xs
xsm
sm
md
lg

การรับมือ “โรคห่า” ๓ สายพันธุ์สมัย ร.๕! กักบริเวนคนจะเข้าไทยบนเกาะร้าง ๙ วันก่อนให้เข้า!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


การปลูกฝีให้เด็กใน พ.ศ.๒๔๔๕
การรับมือกับโรคระบาดสมัยก่อนนั้น นอกจากทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าแล้ว วิธีการป้องกันหรือยับยั้งสกัดโรคก็ยังไม่มีการวางกฎเกณฑ์อย่างรัดกุมเหมือนวันนี้ และไม่ใช่เฉพาะแต่บ้านเรา ทางโลกตะวันตกก็เช่นกัน จึงมีคนตายกันมากมายเป็นล้านๆ เมื่อมีบทเรียนกันมากขึ้นจึงได้พัฒนากับการรับมือโรคร้ายเหล่านั้นจนกล่าวได้ว่า “เอาอยู่” โรคระบาดหลายโรคหายไปจากโลกแล้ว แม้บางโรคที่ยังซ่อนเชื้ออยู่บ้าง ก็ไม่มีพิษสงมากได้ และได้นำประสบการณ์จากการปราบปรามโรคเหล่านั้นมารับมือกับโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังมีออกมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้มาก ไม่ตายกันเป็นล้านๆอย่างแต่ก่อน
สำหรับประเทศไทย ที่หนักหนาสาหัสของเราก็คืออหิวาตกโรค ที่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการแพร่เชื้อ ยามนั้นเรายังต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำลำคลองเป็นทั้งน้ำกินน้ำใช้ เมื่อเกิดอหิวาต์ขึ้น ไม่รู้สาเหตุของโรค ก็ไม่รู้การป้องกัน เอาของคนป่วยแม้แต่ศพโยนทิ้งน้ำอีก เชื้อจึงแพร่ยิ่งขึ้นจนศพกองเป็นภูเขา

การระบาดอย่างน่ากลัวในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อยังไม่รู้ว่าศัตรูเป็นอะไร จึงทรงจัดพิธีทางศาสนาให้กำลังใจกันไว้ก่อน แต่ขณะที่แห่พระพุทธรูปไปตามถนนนั้น พระสงฆ์และคราวาสต่างล้มตายในขบวนก็มี กลับไปตายที่บ้านก็มาก ต่อมาการระบาดสมัยรัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๙๒ จึงไม่โปรดให้ทำพิธีนี้ ในขณะนั้นแม้จะมีหมอบรัดเลย์และมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จักโรคนี้เหมือนกัน ได้แต่นำวิธีรักษาโรคทั่วๆไปแบบตะวันตกมาใช้ ก็พอช่วยชีวิตคนไว้ได้บ้าง

จนถึงรัชกาลที่ ๕ เริ่มมีความรู้เรื่องอหิวาต์กันมากขึ้น การระบาดของอหิวาต์ใน พ.ศ.๒๔๑๖ ซึ่งเป็นการระบาดทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้รักษาพยาบาลจัดการกับอหิวาต์ตามหลักการเป็นครั้งแรก พระองค์เจ้าสาย สนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอหลวงและแพทย์ประจำพระองค์ ได้คิดปรุงยาแบบฝรั่งขึ้น ๒ ขนาน คือเอายา “วิสัมพญาใหญ่” ซึ่งเป็นตำรับยาไทย มีสรรพคุณแก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด ผสมกับแอลกอฮอล์ ใช้หยดลงในน้ำ ขนานหนึ่ง กับเอา “การบูร” สมุนไพรที่กลั่นมาจากต้นการบูร มีสรรพคุณมากมาย รวมทั้งแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง และฆ่าพยาธิในท้อง มาหยดลงน้ำ อีกขนานหนึ่ง เรียกว่าน้ำการบูร และแนะนำให้นำการบูรผงมาโรยเสื้อผ้าเพื่อป้องกันเชื้อโรคด้วย
พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้นำยาตำราหลวงนี้ตั้งเป็นโอสถศาลาขึ้นที่วังและบ้าน หรือตามชุมชนทั่วพระนคร อหิวาต์ที่ระบาดในปีนั้นแค่เดือนเดียวจึงสงบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำเหรียญทองสัมฤทธิ์ ด้านหนึ่งเป็นรูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้านหนึ่งมีอักษรทรงขอบใจ พระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ผู้ที่รับจัดตั้งโอสถศาลาทั่วกันทุกท่าน

