กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ของเรา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อย ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ความวิจิตรตระการของปราสาทราชวัง และประวัติความเป็นมาอันยาวนาน แสดงถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหลั่งไหลมาเข้าชมด้วยความตื่นตาตื่นใจ
เกาะรัตนโกสินทร์ ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานครนั้น มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการปกครอง สถานที่แต่ละแห่งล้วนแต่เกี่ยวกับความสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการอนุรักษ์และชักชวนให้คนไทยเห็นความสำคัญในสิ่งที่มีค่าของชาติเหล่านี้ เพื่อมีจิตสำนึกเกิดความรู้สึกหวงแหน
การจะเข้าชมพระบรมมหาราชวัง นักท่องเที่ยวจะเริ่มต้นที่ประตูวิเศษไชยศรี ๑ ใน ๑๓ ประตูของพระบรมมหาราชวัง และเป็นประตูเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น
เมื่อเล่าถึงประตูวิเศษไชยศรี ก็มีเรื่องที่จะชวนนั่งไทม์แมชีนย้อนไปในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ตอนนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งมาแล้ว ๑๖๖ ปี ยังไม่เคยมีอริราชศัตรูบุกเข้ามาถึงชายพระนครได้ แต่ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ของปีนั้น ประตูวิเศษไชยศรีก็ถูกลองดีด้วยรถถังและปืนใหญ่
ขณะนั้นได้เกิด “กบฎวังหลวง” ฝ่ายกบฏได้ยึดกระทรวงการคลังเป็นกองบัญชาการ ซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง ข้างประตูวิเศษไชยศรี มีใบเสมาเป็นเชิงเทินป้องกันอย่างแข็งแรง พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ได้รับมอบหมายให้ปราบกบฎ จึงสั่งให้ พล.ต.ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑ นำกำลังไปปราบ พล.ถนอมตัดสินใจใช้รถถังพุ่งเข้าชนบานประตูวิเศษไชยศรี หวังจะให้บานประตูล้มลงและพาทหารบุกเข้าไป แต่ประตูวิเศษไชยศรีไม่สะดุ้ง รถถังกลับหมอบคาประตู รอจนสว่างจึงส่งรถถังคันใหญ่กว่าเข้าไป โดยใช้ทั้งปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานยิงนำ บานประตูวิเศษไชศรีก็แค่เอียง จึงให้รถถังดันบานประตูเปิด แม้กระนั้น พ.อ.เทียบ กรมสุริยศักดิ์ นายทหารคนแรกที่พาทหารบุกเข้าไปก็ถูกบานประตูเบียดได้รับบาดเจ็บสาหัส
ขนาดถูกทั้งปืนใหญ่และรถถัง บานประตูวิเศษไชยศรียังแค่เอียง ถ้าพม่าบุกเข้ามาก็คงเข้าไม่ได้แน่
ถ้าย้อนเวลาไปถึง พ.ศ.๒๓๖๗ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ ก็มีเรื่องเกิดขึ้นที่ประตูวิเศษไชยศรีและมีบันทึกไว้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่านสนุก
ในวันเกิดเหตุมีงานพระราชทานเพลิงพระศพกรมหลวงเทพวดีที่ท้องสนามหลวง มีพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการไปพร้อมหน้า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับแล้ว บรรดาขุนนางต่างก็พากันกลับตาม หลายคนใช้เส้นทางผ่านประตูวิเศษไชยศรีไปออกประตูเทวาภิรมย์ เพื่อลงเรือที่ท่าขุนนาง หรือท่าราชวรดิฐ การจราจรที่ประตูวิเศษไชยศรีจึงคับคั่งไปด้วยแคร่คานหาม
ตอนนั้นแคร่ของ เจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหม ซึ่งนอกจากจะมีแคร่ของภรรยาน้อยตามหลังแล้ว ยังมีบ่าวไพร่และทนายหน้าหอถือเครื่องยศตามมาเป็นขบวน ต่อคิวรออยู่ยังเข้าไม่ได้ แต่พอขบวนของ เจ้าพระยาอภัยภูธร สมุหนายก มาถึงก็ไม่รอช้า แหวกคิวบุกเข้าไปเลย คนของเจ้าพระยามหาเสนาประท้วงให้ต่อคิวก็ไม่ฟัง ขบวนตามหลังของสองเจ้าพระยาจึงเกิดตะลุมบอนกันที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี ฝ่ายเจ้าพระยามหาเสนาบอบช้ำมากหน่อย แต่ก็แย่งกระบี่ฝักทองเครื่องยศของเจ้าพระยาอภัยฯแหวกเข้าประตูวิเศษไชยศรีไปได้
ฝ่ายขบวนของเจ้าพระยาอภัยฯผู้เสียกระบี่ เมื่อผ่านประตูเข้ามาก็พบกับกลุ่มพระตำรวจที่ไปส่งเสด็จกลับออกมา ในกลุ่มนี้มีลูกหลานของเจ้าพระยาอภัยฯหลายคน พอทราบเรื่องก็วิ่งตามขบวนเจ้าพระยามหาเสนาไปทันที่ท่าราชวรดิฐ ตะลุมบอนกันอีกยก แย่งกระบี่เครื่องยศกลับมาได้
เรื่องนี้เจ้าพระยามหาเสนานำความขึ้นกราบบังคมทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยฯ แต่ยังไม่ได้ตัดสิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เรื่องเลยเงียบหายไป
เห็นมั๊ยล่ะ กรุงเทพมหานครของเรามีปัญหาเรื่องการจราจรมาตั้งแต่ ๒๐๐ ปีโน่นแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีกันวันนี้
ผ่านประตูวิเศษไชยศรีเข้าไปจะเป็นพระราชฐานชั้นนอก ด้านขวาหรือด้านตะวันตก เดิมเป็นที่ตั้งของที่ทำการจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักพระราชวัง ส่วนด้านตะวันออกเป็นเขตพุทธาวาส คือบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดนี้นักท่องเที่ยวจะเดินเป็นสายมุ่งตรงไปที่ประตูพิมานไชยศรี เข้าสู่พระราชฐานชั้นกลาง
เมื่อผ่านประตูพิมานไชยศรี ความโอ่อ่าสง่างามจะปรากฏอยู่ตรงหน้า ทำให้ผู้พบเห็นต้องตะลึงต่อสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแห่งเดียวในโลก นั่นก็คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้สูงสง่ากว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆในหมู่ปราสาทราชมณเฑียรรอบด้าน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกระแสนิยมตะวันตกกำลังแผ่มาถึงประเทศสยาม ทรงว่าจ้าง มิสเตอร์ยอน คลูนิช สถาปนิกชาวอังกฤษที่เคยสร้างที่ทำการรัฐบาลสิงคโปร์ ออกแบบเป็นตึก ๓ ชั้น ในแบบสถาปัตยกรรมยุโรปสมัยพระนางวิคตอเรีย หลังคาเป็นโดมทรงกลมทั้ง ๓ องค์ติดต่อกัน แต่เมื่อสร้างไปถึงชั้น ๒ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้กราบทูลความเห็นว่า ควรจะสร้างให้เป็นปราสาทเหมือนในกรุงศรีอยุธยาจึงจะเหมาะสม ทั้งยังได้กราบบังคมทูลว่า การสร้างปราสาทนั้นถือเป็นโบราณราชประเพณีว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัชกาลก่อนๆตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงสร้างมาแล้วทุกรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้เปลี่ยนเฉพาะหลังคาจากโดมทรงกลมมาเป็นยอดปราสาททั้ง ๓ องค์อย่างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่แปลกตาของผู้พบเห็น เล่ากันว่าเมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) มาเห็นเข้าก็ออกปากว่า เหมือน “ฝรั่งใส่ชฎา” ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยที่เห็นภาพชัด
ดูยอดปราสาทของพระที่นั่งจักรีฯแล้ว ก็ลองมุดลงไปใต้ดินใต้พระที่นั่งกันหน่อย ในการวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๒๕ จะเป็นพิเศษกว่าการวางศิลาฤกษ์ทั่วไป หนังสือข่าวราชการยุคนั้นรายงานว่า
“ศิลาจารึกดังกล่าวทำเป็น ๒ ชุด ชุดหนึ่งๆประกอบด้วยศิลาจีน ๒ แท่ง แท่งหนึ่งๆกว้างประมาณ ๑ ศอก หนา ๑ ศอก ยาว ๒ ศอก เจาะเป็นวงตรงกลาง สามารถบรรจุหีบตะกั่วขนาดใหญ่ใส่ของสำคัญได้...”
