xs
xsm
sm
md
lg

โรคระบาดร้ายแรงในอดีต! ไทยตาย ๔ หมื่น อิตาลี ๒ ใน ๓ ของประเทศ ทั้งลอนดอนเหลือคนแค่ ๖ หมื่น!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ภาพจากคอลัมน์ “ภาพเก่าเล่าตำนาน” โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ใน “Matichon Online”
โลกของเราเคยฝ่าฟันกับ “สงครามโรค” มาหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งตายกันมากมายทั้งผู้ดีมีจน เนื่องจากการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า อีกทั้งยังไม่รู้สาเหตุของโรค ที่สำคัญคือการป้องกันตัวรับมือกับโรคยังไม่ประสีประสากันเลย ต้องใช้วิธีหนีออกจากถิ่นที่เป็นโรค หรือย้ายเมืองไปเลยเหมือนพระเจ้าอู่ทองหนี “โรคห่า” ไม่ใช่แค่ปิดเมือง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี่เองคนไทยยังเคยตายเพราะโรคระบาดครั้งเดียวถึง ๔ หมื่นกว่า ส่วนอิตาลีที่หนักหนาสาหัสจากโควิด ๑๙ ในตอนนี้ ตายถึง ๒ ใน ๓ ของประชากรทั้งประเทศมาแล้ว สำหรับอังกฤษที่นายกรัฐมนตรีก็ป็นโรคทันสมัยกับเขาไปด้วย คนในกรุงลอนดอนเคยตายถึง ๗๐ เปอร์เซนต์ จากจำนวนประชากร ๔๕๐,๐๐๐ คน เหลืออยู่เพียง ๖๐,๐๐๐ คนเท่านั้น

ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย โดย นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ กล่าวว่า พงศาวดารเมืองลำพูนได้บันทึกเหตุการณ์ในสมัยจามเทวีวงศ์ ช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๑ ไว้ว่า ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเมืองหริภุญไชย ตายกันมาก ใครไปจับต้องของคนตายก็จะตายไปด้วย จึงต้องทิ้งคนป่วยไว้ไม่มีใครกล้าแตะต้อง แล้วพากันหนีไปปล่อยบ้านปล่อยเมืองให้ร้าง

การจับต้องของคนตายแล้วติดเชื้อจนต้องตายไปด้วยนี้ คงไม่ใช่อหิวาตกโรค โรคระบาดที่เป็นกันมากในไทยสมัยก่อน และคงไม่ใช่โควิด ๑๙ ซึ่งเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ โรคระบาดร้ายแรงของยุคก่อนมีอยู่ ๓ โรค ซึ่งเรียกรวมกันว่า “โรคห่า” คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษหรือฝีดาษ

“กาฬโรค” ความตายสีดำ "The Black Death" เป็นโรคระบาดสายพันธุ์ห่าที่คร่าชีวิตผู้คนในโลกนี้มากถึง ๒๕ ล้านคน เริ่มขึ้นที่จีนเหมือนโควิด ๑๙ ในขณะนี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งโดยมีสัตว์ฟันแทะเช่นหนูและหมัดเป็นพาหนะ การเสียชีวิตของชาวอิตาลีและในลอนดอนที่กล่าวมานั้น ก็เนื่องจากกาฬโรค

การระบาดของโรค สันนิษฐานว่าแพร่โดยหมัดหนูจากหนูที่ติดมาใต้ท้องสำเภา เมื่อเดินทางไปค้าขายในดินแดนใดก็แพร่เชื้อไปด้วย ผู้ป่วยจะมีสีกายดำคล้ำทั้งตัวเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังตาย และจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ พร้อมมีไข้สูง ปวดตามแขน ขา ทุกข์ทรมานอย่างหนักจนกระทั่งเสียชีวิต

การระบาดทั่วโลกใน พ.ศ.๒๓๙๘ เริ่มจากยูนนาน แพร่ไปถึงกวางตุ้งและฮ่องกง จากนั้นก็แพร่จากท่าเรือทางตอนใต้ของจีนไปทั่วโลก มาถึงกรุงเทพฯใน พ.ศ.๒๔๔๗ สองปีต่อมาก็กระจายไปตามจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลาง สถานที่เกิดกาฬโรคมักเป็นตลาดและทุ่งนา พบรายงานว่าในระหว่างการขุดคลองที่รังสิตที่เมืองธัญบุรี เกิดกาฬโรคจนลูกจ้างทำนาในทุ่งรังสิตไม่ยอมรับจ้างทำนา

ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการบริษัทขุดคูคลองสยามลิมิเตด ได้มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๑ ถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ ความว่า

