เปิดที่มาประโยค "ปีศาจแห่งกาลเวลา" ที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" นำมาพูดหลังถูกยุบพรรคอนาคตใหม่ เอามาจากนิยายเรื่อง "ปีศาจ" ของ "เสนีย์ เสาวพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ พบที่ผ่านมานักวิชาการหยิบเอามาใช้ ระบุเป็นแรงบันดาลใจต่อสู้ทางการเมืองในอดีต
“นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่นี่คือจุดเริ่มต้น เพราะพวกเราเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมา เพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดละเมอ หวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”
นี่เป็นคำพูดของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่กล่าวขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคให้กู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท แบบไม่เป็นปกติวิสัย โดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงการบริจาคเงินตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ให้บุคคลธรรมดาสามารถบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ประโยค "ปีศาจแห่งกาลเวลา" ที่นายปิยบุตรกล่าวอ้างนั้น เอามาจากนิยายเรื่อง "ปีศาจ" วรรณกรรมอมตะ ซึ่งประพันธ์โดย "เสนีย์ เสาวพงศ์" ซึ่งเป็นนามปากกาของนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2533 และรางวัลศรีบูรพา ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้วเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2557 รวมอายุได้ 96 ปี
สำหรับนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ มีชื่อเดิมว่าบุญส่ง เป็นชาวอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เดิมศึกษาคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ลาออกเพราะปัญหาการเงินหลังบิดาก็ถึงแก่กรรม จึงเริ่มต้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำงานที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุง แผนกข่าวต่างประเทศ และศึกษากฎหมายนอกเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบในปี 2484 ระหว่างนั้นย้ายสังกัดไปทำงานให้กับหนังสือพิมพ์สยามราษฏร์ แต่บรรณาธิการไปขัดแย้งกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และถูกบีบให้ลาออก จึงลาออกตามกองบรรณาธิการไปด้วย
จากนั้นเริ่มรับราชการแผนกพานิชนโยบายต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ สอบได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่เมื่อเกิดสงครามไม่ได้เข้าประเทศ จึงกลับมาร่วมงานในหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิ กับนายทองเติม เสมรสุต และนายอิศรา อมันตกุล เขียนเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกา "สุจริต พรหมจรรยา" เริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่องสั้นชื่อ "อาเคเชียปลายฤดูร้อน" ซึ่งใช้นามปากกา "เสนีย์ เสาวพงศ์" เป็นครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นายศักดิชัยกลับเข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปลายปี 2485 และเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษในช่วงท้ายของสงคราม พร้อมกับเขียนบทความไปด้วย และในปี 2490 เริ่มเป็นนักการทูตในต่างประเทศ ทั้งรัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย ออสเตรีย อังกฤษ กระทั่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำเอธิโอเปียในปี 2518 และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมาในปี 2521
หลังเกษียณอายุ นายศักดิชัยรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาในเครือมติชน มีงานเขียนนวนิยายและบทความประจำหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ โดยนวนิยายเรื่อง "ปีศาจ" ถูกนักวิชาการบางคนอ้างถึง เช่น นายประจักษ์ ก้องกีรติ เขียนบทความในเว็บไซต์ประชาไท แสดงให้เห็นว่าในอดีตมีคนหนุ่มสาวตื่นตัวแสวงหาแนวคิดทางการเมืองต่างๆ เพื่อต่อต้านท้าทายอำนาจที่เห็นว่าไม่ยุติธรรม และเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ทางการเมือง