สมัยก่อน ไฟไหม้เป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ แม้ในสมัยที่มีถนนแล้วบ้านเรือนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไม้ บางหลังยังใช้ไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยจาก แม้แต่ห้องแถวริมถนนก็ยังเป็นห้องแถวไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี อีกทั้งอุปกรณ์ดับเพลิงก็ยังไม่ค่อยพร้อม ตอนที่มีรถราง รัฐบาลได้มีเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ขอให้มีรถบรรทุกน้ำไปช่วยฉีดถนนให้ด้วย เพราะตอนนั้นถนนยังเรียงด้วยอิฐแดง หน้าแล้งมีฝุ่นฟุ้งกระจาย บริษัทรถรางเลยตั้งหน่วยดับเพลิงขึ้นด้วย ดัดแปลงรถรางบรรทุกน้ำเป็นรถดับเพลิง แต่ก็ช่วยได้แต่ที่รถรางผ่านเท่านั้น ไฟไหม้จึงเป็นภัยที่น่ากลัวมากในสมัยนั้น
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ในเวลาบ่าย ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ถนนพาหุรัด ซึ่งเป็นย่านชุมชน ต้นเพลิงเกิดจากห้องแถวริมถนนซึ่งเป็นโรงยาฝิ่น ผู้อยู่ใกล้เคียงจะเข้าไปช่วยดับไฟ แต่เจ้าของโรงยาฝิ่นที่เป็นคนจีนกลับปิดประตูไว้ เพราะเกรงคนจะเข้าไปในขณะตนกำลังสาละวนเก็บข้าวของสำคัญหนีไฟ ไฟจึงโหมขึ้นอย่างแรงจนยากจะดับ อีกทั้งบ้านเรือนรอบด้านแม้จะอยู่กลางเมืองก็ล้วนเป็นไม้ ไฟจึงลามอย่างรวดเร็ว แม้ย่านพาหุรัดจะอยู่ใกล้บริษัทรถรางที่ข้างวัดเลียบ เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน แต่มีลมแรงหอบลูกไฟเป็นดวงๆปลิวไปตกรอบบริเวน และยังปลิวข้ามถนน เลยเกินกำลังที่รถรางดับเพลิงจะรับไหว
ที่สำคัญ ต้นเพลิงครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้วังบูรพาภิรมย์ ของพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทางด้านทิศตะวันตก และลามไปทางด้านวัดมงคลสมาคมเมื่อแรกตั้ง ซึ่งเป็นวัดของหมู่บ้านญวนที่อยู่ด้านหลังวังบูรพา ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ถนนแปลงนามในปัจจุบัน ลูกไฟที่ปลิวว่อนอยู่ในอากาศยังปลิวไปตกในวังบูรพาฯ แต่ก็มีกำลังคนเตรียมดับไฟไว้อย่างแข็งขัน ยังพอป้องกันไฟได้ แต่ลูกไฟที่ปลิวข้ามถนนแต่บ้านเรือนรอบด้านนอกจากจะเป็นชุมชนตับคั่งแล้ว ยังมีบ้านของขุนนางอยู่หลายคน นับเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ ทั้งยังไหม้ในสถานที่สำคัญ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งมายังที่ไฟไหม้ ทำให้เหล่าทหารและพลตระเวนที่ดับไฟอย่างแข็งขันมีกำลังใจกันมากขึ้น หลายคนก็เสี่ยงอันตรายอย่างกล้าหาญต่อหน้าพระพักตร์จนได้รับการบาดเจ็บและถูกไฟลวกก็มี
พระพุทธเจ้าหลวงทรงบัญชาการดับไฟอยู่ที่ถนนพาหุรัด พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จมาหลายพระองค์ เมื่อทอดพระเนตรเห็นเหล่าทหารและพลตระเวนต่างแข็งขันไม่กลัวอันตราย ทรงหันมารับสั่งกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จว่า “ต้องให้เขา” ทรงหมายถึงรางวัลและความดีความชอบในการดับไฟครั้งนี้
แต่กระนั้นไฟที่ลุกไหม้ก็ดูจะเกินกำลังดับ แต่เหมือนปาฏิหาริย์ ท้องฟ้าที่โปร่งใสมีแสงแดดจ้านั้น กลับมีเมฆฝนก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระหน่ำสายฝนลงมาอย่างหนัก ทำให้ไฟที่ลุกไหม้อย่างรุนแรงซาลง และดับสนิทในไม่ช้า ทำให้คนที่เผชิญอัคคีภัยและคนที่มาช่วยดับ ต่างพนมมือท่วมหัวกันทั่วหน้า ด้วยความเชื่อในบุญบารมีและปาฏิหาริย์
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงออกจากวังมาบัญชาการดับไฟที่ไหม้กลางเมืองด้วยพระองค์เอง