xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก! ทำไมต้นลำพูหายไป!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


พระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระผู้ให้กำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งตะวันออก โปรดให้รื้อกำแพงและป้อมปราการของกรุงธนบุรีที่เรียงรายตลอดคลองคูเมืองเดิมออกทั้งหมด และให้ขุดคลองคูเมืองใหม่ขยายพระนครให้กว้างออกไป เริ่มจากบางลำพูไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือวัดสามปลื้ม มีความยาว ๘๔ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก ส่วนด้านแม่น้ำจากปากคลองด้านเหนือที่บางลำพูไปถึงปากคลองด้านใต้ที่วัดสามปลื้ม ยาว ๙๑ เส้น ๑๖ วา พระราชทานนามว่า คลองรอบกรุง แต่ต่อมาเรียกกันไปหลายชื่อตามสถานที่ที่คลองผ่น ตอนต้นเรียกว่า คลองบางลำพู เมื่อผ่านสะพานหันเรียก คลองสะพานหัน พอมาถึงวัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุขในปัจจุบัน เรียก คลองวัดเชิงเลน ช่วงสุดท้ายทางปากคลองด้านใต้เรียก ปากคลองโอ่งอ่าง เพราะเป็นแหล่งค้าเครื่องปั้นดินเผา ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีใน พ.ศ.๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า “คลองรอบกรุง”

การขุดคลองรอบกรุงทำให้กรุงรัตนโกสินทร์เกิดเป็นเกาะ ๒ ชั้น คือเกาะรอบในจากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงคลองคูเมืองเดิม มีพื้นที่ ๑,๑๒๕ ไร่ ส่วนเกาะรอบนอกที่ขยายออกไปจากคลองคูเมืองเดิมถึงคลองรอบกรุง มีพื้นที่ ๑,๔๓๘ ไร่
เกาะรอบนอกของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มีโบราณสถานและสถานที่สำคัญอันเป็นสิ่งล้ำค่า ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง

จากปากคลองคูเมืองที่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปถึงปากคลองรอบกรุงที่บางลำพูตรงป้อมพระสุเมรุ นอกจะอยู่ในช่วงของถนนพระอาทิตย์แล้ว ด้านริมแม่น้ำยังมีทางเดินกินลมชมวิวไปตลอด และยังได้ชมอาคารสำคัญบนถนนสายนี้จากด้านแม่น้ำด้วย มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเดินกันมาก

อาคารประวัติศาสตร์หลังแรกอยู่ด้านซ้าย เป็นอาคาร ๓ ชั้น สถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีเลขที่บ้านเด่นด้วยขนาดใหญ่ว่า “บ้านเลขที่ ๑๙” เดิมเรียกกันว่า ทำเนียบท่าช้าง เป็นที่พำนักของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ และหัวหน้าคณะเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันเป็นบ้านรับรองของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อาคารหลังนี้ยังถูกจำลองไปสร้างในสวนเสรีไทยที่บึงกุ่ม เป็น “อาคารเสรีไทยอนุสรณ์” ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงนิทรรศการวีรกรรมของเสรีไทย

อีกหลังคือ “บ้านมะลิวัลย์” เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) บิดาของเจ้าจอมมารดากลิ่นในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้ถวายให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ตั้งแต่ประสูติ อาคารปัจจุบันเป็นตำหนักหลังใหม่ที่รัชกาลที่ ๖ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระราชทาน กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา ๕ รอบใน พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นอาคารทรงยุโรป ออกแบบโดย นายมาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ซึ่งออกแบบสร้างวังในเมืองไทยไว้มาก ปัจจุบันบ้านมะลิวัลย์เป็นที่ทำการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

บ้านเลขที่ ๑ ของถนนพระอาทิตย์ ก็คือ “บ้านเจ้าพระยา” อยู่ติดกับสวนสันติชัยปราการ เดิมเป็นวังของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเป็นที่พักของ นายมาริโอ ตามาญโญ ผู้ก่อสร้างพระที่นั่งอานันตสมาคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานแก่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจพระองค์แรก และทรงเป็นพระบิดาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ๒ อดีตนายกรัฐมนตรี อาคารหลังนี้เคยเป็นที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา

ตรงข้ามฟากถนนกับบ้านเจ้าพระยา ก็คือ “บ้านพระอาทิตย์” วังเก่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ต่อมาได้ตกทอดมาถึง เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๗ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อมาทายาทได้ขายให้แก่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้เข้าปรับปรุงบ้านเจ้าพระยาที่ทรุดโทรมขึ้นใหม่ เป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในปัจุบันเช่นเดียวกับบ้านเจ้าพระยาที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

เมื่อถึงบ้านพระอาทิตย์และบ้านเจ้าพระยา ก็จะเห็นป้อมโบราณฉาบสีขาวเด่นตระหง่านสะดุดตา นั่นก็คือ ป้อมพระสุเมรุ ๑ ใน ๑๔ ป้อมที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๖ เรียงรายไปตามคูเมืองชั้น ๒ ตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๒ ป้อมคือป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬที่ผ่านฟ้า

