เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นคำที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่ออนุรักษ์สิ่งก่อสร้างและโบราณสถานในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ให้คงสภาพเดิมไว้ได้มากที่สุด อีกทั้งควบคุมอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่ ไม่ให้สูงเกิน ๑๖ เมตรเฉพาะพื้นที่ในเขตคูเมืองเดิม และไม่ให้เกิน ๒๐ เมตรในพื้นที่นอกคูเมืองเดิมออกไปถึงคลองรอบกรุง
สิ่งก่อสร้างและโบราณสถานของเกาะรัตนโกสินทร์ จึงบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจทั้งไทยและเทศ
จากพระบรมมหาราชวัง เมื่อออกจากประตูวิเศษไชยศรี ข้ามถนนหน้าพระลานไป จะเป็นถนนหน้าพระธาตุเลียบสนามหลวงด้านตะวันตก ซ้ายมือก็คือกรมศิลปากร เดิมเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างเพื่อเป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เป็นโรงงานช่างสิบหมู่ ต่อมารัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้รวมงานช่างกับงานพิพิธภัณฑ์จัดตั้งเป็นกรมศิลปากร อาคารเป็นตึก ๒ ชั้นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ภายในตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมปูนเปียกลายพันธุ์พฤกษางดงาม
ด้านหลังของกรมศิลปากร เดิมเป็นวังท่าพระ หันหน้าออกถนนหน้าพระลาน ก็คือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในบริเวณนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์แห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ แสดงผลงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม งานศิลปะของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและศิษย์ของท่านไว้มากมาย
ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกอย่าง คือ ท้องพระโรงที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ใช้เป็นที่ว่าราชการในสมัยก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓
ต่อจากกรมศิลปากรตามถนนหน้าพระธาตุ จะเห็นอาคารสีแดงสะดุดตา แต่เดิมเรียกกันว่า “ตึกถาวรวัตถุ” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นที่นั่งทรงธรรมในงานพระเมรุมาศ ด้วยทรงเห็นว่าการสร้างพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงนั้นไม่มีสิ่งใดถาวร เมื่อเสร็จงานก็รื้อทิ้ง ควรจะสร้างสิ่งที่เป็นอาคารถาวรสำหรับใช้เป็นพระที่นั่งทรงธรรม เมื่อจะมีงานพระราชทานเพลิงพระศพก็เพียงแต่สร้างเมรุเท่านั้น เมื่อว่างเว้นการใช้งานพระเมรุ ก็ให้ใช้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โปรดเกล้าให้ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงออกแบบ เป็นอาคารมียอดปรางค์ ๓ ยอด ตามแบบนครวัด แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชกาล ๖ โปรดเกล้าฯให้ใช้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร ก่อนจะย้ายมาอยู่ข้างท่าวาสุกรี ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดนิทรรศน์การพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์
สุดตึกถาวรวัตถุ จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อยู่ในพื้นที่ของวัดมหาธาตุ ซึ่งคณะศิษย์วัดมหาธาตุร่วมกับข้าราชการและประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ วัดนี้เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรฯยังเป็น นายสุจินดา หนีพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาตอนกรุงแตก เพื่อจะไปหาพี่ชายที่เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี บางครั้งต้องคว่ำเรือให้ลอยตามน้ำขณะผ่านด่านพม่า โดยซ่อนตัวอยู่ในนั้น มาสว่างที่หน้าวัดสลักพอดี เลยอธิษฐานว่าถ้ามีอำนาจวาสนาต่อไปจะมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดสลัก และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดนิพพานาราม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้วัดนี้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎก และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” จนถึง พ.ศ.๒๓๔๖ จึงได้พระราชทานนามใหม่อีกครั้งว่า “วัดมหาธาตุ” ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ได้พระราชทานสร้อยนามเพิ่มเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร ว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์”