ในการรับมือกับอหิวาต์ในครั้งนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ดำริให้ตั้งสถานกักโรคขึ้นตามเมืองท่าในภาคใต้ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติระงับโรคระบาด ให้ตั้งด่านตรวจโรคตามหัวเมือง หากเมืองใดเกิดอหิวาต์ ก็ให้ชักธงเหลืองขึ้นที่ปากอ่าวหรือทางร่วม เพื่อให้นักเดินทางทราบก่อนเข้าเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมสุขาภิบาลได้จัดให้พิมพ์ใบปลิวออกแจกจ่ายประชาชน ให้ความรู้เกี่ยวกับอหิวาต์เป็นครั้งแรก แนะนำไม่ให้เอาของโสโครกหรือเสื้อผ้าคนป่วยไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง อย่ากินอาหารที่บูดเสีย เสาะท้อง หรือรสจัด ให้กินแต่น้ำต้มและอาหารที่ไม่มีแมลงวันตอม
ส่วนการรักษานั้น ถ้าเริ่มรู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการอืดเฟ้อ ให้กินยาแก้ท้องเฟ้อประเภทการบูรหรือไพล

ในขณะนั้นเริ่มมียาแก้อหิวาต์ออกมาขายในท้องตลาดแล้ว ของห้างโอสถสภามีชื่อว่า “ยาแก้อหิวาตกโรค” ส่วนห้างบีกริมซึ่งเป็นห้างฝรั่งก็ออกมาเหมือนกัน เรียกว่า “ยาขวดแตก”

หลังจากนั้น อหิวาต์มีการระบาดใหญ่อีก ๕ ครั้ง แต่ก็ไม่ร้ายแรงอย่างแต่ก่อน ในการระบาดครั้งที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ใน ๓๘ จังหวัด มีคนตาย ๒,๓๗๒ คน หลังจากครั้งนั้น ก็ยังพบผู้ป่วยอีกประปราย จนถึง พ.ศ.๒๕๓๒ อหิวาต์ก็สาบสูญไปจากประเทศไทย เพราะเปลี่ยนชื่อเป็น “โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง” ถือได้ว่าเป็นการปราบอหิวาตกโรคได้เสร็จสิ้น

ส่วนกาฬโรค แม้จะเป็นโรคร้ายแรงในเมืองนอก ตายกันเป็นร้อยล้าน แต่ในเมืองไทยยังร้ายแรงน้อยกว่าอหิวาต์มาก จากสมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏบันทึกเกี่ยวกับกาฬโรคไว้เลย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กาฬโรคได้ระบาดขึ้นที่เมืองซัวเถา ในประเทศจีน ไทยเราก็เริ่มรู้วิธีจะป้องกันโรคระบาดจากต่างประเทศกันบ้างแล้ว ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรปครั้งแรก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งกำกับดูแลกรมพยาบาล ออกประกาศป้องกันโรคลงวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๐ มีความว่า

“...กำปั่นลำหนึ่งลำใด ออกจากเมืองซัวเถา แลจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมออยู่ที่เกาะไผ่ ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว แลถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่า กาฬโรคดังที่ว่ามาแล้ว ไม่ได้มีแลได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไป จนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้...”

หลังจากนั้น ๔ วัน เมื่อได้รับข่าวเพิ่มเติมว่า กาฬโรคได้แพร่ระบาดไปถึงเมืองฮ่องกง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมห้ามเรือมาจากซัวเถา ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๖ โดยเพิ่มมาตรการป้องกันกาฬโรคให้รัดกุมยิ่งขึ้น ดังนี้

๑.เรือที่มาจากซัวเถาและฮ่องกง จะต้องมาทอดสมออยู่ที่เกาะไผ่เป็นเวลา ๙ วันนั้น เมื่อแพทย์ได้ตรวจและให้หนังสือสำคัญว่าไม่มีกาฬโรค หรือโรคห่า เกิดขึ้นอยู่ในเรือนั้นแล้ว ให้เข้ามาในปากน้ำได้
ฉบับใหม่นี้ให้เข้ามาได้แค่ปากน้ำเท่านั้น

