xs
xsm
sm
md
lg

ยกย่อง“เขาชื่อกานต์-ไผ่แดง-ผู้ใหญ่ลีกับนางมา-ลูกอีสาน-คู่มือมนุษย์” วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัย ร.๙

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วธ.ประกาศ 45 วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัย ร.๙ ตามศาสตร์พระราชา “เขาชื่อกานต์-ทุ่งมหาราช-ผู้ใหญ่ลีกับนางมา-ไผ่แดง-ลูกอีสาน-ขุนทองจะกลับเมื่อฟ้าสาง-ฟ้าบ่กั้น-คู่มือมนุษย์”พุทธทาสแต่ง เตรียมประสาน ศธ.ส่งเสริมเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่หอสมุดแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชาและเปิดตัวหนังสือ”วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา” โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักในความสำคัญของแนวพระราชดำริและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรที่ทรงมีต่องานด้านศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมประกอบกับทรงเป็นองค์อัครศิลปิน จึงมอบหมายให้กรมศิลปากร(ศก.) ดำเนินโครงการพิจารณาคัดเลือกวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ที่มีแนวคิดตามศาสตร์พระราชา โดยเชิญศิลปินแห่งชาติ นักประพันธ์ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาและวรรณกรรม ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและประกาศยกย่องวรรณกรรม แบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์สารคดี และวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยคณะกรรมการคัดเลือกวรรณกรรมประเภทละ 70 เรื่อง แบ่งเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทละ 9 เรื่อง และวรรณกรรมดีเด่น 61 เรื่อง

สำหรับผลคัดเลือกนวนิยายวรรณกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ เขาชื่อกานต์ผู้แต่งสุวรรณีสุคนธา,ทุ่งมหาราชผู้แต่งมาลัยชูพินิจ, บางกะโพ้งผู้แต่งวินทร์เลียววาริณ,บุษบกใบไม้ผู้แต่งกฤษณาอโศกสิน, ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอดผู้แต่งโบตั๋น, ผู้ใหญ่ลีกับนางมาผู้แต่งกาญจนานาคนันท์,แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์ผู้แต่งศรีฟ้าลดาวัลย์, ไผ่แดงผู้แต่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมชและลูกอีสานผู้แต่งคำพูนบุญทวี

ประเภทเรื่องสั้น ได้แก่ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสางผู้แต่งอัศสิริธรรมโชติ,แจ่มรัศมีจันทร์และรวมเรื่องสั้นเกือบทั้งชีวิตของเสนีย์เสาวพงศ์ผู้แต่งเสนีย์เสาวพงศ์, แผ่นดินอื่นผู้แต่งกนกพงศ์สงสมพันธุ์,ฟ้าบ่กั้นผู้แต่งลาวคำหอม,รวมเรื่องสั้นคึกฤทธิ์ปราโมช,ผู้แต่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช, รวมเรื่องสั้นรับใช้ชีวิตของศรีบูรพาผู้แต่งศรีบูรพา,เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ผู้แต่งอาจินต์ปัญจพรรค์, สวนสัตว์ผู้แต่งสุวรรณีสุคนธาและสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนผู้แต่งวินทร์ เลียววาริณ

ประเภทกวีนิพนธ์ เรื่องได้แก่ขอบฟ้าขลิบทองผู้แต่งอุชเชนี,บทกวีของฉัน: จ่างแซ่ตั้งผู้แต่งจ่างแซ่ตั้ง, ปณิธานกวีผู้แต่งอังคารกัลยาณพงศ์, พุทธทาสธรรมคำสอนเส้นทางสู่ความสุขเย็น ผู้แต่งพุทธทาสภิกขุ, เพียงความเคลื่อนไหวผู้แต่งเนาวรัตน์พงษ์ไพบูลย์, ม้าก้านกล้วยผู้แต่งไพวรินทร์ขาวงาม, รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดีของกวีการเมืองผู้แต่งกวีการเมือง, เราชะนะแล้ว,แม่จ๋าผู้แต่งนายผีและศึกษาภาษิตและร้อยกรองผู้แต่งฐะปะนีย์ นาครทรรพ

ประเภทสารคดี ได้แก่กาเลหม่านไตผู้แต่งบรรจบพันธุเมธา, ขบวนการแก้จนผู้แต่งประยูรจรรยาวงษ์, ความเป็นมาของคำสยามไทย,ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ผู้แต่งจิตรภูมิศักดิ์, คู่มือมนุษย์ผู้แต่งพุทธทาสภิกขุ,ชีวิตที่เลือกไม่ได้: อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่งผู้แต่งกรุณากุศลาสัย, น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทยผู้แต่งสุเมธชุมสายณอยุธยา,พุทธธรรมผู้แต่งพระราชวรมุนี(ประยุทธ์ปยุตโต) ,เพลงนอกศตวรรษผู้แต่งเอนกนาวิกมูลและฟื้นความหลังผู้แต่งเสฐียรโกเศศ

ประเภทวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลกผู้แต่งลินดาโกมลารชุน,ขวัญสงฆ์ผู้แต่งชมัยภรแสงกระจ่าง, ต้นเอ๋ยต้นไม้ผู้แต่งและภาพประกอบจารุพงษ์จันทรเพชร,บึงหญ้าป่าใหญ่ผู้แต่งเทพศิริสุขโสภา,ผีเสื้อและดอกไม้ผู้แต่งนิพพานฯ,ภาพประวัติศาสตร์(กรุงรัตนโกสินทร์ตอนนต้น) ผู้แต่งเปลื้องณนครภาพประกอบเหมเวชกร, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก(เล่ม1-4 ) ผู้แต่งทิพย์วาณีสนิทวงศ์ณอยุธยาภาพประกอบปีนัง,แม่โพสพผู้แต่งม.ล.เติบชุมสายภาพประกอบอุดมลักษณ์ทรงสุวรรณและ”เรือใบใจกล้า” ในหนังสือชุดสำหรับเยาวชน: หนังสือสื่อประสมเฉลิมพระเกียรติผู้แต่งและภาพประกอบวิภาวีฉกาจทรงศักดิ์

“วรรณกรรมเหล่านี้ สะท้อนแนวคิดศาสตร์พระราชา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานไว้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตของชาวไทยเป็นแนวทางในการพัฒนาชาติและยังเป็นองค์ความรู้ที่ทั่วโลกสามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดจนเชิดชูเกียรติศิลปินนักประพันธ์วรรณกรรมไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้ เตรียมประสานกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาวรรณกรรมยอดเยี่ยมสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อจัดเข้ารายการหนังสืออ่านนอกเวลา ส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านและซึมซับแนวคิดศาสตร์พระราชาด้วย” นายอิทธิพล กล่าว

นอกจากนี้กรมศิลปากรได้เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมโดยพัฒนาระบบการจำหน่ายหนังสือออนไลน์ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสั่งซื้อหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ผ่านทางhttp://bookshop.finearts.go.th ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อหนังสือ"วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา" และหนังสืออื่นๆที่น่าสนใจของกรมทั้งด้านโบราณคดี พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมและประวัติศาสตร์หนังสือจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่








กำลังโหลดความคิดเห็น