พ้นจากเขตวัดมหาธาตุ ก็จะเห็นกำแพงชราของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณมหาวิทยาลัยทั้งหมดรวมกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ ก็ตือบริเวณวังหน้าเดิม หน้าโรงละครแห่งชาติจึงมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์คู่ในรัชกาลที่ ๔
ด้านหลังของโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์ จะมีโบสถ์ใหญ่หลังหนึ่งตั้งอยู่ นั่นก็คือพระอุโบสถของวัดบวรสุทธาวาส สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จากแนวคิดเช่นเดียวกับการสร้างวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง จึงเรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า”
สุดเขตวังหน้าด้านนี้ ก็คือปากคลองคูเมืองเดิมด้านเหนือ แต่ก่อนมีขั้นบันไดกว้างลงสู่แม่น้ำ เป็นที่สำหรับช้างของวังหน้าลงอาบน้ำ เรียกกันว่า “ท่าช้างวังหน้า” และมี “สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘” ข้ามคูเมืองเดิมไปถนนพระอาทิตย์ การออกแบบเน้นให้กลมกลืนกับท่าช้างวังหน้า พนักสะพานเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ที่สุดเชิงสะพานเป็นเสาสูงคู่ รองรับเครื่องบนแบบคลาสสิคประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ จปร. มีช่อชัยพฤกษ์ล้อมอยู่บนสุดเทิดสู่สวรรค์ แต่บัดนี้ทุกอย่างเป็นอดีตไปแล้วเมื่อมีการสร้างสะพาน “สมเด็จพระปิ่นเกล้า” ในปี ๒๕๑๔ คร่อมปากคลองคูเมืองด้านนี้ และสร้างถนนเป็นทางขึ้นทางลงสะพานทับบนคลอง เปิดให้น้ำผ่านรอดใต้ถนน ส่วนท่าช้างวังหน้าก็กลายเป็นอาคารศูนย์ท่องเที่ยวของ กทม.ไป
เลียบคลองคูเมืองเดิมไปถึงสนามหลวงด้านเหนือ ตรงสะพานผ่านพิภพลีลาซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่หัวถนนราชดำเนินใน คือที่ตั้งของ พระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือ อุทกทาน โดยพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่จะพระราชทานน้ำดื่มสะอาดให้ประชาชน ปั้นโดยฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ร่วมกับพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุทกทานถูกขโมยอุปกรณ์จ่ายน้ำไปจนหมด เมื่อซ่อมแซมใหม่ก็ไม่มีการจ่ายน้ำดื่มอีก
หลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีอาคารหลังใหญ่ ๒ ชั้น ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในโอกาสสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ออกแบบโดย นายโจอาคิม แกรซี โปรดเกล้าฯให้รวบรวมศาลตามกระทรวงต่างๆมาอยู่แห่งเดียวกันที่ตึกนี้ พระราชทานนามว่า “ศาลสถิตย์ยุติธรรม” ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้ก่อสร้างศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ขึ้นใหม่ อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมแห่งนี้ จึงเป็นที่ทำการของศาลฎีกาเท่านั้น
จากศาลฎีกาก็ถึงศาลหลักเมือง เป็นศาลที่ก่อสร้างพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองตามลัทธิพราหมณ์ มีการทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ในเวลาย่ำรุ่งแล้ว ๔๕ นาที ต่อมาอีก ๗๐ ปี ใน พ.ศ.๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเชี่ยวชาญในเรื่องโหราศาสตร์ ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่งเพื่อแก้เคล็ดดวงเมือง ปัจจุบันเสาหลักเมืองของกรุงเทพมหานครจึงมี ๒ เสาคู่กัน
ถัดจากเสาหลักเมือง จะเป็นอาคารหลังใหญ่และเด่นสะดุดตาของกรุงรัตนโกสินทร์ คือศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เดิมบริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นวังของพระเจ้าลูกยาเธอ ๓ วัง ต่อมาถูกทิ้งร้างและใช้เป็นโรงม้า โรงช้าง และโรงสีข้าวของทหาร จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งกรมทหารหน้าขึ้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างอาคาร ๓ ชั้น เป็นที่อยู่ของทหารได้ถึง ๑ กองพลน้อย พร้อมด้วยอาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ เสบียงอาหารและโรงครัว ทั้งตรงกลางที่มีตึกล้อมรอบยังเป็นสนามฝึกทหาร สิ้นค่าก่อสร้างไป ๕,๐๐๐ ชั่ง หรือ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ยกฐานะเป็น กรมยุทธนาธิการ กระทรวงยุทธนาธิการ และกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ซึ่งด้านหน้าได้จัดแสดงปืนใหญ่โบราณเป็นพืพิธภัณฑ์กลางแจ้งด้วย
