xs
xsm
sm
md
lg

ต้นธารแห่งทรัพย์สินส่วนพระองค์ สมเด็จฯพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เผยแพร่:   โดย: รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์


สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงมีทักษะเฉพาะองค์ แตกต่างจากเจ้านายฝ่ายในองค์อื่น ๆ โดยมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือโปรดที่จะแสวงหาวิธีเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ที่ทรงมีอยู่ ทั้งพระราชมรดกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถซึ่งก็มากพอจะดำรงพระชนม์ชีพได้อย่างสบาย บวกกับเบี้ยหวัดในฐานะพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ ๕ และเงินพิเศษที่พระราชทานให้เมื่อประสูติพระราชโอรสธิดาแต่ละองค์ เงินรายได้เหล่านี้แม้ว่าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ทรงขวนขวายที่จะขยายพระราชทรัพย์นั้นออกไปให้มากยิ่งขึ้น

ในฐานะเจ้านายฝ่ายใน สมเด็จฯทรงมีขีดจำกัดมากมายจากกฎมณเฑียรบาล มิให้ทรงทำธุรกรรมการเงิน หรือแม้แต่ติดต่อกับบุคคลภายนอกได้สะดวก แต่ก็มิได้ทรงย่อท้อ ทรงแสวงหาจนพบ "ตัวแทน" หรือเรียกอย่างปัจจุบันก็ทำนอง "นอมินี" คือผู้ถือสินทรัพย์แทนเจ้าของในการจัดการบริหารทรัพย์สินนั้น ๆ เพื่อทำการแทนเจ้าของ แล้วโปรดให้บุคคลนั้นบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อความคล่องตัว แต่ก็ทรงกำกับดูแลอยู่อีกทีหนึ่ง

ตัวแทนท่านแรกคือท่านผู้หญิงเอี่ยม ภรรยาเอกของเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาอินทราธิบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาลในสมัยรัชกาลที่ ๕

ท่านผู้หญิงเอี่ยม เป็นคนซื่อตรงจงรักภักดี เมื่อได้เงินที่มาขอรับพระราชทานไปทําผลประโยชน์ ก็ส่งคืนทั้งต้นและดอก ไม่เคยขาดหายเลยสักครั้ง จึงเป็นที่ไว้วางพระทัยให้ดำเนินงานต่อไป เพื่อเพิ่มพระราชทรัพย์ขึ้นโดยตลอด

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ดินมีราคาถูก แต่คนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงไม่นิยมซื้อที่ดินมากเกินกว่าที่อยู่อาศัยของตน เพราะที่ดินในเมืองถ้าไม่ใช่ที่สวนหรือนาแล้วก็นึกไม่ออกว่าจะซื้อมาทำประโยชน์อย่างใดได้ แต่สมเด็จพระพันวัสสาเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงทรงเล็งเห็นว่าที่ดินแห่งใดอยู่ในทําเลดีเช่นทำเลค้าขาย ก็โปรดฯให้ท่านผู้หญิงเอี่ยมเป็นธุระจัดการซื้อถวาย หรือรับจํานองจากเจ้าของที่ดิน

ทั้งนี้ทรงรอบคอบรัดกุมทางด้านกฎหมาย จะซื้อขายหรือรับจำนองที่ดินก็ทรงทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ทุกครั้งเมื่อซื้อหรือรับจำนองที่ดินก็ต้องมีโฉนดเป็นหลักฐานอย่างรัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้มีช่องโหว่จนเกิดการโกงหรือบิดพลิ้วภายหลังได้ ที่ดินที่มีหลักฐานครบถ้วนนี้จึงอยู่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ต่อมาอย่างครบถ้วน

นอมินีคนที่สองคือคุณแพ ภรรยาพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) เริ่มต้นด้วยการเข้ามาเป็นตัวกลางติดต่อซื้อขายที่ดินย่านสำเพ็งถวายสมเด็จพระพันวัสสา ทำธุรกิจได้มากกว่าท่านผู้หญิงเอี่ยมเคยทำมาก่อน

ที่มาของเรื่องคือหลังจากเกิดเพลิงไหม้สำเพ็งเมื่อ พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนทรงวาดเป็นถนนเลียบแม่น้ำ จากท่าราชวงศ์ไปถึงวัดปทุมคงคา เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงได้ข่าว ก็เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ ทรงต้องพระทัยที่ดินแปลงหนึ่งที่สำเพ็ง เมื่อทรงทราบต่อมาว่าเป็นของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (ในตอนนั้นยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ) จึงมีรับสั่งให้ท่านผู้หญิงเอี่ยมเป็นผู้ไปติดต่อขอซื้อที่ดิน

พระยาสารสินฯแจ้งแก่ท่านผู้หญิงเอี่ยมว่า เป็นที่ดินที่รับจำนองมาในราคา ๒๐๐๐ บาท แต่ยินดีถวาย แล้วแต่จะประทานราคา สมเด็จพระพันวัสสาพอพระทัย จึงประทานค่าที่ดินให้เป็นเงินมากกว่าถึง ๑๐ เท่าคือ ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับรับสั่งผ่านท่านผู้หญิงเอี่ยมว่า

