เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ หรือเมื่อ ๑๕๐ กว่าปีที่ผ่านมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีหนังสือภาษาไทยเล่มหนึ่งออกสู่ตลาด ในชื่อ “หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์” ซึ่งต่อมามีพิมพ์ออกมาอีกหลายครั้งในชื่อที่เขียนตามยุคสมัยว่า “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกัน คืออธิบายหรือบอกให้รู้ถึงการงานน้อยใหญ่ทั่วไป เขียนโดย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ ๔ และผู้สำเร็จราชการในกิจการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ ๕ ถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ออกจำหน่ายที่กรุงกรุงลอนดอนในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ใน “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่ตนไทยควรอ่าน”
นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นักการศึกษาคนสำคัญของไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำกลับมาพิมพ์ซ้ำอีกในปี ๒๕๑๘ ได้รับความนิยมจนต้องพิมพ์เพิ่มอีกหลายครั้ง ได้เขียนในคำนำกล่าวถึงเจตนาของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า
“...ซึ่งท่านได้ไปเลือกสรรเอาแต่สิ่งซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ทราบกันทั่วๆไป เช่น ทางวิทยาศาสตร์ ทางภูมิศาสตร์ และทางศาสนาเปรียบเทียบ และโดยที่เหตุขณะนั้น พวกนักสอนศาสนาต่างประเทศก็เริ่มแสดงความหักหาญ โจมตีพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาล้าหลัง เหมาะสำหรับชนชาติที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น ท่านเจ้าพระยาผู้นี้จึงได้รวบรวมสิ่งซึ่งเป็นแก่นของพุทธศาสนาและเหตุผลมาหักล้างข้อกล่าวหา คารมที่ท่านได้ตอบกับพวกหมอสอนศาสนา ทั้งที่เป็นชาวเยอรมันแลที่เป็นชาวอเมริกัน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องจำนนต่อคำชี้แจงและเหตุผลของท่านหลายข้อ เมื่อท่านรวบรวมข้อความต่างๆของท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาโรงพิมพ์ต่างๆซึ่งส่วนมากเป็นของพวกมิชชันนารี ต่างก็รังเกียจ เห็นว่าหนังสือของท่านนั้นจะขัดขวางต่อวิธีการเผยแพร่ศาสนาและหาคนไทยเข้ารีตของเขา จึงรวมหัวกันไม่ยอมรับพิมพ์ให้ โดยอ้างว่าเป็นหนังสือไม่เหมาะ ขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของโรงพิมพ์ของเขา”
ส่วนใน “หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์” ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ฯ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกนั้น ท่านเขียนไว้ว่า
“ข้าพเจ้า เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี... ผู้แต่งหนังสือนี้ มีความกรุณาต่อเด็กๆทั้งหลาย ที่จะสืบต่อไปภายน่า จะได้ยินได้ฟังการต่างๆหนาหูเข้า จะชักเอาปัญญาแลใจแปรปรวนไปด้วยความไม่รู้อะไร ถึงจะไปเล่าเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบ้าง ที่บ้านบ้าง อาจาริย์สั่งสอนให้เล่าเรียนหนังสือภอรู้อ่าน ก็ให้อ่านหนังสือปถม ก กา แล้วก็ให้อ่านหนังสือสวดต่างๆ แล้วก็ให้อ่านหนังสือต่างๆ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูหนังสือที่เด็กอ่าน ก็ไม่เปนประโยชน์แก่เด็กเลย แต่หนังสือ ก กา เปนที่พ่อให้เด็กอ่านง่ายก็ดีอยู่ ถ้าเป็นหนังสือไทๆที่เด็กอ่าน ก็มีแต่หนังสือการประเล้าประโลมโดยมากกว่าหนังสือสุภาสิต เด็กนั้นก็ไม่ใคร่จะได้ปัญญาสิ่งใด ผู้ใหญ่จะสั่งสอนเด็กก็มีแต่คำที่ไม่เปนประโยชน์ เปนต้นว่า จันทร์เจ้าเอ่ย ขอเข้าขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า มีแต่คำที่สั่งสอนกันดั่งนี้มีหลายอย่าง ยกขึ้นว่าภอเปนสังเขป เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ความฉลาดมาแต่เล็ก ข้าพเจ้าจึงคิดเรื่องราวกล่าวเหตุผลต่างๆ แก้ในทางโลกยบ้าง ทางสาศนาบ้าง ที่มีพยานก็ชักนำมากล่าวไว้ ที่ไม่มีพยานเปนของที่ไม่เหนจริง ก็คัดต้านเสียบ้าง ว่าไว้ภอปัญญาเด็กรู้ ผู้ที่เรียนหนังสือรู้แล้วจะได้อ่านหนังสือนี้แทนหนังสือสวด แลหนังสือลคอน เหนจะเปนประโยชน์รู้การเล็กๆน้อยๆบ้าง ถ้าเขาถามสิ่งใด เด็กทั้งหลายจะได้แก้ไขตามสำนวนนี้ ว่าไว้เป็นข้อถามข้อแก้ กล่าวแต่ภอจำได้ ให้ชื่อว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ ถ้าท่านผู้ดูหนังสือนี้เหนผิดพลาดประการใด ขอให้ช่วยแก้ไขให้ถูกต้องด้วย แค่ภอสมควรกับปัญญาเด็ก ถ้าเด็กผู้ใดอ่านหนังสือนี้ อยากจะรู้ความให้วิเสศโดยพิศฎาร ก็ให้หาครูเรียนโหราสาตร ธรรมสาตรต่างๆ ก็จะรู้ได้โดยเลอียด”
ในหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ และศาสนา ทำนองเดียวกับสารานุกรมสำหรับเยาวชนในปัจจุบันโดยอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ต่างจากความเข้าใจกันมาแต่เดิม เช่น เหตุที่เกิดสุริยปราคาหรือจันทรุปราคา ก็เนื่องจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ และโลกโจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ไม่ใช่ถูกราหูอม โลกไม่ได้แบนเหมือนใบบัวที่ลอยอยู่ในน้ำ มีปลาอานนท์หนุนอยู่ข้างใต้ตามความเชื่อของไทย หรืออึ่งอ่างหนุนตามความเชื่อของจีน แต่เป็นลูกกลมลอยอยู่ในอากาศ การเกิดแผ่นดินไหวจึงไม่ใช่เพราะปลาอานนท์หรืออึ่งอ่างขยับตัว ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องไหวไปทั้งโลก แต่ที่ไหวเฉพาะที่ก็เกิดจากธาตุใต้ดิน เหตุใดจึงเห็นพระอาทิตย์ตอนเช้าและตอนเย็นดวงโตกว่าตอนเที่ยง แม้แต่เรื่องเล็กๆใกล้ตัวก็อธิบายถึงเหตุใดน้ำจึงมีเสียงเมื่อเดือด ส่วนในด้ารศาสนาเปรียบเทียบ ได้กล่าวถึงศาสนาพุทธที่เป็นพุทธแท้ ไม่ใช่พุทธผสมไสยศาสตตร์ ว่าเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิศูจน์ได้ และเกิดมาก่อนยุควิทยาศาสตร์ด้วย เป็นต้น โดยเขียนในรูปแบบปุจฉาวิสัชนา คือคำถามคำตอบ ตัวอย่างเช่น
“ถามว่าดวงเดือนอยู่ห่างไกลพิภพ ทำไมจึ่งมีแรงดูดเอาน้ำในทเลขึ้นได้ลงได้ แก้ว่าพวกชาวยูโรปเขาได้วัดพิสูตดูด้วยเครื่องมือ เขาเหนว่าดวงเดือนกับลูกพิภพนั้น เปนของใกล้กันกว่าดวงอาทิตยแลดวงดาว มีแรงดูดถึงกัน เขาได้วัดห่างกันกับลูกพิภพเจ๊ดพันไมล์ คิดเปนไทเจ๊ดร้อยแปดสิบเจ๊ดโยชน์กับสองร้อยเส้น ใกล้กว่าดวงอาทิตยแลดวงดาวทั้งปวง มีแสงสว่างถ่อถึงกัน ดวงอาทิตยแลดวงดาวทั้งปวงอยู่ไกลเปนอันมากจึ่งไม่ได้มีแรงดูด ดวงดาวจึ่งไม่มีแสงสว่างมาถึงพิภพนี้ได้ มีมาก็น้อยภอเหนราง ๆ”
หนังสือเล่มนี้ท่านเขียนเสร็จในปี ๒๔๐๘ ปลายรัชกาลที่ ๔ ก่อนจะลาออกจากราชการในปี ๒๔๑๐ เนื่องจากป่วยด้วยโรคตา และได้รับโปรดเกล้าฯให้กลับมารับราชการอีกในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่บรรดาโรงพิมพ์ต่าๆซึ่งเป็นของพวกหมอสอนศาสนาชาวต่างประเทศต่างรวมหัวไม่ยอมพิมพ์ให้ เพราะในตอนที่กล่าวถึงศาสนาเปรียบเทียบนั้น ท่านผู้เขียนได้นำคำสนทนากับหมอสอนศาสนาที่ท่านตั้งคำถามเรื่องที่อ้างว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก ซึ่งเป็นคำถามที่ศาสนามีพระเจ้ายากที่จะตอบได้ ทำให้ท่านต้องตั้งโรงพิมพ์ของตัวเองขึ้น เป็นแบบโรงพิมพ์หิน คือใช้หินอ่อนสลักเป็นแม่พิมพ์ ๓๙๐ หน้า พิมพ์ออกมา ๒๐๐ เล่ม ขายในราคาไม่หวังผลกำไร และได้รับความสนใจจากทั้งคนที่นิยมชมชอบและคนที่ไม่พอใจ มีนักเขียนฝรั่งบางคนนำข้อความในหนังสือเล่มนี้ไปอ้างในเรื่องที่เกี่ยวกับพุทศาสนาในประเทศไทยด้วย
ต่อมานายเฮนรี อัลบาสเตอร์ อดีตกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยที่ลาออกมารับราชการไทย และเป็นต้นสกุล “เศวตศิลา” ได้นำข้อความของหนังสือกิจจานุกิตย์ไปอ้างในหนังสือ The Wheel of the Low ทำให้นักอ่านในยุโรปสนใจการเป็นวิทยาศาสตร์ของศาสนาพุทธกันมาก นายอัลบาสเตอร์จึงได้เลือกบางตอนของหนังสือกิจจานุกิตย์ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ The Modern Buddhist หรือ ชาวพุทธที่ทันสมัย มอบให้บริษัท Trubner ในกรุงลอนดอน จัดพิมพ์จำหน่ายใน พ.ศ.๒๔๑๗
หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงของไทยในยุคนั้นมีความห่วงใยต่อเยาวชน พยายามให้มีความรู้ตามทันยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ให้ตระหนักถึงสิ่งดีที่เรามีอยู่ คือพุทธศาสนา ที่สอนให้ใช้ความคิดไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อในสิ่งใด จะได้ไม่ถูกลากจูงไปตามแนวคิดของคนชาติอื่น ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างขัดกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ที่อยู่ร่วมกันมาด้วยความรักอย่างพี่อย่างน้อง และสร้างบ้านเมืองให้รุ่งเรืองมาได้จนทำให้คนหลายชาติหลายภาษาอิจฉาในความเป็นไทย