เล่าเรื่องการบุกเบิกทุ่งด้านตะวันออกของกรุงเทพฯเริ่มด้วยการสร้าง “วังปทุมวัน” จนกลายมาเป็น “เซ็นทรัลเวิร์ลด์” ในวันนี้แล้ว ก็อยากจะชวนย้อนเวลาไปท่องทุ่งปทุมวันรอบสี่แยกราชประสงค์ ก่อนจะมาเป็นย่านที่รุ่งเรืองของกรุงเทพฯในวันนี้
เมื่อเริ่มสร้างวังปทุมวันขึ้นนั้น บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิที่กว้างขวาง เมื่อวังปทุมวันได้รับความสนใจจากผู้คน จึงเรียกบริเวณนี้ว่าทุ่งปทุมวันไปด้วย ย่านนี้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สนองพระราชดำริพระบรมราชชนกที่จะขยายเมืองออกไปทางด้านตะวันออก ในปี ๒๔๔๕ จึงโปรดเกล้าให้ตัดถนนแยกจากถนนเจริญกรุงที่หน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งตั้งมาตั้งปี ๒๔๒๘ ผ่านทุ่งศาลาแดงไปจดคลองแสนแสบตรงข้างวังปทุมวัน โดยขุดคลองคู่กันเพื่อเอาดินถมถนน อันเป็นวิธีการสร้างถนนในสมัยนั้น เรียกกันว่า “ถนนขวาง” และ “คลองขวาง”ทำนองเดียงกับ “ถนนตรง” และ “คลองตรง” ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งปัจจุบันคือ “ถนนพระราม ๔” ส่วนถนนขวางปัจจุบันก็คือ “ถนนสีลม” และ “ถนนราชดำริ” คลองถูกถมไปในปี ๒๕๐๐
ในปี ๒๔๕๑ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงครองราชย์สมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่ ๓วัน ๓ คืน และเกิดสิ่งสำคัญขึ้นในงานนี้ ๓ อย่าง คือ
ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ เสด็จพะราชดำเนินเปิดพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต จากนั้นทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งอนันตสมาคม รุ่งขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนมีการแห่ขบวนรถมอเตอร์คาร์เฉลิมพระเกียรติ โดยโปรดเกล้าฯให้คนที่มีรถยนต์ ซึ่งมีอยู่ไม่มากในตอนนั้น ตกแต่งรถมาโชว์กันที่ลานพระบรมรูป แล้วขับไปตามถนนต่างๆให้ประชาชนชม จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “สะพานเฉลิมโลก ๕๕” ในปีที่พระชนมายุครบ ๕๕ พรรษา เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งแรกของไทย ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นสะพานที่ต่อจากถนนขวางหรือถนนราชดำริ ข้ามคลองแสนแสบมาเชื่อมกับถนนราชปรารภและถนนเพชรบุรี ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่า “ถนนประแจจีน” เกิดเป็นสามแยก โดยมีตลาดเฉลิมโลกซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ต้นทางของสินค้าที่ลำเลียงไปทางคลองแสนแสบ ขวางถนนประแจจีนอยู่ จนในปี ๒๕๐๐ ตลาดเฉลิมโลกและโรงภาพยนตร์เฉลิมโลกที่ขวางถนนเพชรบุรี จึงถูกรื้อออกเพื่อตัด “ถนนเพชรบุรีตัดใหม่” ผ่ากลางตลาดเฉลิมโลกไปถึงถนนคลองตันที่มาจากพระโขนง
เมื่อสะพานเฉลิมโลกเชื่อมการคมนาคมทางบก ให้ด้านเหนือด้านใต้ของกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกไปมาถึงกันสะดวกแล้ว ความคึกคักมีชีวิตชีวาก็หลั่งไหลเข้ามาในย่านตลาดเฉลิมโลกที่เรียกกันว่า “ประตูน้ำ” จนกลายเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯด้านตะวันออก เป็นต้นทางของเรือเมล์นายเลิศที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารและสินค้าตามคลองแสนแสบ และเป็นต้นทางรถเมล์ขาวของนายเลิศจากตลาดประตูน้ำ ผ่านสะพานยศเส หรือสะพานกษัตริย์ศึก ไปบางลำพู อีกทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่แถวถนนเจริญกรุงก็ขยายเข้ามาตามถนนสีลม ราชดำริ และเลี้ยวไปตามถนนเพลินจิต สุขุมวิท
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ย่านการค้าและบันเทิงของกรุงเทพฯจะอยู่ที่บางลำพู ต่อมาเมื่อมีการปรับพื้นที่วังบูรพาเป็นศูนย์การค้าในปี ๒๔๙๗ มีโรงภาพยนตร์ถึง ๓ โรง ที่นี่จึงเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่น แต่พอมี “สยามสแควร์” เกิดขึ้นในปี ๒๕๐๗ ด้วยความสดใหม่และกว้างขวางกว่า มีโรงภาพยนตร์ ๓ โรงเช่นกัน ศูนย์กลางของกรุงเทพฯจึงย้ายมาอยู่ทุ่งปทุมวัน ทำเอาย่านวังบูรพาเฉาไป
