น่าแปลกใจว่า เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น กรุงเทพฯยังปลอดโปร่งไม่มีตึกรามแออัดเหมือนวันนี้ แต่กลับมีการเรียกร้องสถานตากอากาศกันมาก เหมือนเป็นเมืองที่น่าอึดอัด อย่างในการตัดถนนเจริญกรุง ก็เนื่องจากฝรั่งทั้งกงสุลและพ่อค้าที่ส่วนใหญ่อยู่กันริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงชื่อเรียกร้องว่า เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้านั่งรถไปเที่ยว จนเจ็บไข้กันเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดถนนสายนี้ขึ้นให้พวกฝรั่งนั่งรถม้าไปตากอากาศ
แม้พระองค์เองที่ทรงผนวชมาถึง ๒๗ พรรษาก่อนจะขึ้นครองราชย์ ระหว่างผนวชก็ธุดงค์ไปทั่วประเทศ แต่เมื่อขึ้นครองราชย์ต้องประทับอยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ทรงรู้สึกอึดอัดไม่มีสถานที่กว้างขวางให้เป็นที่ทรงสำราญพระอิริยาบถ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดลอกสระกว้าง ๒ สระขึ้นที่ริมคลองแสนแสบฝั่งใต้ซึ่งเป็นที่นาหลวงมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ สระทางเหนือเรียกว่า “สระใน” สระทางใต้เรียกว่า “สระนอก” ติดต่อถึงกัน เนื่องจากที่นาตำบลนี้มีบัวหลวงมาก จึงโปรดให้ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆไว้ในสระ แล้วทำเป็นเกาะน้อยเกาะใหญ่ ปลูกพืชผักและไม้ดอก
ทางด้านเหนือของสระใน สร้างพระที่นั่งประทับแรม พลับพลา โรงละคร เรือนพักเจ้าจอม โรงครัว ตลอดจนกำแพงที่แบ่งเขตฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน กำหนดเป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์ ส่วนสระนอกให้เป็นที่เล่นเรือของข้าราชการและราษฎรทั่วไป พระราชทานนามพระราชวังตากอากาศแห่งนี้ว่า “ปทุมวัน” มีความหมายว่า “ป่าบัวหลวง” แต่เนื่องจากจุดเด่นของวังแห่งนี้คือสระ จึงเรียกกันว่า “สระปทุม”
เมื่อขุดสระเสร็จแล้ว โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นทางทิศใต้ของที่ประทับ เพื่อพระราชทานพระราชกุศลแก่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชทานนามว่า “วัดปทุมวนาราม” มีคลองเชื่อมกับเขตพระราชฐาน ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯอาราธนาพระครูกล่ำ ซึ่งเคยเป็นพระฐานานุกรมเมื่อครั้งที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปทุมธรรมธาดา แล้วนิมนต์พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาประจำพรรษาด้วย
นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้าง “กุฎ” ติดกับวัดปทุมวนาราม ทำด้วยดินมีลักษณะคล้ายถ้ำ ขนาดเข้าไปนั่งขัดสมาธิได้ เพื่อใช้เป็นที่ทำวิปัสนากรรมฐาน ต่อมากุฏนี้ได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนี้ เหมือนเป็นศาลพระภูมิเจ้าที่
ครั้นการก่อสร้างวัดเสร็จลงเป็นส่วนใหญ่แล้ว ในวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๐๑ จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค อัญเชิญพระใสและพระแสนมาจากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี แห่มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม
ทุกปีในวันข้างขึ้นเดือน ๒ ซึ่งเป็นฤดูแล้ง จะเสด็จมาประทับอยู่คราวละ ๒-๓ ราตรี เพื่อให้เจ้าจอมและฝ่ายในลงเรือพายเก็บดอกบัว ในตอนเช้าโปรดให้พระสงฆ์ราชาคณะลงเรือสำปั้นพายเข้าไปรับบิณฑบาต เวลาค่ำให้มีผ้าป่า และให้เรือข้าราชการเข้าไปเล่นสักวาดอกสร้อย
ยามนั้นสระปทุมเหมือนสระอโนดาตบนสวรรค์ ในตอนเช้าและตอนแดดร่มลมตก เจ้าจอมหม่อมห้ามต่างแต่งกายสวยงาม หอมฟุ้งไปด้วยเครื่องสุคนธรส ลงเรือพายไปในหมู่กอบัวอย่างสำเริงสำราญ พอยามค่ำ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็ลอยเรือที่จุดประทีปสว่างไสว พร่างพรายแสงสะท้อนกับน้ำในสระ ขับสักวาดอกสร้อย รับด้วยเสียงโทนกรับฉับฉิ่ง
บรรยากาศในพระราชอุทยานแห่งนี้จึงเป็นที่ร่ำลือถึงความสนุกสนาน ทุกคนต่างรอคอยที่จะมีโอกาสตามเสด็จไปวังปทุมวัน
