รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดิถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เงินทองในท้องพระคลังมีไม่มาก เพราะมีรายจ่ายมากมายทั้งด้านสร้างบ้านเมืองและในการทำศึกตลอดรัชกาล เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ ก็ถึงกับขาดแคลน จนบางครั้งไม่พอจ่ายค่าเบี้ยหวัดขุนนาง ต้องจ่ายเป็นผ้าลายบ้าง เป็นทองบ้าง แก้ขัดไปก่อน เจ้านายหลายพระองค์ต้องทรงขวนขวายหารายได้ส่วนพระองค์มาให้พอใช้จ่าย หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ในฐานะพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไม่อาจเสด็จออกพ้นสยามไปค้าขายยังประเทศจีนเองได้ แต่ก็ทรงหาทางออกผ่านทางข้าหลวงเดิมคนหนึ่ง มีชื่อไทยว่านายโต และชื่อจีนว่าอึ้งเต๋า เป็นบุตรของพระพิชัยวารี (อึ้งมั่ง) ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวกุฎีจีน
นายโตเป็นที่สนิทสนมไว้วางพระทัย ถึงกับทรงใช้ให้เป็นตัวแทนไปค้าสำเภาที่เมืองจีน นายโตก็ได้ทำการค้าแทนพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประสบความสำเร็จดีเลิศ นำเงินทองกลับมาถวายเป็นพระราชทรัพย์มากมายถึงขั้นร่ำรวย จนสมเด็จพระราชบิดาทรงเรียกกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า “เจ้าสัว”
ส่วนนายโตเองก็ได้เจริญในราชการขึ้นเป็นลำดับจนบั้นปลายชีวิตได้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลให้เชื้อสายของท่านว่า "กัลยาณมิตร" ด้วยทรงถือว่าเป็นกัลยาณมิตรในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เงินกำไรส่วนที่เป็นของนายโตเองมีมากมายขนาดไหนเห็นได้จากท่านสามารถสร้างพระพุทธไตรรัตนนายก หรือพระพุทธรูปซำปอกง ของวัดกัลยาณมิตร ตลอดจนตัววัดกัลยาณมิตรได้ใหญ่โตงดงาม เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยเชื้อสายจีน จนถึงทุกวันนี้
เงินกำไรจำนวนมหาศาลที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้มาเป็นเงินส่วนพระองค์นี้ มิได้ทรงใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงส่วนพระองค์ หรือยกให้พระราชโอรสธิดา ผู้เขียนเคยได้ยินเชื้อพระวงศ์ในราชสกุลที่สืบมาจากรัชกาลที่ ๓ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่สายราชสกุลในรัชกาลที่ ๓ จนทรัพย์สินเงินทองมากกว่าสกุลอื่นๆ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรงนำเงินส่วนพระองค์มาเป็นมรดกตกทอด แต่ทรงนำไปใส่ถุงแดง แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทมตลอดรัชกาล
ส่วนหนึ่งของเงินถุงแดงนี้ ทรงเก็บไว้เพื่อสร้างและทะนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนครและภายนอก อีกส่วนหนึ่งก็ทรงยกให้แผ่นดิน มีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง" หมายถึงว่า ถ้าต้องเพลี่ยงพล้ำกับข้าศึกศัตรูแล้ว จะได้นำเงินนี้ออกมาใช้กอบกู้บ้านเมือง
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ มีเงินในพระคลังข้างที่เหลือจากใช้ในราชการแผ่นดินจำนวน ๔๐,๐๐๐ ชั่ง (๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงขอไว้ ๑๐,๐๐๐ ชั่ง (๘๐๐,๐๐๐ บาท) เพื่อสร้างวัดวาอารามที่ค้างไว้ให้แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือนั้นถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามแต่จะทรงใช้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ในส่วนเงินแผ่นดินที่ทรงได้รับจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น มีจำนวนมากกว่าที่อ้างถึงอีก ๕,๐๐๐ ชั่งเศษ รวมทั้งหมดเป็น ๔๕,๐๐๐ ชั่งเศษ (หรือประมาณ ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเกี่ยวกับเงินถุงแดง น่าประหลาดตรงที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ ก็เกิดเป็นความจริง เมื่อไทยถูกฝรั่งเศสปรับโทษเป็นเงิน ๓ ล้านฟรังค์ เป็นเงินมากมายมหาศาลจนท้องพระคลังมีไม่พอ สยามก็ได้ ‘ เงินถุงแดง ‘ ส่วนนี้ไปสมทบ ไถ่บ้านเมืองเอาไว้ได้จริงๆ
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยบ้านเมืองยิ่งกว่าเรื่องส่วนพระองค์ จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต ก็มิได้ทรงพะวงกับเรื่องอื่นนอกจากความสงบสุขของแผ่นดิน ถึงกับพระราชทานพระบรมปัจฉิมโอวาทแก่ขุนนางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้า ไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า
"การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"
น่าประหลาดอีกเช่นกันว่า ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในอนาคตอย่างแม่นยำเช่นเดียวกับเรื่องเงินถุงแดง พระบรมปัจฉิมโอวาทข้อนี้ยังใช้ได้ทันสมัยเมื่อนึกถึงปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยหลังจากเสด็จสวรรคตมาถึง ๑๖๙ ปีแล้วก็ตาม