xs
xsm
sm
md
lg

ยังจำได้ไหม..สารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย ตาย ๔๓ ป่วย ๑,๗๐๐! อีก ๑๐ ปียังพบเป็นมะเร็ง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


(ภาพจาก 9 MCOT)
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๑๕๓๔ ได้เกิดระเบิดครั้งรุนแรงขึ้นที่โกดังของท่าเรือคลองเตย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งรุนแรงของโลกด้วย เพราะเกิดระเบิดจากสารเคมีที่ยากต่อการดับ แม้จะใช้รถดับเพลิงกว่า ๑๐๐ คัน พนักงานดับเพลิงกว่า ๕๐๐ คน ก็ยังต้องใช้เวลาถึง ๓ วันกว่าจะควบคุมเพลิงได้ แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนในรัศมี ๑ กม. พังเสียหายและเกิดไฟไหม้ บ้านไม้ในชุมชนคลองเตย ๖๔๒ หลังกลายเป็นทะเลเพลิง มีผู้ไร้ที่อยู่กว่า ๕,๐๐๐ คน นอกจากจะทำให้มีคนตายทันทีในที่ระเบิด ๔ คนแล้ว สารพิษที่ฟุ้งกระจายในอากาศยังทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสกว่า ๓๐ คน เป็นพนักงานดับเพลิง ๑๖ คน ผู้ป่วยจากสารพิษต้องเข้ารับการรักษา ๑,๗๐๐ คน เป็นหญิงมีครรภ์ถึง ๔๙๙ ราย ในจำนวนนี้มีคนทยอยตายไปอีก ๓๙ คน หลายคนก็พิการ อีก ๑๐ ปีต่อมายังพบว่าพยาบาลและตำรวจที่เข้าไปทำงานในครั้งนั้นเป็นมะเร็งตาย แต่ทว่าความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรงครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดต้องรับผิด เพราะเป็น “อุบัติเหตุ” และขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อย่างรัดกุม

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ NIC จึงมีการสั่งสารเคมีเข้ามามากเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม โดยที่ยังมีความรู้ด้านนี้กันน้อย ในวันเกิดเหตุราวบ่ายโมงครึ่ง สารเคมีของบริษัทต่างๆที่เก็บอยู่ในโกดังเก็บสารอันตรายของท่าเรือคลองเตย เกิดความร้อนจึงเกิดระเบิดขึ้นในโกดัง ๓ ก่อน แล้วลามไปถึงโกดัง ๔ และโกดัง ๕ ที่อยู่ติดกัน เปลวไฟและควันจากสารพิษพวยพุ่งขึ้นสู่อากาศเป็นดอกเห็ดสูง นอกจากเศษวัสดุต่างๆทั้งแผ่นเหล็ก เศษปูน และกระเบื้องจะกระจายไปตกในชุมชนแออัดที่เรียกกันว่า เกาะลาว ที่อยู่ใกล้กับโกดังแล้ว ยังมีลูกไฟเป็นก้อนปลิวไปตกด้วย ทำให้พื้นที่ ๕ ไร่ของชุมชนกลายเป็นทะเลเพลิง ควันพิษและเขม่าจากสารเคมีครอบคลุมท้องฟ้ากรุงเทพฯในรัศมี ๑๓ กิโลเมตร

เมื่อรถดับเพลิงมาถึงและระดมกันดับไฟ กลับทำให้เกิดระเบิดต่อเนื่องไปอีก เมื่อน้ำทำปฏิกิริยากับสารเคมี ควันดำและกลิ่นสารพิษตลบไปทั้งบริเวณ ในที่สุดกรมวิทยาศาสตร์ กองทัพบก ก็เข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการนำทรายหนาถึง ๑ เมตรเข้าถมกลบ และขนย้ายกากสารเคมีที่เหลือจากไฟไหม้ไปฝังในพื้นที่ทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี

ไฟไหม้ครั้งนี้ไม่ได้จบเมื่อไฟดับ แต่คนป่วยจากควันพิษจำนวน ๑,๗๐๐ คนที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล ต่างทยอยตายกันเรื่อยๆ แม้ที่กลับบ้านได้ก็ยังต้องอยู่ในการรักษาดูแลของแพทย์อีกเป็นปี ปัญหาสำคัญก็คือแพทย์ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าอาการเกิดจากสารเคมีชนิดใด เพราะปะปนกันหลายชนิด บ้างก็มีอาการทางระบบหายใจ บ้างก็มีโรคแทรกซ้อน เช่นเป็นเนื้องอก เป็นมะเร็ง

๑๐ ปีต่อมาก็ปรากฏข่าวนางพยาบาลผู้หนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่เข้าไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยในชุมชนอยู่ ๓ เดือน ได้ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่ามาจากเข้าไปทำงานในชุมชนตอนนั้น และได้รับฝุ่นสารพิษมาทุกครั้ง เพราะไม่ได้ใช้หน้ากากอนามัย ข่าวการป่วยของพยาบาลผู้นี้ ยังทำให้ตำรวจนายหนึ่งซึ่งเคยทำหน้าที่จราจรในที่เกิดเหตุครั้งนั้น โดยไม่ได้ใช้หน้ากากอนามัยเช่นกัน เปิดเผยตัวว่ามีอาการเช่นเดียวกับพยาบาล แล้วทั้งสองรายก็ไม่รอด

แม้แต่กากสารเคมีที่กรมวิทยาศาสตร์ ทหารบก นำไปฝังในพื้นที่ทหารที่จังหวัดกาญจนบุรีก็ไม่จบ เพราะเกิดมีการรั่วไหลออกจากรอยแตกของหลุมซีเมนต์ลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้คนที่ลงไปอาบน้ำเป็นโรคผื่นคันกันทั้งตัว ชาวเมืองกาญจน์จึงรวมกันต่อต้าน จนต้องมีการขุดกากสารเคมีขึ้นมา และฝังกลบใหม่ด้วยความรู้ในการกำจัดที่มีมากขึ้น

ทุกวันนี้แม้เราจะมีความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น และมีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังมีคนมักง่ายนำกากสารเคมีอันตรายไปแอบทิ้งในที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งนับเป็นบุคคลอันตรายยิ่งสำหรับสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น