เป็นความหวังทั่วกันว่า วันนี้ต้องดีกว่าวันวาน ชีวิตปีใหม่จะต้องสดใสกว่าปีเก่า และเพื่อให้ความหวังนี้เป็นไปตามที่หวัง จึงควรจะเสริมสิริมงคล เสริมกำลังใจรับปีใหม่ อยากจะชวนคุณๆไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๙ แห่ง เพื่อเป็นมงคลแห่งชีวิต เป็นกำลังใจรับปีใหม่
คุณอาจจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถืออยู่แล้วในใจ แต่รายการนี้จะเสนอ ๙ สถานที่ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันนัก ใครกำลังดีก็ถือโอกาสออกกำลังทอดน่องท่องเที่ยวชมบ้านชมเมืองไปด้วย ไม่ต้องไปเหนื่อยใจกับการหาที่จอดรถ และแวะชิมข้างทางไปด้วยก็ได้ ย่านนี้ก็มีชื่อเสียงในด้านของอร่อยให้ชิมอยู่เยอะ
แห่งแรกจะชวนกันเริ่มต้นกันที่ วัดชนะสงคราม วัดนี้เดิมเป็นวัดเล็กๆมาตั้งแต่โบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อว่า วัดกลางนา ต่อมา สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงรวบรวมชาวรามัญที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามถึง ๓ ครั้ง คือ สงคราม ๙ ทัพ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ สงครามท่าดินแดงและสามสบ พ.ศ.๒๓๒๙ สงครามที่ลำปางและป่าซาง พ.ศ.๒๓๓๐ ซึ่งได้ชัยชนะมาทั้ง ๓ ครั้ง ให้มาอยู่รอบวัดนี้ เพื่อตอบแทนคุณความดีและเทิดเกียรติของทหารชาวรามัญ พร้อมกับบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกลางนาขึ้นใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดตองปุ ตามชื่อวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาทรงสถาปนาวัดตองปุขึ้นน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการชนะสงครามครั้งนั้น
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บุด้วยดีบุกแล้วลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑.๓ เมตร มีนามว่า “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชษฐ์มเหทธิศักดิ์ ปูชนียชะยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ” และบนฐานเดียวกันนี้ ยังรายล้อมไปด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยเช่นเดียวกันอีก ๑๖ องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ๕ องค์ ทิศตะวันตก ๕ องค์ ทิศเหนือ ๓ องค์ และทิศใต้ ๓ องค์ แต่ละองค์หน้าตักกว้าง ๐.๙๕ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ตามความเชื่อที่ว่า มีพระพุทธเจ้า ๑๖ พระองค์ ตั้งแต่พระสมณโคดมย้อนขึ้นไป
คติโบราณนับถือกันว่า พระพุทธเจ้า ๑๖ พระองค์นี้ทรงคุณในทางประสิทธิ์ประสาทชัยชนะเหนือศัตรู
ไหว้พระวัดชนะสงคราม ศัตรูผู้คิดร้ายจะพ่ายแพ้ตลอดปี ๒๕๖๓
จากวัดชนะสงคราม เดินผ่านตลาดบางลำพู หรือจะผ่านไปทางถนนข้าวสาร ชมแหล่งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศก็ได้ ทะลุออกถนนตะนาว เข้าถนนสิบสามห้าง ไป วัดบวรนิเวศวิหาร
ความสำคัญของวัดบวรฯ นอกจากจะเป็นวัดเดียวที่อดีตเจ้าอาวาสได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว ยังเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ได้ทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ได้แก่รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ รัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย มีสัดส่วนสวยงาม เด่นเป็นสง่าเหนือฐานทองบนชุกชี ซึ่งพระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปศักด์สิทธิ์ของเมืองเหนือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้อัญเชิญมาจากวิหารวัดพระมหาศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์นี้บรรจุพระบรมสรีรางคารรัชกาลที่ ๖ ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่หลังพระพุทธชินสีห์ ก็คือ พระสุวรรณเขต หรือที่เรียกกันว่า หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อเพชร เดิมเป็นพระประธานของวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี อัญเชิญมาเป็นพระประธานของวัดบวรฯในรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน
ส่วนเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ บนฐานชุกชียังประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัดบวรฯ ๓ องค์เรียงกันจากซ้าย คือ สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่เก๋งจีนบนฐานเจดีย์ใหญ่หลังพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศ ซึ่งตามปกติจะไม่เปิดให้ขึ้นไป แต่จะเปิดให้นมัสการรับปีใหม่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ถึง ๓ มกราคม
วัดบวรฯมีสิ่งดีๆมากมาย ไหว้พระวัดบวรฯจะพบแต่สิ่งดีๆตลอดปี ๒๕๖๓ อริไพรีจะพินาศ
จากวัดบวรฯไปตามถนนตะนาว ข้ามแยกราชดำเนินกลางจนถึง ศาลเจ้าพ่อเสือ ช่วงนี้ค่อนข้างจะยาวไปหน่อย ถ้ากำลังขาไม่ดีก็อาจต้องเรียกรถมาช่วย
ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ที่มีผู้เคารพนับถือมาแต่โบราณ เดิมอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง มีรูปเจ้าจีนทำด้วยทองคำหนัก ๑๒๐ บาท แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ถูกโจรปล้นไป ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการขยายถนนบำรุงเมือง จึงโปรดให้ย้ายศาลเจ้าพ่อเสือไปสร้างใหม่ในที่พระราชทานที่ถนนตะนาว ใกล้วัดมหรรณพาราม ซึ่งก็คือที่อยู่ในปัจจุบัน
ภายในศาลนอกจากจะประดิษฐานเจ้าพ่อเสือแล้ว ยังมีเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ประดิษฐานอยู่ด้วย เป็นที่เชื่อถือกันว่า เจ้าพ่อเสือให้พรในด้านทำมาค้าขาย ขอลูกชาย และชนะศัตรูหมู่มารทั้งปวง
ไหว้เจ้าพ่อเสือจะค้าขายร่ำรวย ศัตรูหมู่มารคู่แข่งทั้งหลายจะแพ้ภัยไปตลอดปี ๒๕๖๓
จากศาลเจ้าพ่อเสือ ผ่านแพร่งสรรพศาสตร์ย่านเก่าแก่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เดินชมร้านขายของหลากหลายริมคลองคูเมืองเดิม หลังกระทรวงกลาโหม แล้วข้ามคลองไปไหว้ ศาลหลักเมืองและศาลเทพารักษ์
ในศาลหลักเมืองจะมีเสาหลักเมืองถึง ๒ เสา ซึ่งสถาปนาขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสาหนึ่ง และยังสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อแก้เคล็ดเมืองอีกเสาหนึ่ง ทั้งยังมีศาลเทพารักษ์ผู้ปกปักษ์รักษาแผ่นดินสถิตอยู่อีก ๕ องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง และเจ้าพ่อเจตคุปต์
ไหว้ศาลหลักเมืองและศาลเทพารักษ์แล้ว ยังนิยมทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ผูกผ้า ๓ สี ๓ ศอก เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันอีกด้วย
ไหว้ศาลหลักเมืองจึงถือว่าตัดเคราะห์ต่อชะตา เสริมบารมี ชีวิตลงหลักมั่นคงในปี ๒๕๖๓
จากศาลหลักเมืองข้ามถนนสนามไชยไปที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อนมัสการสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ก็คือ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง การขอพรจากพระแก้วมรกตส่วนใหญ่จะขอแก้วแหวนเงินทอง ความมั่งคั่ง และความสุข
ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวนเงินทองจะไหลมาเทมา มั่งคั่งสมบูรณ์ มีความสุขตลอดปี ๒๕๖๓
จากวัดพระแก้ว ข้ามถนนไปที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งปืนใหญ่โบราณ แล้วเลาะถนนสนามไชยผ่านวังสราญรมย์ไปที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ นมัสการพระพุทธไสยาสน์ซึ่งถือว่างดงามที่สุด อันเป็นฝีมือของช่างสิบหมู่หลวงในรัชกาลที่ ๓ ที่รอยพระบาทจำหลักภาพมงคล ๑๐๘ ประการประดับมุก