หีบตะกั่ว ๒ ใบยาว ๑ ศอก ๒ นิ้ว ที่ฝังไว้ใต้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ หนังสือข่าวราชการยังให้รายละเอียดไว้ว่า บรรจุสิ่งของสำคัญไว้ ๕๓ รายการเหมือนกันทั้ง ๒ ใบ มีเงินเหรียญ เงินพดด้วงที่ใช้ในรัชกาลต่างๆ พร้อมกับรูปถ่ายสถานที่และสิ่งของต่างๆในสมัยรัชกาลที่ ๕
ด้านหน้าทั้งสองข้างของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะมีทหารยามยืนนิ่งเหมือนดังรูปปั้น ทั้งสายตาก็ไม่หลุกหลิก มีนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปด้วยไม่แพ้ทหารยามหน้าพระราชวังบัคกิงแฮมที่ลอนดอน แหม่มบางคนถือโอกาสคล้องแขนเสียเลย ทหารก็ยังยืนนิ่งเป็นรูปปั้นไม่ยอมกระดิก แต่พอถูกนักเรียนสาวแซวก็อดยิ้มไม่ได้เหมือนกัน
ด้านตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งสวยงามวิจิตรตระการตาอีกองค์หนึ่ง คือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งเก่าแก่กว่าทุกองค์ในพระบรมมหาราชวัง แต่องค์นี้ก็ไม่ใช่องค์แรกที่สร้าง แต่สร้างใหม่เป็นครั้งที่ ๒
พระที่นั่งองค์แรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงสร้างขึ้นตรงนี้ มีชื่อว่า พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นปราสาทที่สร้างด้วยไม้ทั้งองค์ นำแบบพระที่นั่งสรรเพชรมหาปราสาทที่กรุงศรีอยุธยามาสร้าง เคยใช้เป็นที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ต่อมาได้ถูกฟ้าผ่าที่หน้ามุข เกิดไฟลุกไหม้จนลามไปทั้งหลัง ต้องรื้อออกสร้างใหม่ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้สร้างตามแบบเดิม ให้สูงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งพระบรมศพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแม้จะสวรรคตที่กรุงลพบุรี ก็นำพระศพมาตั้งที่พระที่นั่งสุริยามรินทร์ด้วย เป็นที่เข้าใจกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชประสงค์จะสร้างพระที่นั่งองค์นี้สำหรับประดิษฐานพระบรมศพ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้นำพระศพของพระบรมชนกนาถมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบมา
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุข กว้างยาวเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน ภายในมีศิลปวัตถุล้ำค่าตั้งประจำอยู่ ๒ สิ่ง คือ พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก และ พระแท่นราชบรรจถรณ์ประดับมุก ซึ่ง เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) สร้างถวายรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระยาอุทัยธรรม ผู้บังคับการกรมช่างมุก ฝีมือแกะสลักฝังมุกนั้นละเอียดประณีตงดงาม จัดเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของชาติ
ระหว่างกลางของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีพระที่นั่งเป็นปราสาทไม้องค์เล็กอยู่อีกองค์ ด้านข้างเปิดโล่งไม่มีฝา คือ พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพลับพลาสำหรับประทับพระราชยานในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา
พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท มีรูปทรงสวยงามเหมาะสมทุกสัดส่วน ฝีมือการสร้างปราณีตงดงามมาก กรมศิลปากรเคยจำลองแบบไปสร้างเป็น “ศาลาไทย” ในงานมหกรรมนานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศมาก หนังสือพิมพ์ในหลายประเทศได้กล่าวชมเชยและสดุดีศิลปการก่อสร้างของชาติไทยไว้อย่างสูง
ด้านหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีกำแพงกั้นอีกชั้นหนึ่ง เป็นพระราชฐานชั้นใน ซึ่งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ก่อนเป็นที่หวงห้ามสำหรับผู้ชาย คนัง เงาะป่าจากพัทลุง ตัวเอกในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ที่ ร.๕ ทรงเลี้ยงดูมาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ก็เติบโตอยู่ในพระราชฐานชั้นนี้ แต่เมื่ออายุ ๑๔ ก็ต้องออกมาอยู่ข้างนอก
ถ้ามีกิจธุระจำเป็น ก็ผ่อนผันให้ผู้ชายเข้าไปในพระราชฐานชั้นนี้ได้ แต่ก็มีกฎระเบียบควบคุมอยู่หลายอย่าง เช่น ต้องมีเจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลคุมเข้าไป และเข้าไปได้เฉพาะที่ที่มีกิจธุระเท่านั้น จะเดินไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมรู้เห็น ในเวลากลางคืน ถ้าจะเดินไปไหนจะต้องถือตะเกียงหรือเทียนไขไปด้วย
ถ้าผู้ชายมีเหตุจำเป็นจะต้องนอนค้างในพระราชฐานชั้นนี้ เช่นหมอ หรือผู้ควบคุมหมอ ถ้าได้รับอนุญาตแล้วก็นอนค้างได้ แต่ห้ามไม่ให้กางมุ้งนอน ต้องนอนโล่งๆให้เห็นว่าไม่ได้ออกจากมุ้งหลบไปมุดมุ้งอื่น
ในพระราชฐานชั้นนี้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน จึงห้ามสามัญชนเข้ามาเกิดมาตายในพระราชฐานชั้นนี้ ถ้าบังเอิญมีสามัญชนไปคลอดลูกในเขตพระราชฐานชั้นใน จะต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง อันเป็นพิธีแก้เสนียดของพราหมณ์ เพราะถือว่ามีโลหิตตกในพระราชวัง และยังต้องทำพิธีสมโภชน์ มีละครฉลองประตูพระราชวังทั้ง ๔ ทิศ ฉะนั้นจึงมีกฎห้ามคนท้องเข้าพระราชฐานชั้นใน
การตายก็เช่นกัน ใน พ.ศ.๒๔๐๙ สมัยรัชกาลที่ ๔ มีเจ้าจอมคนหนึ่งชื่อ เป้า ทำโทษทาสชื่อ อีกิมจู ซึ่งหนีไป พอจับตัวกลับมาได้ ก็ผูกมือเฆี่ยนจนขาดใจตายในเขตพระราชฐานชั้นใน มีรับสั่งให้เจ้าจอมเป้าจัดละครทำขวัญประตูพระราชวังทุกประตู
พระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือว่าเป็น “เพชรหัวแหวนของกรุงเทพมหานคร” ส่วนที่เรียกว่า “เกาะรัตนโกสินทร์” ก็เป็นส่วนเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน มีร่องรอยประวัติศาสตร์ให้กล่าวถึงอีกมาก ตอนหน้าจะขอพาคุณๆไปทอดน่องท่องเที่ยวชมเกาะรัตนโกสินทร์ เมืองที่เรามองผ่านกันอีกครั้ง