ตอนเกิดสงครามเวียดนาม ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กลายเป็นแหล่งคึกคัก เพราะเป็นที่เที่ยวของทหารอเมริกัน มีสถานอบอาบนวดและโรงแรมเรียงรายอยู่ ๒ ฟากถนน ทำให้ประตูน้ำกลายเป็นตลาดโต้รุ่งคึกคักตลอดคืน รองรับนักท่องเที่ยวและคนทำงานในย่านนั้น “ตลาดนายเลิศ” เชิงสะพานเฉลิมโลกด้านถนนเพชรบุรี ซึ่งเคยเป็นท่าเรือนายเลิศ เลยกลายเป็นตลาดอาหารโต้รุ่งที่คึกคักที่สุดของกรุงเทพฯ
เมื่อเล่าถึงย่านประตูน้ำ ที่นี่มีเรื่องดังอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “เรือจ้าง” แต่ก่อนก็บริการรับส่งผู้คนที่ไปมาใกล้ๆ แต่พอเกิดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ก็เลยหมดอาชีพ คนแจวเรือเลยดิ้นรนหาอาชีพใหม่ เปิด “ม่านรูด” กับเขาบ้าง รับนักเที่ยวจากท่าด้านตลาดเฉลิมโลก พอได้ผู้โดยสารลงเรือก็เอาม่านทุกด้านลง แล้วแจววนเวียนอยู่แถวนั้น ส่วนในเรือก็มีหญิงขายบริการไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่าขานรู้กันทั่วในยุคนั้น
ตอนที่เกิด “ราชดำริอาเขต” พร้อมๆกับสยามสแควร์นั้น จุดเด่นของศูนย์การค้าแห่งนี้คือห้างสรรพสินค้า “ไทยไดมารู” ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าแรกของกรุงเทพฯ เป็นห้างติดแอร์มีบันไดเลื่อนเป็นแห่งแรก ก่อนที่ย้ายข้ามฟากไปอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนราชดำริ ซึ่งตอนนั้นห้างเซ็นทรัลก็ขยายจากวังบูรพา มาเปิดสาขาอยู่ที่ราชดำริอาเขตด้วยเหมือนกัน ก่อนจะครอบครองบริเวณวังปทุมวันทั้งหมดในวันนี้
ที่หน้าห้างไทยไดมารู ยังมีร้าน “Wimpy” เป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์โดยเฉพาะ และเป็นร้านเปิดตำนานแฮมเบอร์เกอร์แห่งแรกของกรุงเทพฯ ตอนนั้นขายราคาอันละ ๘ บาท ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในขั้นแพง เพราะราคาข้าวแกงข้างถนนจานละ ๓ บาทเท่านั้น
ราชดำริอาเขตเป็นศูนย์การค้าที่คึกคักมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะตอนค่ำเป็นแหล่งชุมนุมของคนกลางคืน มีคอฟฟี่ช็อปอยู่หลายร้าน เช่น “Golden Egg” หรือ “ไข่ทอง” ที่เจ้าของเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังไทย เลยเป็นที่สังสรรค์ของคนในวงการบันเทิงด้วย และยังมี “Party” และ “Fork & Spoon” เป็นต้น ย่านนี้จึงเป็นที่สังสรรค์ของคนกลางคืน ตามหากันได้โดยไม่ต้องนัดหมาย ก่อนที่จะย้ายข้ามฟากถนนราชดำริไปที่ “Tiffany” ศูนย์การค้าเฉลิมโลก หลังธนาคารกรุงเทพฯ
ย่านสระปทุมนี้มีบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานที่ดินแก่พระโอรสองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ซึ่งไปศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยเป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกของไทย และสำเร็จวิชากฎหมายกลับมาในปี ๒๔๒๙ จึงสร้างวังที่ประทับ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้พระราชทานวัง “มะลิวัลย์” ของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ที่ถนนพระอาทิตย์ ให้เป็นที่ประทับ ก่อนเสด็จลี้ภัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสิ้นพระชนม์ที่ปีนัง ปัจจุบันวังของกรมพระสวัสดิ์ฯที่ปทุมวัน ก็คือ วิทยาลัยเขตช่างกลปทุมวัน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้สร้างวังขึ้นที่ทุ่งปทุมวันในปี ๒๔๒๔ พระราชทาน เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อยู่ริมถนนปทุมวันฝั่งใต้ ตรงข้ามวังกรมพระสวัสดิ์ฯ เป็นวังที่โอ่อ่าสง่างามที่สุด ดูคล้ายพระราชวังวินด์เซอร์ในอังกฤษ ฝรั่งในกรุงเทพฯจึงเรียกกันว่า “วังวินด์เซอร์” ส่วนคนไทยเห็นว่าโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่ง ก็เรียกกันว่า “วังกลางทุ่ง” แต่ทางการเรียกว่า “วังใหม่” อันเป็นที่มาของชื่อ “แขวงวังใหม่” ของเขตปทุมวันในปัจจุบัน