นมัสการพระพุทธไสยาสน์แล้ว หลายคนคงเมื่อยเพราะเดินมาไกล จะคลายเมื่อยด้วยบริการนวดตามแผนโบราณของวัดโพธิ์ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นมรดกโลกไปแล้ว นอนให้เขาคลายเส้นสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็จะมีแรงเดินต่อได้สบายขึ้น
ไหว้พระนอนวัดโพธิ์ จะอยู่ดีกินดีตลอดปี ๒๕๖๓
ออกจากวัดโพธิ์ เดินไปหน่อยก็จะถึงท่าเรือปากคลองตลาด ข้ามฟากที่ท่านี้ก็จะถึงวัดกัลยาณมิตร ไหว้หลวงพ่อโต ที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่คนจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง
วัดกัลยาณมิตรสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ เรียกกันว่า กุฎีจีน แล้วสร้างเป็นพระอารามถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร ทั้งโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหาร และพระราชดำเนินมาทรงก่อพระฤกษ์พระโต เป็นพระประธานในวิหารหลวง ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นที่นับถือของคนจีน เรียกกันว่า ซำปอกง เชื่อถือว่าให้พรในด้านความปลอดภัยมีโชคลาภ
ไหว้หลวงพ่อซำปอกง จึงโชคดีมีลาภ ปลอดภยันตรายใดๆ ตลอดปี ๒๕๖๓
จากท่าเรือวัดกัลยาฯ ลงเรือด่วนเจ้าพระยาไปขึ้นท่าวัดอรุณราชวรารามได้เลย เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดแจ้ง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๒ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม และกลายเป็นวัดประจำรัชกาล
จุดเด่นของวัดนี้ก็คือพระปรางค์ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย ตอนนี้ได้รับการบูรณะใหม่ครั้งใหญ่แปลกตาไปกว่าเดิมจนได้รับเสียงวิจารณ์กันสนั่น มีโอกาสก็น่าจะไปชมให้เห็นกับตาว่า ใหม่กับเก่าอย่างไหนจะงามกว่ากัน
ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๗๕ เมตร ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก
ไหว้พระวัดอรุณฯชีวิตจะรุ่งโรจน์ตลอดปี ๒๕๖๓
จากวัดอรุณฯ ลงเรือด่วนเจ้าพระยาไปขึ้นที่ท่าวังหลัง ย่านนี้เป็นแหล่งใหญ่ของชิมช็อปอีกแห่งหนึ่ง มีสินค้าหลากหลายทั้งของกินของใช้อย่างที่จะหาย่านไหนอุดมสมบุรณ์เท่าได้ยาก ทั้งยังเป็นแหล่งร้านขายยาด้วยเพราะอยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราช เดินตามซอยวังหลังผ่านภัทราวดีเธียเตอร์ไปวัดระฆังได้ไม่ไกล
วัดระฆังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชศรี ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๒ ของกรุงธนบุรี และเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งเป็นที่นับถือของชนทุกชั้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบัน วิหารของทั้งสองสมเด็จนี้อยู่ที่หน้าพระอุโบสถ
พระประธานในพระอุโบสถ ได้รับคำยกย่องว่างดงามมาก กั้นด้วยเศวตฉัตร ๙ ชั้น ซึ่งเดิมเป็นฉัตรกั้นเมรุรัชกาลที่ ๑ และได้รับการขนานนามว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” มาจากเรื่องที่เล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินที่วัดระฆัง และทรงรับสั่งว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” จึงเป็นที่มาของชื่อนี้
หลายคนที่มาวัดระฆัง นอกจากจะมานมัสการพระประธานองค์นี้แล้ว ยังมานั่งท่องคาถาชินบัญชรต่อหน้ารูปสมเด็จโตในวิหารสมเด็จด้วย เพื่อความสงบของจิตใจและเป็นสิริมงคลของชีวิต
ไหว้พระที่วัดระฆัง จึงมีชื่อเสียงโด่งดังกังวาลไปตลอดปี ๒๕๖๓
เริ่มต้นปีใหม่ด้วยการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมสิริมงคล จะเป็นกำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไปในปีใหม่ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านและครอบครัว จงมีชีวิตที่สดใสกว่าปีเก่า มีความสุข ความก้าวหน้าตลอดไปในปีที่น่าจะเป็นความหวังได้อีกครั้งหนึ่ง