๒.เรือที่มาจากซัวเถาและฮ่องกง เมื่อผ่านการตรวจที่เกาะไผ่แล้ว จะต้องมาทอดสมออยู่ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เพื่อรอให้แพทย์ตรวจก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะแล่นเรือเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้
ต้องตรวจถึง ๒ ครั้งให้รัดกุมยิ่งขึ้น
.
นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมต่อมา ได้มีประกาศป้องกันกาฬโรคเพิ่มอีก ๒ ฉบับ โดยห้าม “จีนอพยพ” ที่มาในเรือที่จอดแวะที่เมืองซัวเถา อ้ายมุ่ย (เซี่ยเหมิน) เกาะฟอโมซา (เกาะไต้หวัน) และฮ่องกง ขึ้นบกโดยเด็ดขาด และเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานแล้ว นายเรือจะต้องนำเรือลำนั้นออกจากน่านน้ำสยามภายใน ๒๔ ชั่วโมง พร้อมทั้งมีบทลงโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน ๘๐ บาท หรือจำขังไม่เกิน ๖ เดือน หรือต้องได้รับโทษทั้งสองสถาน

ประกาศนี้ใช้ในเวลาเกือบ ๘ เดือน เมื่อการระบาดของกาฬโรคที่เมืองซัวเถาและเมืองอื่นๆยุติลง ก็ทรงให้ประกาศยกเลิก นับว่าเราป้องกันโรคได้ทันท่วงทีและถูกวิธี จึงยับยั้งโรคไว้ได้

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ สมัยรัชกาลที่ ๖ กาฬโรคก็เล็ดลอดเข้ามาระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย ๓๐๐ คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ สมัยรัชกาลที่ ๙ ก็พบกาฬโรค ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ มีผู้ป่วย ๒ ราย ตาย ๑ ถือเป็นการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย

สำหรับไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ คนไทยคงจะต้องขอบคุณ นายแพทย์แดน บีช บลัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน อย่างมาก เพราะเป็นคนที่ยืนหยัดต่อสู้กับไข้ทรพิษอย่างไม่ท้อถอย แม้จะต้องเสียลูกสาวอายุ ๗ เดือนด้วยโรคนี้ไปก็ตาม จนฝีดาษสาบสูญไปจากเมืองไทย

ในยุครัตนโกสินทร์ ไข้ทรพิษเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมีเกิดขึ้นแล้วในยุโรปและอเมริกา แต่เชื้อหนองฝีต้องใช้เวลาเดินทางมาไทยถึง ๙ เดือน หมอบลัดเลย์จึงใช้หนองฝีจากผู้ป่วยมาทดลองใช้โดยตรง ซึ่งวิธีนี้แพทย์จีนได้ใช้กันมาเป็นเวลาพันปีแล้ว โดยเชื่อว่าคนเป็นไข้ทรพิษแล้วจะไม่เป็นอีก จึงนำสะเก็ดหนองของผู้ป่วยมาบดเป็นผง แล้วพ่นเข้าทางจมูก หรือเอาหนองปลูกลงบนผิวหนัง เพื่อให้เกิดเป็นทรพิษอ่อนๆขึ้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ซึ่งวิธีนี้ยุโรปก็นิยมเอาไปใช้กันอยู่นาน จนนายแพทย์ชาวอังกฤษค้นพบวัคซีนป้องกันทรพิษใน พ.ศ.๒๓๓๙ จึงเลิกใช้วิธีของจีน แต่บางแห่งหรือบางช่วงที่ผลิดวัคซีนไม่ทันก็ยังนำวิธีของจีนมาแก้ขัด หมอบลัดเลย์จึงปรึกษาเจ้าพระยาพระคลังว่าจะเอาหนองฝีของผู้ป่วยมาใช้ เจ้าพระยาพระคลังก็เห็นด้วย ทั้งยังกล่าวให้กำลังใจด้วยว่า