“ขอบใจหมอมาก แต่วันนี้ต่อไป ถ้ามีธุระเรื่องเงินก็ให้แม่แพเข้ามาเถอะ เงินของฉันก็เหมือนเงินของหมอเหมือนกัน แบ่งกันกินกําไร”

คุณแพจึงเริ่มเข้านอกออกในพระตำหนัก ในเมื่อสามีเป็นคนไทยเชื้อสายจีน รู้จักมักคุ้นกับชาวจีนจำนวนมาก คุณแพจึงเห็นเป็นโอกาส ที่จะเป็นนายหน้า รับพระราชทานเงินส่วนพระองค์ ไปให้พ่อค้าและบรรดาเถ้าแก่โรงสีหลายสิบโรงบริเวณคลองรังสิตกู้ยืม เป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ทำให้มีรายได้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นที่ลูกหนี้ผ่อนชำระ กลับมาถวายเป็นจำนวนมาก เพิ่มพูนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

นอกจากที่ดินในตัวเมืองแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ายังทรงทำธุรกิจการเกษตร เนื่องจากทรงเป็นเจ้าของที่นาในจังหวัดปทุมธานีเป็นจำนวนมาก แทนที่จะให้คนเช่าทำนาได้ราคาน้อยนิด หรือปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ก็ทรงสร้างโรงสีข้าว รับสีข้าวจากนาของพระองค์เอง และยังรับสีข้าวให้จากที่อื่นเป็นการเพิ่มรายได้อีกมาก มีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องจักรสีข้าวให้ทันสมัย เพื่อจะได้ข้าวเป็นจำนวนมากกว่าที่อื่น ๆ

วิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง แม้เมื่อประชวรต้องเสด็จไปรักษาพระองค์อยู่ที่ศรีราชา สมเด็จฯทรงเห็นผ้าทอพื้นบ้านสวยงาม ก็ทรงหัดทอจนทำเองได้ แล้วนําออกจําหน่ายตามราคา เมื่อเสด็จกลับพระนคร มาประทับที่พระตําหนักสวนหงส์ในพระราชวังดุสิต ก็ทรงนําหูกทอผ้ากลับมาด้วย จากนั้นทรงจัด “กองทอ” ขึ้นตรงต่อพระองค์ จัดการผลิตผ้าทออย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขั้นทรงหาผู้เชี่ยวชาญที่สําเร็จการทอจากญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา ผ้าทอดังกล่าวเป็นที่นิยมกันมาก จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จึงเลิกผลิตไป

เงินส่วนที่ได้รับพระราชทานในฐานะพระภรรยาเจ้าถูกเก็บไว้ในซอง ต่อเมื่อไรจำเป็นจึงจะทรงใช้ ความจำเป็นในเรื่องหนึ่งคือเมื่อทรงส่งพระราชนัดดาเล็ก ๆ สามพระองค์ไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้พ้นคลื่นลมแรงจัดในการเมืองไทยหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เงินในซองก็ถูกฉีกออกมารวบรวมเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่อาศัยในต่างแดน แต่ทุกพระองค์มิได้ทรงมีความเป็นอยู่หรูหรา พระตำหนักที่โลซานน์ก็เป็นเพียงที่พักอาศัยเพียงพอสำหรับแม่และลูก ๆ สี่คน


สามเจ้านายเล็ก ๆ แห่งราชสกุลมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในสนามหญ้าที่วังสระปทุม

แม้ว่าทรงเก็บสะสมพระราชทรัพย์ไว้มากมาย โดยเฉพาะที่ดินกลางใจเมืองกรุงเทพฯซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล ก็มิได้ทรงใช้จ่ายอย่างมหาเศรษฐี ทรงระมัดระวังเรื่องเงินทองแค่พอเพียงอยู่เสมอ

เห็นได้จากมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที ๘ และรัชกาลที่ ๙ เสด็จกลับมาประเทศไทย ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงรู้จักกับธนบัตรไทย เมื่อทอดพระเนตร เห็นในพระหัตถ์สมเด็จอัยยิกาเจ้าก็ทูลถาม สมเด็จก็ทูลตอบเป็นต้นว่า

‘นี่ใบละบาท ไม่เคยเห็นหรือ เอ้า เอาไป’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงได้ธนบัตรอยู่เป็นนิจ ตั้งแต่ราคาฉบับละ ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท คราวหนึ่งทอดพระเนตรเห็นธนบัตรราคาฉบับละ ๑๐๐ บาท ก็ทูลถามอีก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตรัสว่า

‘นี่ใบละ ๑๐๐ มากไป อย่าเอาเลย”

พระราชทรัพย์เหล่านี้ทรงเก็บรักษาไว้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เวลาล่วงมานับร้อยปี ที่ดินในแหล่งสำคัญ ๆ ในกรุงเทพที่ทรงสะสมไว้ตั้งแต่ราคาเพียงไม่กี่พันบาท ก็เพิ่มมูลค่าขึ้นเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ตกทอดมาจนถึงพระราชปนัดดาในรัชกาลปัจจุบัน


สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกงานครั้งสุดท้ายในการรับการถวายดอกไม้ธูปเทียนแพและรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในงานบรมราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


กำลังโหลดความคิดเห็น