“ด้วยเดี๋ยวนี้เกิดโรคกาฬขึ้นชุกชุมที่ตำบลคลองรังสิต ตั้งแต่คลอง ๕ ไปถึงคลอง ๑๐ แลคลองที่ ๑๔ ใต้รังสิตด้วย แรกที่จะเป็นก็มีสัตว์หนูตายมาก แล้วคนก็เป็นติดต่อกันตายหลายคนแล้ว โรคกาฬที่ได้เกิดขึ้นนี้ก็มักเกิดขึ้นตามตลาด ซึ่งเป็นที่โสโครกทุกแห่ง เพราะฉนั้นถ้าไม่รีบบังคับให้ชำระตลาดต่างๆที่มีอยู่ตามปากคลองซอยต่างๆที่คลองรังสิตและคลองหกวาสายล่างสายบน และที่อื่นๆโดยเร็วแล้ว ก็จะลุกลามใหญ่ พวกลาวลูกจ้างก็พากันหนีหมด การนาก็จะพลอยยับเยินเสียหายทั้งรัฐบาลแลราษฎร เพราะฉนั้นจึงขอโปรดรีบจัดการเสียโดยเร็วจะเป็นการดีมาก”

นอกจากนี้ยังอาจสันนิษฐานได้ว่า เหตุที่พระเจ้าอู่ทองทรงย้ายราชธานีหนีโรคห่าจากกรุงอโยธยา ข้ามฟากแม่น้ำมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ก็น่าจะเป็นเพราะกาฬโรคมากกว่าอหิวาต์ เนื่องจากอยู่ในช่วงหลังจากเกิดกาฬโรคระบาดในจีนได้ไม่นาน ช่วงนั้นก็มีการค้าขายกับจีน หนูและหมัดหนูอาจติดมากับสำเภาจากเมืองจีน แพร่กาฬโรคแถววัดพนัญเชิงและวัดใหญ่ชัยมงคล พระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายพระตำหนักข้ามฟากหนีโรคห่าจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ มาอยู่ที่ “เวียงเหล็ก” หรือวัดพุทไธสวรรย์ในปัจจุบัน ขุนนางและไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ก็ย้ายตามมา เมื่อกาฬโรคสิ้นฤทธิ์จึงทรงสถาปนาเมืองใหม่ เป็น “กรุงศรีอยุธยา

จากสมัยพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกเลย จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ “หมอไฮเอ็ด” นายแพทย์ เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ได้รายงานเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๔๗ ว่า พบผู้ติดเชื้อกาฬโรคที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว หลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้าของพ่อค้าชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหนูที่ติดเรือสินค้าที่มาจากเมืองบอมเบย์ ระบาดจากธนบุรีข้ามมาฝั่งพระนคร จากนั้นกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยและตาย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย ๓๐๐ คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ มีรายงานผู้ป่วย ๒ รายตาย ๑ ที่ตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในไทย จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

โรคห่าที่รู้จักกันดีในเมืองไทย และเป็นตำนานของแร้งวัดสระเกศ ก็คือ “อหิวาตกโรค” เป็นโรคเมืองร้อน แต่ไม่ได้ระบาดเฉพาะในเอเซีย ระบาดครั้งรุนแรงไปทั่วโลกถึง ๗ ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๕๙ จนถึงครั้งสุดท้ายใน พ.ศ.๒๕๑๓ มานี่เอง ตามเส้นทางการเดินทางทั้งบกและทางเรือ ไปถึงยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ตายกันหนักไปตามกัน
อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อระบบลำไส้ ทำให้เกิดภาวะอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง การติดต่อของโรคจากคนสู่คนนั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่จะติดเชื้อจากการรับเชื้อในน้ำและอาหาร โดยเฉพาะอาหารดิบ หรือสุกๆดิบๆ แต่ความรุนแรงนั้นจะขึ้นกับภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ ๕๐ แต่ถ้าทำการรักษาทันท่วงที อัตราการเสียชีวิตจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ภาษาทางการสมัยนั้นเรียกว่า “ไข้ป่วงใหญ่” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคห่า” ส่วนคนที่เป็นอหิวาต์เรียกว่า “ห่ากิน” จะระบาดในช่วงฤดูแล้ง และหายไปเองเมื่อฝนลง เพราะในยุคนั้นผู้คนยังต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำลำคลองดื่มกิน พอหลังเดือนตุลาคมฝนก็หยุดตก น้ำตามแม่น้ำลำคลองแห้งลง ทั้งผู้คนยังนิยมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างลงน้ำ แม่น้ำลำคลองจึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค พอเดือนกรกฎาคมฝนตกลงมา จึงชำระสิ่งสกปรกในแม่น้ำลำคลองไหลออกทะเล อหิวาต์ก็หายไปเอง

ในปี ๒๓๖๓ อหิวาต์ระบาดมาจากอินเดีย เมื่อไม่รู้จะรักษาอย่างใด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยน้ำพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน แต่ก็ยังมีคนตายถึง ๓๐,๐๐๐ คน ศพกองเป็นภูเขาเลากา บ้างก็แอบทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว

พงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวไว้ว่า

“...ครั้นมาถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้น เวลายามเศษ ทิศพายัพ เห็นเป็นแสงเพลิงติดอากากาศเรียกว่าทุมเพลิง เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมากก่อน แล้วเข้ามาหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เดินขึ้นมาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองสมุทรปราการตายลงเป็นอันมาก ก็พากันอพยพขึ้นมากรุงเทพมหานครบ้าง แยกย้ายไปทิศต่างๆบ้าง ที่กรุงเทพฯก็เป็นขึ้น ณ วันขึ้น ๗ ค่ำไปถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายหญิง

ศพที่ป่าช้าศาลาดินวัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเป็นกองฟืน ที่เผาเสียก็มากต่อมาก...พระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสก็หนีออกจากบ้าน น่าอเนจอนาถนัก ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้ง น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ อาเกียรณ์ไปด้วยซากศพ...”

ในเอกสารจอง จอห์น ครอว์เฟิร์ด ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๖๔ บันทึกไว้ว่า จำนวนคนตายมีถึง ๑ ใน ๕ ของพลเมือง

ในปี ๒๓๙๒ อหิวาห์กลับระบาดในเดือนมิถุนายน โดยเกิดที่ปีนังก่อน เรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” ในช่วงระยะเวลา ๑ เดือนที่ระบาดหนัก ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน มีคนตายถึง ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คน และตลอดฤดูตายถึง ๔๐,๐๐๐ คน ขณะนั้น เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ซึ่งต่อมาก็คือรัชกาลที่ ๔ ขณะดำรงเพศบรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ทรงบัญชาให้วัด ๓ วัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) เป็นที่สำหรับเผาศพ มีศพนำมาเผาถึงวันละประมาณ ๗๐๐ ศพ จนเผาไม่ทันกองเป็นภูเขาเลากา โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพส่งไปมากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ลงทึ้งกินซากศพจนกระดูกขาวโพลน ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิ เต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะคอยไล่ตี ก็ไม่สามารถสู้กับฝูงแร้งที่หิวกระหายได้ และจิกกินซากศพจนเกิดตำนาน “แร้งวัดสระเกศ”

ต่อมาในปี ๒๔๐๒ อหิวาต์ทำให้บาทหลวงในคริสต์ศาสนาแตกแยกกันเอง ทั้งนี้เจ้าฟ้ามงกุฎฯขึ้นครองราชย์แล้ว จึงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงศีลและปล่อยสัตว์เมื่ออหิวาต์ระบาด ทั้งยังทรงป่าวประกาศให้ราษฎรทำบุญให้ทาน ปล่อยสัตว์ที่ถูกกักขังด้วย ผู้คนทุกชาติทุกภาษาในบางกอกก็ทำตาม นอกจากบาทหลวงฝรั่งเศส ๘ คนที่เห็นว่าการปล่อยสัตว์ตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธ เป็นการขัดต่อหลักของศาสนาคริสต์ จึงไม่ยอมทำตาม ทั้งยังห้ามคนที่เข้ารีตไม่ให้ทำด้วย แต่สังฆราช บับติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ผู้ปกครองคริสตจักรคาทอลิค และเป็นเจ้าอธิการวัดคอนเซบซิออง ที่บ้านเขมร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งแต่ครั้งยังจำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาสที่อยู่ใกล้กัน จึงประกาศว่า การปล่อยสัตว์ไม่ได้ผิดหลักศาสนาคริสต์แต่อย่างใด บาทหลวงทั้ง ๘ นั้นถือเกินไปหรือเปล่า และยังได้นำเป็ด ไก่ ห่าน ไปถวายให้ทรงปล่อย พร้อมกับบอกให้พวกเข้ารีตปล่อยสัตว์ที่ขังไว้ทุกคน ทำให้บาทหลวงทั้ง ๘ ไม่พอใจ พากันหนีไปอยู่สิงคโปร์

ต่อมาในปี ๒๔๕๗ มีการผลิตน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯ อหิวาต์จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่จนถึงวันนี้อหิวาต์ก็ยังไม่สูญพันธุ์ เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ความรู้และการสุขาภิบาล ก็ทำให้อหิวาต์ไม่สามารคร่าชีวิตผู้คนได้เหมือนในสมัยก่อน เพราะการดูแลตัวของของประชาชนจะช่วยชีวิตตัวเองและสังคมได้มาก

หน้าร้อนนี้ จะกินอะไรนึกถึงอหิวาต์ไว้หน่อยก็ดี
โรคห่าอีกสายพันธุ์ก็คือ “ฝีดาษ” หรือ “ไข้ทรพิษ” เป็นโรคระบาดเก่าแก่และรุนแรงของโลก มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นในโลกมาก่อนคริสต์ศักราชถึง ๑๐,๐๐๐ ปี พบมัมมี่ของฟาโรห์แห่งอียิปต์สวรรคตด้วยโรคฝีดาษเมื่อพันกว่าปีก่อน ในช่วงกลางศตวรรษที่ ๒๐ เกิดระบาดครั้งใหญ่ทั้งยุโรปและอาฟริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๓๐๐-๔๐๐ ล้านคน และแพร่มาสู่เอเซียทางจีนถึงญี่ปุ่น

ไข้ทรพิษเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามตัว มีไข้สูงและปวดศีรษะถึงขั้นชัก ทั้งอาจเกิดโรคแทรกซ้อน มีอัตราการเสียชีวิต ๓๐ เปอร์เซนต์

สำหรับการระบาดในไทย แม้จะไม่รุนแรงเหมือนยุโรปและอาฟริกา แต่ก็ปรากฏในพงศาวดารว่ามีพระมหากษัตริย์ไทยสวรรคตด้วยฝีดาษถึง ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หน่อพุทธางกูร พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑๑ ของกรุงศรีอยุธยา สวรรคตใน พ.ศ.๒๐๗๖ ด้วยโรคไข้ทรพิษ ขณะพระชนมายุ ๔๕ พรรษา และใน พ.ศ.๒๒๙๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงประชวรที่เมืองหาง ในรัฐฉาน ด้วยฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ กลายเป็นพิษทำให้สวรรคต

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการระบาดของฝีดาษเช่นกัน จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ ระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการระบาดของฝีดาษอย่างหนัก ทำให้หมอบรัดเลย์ริเริ่มการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ โดยใช้เชื้อหนองฝีของคนป่วยมาปลูกภูมิคุ้มกัน และได้เขียนตำราปลูกฝีป้องกันโรคทมรพิษขึ้น

ต่อมาพบว่าระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๐-๒๕๐๔ มีฝีดาษระบาดทุกปีแต่ไม่มาก การระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๘๙ เนื่องจากญี่ปุ่นได้กวาดต้อนเชลยศึกและกุลีแรงงานหลายชาติมาสร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรี จึงเกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่กุลีสร้างทาง ทั้งอหิวาต์และฝีดาษ และติดต่อมาถึงแรงงานไทย เมื่อเสร็จงานกลับบ้านก็นำเอาฝีดาษกระจายออกไปทั่วประเทศ มีตัวเลขผู้ป่วยฝีดาษในครั้งนั้นถึง ๖๒,๘๓๗ คน เสียชีวิต ๑๕,๖๒๑ คน สูงกว่าการระบาดในช่วง พ.ศ.๒๔๖๒-๒๔๘๗ ถึง ๘ เท่า

การระบาดครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๐๒ โดยแพร่เชื้อจากเชียงตุงเข้ามาทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่แม่สายมีผู้ป่วย ๓๔ คน ตาย ๕ คน แต่ได้แพร่กระจายไปอีกหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ป่วย ๑,๕๔๘ คน ตาย ๒๗๒ คน จากนั้นก็สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เมื่อรัฐบาลได้ออกกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องปลูกฝีฝีป้องกันฝีดาษ
ในปัจจุบัน “โรคห่า” ทั้ง ๓ โรคนี้ กาฬโรค และ ฝีดาษ ได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย และเชื่อว่าสูญไปจากโลกด้วย ส่วนอหิวาตกโรค แม้จะพอเหลือเชื้ออยู่บ้าง พบกันประปราย ก็ถือได้ว่า “เอาอยู่” เพราะการแพทย์ก้าวหน้า รู้สาเหตุของโรคและวิธีป้องกันรักษา

แต่ก็ยังมีโรคระบาดใหม่ๆเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างโควิด ๑๙ ในตอนนี้ที่กระจายไปทั้งโลก หลายคนเชื่อว่าเชื้อโรคใหม่ๆเหล่านี้มาจากการทำสงครามด้วยเชื้อโรค และเคยทำกันมาแล้วในอดีต แต่โลกทุกวันนี้แคบนิดเดียว โยงใยไปถึงกันอย่างรวดเร็ว ใครปล่อยเชื้อโรคไปทำลายคนอื่น ก็ต้องย้อนมาเข้าตัวเองแน่ ดีไม่ดีถ้าใครรับมือไม่ไหว อาจจะหายกันไปทั้งประเทศเลยก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น