ในปี ๒๔๒๙ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้รับการสถาปนาเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีพระราชประสงค์ให้ประทับอยู่ใกล้พระองค์เพื่อทรงศึกษาราชการแผ่นดิน จึงโปรดฯให้สร้างพระตำหนักขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แต่ไม่ทันเสร็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯก็สวรรคตเสียก่อนในปี ๒๔๓๗ ขณะพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เลยไม่ได้ประทับที่วังใหม่
วังใหม่ถูกใช้เป็นโรงเรียนเกษตราธิการก่อนจะถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ต่อมาในปี ๒๔๕๓ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนา “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และพระราชทานที่ดิน ๑,๐๐๐ ไร่เศษให้เป็นสมบัติของโรงเรียน ต่อมาในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ จึงพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ใหม่ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
วังกลางทุ่งถูกใช้เป็นหอพักของนิสิตโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตลอดมา จนมีการตั้งแผนกฝึกหัดครูของจุฬาลงกรณ์ขึ้นในปี ๒๔๗๒ สมัยรัชกาลที่ ๗ และสถาปนา “โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้นในปีนั้น เพื่อให้นิสิตแผนกฝึกหัดครูฝึกสอน โดยใช้วังใหม่เป็นอาคารเรียน เรียกว่า“ตึกหอวัง”
ในปี ๒๔๗๘ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพละศึกษา ซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะราษฎรได้ทำสัญญาเช่าที่ดินตำบลวังใหม่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วรื้อวังวินด์เซอร์ เรือนนอน พร้อมสวนผักและสวนมะลิโดยรอบออก สร้าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” ขึ้นในปี ๒๔๗๙ ตั้งชื่อว่า “สนามศุภชลาศัย” ย้ายกรมพละศึกษาและโรงเรียนพละศึกษามาอยู่ที่นี่ด้วย
อีกวังหนึ่งในย่านปทุมวันที่เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของยุคนี้ ก็คือ “วังสระปทุม” ที่ถนนพระราม ๑ ตัดกับถนนพญาไท ไปจนถึงคลองแสนแสบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานที่ดินแก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรส แต่เนื่องจากกำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศจึงยังไม่ได้สร้างวัง เมื่อรัชกาลที่ ๕ สวรรคต สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชชนนี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงมาสร้างพระตำหนักขึ้นที่นี่ และประทับอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ และเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ สำเร็จการศึกษากลับมาพร้อมครอบครัว ก็ประทับอยู่ที่วังนี้กับพระราชชนนีด้วย
วังสระปทุมเป็นสถานที่จัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และยังเป็นที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงด้วย
ปัจจุบันวังสระปทุมแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อีกส่วนหนึ่งให้เช่าสร้างศูนย์การค้า เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน
นี่ก็เป็นตำนานส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิ ในปี ๒๓๙๖ ที่กลายมาเป็นย่านที่รุ่งเรืองของกรุงเทพมหานครในวันนี้