มาถึงจุดนี้ต้องทันสมัยหน่อย อย่าลืมลงไปชมสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าสถานีเดียวที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ และลือลั่นว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าสวยที่สุดในประเทศไทย งามเกินบรรยายได้ ต้องไปดูเองว่าเกิดสิ่งล้ำค่าอีกอย่างของเกาะรัตนโกสินทร์ซ่อนอยู่ใต้ดินตรงนี้
สถานที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ถัดไป ก็คือ พระราชวังสราญรมย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อจะใช้เป็นที่ประทับหลังสละราชสมบัติ พระราชทานนามว่า “สราญรมย์” แต่ก็สวรรคตเสียก่อนเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างต่อจนสำเร็จ ใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และมีกาสได้ต้อนรับ ประธานาธิบดียูลิซิส ซิมป์สัน แกรนท์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้ามาเมืองไทยเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๒๒ หลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี และพักอยู่ในเมืองไทย ๑ สัปดาห์ ได้เข้าพักที่วังสราญรมย์ หลังจากเข้าเฝ้าแล้ววันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๖ พรรษา เสด็จไปเยี่ยมที่วังสราญรมย์ ต่อมาทรงเปิดเผยว่าได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่คนไทยกินเหล้ามาก เพราะเหล้าราคาถูกมาจากต่างประเทศ
ประธานาธิบดีแกรนท์ได้ทูลว่าทุกประเทศมีปัญหานี้ ซึ่งต้องคิดรักษาพลเมืองด้วยการเก็บภาษีให้สูง คนจะได้ไม่เมามากเกินไป ซึ่งวันนี้ทั้งไทยและต่างประเทศก็ยังใช้วิธีนี้
ราชอาคันตุกะสำคัญอีกองค์ที่เข้ามาพักวังสราญรมญ์ ก็คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย ได้เข้ามาใน พ.ศ.๒๔๓๖ ขณะยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร นอกจากจะเสด็จเยี่ยมทุกวันแล้ว ร.๕ ยังทรงนำมกุฎราชกุมารรัสเซียประพาสทางชลมารคไปประทับพระราชวังบางปะอิน
ต่อมาในปี ๒๔๔๐ เมื่อสมเด็จพระปิยะมหาราชเสด็จประพาสยุโรป ประเทศที่พระองค์ทรงมุ่งหวังที่สุดก็คือรัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสขึ้นครองราชย์แล้ว ในการเสวยพระกระยาการค่ำร่วมกันในวันที่ ๔ กรกฎาคม สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจจากยุโรป ในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์จึงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียนำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรป แน่นอนว่าภาพนี้สั่นสะเทือนยุโรปพอควร และเป็นผลแก่ราชอาณาจักรสยามอย่างมาก
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา พระราชวังสราญรมย์เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ มีพื้นที่ติดกับพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งในสมัยก่อนใช้เป็นที่จัดงานฤดูหนาว เช่นงานฉลองรัฐธรรมนูญและการประกวดนางสาวไทย ปัจจุบันส่วนที่เป็นพระราชอุทยานจัดเป็นสวนสาธารณะภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร ด้านติดสนามไชยยังมีการก่อสร้างทำเนียบองคมนตรี ใช้เป็นที่ทำการขององคมนตรี
ต่อจากวังสราญรมย์ไปก็คือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หรือชื่อเดิมก็คือ กรมการรักษาดินแดน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวังสนามไชย วังท้ายหับเผย ของพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสวนเจ้าเชตุ มีเนินดินตรงกลางเป็นที่ตั้งของศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระเจตคุปต์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ทรงย้ายศาลออกและปรับที่ดินสร้างเป็นอาคารสำหรับทหารราชวัลลภ จนในปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้ย้ายกรมการรักษาดินแดนที่ไปปักหลักอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งที่นี่
