ฉายา "เวนิสตะวันออก" เป็นฉายาที่ชาวต่างชาติเรียกกรุงเทพฯ ในอดีต เพราะในเมืองมีคูคลองหลายสาย ผู้คนสัญจรทางเรือ ทำมาค้าขายในคลอง มีบรรยากาศคล้ายเมืองเวนิสของประเทศอิตาลี
แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น คูคลองบางส่วนถูกถมทำเป็นถนน การสัญจรทางบกมาแทนที่ทางน้ำ คลองที่ยังเหลืออยู่กลายเป็นคลองระบายน้ำ สภาพน้ำเน่าเหม็น ไม่หลงเหลือความเป็นเวนิสตะวันออกอีกต่อไป
แต่มาในยุคนี้ มีความพยายามของภาครัฐที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงสภาพคลองต่างๆ ให้กลับมาสะอาดน่ามอง และเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากขึ้น จนน่าดีใจว่าบรรยากาศสวยงามแบบ "เวนิสตะวันออก" จะกลับมาอยู่คู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
"คลองโอ่งอ่าง"
“คลองโอ่งอ่าง” เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าให้สร้างพระบรมมหาราชวังและขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไป โดยใน พ.ศ.2326 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศฯ วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นระยะทางราว 3.5 ก.ม.
คลองสายนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ เช่น ในย่านบางลำพูเรียก "คลองบางลำพู" เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน ต่อมาเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง" ตลอดทั้งสาย
เมื่อก่อนนี้คลองโอ่งอ่างเป็นที่ตั้งของตลาดสะพานเหล็ก แหล่งร้านขายเกม ของเล่น และโมเดลแหล่งใหญ่ในไทย แต่น้อยคนที่จะเคยเห็นสภาพคลอง เพราะร้านค้าต่างๆ สร้างคร่อมทับจนไม่รู้ว่าคลองอยู่ตรงไหน แต่ภายหลังในปี 2558 กรุงเทพมหานครได้เข้าทำการรื้อถอนร้านค้าเหล่านี้เพื่อปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี จนปัจจุบันได้เผยโฉมความสวยงามของคลองโอ่งอ่าง แถมบริเวณริมคลองยังมีสีสันจากภาพสตรีทอาร์ต สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมคลองโอ่งอ่างด้วยการวาดภาพสตรีทอาร์ทบริเวณกำแพงทางเดินริมคลอง ช่วงสะพานภานุพันธ์ถึงสะพานดำรงสถิตย์ ให้ชุมชนย่านคลองโอ่งอ่างให้สวยงามขึ้นด้วยผลงานศิลปะ มีการจัดถนนคนเดินให้คนได้เข้ามาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ
และล่าสุดไม่เพียงเดินเล่นชมวิวเท่านั้น นักท่องเที่ยวยังสามารถลงไปพายเรือคายัคในคลองโอ่งอ่างได้อีกด้วย โดยทาง กทม.มีเรือบริการให้ยืมฟรีในช่วงทดลอง ตั้งแต่ 28 พ.ย.-27 ธ.ค. โดยจะมีให้บริการทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม มีเรือให้ยืมทั้งหมด 15 ลำ นั่งได้ลำละ 2 คน พร้อมเสื้อชูชีพ และเจ้าหน้าที่สแตนด์บายพร้อมช่วยเหลือ
เรียกได้ว่าไม่เฉพาะเป็นการปรับภูมิทัศน์ แต่ยังเปิดให้มีกิจกรรมทางน้ำภายในคลองได้ด้วย จึงนับเป็นมิติใหม่ของคลองโอ่งอ่างอย่างแท้จริง
"คลองบางลำพู"
คลองบางลำพูก็เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงเช่นเดียวกับคลองโอ่งอ่าง โดยช่วงที่เรียกว่าคลองบางลำพูก็คือช่วงปากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณข้างสวนสันติชัยปราการ ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร ชุมชนบ้านพานถม จนมาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
สภาพน้ำในคลองบางลำพูนั้นไม่เน่าเสียนักเพราะปากคลองอยู่ใกล้กับแม่น้ำ อีกทั้งคนประชาคมบางลำพูเองก็ได้ช่วยกันฟื้นฟูคลองให้กลับมามีสภาพดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2553 ไม่ว่าจะเป็นการเทน้ำชีวภาพทุก 10 วัน ทำผ้าป่าฟื้นฟูคลอง พายเรือเก็บขยะในคลอง เพื่อสร้างนิสัยและจิตสำนึกที่ดีให้คนริมคลองบางลำพู
นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวในคลองบางลำพู ด้วยการเปิดดำเนินการเรือท่องเที่ยวคลองบางลำพู-ประตูน้ำ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจไม่น้อย แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบต้องปิดไปก่อน
"คลองผดุงกรุงเกษม"
คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นนอก (ชั้นที่สาม) ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.2394 เพื่อขยับขยายพระนครออกไปให้กว้างขึ้น โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร ย่านเทเวศร์ เป็นแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาคไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา
ปัจจุบันคลองผดุงกรุงเกษมถือว่าเป็นคลองที่มีสถานที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้เคียงหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทำเนียบรัฐบาล ตลาดนางเลิ้ง ตลาดมหานาค ตลาดโบ๊เบ๊ และหัวลำโพง จึงมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและใช้ประโยชน์จากคลองให้มากขึ้น ไม่ว่าเป็นเป็น "ตลาดน้ำคลองผดุงฯ" ที่เคยจัดขึ้นเมื่อปี 2558 และล่าสุดคือการเปิดบริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม
สำหรับเส้นทางเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงฯ นี้ เป็นการเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ โดยจะให้บริการบนระยะทาง 5 กิโลเมตร ตั้งแต่เทเวศร์-หัวลำโพง ผ่าน 11 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือหัวลำโพง ท่าเรือนพวงศ์ ท่าเรือยศเส ท่าเรือกระทรวงพลังงาน ท่าเรือแยกหลานหลวง ท่าเรือนครสวรรค์ ท่าเรือราชดำเนินนอก ท่าเรือประชาธิปไตย ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือตลาดเทวราช มีบริการเดินเรือทุกวัน วันละ 39 เที่ยว เรือออกทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. และในช่วงทดลองนี้ยังเปิดให้ขึ้นฟรี 6 เดือนอีกด้วย
แต่ทั้งนี้เนื่องจากเส้นทางนี้ไม่ได้เป็นย่านที่การจราจรติดขัดมากนัก และยังมีรถประจำทางสาย 53 ที่วิ่งให้บริการในเส้นทางนี้อยู่แล้ว คนที่มานั่งเรือคลองผดุงฯ ก็อาจจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาลองนั่งชมบรรยากาศ ส่วนคนที่มานั่งเพื่อใช้เดินทางจริงก็อาจไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทาง กทม. และรัฐบาลพยายามส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ ใช้ประโยชน์จากคลอง ลดความแออัดของรถยนต์ และลดมลพิษทางอากาศ
"คลองช่องนนทรี"
ในย่านธุรกิจของกรุงเทพอย่างสาทร ก็มีคลองสายเก่าหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นคลองสาทร คลองช่องนนทรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงคลองระบายน้ำและเกาะกลางถนน
ปัจจุบันกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ "คลองช่องนนทรี" เมื่อกรุงเทพมหานครมีแผนเข้าไปปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลองช่องนนทรี ให้กลายเป็น "สวนสาธารณะช่องนนทรี" ในรูปแบบของสวนเลียบคลอง ที่มีพื้นที่สีเขียวทั้งสองฝั่งให้เป็นแหล่งพักผ่อนออกกำลังของคนในบริเวณใกล้เคียง
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีนั้นจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่แคบที่สุด เพราะมีความกว้างเพียง 6-7 เมตร และมีความยาว 4.5 กิโลเมตร เลียบไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ตั้งแต่จุดตัดถนนสุรวงศ์-ถนนนราธิวาสฯ ไปจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา) โดย กทม. จะได้เข้ามาปรับปรุงให้สวยงาม ร่มรื่น และจะปลูกต้นนนทรีเสริมจากไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างอัตลักษณ์และสอดคล้องชื่อคลองช่องนนทรี ทั้งนี้จะแบ่งดำเนินการเป็น 3 เฟส เฟสแรก ความยาว 1,200 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564
ทั้งนี้การปรับภูมิทัศน์ของคลองช่องนนทรีนี้เพื่อส่งเสริมให้คนสามารถเดินเท้าเชื่อมโยงและเข้าถึงย่านธุรกิจใน 3 พื้นที่เขต ทั้งบางรัก สาทร และยานนาวา จากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ไปจรดถนนพระรามที่ 3 ซึ่งหากสามารถทำให้สองข้างทางมีร่มไม้ร่มรื่นสภาพแวดล้อมสวยงามแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนก็พร้อมจะเดินแน่นอน
"คลองคูเมืองเดิม"
สำหรับคลองคูเมืองเดิมนั้น เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นใน (ชั้นแรก) ของเกาะรัตนโกสินทร์ ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเป็นคูเมืองด้านตะวันออกของกรุงธนบุรี โดยปากคลองเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือบริเวณท่าช้างวังหน้า ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ที่ปากคลองตลาด
การปรับภูมิทัศน์ของคลองคูเมืองเดิมนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ประชาชนจิตอาสาร่วมกันทำความสะอาด พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสายต่างๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ จนมาเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดตั้งแต่ช่วงงานพระบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2562 ได้มีการปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งไฟส่องสว่าง ฯลฯ ทำให้คลองบริเวณนั้นดูสดใสสวยงาม มีผู้ไปถ่ายภาพเก็บบรรยากาศงดงามของคลองคูเมืองเดิมและละแวกใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก
Facebook :Travel @ Manager
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager