วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” เทนื่องจากตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี
เหตุที่กำหนดให้วันพระราชสมภพของพระองค์ เป็นวันศิลปินแห่งชาติ เนื่องด้วยทรงพระปรีชาสามารถในด้านศิลปกรรมหลายสาชา ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ ปฏิมากรรม และการดนตรี ทรงได้รับการถวายพระเกียรติยกย่องจาก ยูเนสโก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๑๐ ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาเพียงเดือนครึ่ง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี เมื่อพระราชบิดาเข้ารับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ได้โดยเสด็จติดตามพระราชบิดาไปสงครามด้วยทุกครั้งตั้งแต่พระชนมายุได้ ๘ พรรษา แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์บ้านเมืองอยู่ในระยะว่างศึก พม่าก็ขอมาทำไมตรี กระนั้นก็ทรงสร้างเมืองสร้างป้อมเพื่อป้องกันพระนคร เช่นที่นครเขื่อนขัณฑ์ หรือพระประแดง เพื่อความไม่ประมาท ทรงมีเวลาทะนุบำรุงสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านศิลปะวัฒนธรรม ที่ถือได้ว่าเป็นยุคทองของกรุงรัตนโกสินทร์
ในด้านวรรณคดีนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นมรดกของชาติจำนวนมาก ทั้งยังแพร่ไปหลายประเทศ อันเป็นเหตุให้ยูเนสโกถวายพระเกียรติยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านนี้
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีทั้งที่เป็นกลอนบทละครใน ได้แก่ อิเหนา รามเกียรติ์ และบทละครนอก คือ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง และมณีพิชัย พระราชนิพนธ์ที่เป็นกลอนเสภา ได้แก่ ขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธ์ที่เป็นกาพย์ ได้แก่ เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน และบทพากย์โขน คือ นางลอย นาคบาศ พรหมาสตร์ ซึ่งลีลาของกลอนทุกประเภทนั้น เป็นเอกลักษณ์ของพระองค์โดยเฉพาะ
ในด้านศิลปกรรม พระองค์ทรงสร้างสรรค์ไว้อย่างยอดเยี่ยม อย่างพระปรางควัดอรุณราชวราราม เดิมเป็นพระปรางค์ที่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง ๑๖ เมตร ทรงมีพระราชประสงค์จะให้สูงเด่นเป็นศรีแก่พระนคร จึงต่อเติมขึ้นเป็นความสูง ๑๘.๘๕ เมตร รอบฐานกว้าง ๒๓๔ เมตร ประดับลวดลายวิจิตรงดงาม มีปรางค์เล็กล้อมอยู่ ๔ ทิศ และมีมณฑปทั้ง ๔ ทิศ จนเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก และเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย
ส่วนพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณฯนั้น ก็ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เช่นเดียวกับพระประธานในพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม
ที่ได้รับการกล่าวขานถึงความวิจิตรงดงามกันมาก ก็คือทรงแกะสลักบานประตูบานกลางของวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม กว้าง ๑.๓ เมตร สูง ๕.๖๔ เมตร หนา ๐.๑๖ เมตร เป็นรูปพฤกษา มีกิ่งก้านดอกใบเหมือนธรรมชาติ มีสัตว์ทั้งนกและกระต่าย ลวดลายอ่อนช้อยละเอียดอ่อน ทรงกำหนดลักษณะลายและเริ่มแกะด้วยพระองค์เองก่อน แล้วโปรดให้ช่างฝีมือแกะต่อ เป็นบานประตูที่งามอย่างหาที่เปรียบมิได้ ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เช่นเดียวกับศีรษะหุ่นหลวง พระยารักใหญ่และพระยารักน้อย ที่แกะจากไม้รัก และรูปพระลักษณ์พระราม จากฝีพระหัตถ์ ร.๒ เช่นกัน
ส่วนด้านการดนตรีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยกว่าด้านอื่น ทรงโปรดปรานซอสามสายคู่พระหัตถ์ที่มีชื่อว่า “ซอสายฟ้าฟาด” ที่ทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นในคืนหนึ่ง
หลังจากทรงซอสามสายอยู่จนดึก เมื่อเข้าบรรมทมก็ทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนแห่งหนึ่งซึ่งสวยงามดุจสวรรค์ มีพระจันทร์กระจ่างฟ้า และลอยเลื่อนเข้ามาหาพระองค์ พร้อมด้วยเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะประทับพระราชหฤทัย ทรงตื่นบรรมทมและรับสั่งให้เรียกพนักงานดนตรีมาทันที ทรงบรรเลงเพลงในพระสุบินด้วยซอสามสายให้จดบันทึกไว้ จนเพลงนี้แพร่หลายกลายเป็นเพลงอมตะมาจนทุกวันนี้ มีชื่อว่า “เพลงพระสุบิน” หรือ “บุหลันลอยเลื่อน” และครั้งหนึ่งยังเคยใช้เป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ประกาศให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ”
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เพื่อสรรหา ส่งเสริม สนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะอันล้ำค่าให้แก่แผ่นดิน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจากอดีตสู่ปัจจุบัน และรุ่งโรจน์สืบไปถึงอนาคต มีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาผู้สมควรเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้
๑. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
๒. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
๓. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
๔. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
๕. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
๖. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
๗. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
ศิลปินแห่งชาติจำแนกออกเป็น ๓ สาขา คือ
๑.สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตาแบ่งออกเป็น ๑.๑ วิจิ้ตรศิลป์ ประกอบด้วย จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อประสม และ ภาพถ่าย ๒.๒ ประยุกต์ศิลป์ ประกอบด้วย สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ การออกแบบผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม การออกแบบอุตสาหกรรม และ ประณีตศิลป์
๒. สาขาวรรณศิลป์ คือ บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
๓. สาขาศิลปะการแสดง คือ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ การแสดงละคร การดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน
ศิลปินแห่งชาติประกาศผลการคัดเลือกในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาจนถึงปัจจุบัน