการกรมท่า มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังมหาศาล รัชกาลที่ ๒ จึงทรงเรียกพระองค์ว่า "เจ้าสัว" ทรงรู้และเชี่ยวชาญกฎหมาย การค้าและการปกครอง

แม้จะทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สุดแต่พระราชมารดามิได้เป็นพระภรรยาเจ้า เป็นเพียงเจ้าจอมมารดา จึงมีพระราชอิสริยยศเพียงชั้นพระองค์เจ้า หาใช่ชั้นเจ้าฟ้าไม่

ในขณะที่ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) ซึ่งทรงเป็นเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระอัครมเหสี และทรงเป็นเจ้าฟ้าโดยพระชาตกำเนิด


เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประชวรใกล้สวรรคตนั้น ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ เวลานั้นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์นั้น เจ้าฟ้ามงกุฎควรต้องได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แต่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการได้พร้อมใจกันเอนกนิกรสโมสรสมมติกราบบังคมทูลเชิญ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความเหมาะสมทั้งปวงต่อชาติบ้านเมืองและสถานการณ์ในเวลานั้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์เป็นปราสาทเรือนสามยอด ดังรูปด้านล่างนี้ อันมีที่มาจากพระนามเดิมว่า “ทับ” ที่แปลว่าบ้าน

 ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้านั้นทรงค้าขายเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าสำเภากับจีน และโปรดสร้างวัด รัชกาลนี้ใครสร้างวัดก็โปรด เมื่อทรงสร้างวัดยานนาวาได้ทรงเห็นว่าหากไม่สงวนรักษาไว้ สำเภาเหล่านี้จะสูญหาย ลูกหลานในภายภาคหน้าจะไม่ได้เห็นว่าการแต่งสำเภาไปค้าขายนั้นมีหน้าตาเป็นเช่นใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างสำเภาปูนจำลองที่วัดยานนาวาขึ้น ปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานหน้าสำเภาที่ทรงสร้างขึ้นไว้

สำเภาและพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓ ที่วัดยานนาวา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ในการค้าขายสำเภากับจีนนั้นทรงมีเจ้าสัวโต อึ้งเต๋า ชาวจีนแคะเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการดูแลกิจการ เจ้าสัวโตนี้ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ และผู้สืบทอดเชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุล “กัลยาณมิตร” เจ้าพระยานิกรบดินทร์ได้สร้างวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีบริเวณนิวาสสถานเดิมและซื้อที่ดินเพิ่มเติมด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงร่วมสร้างวัดแห่งนั้นด้วย โดยพระราชทานนามว่าวัดกัลยาณมิตร การสร้างวัดกัลยาณมิตรนั้นเลียนแบบคติในการสร้างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา ซึ่งชาวจีนแคะจะนิยมสร้างวัดไว้ริมแม่น้ำใกล้ปากอ่าวเป็นที่เคารพสักการะบูชา อำนวยความปลอดภัยและโชคในการค้าขาย หลวงพ่อโตหรือที่คนจีนนิยมเรียกกันว่าซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรนั้นได้รับพระราชทานนามพระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่สุดในกรุงเทพมหานคร

สินค้าที่ไทยแต่งไปค้าขายกับจีนนั้นมักจะมีน้ำหนักมาก เช่น ข้าว งาช้าง น้ำตาล แต่เมื่อไปถึงจีนซื้อผ้าไหม ผ้าแพรพรรณต่าง ๆ กลับมามีน้ำหนักเบา ทำให้มีความจำเป็นต้องหาสินค้าหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบรรทุกเป็นอับเฉาเรือกันเรือโคลงเคลงยามล่องผ่านนาวามหาสมุทร สินค้าที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งซื้อบรรทุกกลับมาเป็นอับเฉาเป็นจำนวนมากคือตุ๊กตาหินแกะสลักของจีนและเครื่องถ้วยชาม เครื่องถ้วยชามที่แตกหักจากการขนส่งก็ทรงโปรดให้นำมาตัดและประดับตามเจดีย์และวัดต่าง ๆ เช่น ที่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น