ตรงข้ามฝั่งถนนกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ก็คือ วัดพระเชตุพน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย จากการนำตำรายาโบราณต่างๆมาจารึกไว้บนแผ่นศิลาให้ผู้สนใจเข้าศึกษา รวมทั้งสลักท่าฤาษีดัดตนอันเป็นตำรานวดแผนโบราณไว้ จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำของโลก วัดโพธิ์ยังเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปที่ถูกทอดทิ้งตามหัวเมืองต่างๆมาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ปัจจุบันวัดโพธิ์เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างมากไม่น้อยไปกว่าวัดพระแก้ว
ต่อจากวัดโพธิ์ไปทางปากคลองคูเมืองด้านใต้ เป็นกลุ่มวังเก่าอีก ๓ วังเช่นกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าใช้เป็นที่ทำการตั้งแต่แรกตั้งมาเป็นเวลาถึง ๗๐ ปี ก่อนจะย้ายไปสร้างที่ทำการกระทรวงใหม่ในที่ดินราชพัศดุในตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันสถานที่นี้ก็คือ มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
ตรงปากคลองตลาด หรือปากคลองคูเมืองเดิมด้านใต้นี้ ถ้าผ่านไปก็อย่าลืมหันสายตาไปมองสถานีตำรวจพระราชวังเสียหน่อย สถานีตำรวจแห่งนี้ถือกันว่าเป็นโรงพักที่สวยที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารชั้นเดียวและเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังเก่า ส่วนโรงเรียนราชินีที่อยู่ตรงข้ามฟากถนน ก็เคยเป็นป้อมบางกอกของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากโรงเรียนราชินีไปตามถนนมหาราช จะผ่านวังจักรพงษ์ เดิมเรียกกันว่า “วังท่าเตียน” เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงสร้างพระตำหนักริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ปัจจุบันเป็นที่พำนักของราชสกุลจักรพงษ์
ถัดจากวังจักรพงษ์ไปก็เป็นตลาดท่าเตียน ตลาดเก่าแก่ของกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ากันว่าที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะเกิดไฟไหม้จนเตียนราบไปทั้งย่าน บ้างก็ว่ายักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งรบกันจนย่านนี้เตียน สายนี้คงอ่านนิทานมากไปหน่อย แต่สายประวัติศาสตร์เล่าว่า ในสมัยกรุงธนบุรี องเชียงชุน ราชวงศ์ของญวนองค์หนึ่งลี้ภัยการเมืองเข้ามา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านนี้ ชาวญวนกลุ่มนี้จึงเรียกย่านที่อยู่ของตัวว่า ฮาเตียน ตามชื่อเมืองที่เคยอยู่มา และเพี้ยนมาเป็นท่าเตียน
ตลาดท่าเตียนเป็นตลาดเก่าแก่มาแต่สมัยโบราณ เป็นที่ชุมนุมสินค้าที่มาทางเรือ และเป็นสถานีเรือเขียว เรือแดง เรือโดยสารที่วิ่งรับส่งสินค้าและผู้โดยสารไปอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี
จากท่าเตียนก็เป็น ท่าราชวรดิฐ เป็นท่าเรือสำหรับเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทั้งขุนนางสมัยก่อนก็ใช้การสัญจรทางน้ำกันมาก เพราะอยู่ริมแม่น้ำและในคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย ท่าราชวรดิฐจึงเป็นท่าเรือของพระบรมมหาราชวังโดยเฉพาะ
จากท่าราชวรดิฐ ก็เป็น ท่าช้างวังหลวง ซึ่งเป็นที่ลงอาบน้ำของช้าง หรือนำช้างเผือกจากหัวเมืองมาทางแพก็ต้องมาขึ้นที่ท่านี้ ถัดไปยังมี ท่าพระจันทร์ อยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะเคยเป็นตั้งของ ป้อมพระจันทร์ ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ปัจจุบันทั้งท่าช้างและท่าพระจันทร์เป็นท่าเรือข้ามฟากและท่าเรือของนักท่องเที่ยวทางน้ำ รวมทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา
วนมาจนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ด้านในของคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นคูเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ยังมีการขุดคลองคูเมืองขยายออกไปอีกรอบ เรียกว่า คลองรอบกรุง จากปากคลองบางลำพูถึงปากคลองโอ่งอ่าง กรุงรัตนโกสินทร์จึงมีเกาะรอบนอกอีกชั้น สัปดาห์หน้าก็จะขอพาไปเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์รอบนอกกันอีกสักครั้ง