บริเวณป้อมพระสุเมรุได้รับการบูรณะให้เป็นสวนสาธารณะสันติชัยปราการ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที ๙ มีพระที่นั่งสันติชัยปราการอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น ริมกำแพงของสวนด้านที่ติดกับบ้านเจ้าพระยา มีประติมากรรมในชื่อ “วิถีชีวิตบางลำพู” บอกเล่าชีวิตของชาวบางลำพู ๓ ยุค คือยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นที่จอดพักแรมของคนเดินทางเรือ และเป็นชุมชนเก่าของชาวมอญ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์เป็นตลาดค้าผลไม้ดอกไม้และขนมหวาน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ บางลำพูเป็นชุมทางบันเทิง ที่ชุมนุมของดนตรีไทยและการแสดงต่างๆ มีโรงมหรสพทั้งโรงลิเกและโรงภาพยนตร์อยู่ในย่านบางลำพูถึง ๔ โรง และเคยเป็นย่านที่ราคาที่ดินแพงที่สุดในประเทศไทย ต่อมาได้เกิดย่านการค้าขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง ความรุ่งเรืองของบางลำพูจึงโรยราลง แต่อย่างไรก็ตามทุกวันนี้บางลำพูก็ยังเป็นย่านที่มีผู้คนจอแจคับคั่ง โดยเฉพาะมีถนนข้าวสารเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเป็นที่พักราคาถูกของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
เหตุที่ย่านนี้มีชื่อว่าบางลำพู ก็เพราะบริเวณปากคลองมีต้นลำพูขึ้นอยู่มากมาย ลำพูเป็นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่บนดินเลนที่มีน้ำท่วมถึง และมีรากโผล่ขึ้นมารอบต้นเป็นที่หายใจ รากลำพูมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้ก๊อกจากต่างประเทศ สมัยก่อนจึงใช้รากลำพูเป็นจุกขวดน้ำปลาที่วางขายในตลาด ต้นลำพูเป็นที่ชื่นชอบของหิ่งห้อย กลางคืนจะมาจับกันเต็มต้นส่งแสงวูบวาบสว่างไสว ทั้งยังมีเงาสะท้อนลงในน้ำดูสวยงาม แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนกรุงเทพฯกลัวเครื่องบินทิ้งระเบิดกันมาก ไม่กล้าให้มีแสงไฟเล็ดลอดออกมาจากบ้านเลยตอนที่มีสัญญาณภัยทางอากาศ แสงหิ่งห้อยบนต้นลำพูใกล้บ้าน จึงเป็นที่รังเกียจไปด้วย ต้นลำพูจึงถูกตัดจนเหี้ยน ตอนนี้ที่ปากคลองบางลำพูจึงเหลือต้นลำพูอยู่ริมน้ำในสวนสันติชัยปราการเพียงต้นเดียว เป็นอนุสรณ์ของชื่อบางลำพู

ต่อจากป้อมพระสุเมรุ เดิมเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาและสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์ กรมธนารักษ์ได้บูรณะซ่อมแซมและเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์บางลำพู” พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาบางลำพูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ อยู่ในความดูแลของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์
บางลำพูยังเป็นที่ตั้งของวัดบวรนิเวศวิหาร อารามหลวงที่เคยมีเจ้าอาวาสขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และมีพระมหากษัตริย์ทรงผนวชที่วัดนี้ถึง ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ รัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างใน พ.ศ.๒๓๖๗ แล้วอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาสมาเป็นเจ้าอาวาส

ตรงข้ามกับวัดบวร ยังมีกำแพงพระนครและประตูเมืองหลงเหลืออยู่ให้คนรุ่นใหม่ดู แต่ก่อนเหลือเพียงอิฐแดง ตอนนี้บูรณะฉาบปูนขึ้นใหม่ ส่วนประตูที่เหลือก็ปั้นปูนเป็นยอดซ้อนกันเช่นเดียวกับประตูเทวาภิรมย์ของพระบรมมหาราชวังทางออกไปท่าราชวรดิฐ

ตรงสะพานเฉลิมวันชาติ จะมีตึกแถวชั้นเดียวเก่ามากๆติดรั้ววัดบวรฯ แต่ตึกเก่านี้ก็ดูสดใสเพราะเป็นแหล่งขายธงชาติและตราสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ ตั้งมากว่า ๗๐ ปีแล้วโดยหลวงวิสิทธิบรรณาการ ข้าราชการกระทรวงวัง ได้ลาออกมาเปิดร้านในชื่อ “คลังเสาธง” เมื่อหลวงวิสิทธิฯเสียชีวิต บุตรชายก็ดำเนินกิจการต่อ เปลี่ยนชื่อร้านเป็น “เสาธงชาติ” และ “ธงบรรณาการ”ในปัจจุบัน
ข้ามสี่แยกเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ สุดถนนพระสุเมรุจะบรรจบกับถนนราชดำเนินกลาง จากจุดนี้มองไปทางซ้ายจะเห็นป้อมมหากาฬ ๑ ใน ๒ ป้อมที่ยังเหลืออยู่ และยังมีกำแพงเมืองเก่าเหลือไว้ให้ดูเช่นเดียวกับหน้าวัดบวรฯ หลังป้อมออกไปจะเห็นภูเขาหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯตั้งตระหง่าน เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะสร้างเป็นเจดีย์ใหญ่เช่นเดียวกับเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา โดยสร้างตรงสถานที่อันเป็นมงคล คือสระน้ำที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากสงครามที่เขมร ทรงแวะสระพระเกศาที่สระนี้ก่อนเสด็จข้ามไปกรุงธนบุรี และได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์

เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดสะแก เป็นวัดเก่ามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สร้างอยู่ในดงสะแก เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ

พระเจดีย์ใหญ่ที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างนี้ไม่สำเร็จ เพราะดินรับน้ำหนักอิฐที่ถมลงไปไม่ไหว ยุบตัวลงจนต้องทิ้งไว้เป็นกองอิฐ ต่อมรัชกาลที่ ๔ จึงทรงสร้างให้เป็นภูเขา มีเจดีย์อยู่บนยอด พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต” แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “ภูเขาทอง”

ส่วนตรงข้ามกับป้อมมหากาฬ คนละฟากกับถนนมหาไชย เดิมเป็นโรงมหรสพ ตัวอาคารเป็นแบบเดียวกับอาคารถนนราชดำเนิน มีชื่อว่า “ศาลาเฉลิมไทย” เป็นแหล่งบันเทิงเมื่อ ๕๐-๗๐ ปีก่อน ใน พ.ศ.๒๕๓๓ ถูกรื้อออกเป็น “ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์” พร้อมทั้งมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่โดยรอบตกแต่งอย่างสวยงาม มีพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับทรงออกต้อนรับแขกเมืองระดับประมุขของประเทศ

หลังลานพลับพลานี้ จะเห็นโบราณสถานสวยงามแปลกตาที่เรียกกันว่า “โลหะปราสาท” คือปราสาทที่มีหลังคาเป็นโลหะ หลังแรกสร้างในสมัยพระพุทธองค์ หลังที่ ๒ จำลองแบบจากอินเดียสร้างที่ลังกาใน พ.ศ.๓๘๗ แต่เนื่องจากใช้ทองแดงเป็นหลังคา จึงถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ไปทั้ง ๒ หลัง หลังที่ ๓ นี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหลังเดียวที่เหลืออยู่ในโลก

ส่วนถนนราชดำเนินกลางที่ตั้งลานเจษฎาบดินทร์นี้ เมื่อแรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปลูกต้นมะฮอกกานี ๒ ฟากถนนเช่นเดียวกับถนนซองอลิเซ่ต้นแบบ แต่ใน พ.ศ.๒๔๘๔ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ขยายถนนออก สร้างเป็นตึกสมัยใหม่ตลอด ๒ ฟากถนน พร้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ ๑ ของถนนที่กระจายออกไปรอบทิศ ขณะนี้อาคารเหล่านี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ผู้เช่าจะต่อเติมเปลี่ยนแปลงใดๆจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร

สถานที่สำคัญอีกแห่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ก็คือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระผู้ให้กำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่ที่เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า
พระบรมรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตสภา และทรงอำนวยการแผนกศิลปากร คิดแบบและอำนวยการสร้าง ประทับเหนือราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่เหนือพระเพลา โดยมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้น และหล่อด้วยทองสำริด มีความสูงจากฐานถึงยอด ๔.๖ เมตร ส่วนฐานสูง ๑ เมตร กว้าง ๒,๓ เมตร ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร สร้างพร้อมสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ซึ่งมีพระราชประสงค์จะสร้างเชื่อมพระนครสองฝั่งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เทคโนโลยียังไม่สามารถสร้างได้ จนมาสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในวาระฉลอง ๑๕๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์

กรุงรัตนโกสินทร์ของเรามีสิ่งล้ำค่าน่าสนใจให้ไปเห็น ไปชื่นชม ให้เกิดความรักความภูมิใจในบ้านเมืองของเราอีกมาก โดยเฉพาะตอนนี้เที่ยวในเมืองไทยปลอดภัยกว่าที่อื่น งดส่งตัวออกนอกสักพัก ขืนซื้อทัวร์ไปต่างประเทศแค่ ๗ วัน กลับมาจะได้แถมอีก ๑๔ วัน แล้วจะอดกินหมูกระทะนะ จะบอกให้

ทำเนียบท่าช้างจำลอง ที่สวนเสรีไทย บึงกุ่ม

บ้านพระอาทิตย์

พิพิธภัณฑ์บางลำพู ข้างป้อมพระสุเมรุ

ศาลาเฉลิมไทย หน้าป้อมมหากาฬ
กำลังโหลดความคิดเห็น