ตุ๊กตาหินลายจีนเป็นอับเฉาในสำเภาถูกนำมาตกแต่งในวัดและเครื่องถ้วยชามที่แตกก็นำมาใช้ประดับ เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (ซ้ายก่อนบูรณะ ขวาหลังบูรณะเมื่อไม่นานมานี้)
การค้าขายด้วยสำเภาในยุคนั้น นิยมใช้เหรียญทองปีกนกเม็กซิโกเป็นเงินตราสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยน การค้าสำเภาของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงใช้เหรียญทองปีกนกเม็กซิโกนี้เช่นกัน ทรงสะสมเงินเหรียญทองปีกนกเม็กซิโก ใส่ไว้ในถุงแดง ผูกเชือก ตีตราครั่ง ใส่ในกำปั่นไว้ในห้องพระบรรทม จึงเป็นที่มาของคำว่าพระคลังข้างที่ (พระคลังข้างที่พระบรรทม)


เงินถุงแดงนี้ ไม่ทรงใช้สอย หรือใช้สอยก็น้อยที่สุด ทรงเก็บไว้เป็นเงินตราสำรองระหว่างประเทศ (International reserve) หรือทุนสำรองของแผ่นดิน


มีข้อสังเกตสองประการเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเสียสละเพื่อแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง
ประการแรก ไม่ทรงมีพระภรรยาเจ้า มีแต่เจ้าจอมมารดา ที่เป็นสามัญชน ทำให้ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ทรงเป็นเจ้าฟ้า มีแต่พระองค์เจ้า ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าทรงเว้นไม่ทรงมีเจ้าฟ้าอันจะเป็นเหตุให้เป็นปัญหากับการสืบราชสันตติวงศ์เพราะจะมีพระราชอิสริยยศเสมอด้วยพระอนุชาต่างพระราชมารดาคือเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทรงเก็บพระราชบัลลังก์นี้ไว้ให้พระอนุชาได้สืบแผ่นดินต่อไป

ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บเงินถุงแดงไว้ให้พระเจ้าแผ่นดินต่อไปในภายภาคหน้าได้ใช้ในกิจการบ้านเมือง ไม่ได้ทรงยกเป็นพระราชมรดกพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดาแต่อย่างใด ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงวินิตา ดีถียนต์ได้เขียนไว้ว่า เงินกำไรจำนวนมหาศาลที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้มาเป็นเงินส่วนพระองค์นี้ มิได้ทรงใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงส่วนพระองค์ หรือยกให้พระราชโอรสธิดา ผู้เขียนเคยได้ยินเชื้อพระวงศ์ในราชสกุลที่สืบมาจากรัชกาลที่ ๓ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่สายราชสกุลในรัชกาลที่ ๓ จนทรัพย์สินเงินทองมากกว่าสกุลอื่น ๆ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรงนำเงินส่วนพระองค์มาเป็นมรดกตกทอด แต่ทรงนำไปใส่ถุงแดง แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทมตลอดรัชกาล [1]

เงินถุงแดงนี้เมื่อเกิดวิกฤติ ร.ศ.๑๑๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวฝรั่งเศสเอาเรือรบปิดปากน้ำเจ้าพระยาและเรียกค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนมากมายมหาศาลก็ได้อาศัยเงินถุงแดงนี้จ่ายหนี้ค่าปฏิกรณ์สงครามตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับแผ่นดิน อันเป็นต้นธารของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้พระบรมวงศานุวงศ์ก็ช่วยกันเรี่ยไรถวายออกสมทบอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเสด็จยายที่ทรงเลี้ยงลูกกำพร้าแม่ที่ชื่อว่าเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้ทรงถวายเงินตราต่างประเทศที่ทรงเก็บไว้ใต้ถุนตำหนักทั้งหมดเพื่อใช้กอบกู้ชาติบ้านเมือง

เงินถุงแดงนี้เองที่เป็นที่มาของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อันสืบทอดต่อมาในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งคือพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมองเห็นอนาคตและทรงเตรียมการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดีสำหรับแผ่นดินดังที่มีพระปัจฉิมโอวาทก่อนสวรรคตกับขุนนางข้าราชการเอาไว้ว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
----------------

หมายเหตุ :
[1] รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์. เงินถุงแดง เงินรักษาเอกราช มรดกจากรัชกาลที่ ๓ เผยแพร่: ๕ ธ.ค. ๒๕๖๓ สืบค้นได้จาก https://mgronline.com/daily/detail/9630000124940


กำลังโหลดความคิดเห็น