วังปทุมวันในขณะนั้นอยู่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมาก แต่การเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก โดยเฉพาะทางน้ำ จากท่าราชวรดิฐขึ้นไปทางเหนือ แล้วเลี้ยวขวาเข้าคลองรอบกรุงที่ขุดมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่บางลำพู จนถึงภูเขาทองจึงเลี้ยวซ้ายเข้าคลองมหานาค มาออกคลองแสนแสบ ตรงไปถึงวังปทุมวันที่อยู่ด้านขวาของคลอง ส่วนทางบกก็โปรดเกล้าฯให้ตัด “ถนนสระปทุม” จากประตูวังตรงวัดสระเกศ พุ่งตรงไปสุดทางที่วังสระปทุม ซึ่งก็คือ “ถนนพระราม ๑”ในปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สระปทุมเป็นสถานที่ราษฎรไปแข่งเรือในฤดูแล้ง เมื่อเกิดการตื้นเขินจึงโปรดเกล้าฯให้ขุดลอกและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระราชทานให้เป็นโรงทหารหน้า เมื่อทหารหน่วยนี้ย้ายออกไปแล้วจึงใช้เป็นที่จัดงานแสดงกสิกรรม
สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินบริเวณวังปทุมวัน พระราชอุทยานของรัชกาลที่ ๔ แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย หลังสำเร็จการศึกษาทางดนตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาโรงเรียนเพาะช่างในปี ๒๔๖๒ พระองค์ทรงเป็นศิลปิน จึงไม่ได้สร้างพระตำหนักให้ใหญ่โตมโหฬาร แต่สร้างด้วยไม้ และประทานชื่อตามชื่อเพลงไทยเดิม เช่น ตำหนักประถม ตำหนักลมพัดชายเขา
กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย สิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๖๖ ณ วังเพชรบูรณ์ ขณะพระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา มีพระโอรสธิดา ๒ พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช วังเพชรบูรณ์ได้เป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายา จนสิ้นพระชนม์ในปี ๒๕๒๓ เมื่อพระชนม์ ๘๓ ชันษา
มีคำกล่าวกันว่า วังเพชรบูรณ์มีคำสาปเช่นเดียวกับวังหน้าที่เจ้าของหวงแหนมาก หากผู้ใดที่ไม่ใช่เชื้อสายของพระองค์เข้ามาครอบครอง ขอให้มีมีอันเป็นไปต้องฉิบหายตายโหง เจ้านายที่ได้รับมรดกวังเพชรบูรณ์ไม่ปรารถนาจะรักษามรดกคำสาปไว้ และไม่ต้องการให้ตกเป็นของคนอื่น จึงทูลเกล้าถวาย ที่ดินผืนนี้จึงตกเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา พระธิดา ได้ขอพระราชทานรื้อย้ายตำหนักประถมมาไว้ที่ซอยอัคนี ถนนงามวงศ์วาน ๒ จังหวัดนนทบุรี ส่วนพระวรวง์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ย้ายตำหนักเรือนแพมาไว้ที่วังเลอดิส ซอยสุขุมวิท ๔๓ เมื่อปี ๒๕๒๗
ราวปี ๒๔๘๓ กระทรวงศึกษาธิการได้ขอเช่าที่ดินของวังเพชรบูรณ์ ด้านริมถนนราชดำริเชิงสะพานเฉลิมโลก เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน สร้างโรงเรียนสอนวิชาชีพแห่งแรกของไทย คือ “โรงเรียนช่างเย็บหนัง” และ “โรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณ” ต่อมาโรงเรียนช่างเย็บหนังย้ายไปอยู่ที่อาคารถนนราชดำเนิน ส่วนโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณก็ย้ายออกไปอยู่ที่อำเภอสัมพันธวงศ์ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนโลหะเอี่ยมละออ” จนกระทั่งสงครามสงบ โรงเรียนโลหะเอี่ยมลออจึงย้ายกลับมาที่วังเพชรบูรณ์อีก และเปิดสอนระดับ ปวช. พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการช่างอินทราชัย” ต่อมาได้เปิดสอนวิชาชีพหลายสาขาจนถึงระดับ ปวส. และเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัย”
ในปี ๒๕๐๗ วังเพชรบูรณ์ได้ให้เช่าที่ดินด้านถนนราชดำริ จากถนนพระราม ๑ จนถึง ร.ร.การช่างอินทราชัย สร้างเป็น “ศูนย์การค้าราชดำริอาเขต” ตัดถนนภายในขนานถนนราชดำริ แล้วสร้างอาคาร ๒ ข้างถนน ในสมัยนั้นราชดำริอาเขตเป็นศูนย์การค้าที่คึกคักมีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ โดยมีสยามสแควร์ตามมาติดๆ
ในปี ๒๕๒๕ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีความประสงค์จะปรับปรุงที่ดินบริเวณวังเพชรบูรณ์ทั้งหมดเป็นศูนย์การค้า จึงให้วิทยาลัยเทคนิคอินทราชัยย้ายไปอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯแห่งอื่น จากนั้นจึงให้บริษัทวังเพชรบูรณ์ โดยนายอุทน เตชะไพบูลย์ เช่าที่ดินทำโครงการนี้ ทำให้วังปทุมวันและวังเพชรบูร์กลายเป็นอดีต ถูกปรับพื้นที่และรื้อถอนทุกอย่างในปี ๒๕๒๕ เพื่อก่อสร้าง “เวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์” และเปิดดำเนินการในปี ๒๕๓๒ ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซนและอิเซตัน ต่อมาในปลายปี ๒๕๔๗ บริษัทวังเพชรบูรณ์ประสบปัญหาการเงิน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ สำนักงานทรัพย์สินฯจึงเปิดให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูลบริหารศูนย์การค้าร่วม
ปัจจุบันโครงการนี้บริหารโดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เปลี่ยนชื่อ “เวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์” เป็น “เซ็นทรัลเวิลด์” เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ในเอเชีย และมีพื้นที่ขายเป็นอับดับ ๓ ของโลก เปิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
แต่แล้วในคืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เซ็นทรัลเวิลด์ก็ถูกเพลิงไหม้นานกว่า ๑๐ ชั่วโมง จากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ปรากฏว่าพื้นที่ ๑ ใน ๓ ได้รับความเสียหาย โดยไม่กระทบต่อส่วนของโรงแรม อาคารสำนักงานและห้างอิเซตัน ต้องใช้เวลาซ่อมแซมอยู่ประมาณ ๑ ปี
การที่เกิดไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์อย่างไม่น่าจะเป็นไปได้นี้ ทำให้ร่ำลือกันถึงเรื่องอาถรรพ์ของพื้นที่นี้หลายเรื่อง ซึ่งก็เคยร่ำลือกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นวังปทุมวันแล้ว เล่ากันว่าวันดีคืนดีก็มีนางเงือกขึ้นมานั่งสยายผมอยู่บนเกาะในสระบัว และมีเนินอยู่เนินหนึ่ง หากใครนำควายขึ้นไปเลี้ยงก็จะตกลงมาคอหักตาย เมื่อตอนสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ก็ว่าไปรื้อศาลพระภูมิเจ้าที่วังเพชรบูรณ์และกุฎของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เอาแทรกเตอร์เข้าไปปรับพื้นที่ถมสระทั้งหมด พอไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ขึ้นมา จึงมีเสียงร่ำลือถึงอาถรรพ์ของวังเพชรบูรณ์กันหนักขึ้น
อาจารย์ด้านฮวงจุ้ยท่านหนึ่งกล่าวว่า ที่ดินสี่แยกราชประสงค์ที่เรียกกันว่า สี่แยกมหาเทพ เป็นทางแยกที่มีวิญญาณร้ายอาศัยอยู่มาก เมื่อแรกสร้างโรงแรมเอราวัณก็มีปัญหา จนมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์แนะนำให้สร้างศาลท้าวมหาพรหมขึ้น จึงเริ่มดีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อมีการสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารขึ้นในบริเวณนั้น จะต้องตั้งศาลเทพเจ้าในศาสนาฮินดูขึ้นคุ้มครองด้วย หน้าเซ็นทรัลเวิร์ลด์มีทั้งศาลพระตรีมูรติและศาลพระพิฆเนศวร โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัลมีศาลพระนารายณ์ทรงสุบรรณ อัมรินทร์พลาซ่ามีศาลท้าวอมรินทราธิราช ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจมีศาลพระลักษมีอยู่บนชั้น ๔ มานานแล้ว เมื่อปี ๒๕๖๐ ยังนำท้าวจตุโลกบาลมาประดิษฐานอีกองค์ แม้แต่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังมีพระนารายณ์ประทับยืนบนพญาอนันตนาคราช ครบทุกแยกของสี่แยกราชประสงค์
การไปชุมนุมทางการเมืองที่นั่นปิดถนนทั้งสี่ด้าน จึงเหมือนกากะบาด ซึ่งโบราณถือกันว่าเป็นอัปมงคล ใช้สำหรับมัดนักโทษในคดีอุฉกรรจ์หรือศพนักโทษที่ถูกยิงตาย บางคนยังให้ข้อสังเกตว่า กลุ่มการเมืองที่ไปชุมนุมยึดสี่ด้านของสี่แยกราชประสงค์ มักพบจุดจบเช่นเดียวกับการชุมนุมใหญ่เป็นที่มั่นครั้งสุดท้ายก่อนอวสานต์ของ นปช.ใน พ.ศ.๒๕๕๓
การไปชุมนุมการเมืองที่นั่น ก่อกวนเศรษฐกิจของย่านการค้าจนชุลมุนวุ่นวาย กฎหมายก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่การไปท้าทายเทพเจ้าเหล่านี้ ก็ต้องวัดกำลังกันว่าใครจะแน่จริงแค่ไหน