“เป็นการบุญอย่างยิ่ง จะหาบุญอย่างอื่นมาเปรียบได้ยาก”
และยังว่าถ้าหมอบลัดเลย์ทำสำเร็จ ยินดีที่จะให้หมอบลัดเลย์เรียกค่าขวัญข้าวจากการปลูกฝีขึ้นคนละ ๑ บาท
หมอบลัดเลย์จึงทดลองฉีดหนองฝีให้เด็กประมาณ ๑๕ คนเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๗๙ แต่การทดลองครั้งนี้ไม่สำเร็จ

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๘๑ ได้เกิดไข้ทรพิษได้ระบาดอีก หมอบลัดเลย์จึงใช้หนองจากผู้ป่วยมาปลูกให้กับบุตรพวกมิชชันนารี ทั้งๆตระหนักดีว่าเป็นวิธีอันตราย ไม่ปลอดภัยเหมือนใช้เชื้อหนองฝีโค แต่ก็จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ เพราะทดลองวิธีอื่นมาแล้ว ๔ ปียังไม่สำเร็จ พอเกิดระบาดขึ้นอีกจึงต้องใช้วิธีนี้อีก

ความสำเร็จจากปลูกหนองฝีของหมอบลัดเลย์ครั้งนี้ ทำให้ได้รับความเชื่อถือมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ส่งหมอหลวงไปฝึกกับหมอบลัดเลย์ และให้หมอที่ไปฝึกมานี้ปลูกฝีให้คนในวังและนอกวัง ทั้งในหัวเมืองด้วย มิชชันนารีได้พิมพ์ใบปลิวโฆษณาคุณประโยชน์และชักชวนประชาชนมาปลูกฝีป้องกันฝีดาษ พวกหมอเชลยศักดิ์หรือหมอชาวบ้าน ก็มาฝึกด้วย จากนั้นผู้ผ่านการฝึกเหล่านี้ก็กระจายกันออกไปทั่วประเทศ
ส่วนการสั่งหนองฝีโคมาจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกามาใช้ ซึ่งการใช้เวลาเดินทางนาน ทำให้เชื้ออ่อนแรงลง ได้ผลน้อยมาก หมอบลัดเลย์จึงทดลองฉีดหนองของผู้ป่วยให้โคหลายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็พระราชทานโคให้ตามที่ต้องการ แต่ขณะที่หมอบลัดเลย์กำลังทดลองทำหนองโคอยู่นี้ ลูกสาวคนเล็กอายุ ๗ เดือนก็เกิดเป็นไข้ทรพิษ หมอบลัดเลย์จึงตัดสินใจปลูกหนองฝีคนป่วยให้ลูกๆของมิชชันนารีทุกคน แม้จะได้ผล แต่ก็สายไปที่จะช่วยลูกของตัวเองได้

ต่อมาหมอบลัดเลย์ก็ได้รับหนองฝีโคจากอเมริกาด้วยวิธีใช้ขี้ผึ้งหุ้มห่อมา และเปิดคลีนิคปลูกฝีเป็นการส่วนตัว คิดค่าปลูกฝีคนละ ๑ บาท โดยอีก ๑ สัปดาห์ผู้ปลูกจะต้องกลับมาให้ตรวจ ถ้าฝีขึ้นดีก็จะคืนเงินให้ครึ่งหนึ่ง ด้วยวิธีนี้หมอบรัดเลย์จึงมีเงินซื้อหนองฝีจากอเมริกามาใช้ได้ตลอด

ต่อมากระทรวงธรรมการได้ส่งนายแพทย์ ๒ คนไปศึกษาการทำพันธุ์หนองฝีที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา และผลิตฝีหนองขึ้นเองได้ใน พ.ศ.๒๔๔๔ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๖ รัฐบาลไทยจึงออกกฏหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องปลูกฝีป้องกันทรพิษ จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศว่า ฝีดาษถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว

นี่ก็เป็นการรับมือกับโรคระบาดร้ายแรงของโลก ที่ทำให้คนตายกันเป็นล้านๆคนในแต่ละประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยเราถิอว่าน้อยมาก ก็เพราะความตื่นตัวในการรับมือด้วยความพร้อมเพรียงกันและแข็งขัน
กำลังโหลดความคิดเห็น